โควิด-19 : เลื่อนเปิดเทอม นักเรียน-ครู-กระทรวงศึกษาฯ รับมืออย่างไร

Lecture room or empty classroom with desks and chairs in thailand

ที่มาของภาพ, Getty Creative

  • Author, สมิตานัน หยงสตาร์
  • Role, ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย

แม้รัฐบาลสั่งเลื่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ไปเป็น 1 ก.ค. เพื่อป้องการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ความกังวลในเรื่องการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลยังคงมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวดต่อไป จนเกิดความสงสัยทางโลกออนไลน์ว่าจะต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไปอีกหรือไม่

จนถึงขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการยืนยันว่า 1 ก.ค. คือวันเปิดภาคเรียนของปีการศึกษา 2563 แต่ก็ดำเนินการมาตรการรองรับอื่น ๆ ไว้รับมือกับสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย

วันเปิดเทอมที่เลื่อนออกไป 45 วัน ล้วนส่งผลกระทบต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ตัวเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอน บีบีซีไทยออกสำรวจความรู้สึกและการปรับตัวของพวกเขา

"คิดถึงเพื่อนแล้ว"

"คุณแม่บ่นแล้วอยากให้ไปโรงเรียนเร็ว ๆ อยู่บ้านมั่ว(ซน)มาก" ชนากานต์ บ่อหน่า หรือ บีบี เด็กหญิงวัย 12 ปี ใน จ. กระบี่ เล่าให้บีบีซีไทยฟัง

บีบีต้องอยู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากสมาชิกในบ้านมีทั้งคุณยายสูงวัย และน้องวัย 5 เดือน ผู้ใหญ่ในบ้านต่างกังวลว่าหากออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนบ้าน จะเสี่ยงนำเชื้อกลับมาติดน้องและยาย ในขณะที่ จ. กระบี่ มีผู้ป่วยสะสมจากโรคโควิด-19 เป็นลำดับต้น ๆ ในภาคใต้

"น่าเบื่อสุด ๆ" บีบีบอกถึงความรู้สึกในตอนนี้ หลังจากที่ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ เมื่อคราวไปสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อ ม. 1 ที่ทุกคนต้องถูกวัดไข้ก่อนเข้าสอบ และต้องใส่หน้ากากอนามัย ขณะทำข้อสอบ

บีบี เล่าว่า เธอตื่นเต้นมากที่ได้ขึ้นชั้นมัธยมต้น เพราะเป็นการย้ายโรงเรียนครั้งแรกหลังจากเรียนที่เดิมมาตลอดตั้งแต่อนุบาลจนจบประถมศึกษา จึงกังวลที่จะต้องทำความรู้จักเพื่อนและคุณครู

"คิดถึงเพื่อนแล้ว เรื่องเรียนด้วยนิดนึง" บีบีเล่าพลางหัวเราะ ทุกวันนี้นอกจากการอยู่บ้านช่วยคุณยายเลี้ยงน้อง เธอก็คลายเหงาด้วยการพูดคุยกับเพื่อนผ่านโปรแกรมแชทเท่านั้น

น้องใหม่เตรียมอุดมเสียดายกิจกรรม

กชพรรณ ภูมิอภิรดี

ที่มาของภาพ, กชพรรณ ภูมิอภิรดี

"รุ่นพี่บอกว่า ม.4 กิจกรรมเยอะสุด ก็เสียดายมากกลัวเปิดเทอมมาแล้วจะโดนตัดหมด" กชพรรณ ภูมิอภิรดี หรือ ตูน สาววัย 15 ปี น้องใหม่ของ โรงเรียมเตรียมอุดมศึกษา เล่าเรื่องกลั้วเสียงหัวเราะเปิดเผยเป้าหมายที่มากกว่าเรื่องเรียน

ย้อนไปช่วงต้นเดือนมี.ค.ช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตูนเข้ามาสอบในกรุงเทพฯ ในชุดนักเรียนของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา เธอเล่าว่านักเรียนทุกคนต้องถูกตรวจวัดอุณหภูมิและใส่หน้ากากอนามัยก่อนเข้าห้องสอบ เมื่อผลสอบออกมาว่าเธอมีโอกาสได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนที่หวัง จึงไม่แปลกที่เธอจะจินตนาการชีวิตการเรียนในสถานที่แห่งใหม่ไปต่าง ๆ นานา แต่ทุกอย่างก็กลับหยุดชะงักไปในเวลาไม่นาน

แม้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเปิดเรียนในวันไหน แต่กิจกรรมปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ก็ถูกยกเลิกไปแล้วอย่างไม่มีกำหนด รวมถึงการสอบเพื่อคัดเลือกเข้าเรียนห้องเรียนพิเศษบางวิชาก็ปรับเปลี่ยนมาสอบออนไลน์ แต่บางวิชาก็ถูกเลื่อนออกไป

