อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงลาออกจากการเป็น ส.ส.

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งทำหน้าที่มายาวนานถึง 27 ปี หลังพรรคต้นสังกัดมีมติสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

"จะให้ผมเดินเข้าไปแล้วออกเสียงว่าผมสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมก็ทำไม่ได้ เพราะยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคเสียอีก คือสัญญาประชาคมที่ผมให้ไว้กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ" นายอภิสิทธิ์เปิดแถลงข่าวในเวลา 1 ชม. ก่อนถึงเวลานัดหมายประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

เขาย้ำจุดยืนไม่สนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ หลังจากการเลือกตั้ง ตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ พร้อมขอบคุณประชาชนเกือบ 4 ล้านคนที่ให้การสนับสนุนจุดยืนของเขาและ ปชป. โดยสำนึกในบุญคุณของคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา

ถึงวันนี้เขาบอกว่ายังยึดมั่นในจุดยืนเดิม และเห็นว่าการ "สืบทอดอำนาจ" ไม่ใช่เรื่องของวาทกรรม แต่คือความเป็นจริง และเป็นความเป็นจริงที่ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมหลายอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ในวันที่ตัวเขาได้ยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ซึ่งมีพฤติกรรมหลายอย่างเหมือนกัน

"ถ้าท่านนึกไม่ออก ผมขอแนะนำให้ท่านไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่ชื่อว่า 'แอนนิมอล ฟาร์ม' และท่านจะได้ซาบซึ้งแล้วเข้าใจว่าพฤติการณ์ของการต่อสู้ ต่อต้านกับบางสิ่งบางอย่าง แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วกลับกระทำเสมือนกันทุกประการนั้นเป็นอย่างไร" อดีตหัวหน้า ปชป. กล่าว

สิ่งที่ อภิสิทธิ์ เห็นในช่วงเลือกตั้ง

  • การใช้อำนาจรัฐ เงิน เพื่อให้ได้คะแนนเสียงโดยมิชอบ
  • พฤติการณ์การสรรหา ส.ว.
  • พฤติการณ์แทรกซึมสื่อมวลชนบางแขนง
  • พฤติกรรมที่ส่งผลให้องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบ คัดค้าน ตามกติกาได้

ที่มา : สรุปจากคำแถลงลาออกจากการเป็น ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 5 มิ.ย.

BBC Thai
สถิติน่ารู้เกี่ยวกับ อภิสิทธิ์

  • 2 ครั้งที่นำ ปชป. คว่ำบาตรเลือกตั้ง

  • ครองเก้าอี้หัวหน้า ปชป. ยาวนานเป็นอันดับที่ 2

  • เป็นผู้นำฝ่ายค้าน3 สมัย

  • เป็นหัวหน้า ปชป.คนที่ 7

  • อยู่ในสนามการเมือง27 ปี

  • เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

วานนี้ (4 มิ.ย.) ปชป. มีมติ 61 ต่อ 16 เสียง ให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังยื้อเวลาให้คำตอบพรรคแกนนำมานาน 72 วันนับจากเลือกตั้ง 24 มี.ค.

มติที่ออกมาเป็นผลจากการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรครวม 80 คน ซึ่ง "ปิดห้อง" พูดคุยกันยาวนานถึง 6 ชม.

นายอภิสิทธิ์บอกว่า "ได้ใช้ความพยายามโน้มน้าวอย่างหนัก" ว่า ปชป. ควรเลือกเส้นทางใด แต่บัดนี้เมื่อ ปชป. มีมติสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และจะเข้าไปร่วมรัฐบาล เมื่อพรรคมีมติออกมาแล้ว สมาชิกพรรคก็ควรจะปฏิบัติเช่นนั้น ไม่มีการไปฝ่าฝืนมติพรรค นอกจากนี้ยังเอ่ยปากขอบคุณเพื่อนสมาชิก ปชป. ที่พยายามเสนอทางออกให้กับเขา

บรรยากาศ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

บรรยากาศ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ส.ส. ปชป. และพรรคอื่น ๆ ร่วมรับฟังคำแถลงลาออกจากการเป็น ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

"เขาใช้คำว่า 'อยากจะช่วยรักษาเกียรติภูมิของผม' ด้วยการนำเสนอให้ผมงดออกเสียง ผมได้ตอบไปในที่ประชุมว่าพรรคคงไม่มีหน้าที่ต้องรักษาเกียรติภูมิให้ใครคนใด พรรคมีหน้าที่รักษาเกียรติภูมิของพรรค ส่วนการรักษาเกียรติภูมิของผม เป็นหน้าที่ของผม ผมจึงปฏิเสธแนวทางที่จะให้ผมเป็นข้อยกเว้น และงดออกเสียงในที่ประชุมวันนี้" นายอภิสิทธิ์ระบุ

เมื่อมติพรรค สวนทางกับจุดยืนทางการเมืองที่นายอภิสิทธิ์เน้นย้ำและนำไปหาเสียง ทำให้เขาเอ่ย "ขอโทษพี่น้องประชาชนทุกคนที่ตัดสินใจเลือก ปชป. โดยเข้าใจว่าพรรคจะรักษาจุดยืน คำพูดของผมที่พูดไปในฐานะหัวหน้าพรรค" แต่ขณะเดียวกันก็ทราบดีว่าปัญหาทั้งหมดมันไม่จบแค่วันนี้ ทุกสัปดาห์ก็ต้องมาเผชิญปัญหานี้ตลอดเหมือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงลาออกจากการเป็น ส.ส.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

"ผมต้องยอมรับว่าใน 27 ปีของการเป็น ส.ส. ของผม ไม่เคยอึดอัดเท่ากับการลุกขึ้นลงมติเพื่อให้เลื่อนการเลือกประธานสภา ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเหตุผลที่จะตอบสังคม" เขาเผยความในใจ

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ถึงวันนี้เหลือทางเดียวเพื่อจะรักษาเกียรติภูมิ ไม่เฉพาะของตัวเขา แต่เกียรติภูมิในตำแหน่งหัวหน้า ปชป. พรรคที่มีคำขวัญว่า "‎สจฺจํเว อมตา วาจา" ที่จะต้องรักษาคำพูด และรับผิดชอบต่อคำพูดที่กล่าวไว้กับพี่น้องประชาชน

"คานธีเคยส่งจดหมายให้กับหลานครับ พูดถึงบาป 7 ประการในสังคม หนึ่งในนั้นคือการเมืองที่ปราศจากหลักการ ผมไม่สามารถทำบาปนั้นได้ ผมจึงจำเป็นต้องตัดสินใจลาออกจาก ส.ส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" เขากล่าวทิ้งท้ายก่อนยุติการแถลงข่าว

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง