โควิด-19 : ถึงจะไม่ต้องเผชิญโรคร้ายล่าสุด แต่โลกถูกรุมเร้าด้วยวิกฤตอื่นอยู่แล้ว

Palestinian demonstrators react to tear gas fired by Israeli troops during a protest against Israeli settlements

ที่มาของภาพ, Reuters

โจนาธาน มาร์คัส

ผู้สื่อข่าวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงมากจนบดบังปัญหาหลายอย่างที่โลกเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

นี่คือปัญหา 5 ประการ ที่เราควรจับตามองในช่วงหลายสัปดาห์และหลายเดือนต่อจากนี้

การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์

สนธิสัญญาการลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ (new Strategic Arms Reduction Treaty) หรือ "นิว สตาร์ต" ที่สหรัฐฯ และรัสเซียลงนามร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้สองประเทศต้องจำกัด การผลิตอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกล แต่สนธิสัญญาที่ใช้ควบคุมการพัฒนาอาวุธร้ายแรงฉบับสุดท้าย ที่สืบทอดมานับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นนี้ กำลังจะหมดอายุลงในช่วงต้นเดือน ก.พ. ปีหน้า

บางฝ่ายกังวลว่าหากไม่มีการลงนามขยายอายุสนธิสัญญานี้ ทั้งสองชาติก็จะเริ่มการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์กันอีกครั้ง และยิ่งอันตราย เมื่อต่างฝ่ายต่างกำลังพัฒนาอาวุธพิเศษหลายชนิด อาทิ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงระดับไฮเปอร์โซนิก

Russian President Vladimir Putin shakes hands with US President Donald Trump in 2019

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นายวลาดิเมียร์ ปูติน และนายโดนัลด์ ทรัมป์

ดูเหมือนรัสเซียจะพร้อมลงนามขยายอายุสนธิสัญญา แต่รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับต้องการจะโบกมือลา เว้นเสียแต่ว่าจีนจะได้เข้าร่วมในสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย แต่จีนก็ไม่มีท่าทีสนใจแต่อย่างใด และขณะนี้สายเกินไปแล้วที่จะร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้น

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลของนายทรัมป์ ไม่เปลี่ยนใจ สนธิสัญญาฉบับนี้ก็คงจะกลายเป็นแค่ประวัติศาสตร์

ความตึงเครียดในอิหร่าน

หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) ที่จำกัดการพัฒนาทางอาวุธนิวเคลียร์ ของอิหร่าน ทว่าสถานการณ์กลับมีทีท่าว่าจะย่ำแย่ไปกว่าเดิม

ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่านย้ำชัดว่าอิหร่านจะ "ทำงานร่วมกับประชาคมโลกต่อไป"

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ย้ำว่าอิหร่านจะ "ทำงานร่วมกับประชาคมโลกต่อไป"

ขณะนี้สหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรไม่ให้ชาติต่าง ๆ ขายอาวุธเทคโนโลยีสูงแก่อิหร่าน แต่มติที่ว่านี้กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 18 ต.ค. นี้ และประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ออกมาเตือนแล้วว่าหากสหรัฐฯ พยายามต่ออายุคำสั่งคว่ำบาตรนี้ ก็จะต้องเผชิญกับผลกระทบร้ายแรงตามมา

อย่างไรก็ดี มีโอกาสไม่มากนักที่รัสเซียจะยอมโอนอ่อนผ่อนตามสหรัฐฯ และหากเป็นเช่นนั้น สหรัฐฯ ก็จะต้องการให้ชาติยุโรปใช้กลไกตามข้อตกลงนิวเคลียร์มาทำให้เกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อกดดันอิหร่านอีก

การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ นั้นดูน่าฉงน เพราะสหรัฐฯ เปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่ถอนตัวจากข้อตกลง JCPOA มาเป็นการเรียกร้องให้อิหร่าน ทำตามข้อตกลงนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านจะยิ่งแย่ และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และชาติยุโรปที่เป็นพันธมิตรสำคัญก็จะสั่นคลอนเข้าไปใหญ่

ที่แย่ไปกว่านั้น คำสั่งคว่ำบาตรของสหประชาชาติไม่ได้ทำให้อิหร่านดำเนินนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคเดียวกันแตกต่างไปจากเดิมเลย และนั่นก็ไม่ได้ลดทอนความสามารถของอิหร่านในการทำสงครามตัวแทน หรือ proxy war ลงเลย

คำบรรยายวิดีโอ, ทำไมสหรัฐฯ และอิหร่าน จึงเป็นศัตรูคู่แค้น

การผนวกดินแดนเขตเวสต์แบงก์

การเลือกตั้งและกระบวนการเจรจาต่อรองทางการเมืองอันยาวนานในอิสราเอล สิ้นสุดลงด้วยการที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู รั้งเก้าอี้ผู้นำไว้ได้อีกสมัย อย่างน้อยก็ในระยะเวลาหนึ่ง หลังจากทำความตกลงสลับกันครองตำแหน่งกับพรรคแกนนำฝ่ายค้าน

Israeli border police guard the Israeli settlement of Ofra, in the West Bank, on 7 February 2017

ที่มาของภาพ, EPA

แม้จะต้องเผชิญคดีความหลายข้อหา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นคดีที่บรรดาฝ่ายค้านนำขึ้นสู่ศาล แต่นายเนทันยาฮู ก็ยังเดินหน้าเสนอให้ผนวกดินแดนบางส่วนในเขตเวสต์แบงก์ที่อิสราเอล ยึดครองอยู่ มาเป็นของอิสราเอลโดยถาวร ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวปาเลสไตน์

และรัฐบาลชาติยุโรปหลายชาติก็เตือนให้อิสราเอลระมัดระวัง บางประเทศถึงกับออกปากว่า อาจจะคว่ำบาตรอิสราเอลหากยังยืนยันเดินนโยบายนี้ต่อ

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ท่าทีของสหรัฐฯ จะมีผลสำคัญยิ่ง เช่นเดียวกับครั้งก่อนหน้านี้ ที่นายเนทันยาฮูมีความมั่นใจมากขึ้นหลังสหรัฐฯ ยอมรับอำนาจอธิปไตยของอิสราเอล เหนือที่ราบสูงโกลัน และย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม

ยังไม่แน่ชัดว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่นักวิเคราะห์บางคนบอกว่านายเนทันยาฮูใช้เรื่องนี้มาเพิ่มเสียงสนับสนุนในช่วงเลือกตั้ง และอาจจะหาทางถอยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือบางทีสหรัฐฯ อาจจะยื่นมือเข้ามาช่วยก็ได้ เพราะชาวอิสราเอลที่เป็นฝ่ายชาตินิยมคงไม่ยอมเห็นปาเลสไตน์ได้เป็นรัฐเอกราชแน่

เบร็กซิทยังอยู่

EU and Union flags

ที่มาของภาพ, PA Media

หลายคนอาจจะลืมเรื่องเบร็กซิทไปแล้ว แต่เวลาไม่ได้หยุดนิ่ง และช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ และยังไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน คิดจะเลื่อนเวลาออกไป

อย่างไรก็ดี การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนบริบททุกอย่าง เศรษฐกิจย่ำแย่ และดูเหมือนไม่มีใครจะอยากพูดคุยเจรจาเรื่องนี้

มาตรการรับมือกับโควิด-19 ของสหภาพยุโรปในช่วงแรก ๆ ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนวิธีการรับมือของสหราชอาณาจักรก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีเช่นกัน

การถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรจะทำให้ทั้งสองฝ่ายยิ่งลำบาก แต่บางทีนี่อาจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงความสัมพันธ์ในอนาคตได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี สภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยจะยิ่งทำให้การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ทางการค้า และความสัมพันธ์ทางการทูตยากยิ่งขึ้น อาทิ จะสนับสนุนสหรัฐฯ แค่ไหน จะยืนหยัดต่อท่าทีของจีนอย่างไร นี่ไม่ใช่เรื่องที่สหราชอาณาจักรจะตัดสินใจได้ง่าย ๆ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

น้ำแข็งละลาย

ที่มาของภาพ, RobertH82

มองในแง่หนึ่ง การรับมือของนานาชาติต่อวิกฤติโควิด-19 เป็นบททดสอบที่ดีอย่างหนึ่งว่าชาติต่าง ๆ จะร่วมกันจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีแค่ไหน

เรื่องโควิด-19 เป็นประเด็นให้ประเทศต่าง ๆ ขัดแย้งกัน เช่น สหรัฐฯ กับจีน และก็มีแนวโน้มว่าความตึงเครียดจะยังคงอยู่ต่อไปแม้ว่าวิกฤตโรคระบาดจะจบลง

อุปสรรคอย่างหนึ่งคือการผลักดันให้กระบวนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ที่ผ่านมาการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่กำหนดจัดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ เดือน พ.ย. นี้ ถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้าแล้ว

คำถามสำคัญคือ นานาชาติจะกลับมาตื่นตัวและมุ่งมั่นแก้ปัญหานี้หรือไม่ หรือมันจะถูกลดทอนความสำคัญลงไปในโลกที่ดูจะสลับซับซ้อนขึ้นทุกวัน