กิจวัตรประจำวันใหม่ในช่วงนี้ของเธอจึงเป็นการเรียนพิเศษออนไลน์จากที่บ้านเพื่อเตรียมพร้อมหากจำเป็นต้องเรียนลากยาวทั้งปีเมื่อเปิดภาคการศึกษา

"ตอนนี้ก็เรียนเนื้อหาไปล่วงหน้า เพราะถ้าไม่มีปิดระหว่างเทอมก็จะไม่ได้เรียนพิเศษ กลัวจะเรียนไม่ทัน"

แม้จะปรับตัวและรับมือดีเพียงใด ตูนก็ยังอดไม่ได้ที่จะเสียดายช่วงเวลาการปรับตัวผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่มักจะเกิดช่วงก่อนเข้าเรียน รวมถึงกิจกรรมที่อาจจะถูกลดทอนไปเมื่อเวลาในการเรียนไม่เพียงพอ แต่ก็ปลอบใจตัวเองว่าอย่างน้อยก็มีเรื่องให้จดจำว่าครั้งหนึ่งได้เป็น"เด็กย้ายโรงเรียนยุคโควิด"

เสียค่าหอแต่ไม่ได้อยู่

ชานนท์ จันทร์ดำ

ที่มาของภาพ, ชานนท์ จันทร์ดำ

ประสบการณ์หนึ่งของการเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต่างเมืองต้องสัมผัส คือ การเดินหาหอพัก ซึ่งต้องถูกและดี รวมถึงสะดวกต่อการเดินทาง

ในช่วงแรก ชานนท์ จันทร์ดำ หรือ กอล์ฟ ดีใจมากที่ได้หอพักที่ถูกใจ หลังได้รับการยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้ เรื่องดีดูจะกลายเป็นเรื่องผิดพลาดไปเสียแล้ว

กอล์ฟจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ก่อนสอบเข้าเรียนต่อได้ที่ ม. ทักษิณ จ.สงขลา ในคณะศึกษาศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ อย่างที่ได้ตั้งใจไว้ ตื่นเต้นมากที่จะได้ใช้ชีวิต "เฟรชชี่" ปีหนึ่ง แต่ด้วยโรคระบาดทำให้แผนเดิมที่เคยวางไว้ดูไม่แน่ไม่นอนไปเสียหมด

"ตอนนี้ก็ไม่รู้จะคุยกับเจ้าของหอยังไง ว่าจะเลื่อนเวลาเข้าอยู่ได้ไหม ไม่อย่างนั้นก็ต้องจ่ายค่าแรกเข้าสองเดือน กับค่าหอแต่ไม่ได้อยู่ไปราว 3 เดือนเลย"

นี่เป็นความกังวลที่เด็กเรียนไกลบ้านเท่านั้นจะเข้าใจ เพราะจากการเลื่อนเปิดเทอมไปกว่า 3 เดือน ทำให้สัญญาการเช่าหอที่เขากำลังจะต้องจ่ายนั้นดูจะไม่คุ้มค่า และหากไม่สามารถต่อรองกับเจ้าของหอพักให้เลื่อนเวลาการเข้าอยู่ได้ เขาอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่หากไม่ทำเช่นนั้นก็ต้องเสียสิทธิในการเข้าอยู่

ความกังวลนี่ไม่ได้เกิดกับกอล์ฟเพียงคนเดียว ยังมีบรรดาเพื่อน ๆ ที่เจอปัญหาคล้ายกัน แต่บ้างที่ยังไม่ได้หาที่พักก็ต้องกังวลว่าบรรดาหอต่าง ๆ จะเปิดรับคนใหม่ ๆ หรือไม่เนื่องจากความกังวลของโรคระบาด อีกทั้งกำหนดการของทางมหาวิทยาลัยก็ยังคงไม่แน่ชัดว่าจะเป็นเช่นไร

แม้จะเข้าใจกับสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ต้องเลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ไปมากมาย โดยเฉพาะ "การรับน้อง" แต่กอล์ฟก็ยังเสียดาย เพราะนั้นเป็นความฝันของบรรดาเด็กมัธยมที่อยากพบเจอสักครั้ง แต่อย่างไรเสียเขาไม่ได้ปล่อยเวลาในช่วงนี้ไปเปล่าประโยชน์ ด้วยเป็นคนชอบทำขนมเขาจึงใช้เวลาช่วงนี้ในการพัฒนาฝีมือ หารายได้เล็ก ๆ น้อยไปพลาง ๆ โดยยังคิดภาพไม่ออกว่า "ชีวิตเฟรชชี่ยุคโควิด" ของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอีกยังไงบ้าง

ครูประถมกังวลปัญหา

ด้านครูคนหนึ่งในโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็กแห่งหนึ่งใน จ.ตรัง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยตัว ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทางการได้วางระบบไว้รองรับการเรียนทางไกลแล้ว แต่ระบบดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลก็ต่อเมื่อมีเด็กได้เรียนในการดูแลอย่างใกล้ชิดของครู และความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ของนักเรียน ที่บางครอบครัวก็ไม่สามารถจัดหาได้

นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องการบริหารจัดการเรื่องอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนตำบลก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องประสานงานกัน ซึ่งทั้งหมดควรจะ "คิดให้แล้วเสร็จก่อนเปิดเทอม" ครูชายผู้นี้ให้ความเห็น

ครูผู้นี้เสริมด้วยว่า ในช่วงของการเลื่อนเปิดเทอมนี้ แม้ไม่มีการเรียนการสอน สิ่งที่ครูส่วนใหญ่ต้องทำ คือการเตรียมหลักสูตรที่จะต้องใช้ในการสอนตลอดทั้งปี จากเดิมที่สามารถใช้ช่วงเวลาปิดเทอมวางแผนในภาคเรียนต่อไปได้ รวมถึงการทำแผนงบประมาณของโรงเรียน หากระยะห่างระหว่างปีการศึกษา 2563 และ 2564 มีเพียง 15 วัน ปัญหาใหญ่อาจจะไม่ได้เห็นในเวลาอันใกล้

สพฐ. ย้ำ เปิด 1 ก.ค.

เด็กนักเรียน

ที่มาของภาพ, Reuters

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ยืนยันมาตรการการเลื่อนเปิดเรียนปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของนักเรียน ส่วนที่ว่าปีการศึกษา 2564 จะเรียนต่อเนื่องกันไปหรือไม่นั้น ยังคงอยู่นั้นตอนการคุยในรายละเอียด

แม้การเรียนรู้ในห้องเรียนจะเป็นรูปแบบการเรียนที่ดีที่สุด แต่นายอำนาจ อธิบายว่า คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่โรงเรียนต้องปรับตัว โดนเฉพาะการเรียนในระบบออนไลน์ ซึ่งเบื้องต้นในโรงเรียนขนาดเล็กจะมีการใช้สื่อการเรียน DLTV หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ห้องเรียนไกลกังวล" ซึ่งเป็นสื่อการสอนของมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียมที่มีอยู่เดิมสนับสนุน

"โรงเรียนมีทั้งในชุมชนเมือง ชุมชนชนบท และชุมชนห่างไกล...ถ้าประเมินแล้วว่ารร.สามารถเปิดได้ก็จะทำ เพราะอย่างหมู่บ้านนี้ล็อกดาวน์ ในหมู่บ้านไม่มีผู้ติดเชื้อเลย อย่างนี้อาจจะขออนุญาตคณะกรรมการโควิด-19 ที่ผู้ว่าเป็นประธานตัดสินใจในการทำการสอนในห้องเรียน"

สำหรับมาตรการเรียนออนไลน์นั้นจะถูกพิจารณาเป็นรายพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้นในช่วงใกล้วันที่ 1 ก.ค. ก็อาจจะมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในแต่ละจังหวัดร่วมประเมินแนวทางการต่อไป โดยหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายก็อาจเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับการเรียนในห้อง

นายอำนาจ ยังยกตัวอย่างการปรับตัวในโรงเรียนได้ มีความเป็นไปได้ที่อาจจะใช้มาตรการการจำกัดจำนวนและจัดลำดับนักเรียน ที่จะเข้าเรียนในห้องเรียนในแต่ละวันสลับกันไป เพื่อเพิ่มระยะห่างทางสังคม ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ แต่ยังทำให้ครูและนักเรียนยังคงมีโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนร่วมกัน

"ถ้ายังมีการติดเชื้อก็อาจเป็นการจัดกลุ่มมาเรียนไม่ครบทั้งชั้น เช่น หากมีนักเรียน 30 คน อาจผลัดเปลี่ยนมาเรียนวันละ 10 คน แล้วเอารายงานไปเรียนที่บ้าน แล้วกลับมาส่ง สลับกับการเรียนทางบ้านที่พ่อแม่ต้องช่วยกัน"

อย่างไรก็ตามนายอำนาจ ยังไม่ยืนยันว่าภาคการศึกษา 2564 นั้นจะได้รับผลกระทบตามไปด้วยหรือไม่ แต่ยืนยันว่า "เจตนารมณ์เราไม่อยากให้เลื่อน ให้เลื่อนเพียงปี 63 และต่อยอดไปต่อปี 64 ได้ หมายความว่าเด็กจบ ม.6 สามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัย ได้ตามกติกาเดิม"

สำหรับข้อกังวลของคุณครู และนักเรียน เรื่องการเรียนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหากปีการศึกษาต่อไปจะมีวันหยุดเพียง 15 วันนั้น นายอำนาจ ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียด เพื่อให้คุณครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองมีความพร้อมให้มากที่สุด โดยทิ้งท้ายว่า "โรงเรียนปิดได้ สถานศึกษาปิดได้ แต่นักเรียนต้องไม่หยุดการเรียนรู้"