วันคล้ายวันสวรรคต ร. 7 : พระราชหัตถเลขาสละราชย์ ประชาธิปไตย และคณะราษฎร

King rama7

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ระบุว่า ร. 7 เป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์แรกที่มีพระราชินีเพียงแค่พระองค์เดียว
  • Author, เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • Role, วิดีโอโดย พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอ

79 ปีหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และพระมหากษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญ บีบีซีไทยชวนทบทวนประวัติศาสตร์ยุค "นำเข้า" ประชาธิปไตยจากต่างแดน

มรดกทางการเมืองการปกครองในรัชสมัยของ ร. 7 ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันตามทัศนะของ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ด้านราชสำนัก คือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

"จินตนาการประชาธิปไตย" ของ ร. 7 ตามที่นักกฎหมายวัยเกษียณ รับทราบผ่านการศึกษาพระราชประวัติและเอกสารทางประวัติศาสตร์ เข้าใจว่ามีที่มาที่ไปจากประสบการณ์ในชีวิตของพระองค์เองที่ได้ทรงพระอักษร (เรียนหนังสือ) และใช้ชีวิตในอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นเวลานาน

"ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ทรงเห็นเท่านั้น แต่ได้ทรงแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกับเพื่อน ครูบาอาจารย์ ผู้ที่อยู่ในแวดวงของท่าน" ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวกับบีบีซีไทย

นอกจากนี้ถ้าศึกษาหนังสือส่วนพระองค์ซึ่งบางส่วนเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า ที่ ศ.พิเศษ ธงทอง เป็นประธาน จะพบว่า "ทรงศึกษาและอ่านหนังสือในเรื่องความคิดทางการเมืองการปกครองทุกระบอบ ทุกระบบ ทุกลัทธิ" ไม่เว้นกระทั่งหนังสือเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ ระบอบสังคมนิยม

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

วิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลก ทำให้เกิด "กษัตริย์นอกราชบัลลังก์"

ย้อนกลับไปในปี 2468 เมื่อพระราชโอรสพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นห้วงเวลาที่ ศ.พิเศษ ธงทองบรรยายว่า "คลื่นลมของการเปลี่ยนแปลงปรากฏชัดเจนในสังคมโลกและเห็นร่องรอยในเมืองไทย"

สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งยุติลงในปี 2461 (ค.ศ. 1918) ได้นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และส่งกระทบต่อระบบการเมืองการปกครองและระบบใช้จ่ายของผู้คนทั้งโลก ในช่วงนั้นเองเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับระบอบกษัตริย์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม

"พระเจ้าแผ่นดินที่เคยเป็นยุคสมัยเฟื่องฟูของราชาธิปไตย ในเวลาที่เทียบกับยุคสมัยบ้านเราคือ ร. 4 ร. 5 พระนางเจ้าวิกตอเรีย พระเจ้าแผ่นดินฟรานซ์ โจเซฟ สารพัดพระเจ้าของเมืองฝรั่ง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป 1 ชั่วอายุคน เราจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจำนวนมาก ในยุโรปตะวันออกนั้น พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์กลายเป็น 'พระมหากษัตริย์นอกราชบัลลังก์' ไป" ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

king rama vii

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รัชกาลที่ 7 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 25 ก.พ. 2468

เมื่อกลับมามองสยามประเทศ ศ.พิเศษ ธงทองเห็นตัวแปร-ตัวเร่ง หลายประการจากการ "เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลาทุกข์ยากของบ้านเมืองและของโลก แต่ไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาดอย่างชื่อของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

บริบทสยามก่อนปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475

ที่มา : สรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กับบีบีซีไทย

"สิ่งเหล่านี้ประมวลกันเข้ามา ผมคิดว่าเป็นสัญญาณที่ส่งชัดเจนให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบอกกับพระองค์เองว่าวันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงใกล้จะมาถึง และความเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบดั้งเดิมอย่างครั้งสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งมีความเป็นผู้นำโดดเด่น เป็นผู้นำในระยะเวลาที่ยาวนาน ความเป็นเอกภาพทางความคิดเห็นทั้งหลายกำลังลดน้อยถอยลงทุกที ต้องทรงเตรียมการ" ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

ลำดับ "ร่องรอย" การเตรียมการพระราชทานประชาธิปไตยในไทย

กระแสเรียกร้อง "ปาลิเมนต์" (Parliament - รัฐสภา) เริ่มปรากฏในประวัติศาสตร์สยามสมัยใหม่ เมื่อคณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทั้ง 3 พระองค์นับจากในหลวง ร. 5 ได้กราบบังคมทูลให้จัดการปกครองด้วยรูปแบบ "คอนสติติวชั่นโมนากี" (Constitutional Monarchy - กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ) ตามแบบอย่างชาติตะวันตก แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยพระราชปรารภว่าด้วย "ความไม่พร้อม" ของราษฎรไทย

ศ.พิเศษ ธงทอง ชี้ว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรึกษาข้อราชการกับที่ปรึกษาชาวต่างประเทศและขุนนางฝ่ายก้าวหน้า ส่วนใหญ่เห็นว่า "การกระโดดขั้นเดียวไปเป็นระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบนั้น ดูจะเป็นสิ่งซึ่งรวดเร็วและเกินไป" ควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป

กำแพงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไทยภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า ย่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, กำแพงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไทยภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า ย่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ข้อเสนอจากที่ปรึกษาชาวต่างประเทศขององค์ประมุขประเทศ ที่นักประวัติศาสตร์รายนี้สรุปได้แบบย่นย่อคือให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่นายกรัฐมนตรียังมาจากผู้ที่ทรงแต่งตั้ง ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับสภา แต่เป็น "โซ่ข้อกลาง" หรือ "กันชน" ระหว่างสภากับพระมหากษัตริย์ อย่างน้อยก็บรรเทาความกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเห็นที่แตกต่างกัน

ส่วนในคราวเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2474 ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกันว่าทรงเตรียมการที่จะพระราชทานการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยในเมืองไทย ซึ่ง ศ.พิเศษ ธงทองชี้ว่า "นี่คือร่องรอยหรือหลักฐานว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงคิดเรื่องนี้อยู่ในพระราชหฤทัย"

พระราชดำรัสในการทรงพระราชปฏิสันถารแก่ นสพ.สหรัฐฯ ถูก นสพ.เดลิเมล์ของไทยนำมาแปลและตีพิมพ์ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2474 โดยข้อมูลนี้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เช่นกัน

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พระราชดำรัสในการทรงพระราชปฏิสันถารแก่ นสพ.สหรัฐฯ ถูก นสพ.เดลิเมล์ของไทยนำมาแปลและตีพิมพ์ฉบับวันที่ 1 มิ.ย. 2474 โดยข้อมูลนี้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เช่นกัน

อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงไม่เคยบอกว่าจะมาเมื่อไร วันที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมากในยุคนั้นว่าจะเกิด "เหตุการณ์สำคัญ" ขึ้นคือวันฉลองพระนครครบ 150 ปี 6 เม.ย. 2475 แต่สุดท้ายก็ไม่มีเหตุใด ๆ ก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่แบบ "พลิกแผ่นดิน" จะมาถึงจริงในอีก 2 เดือนต่อมา

"จะทรงยอมตามนั้น หรือทรงสู้เพื่อฝืนให้มีระบอบดั้งเดิมอยู่ต่อไป"

"การตัดสินพระราชหฤทัยเมื่อ 24 มิ.ย. 2475 เมื่อได้ทรงรับหนังสือจากคณะราษฎรแล้ว ผมว่านั่นคือวินาทีหรือช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้าคิดอย่างธรรมดาคือจะทรงยอมตามนั้น หรือทรงสู้เพื่อฝืนให้มีระบอบดั้งเดิมอยู่ต่อไป การตัดพระราชหฤทัยวันนั้นเป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่าทรงเลือกที่จะดำเนินการที่จะใช้วิถีทางแห่งความสันติวิธี ไม่มีการสู้รบในหมู่คนไทย แล้วเดินหน้าสู่วิถีการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างที่เราทุกท่านได้ทราบดีอยู่แล้ว" ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว

นายทหารออกแจกจ่ายแถลงการณ์คณะราษฎรให้ประชาชนในพระนครได้รับทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิ.ย. 2575

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายทหารออกแจกจ่ายแถลงการณ์คณะราษฎรให้ประชาชนในพระนครได้รับทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิ.ย. 2575

ตลอดเวลา 9 ปีเศษภายใต้รัชสมัยของในหลวง ร. 7 มีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องตัดสินพระทัยทางการเมืองอย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่ง ศ.พิเศษธงทองเห็นว่าทุกเหตุการณ์วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า "ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยประชาชนมีส่วนมีเสียงอย่างแท้จริงเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองระยะยาว และการดำรงอยู่ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจหมดเวลาแล้ว"

  • วันปฏิวัติสยาม 24 มิ.ย. 2475
  • วันพระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 27 มิ.ย. 2475
  • วันสละราชสมบัติ 2 มี.ค. 2489

ศ.พิเศษ ธงทองชี้ว่า นอกจากหลักการของระบอบใหม่ที่ทรงวางให้เห็น ในหลวง ร. 7 ยังทรงแสดงให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร เช่น การเติมคำว่า "ชั่วคราว" ในธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของไทย เป็นเพราะร่างที่คณะราษฎรนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย "สั้นจนมองไม่เห็นอะไร ต้องการให้ทำฉบับใหม่ ซึ่งสุดท้ายก็ผลิดอกออกผลเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ซึ่งก็ไม่ได้ทรงเห็นด้วยทุกอย่างนะ แต่ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน"

พระราชหัตถเลขาสละราชย์ กับภาพจำ "กษัตริย์นักประชาธิปไตย"

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์รายนี้พบความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างระหว่าง ร. 7 กับคณะราษฎรอยู่เนือง ๆ หรือแม้แต่ในสมาชิกคณะราษฎรเองก็ไม่เป็นเอกภาพ ทว่าหนึ่งในกระแสหลักทางความคิดของผู้ก่อการปฏิวัติสยามคือ "ความไม่วางใจว่าวันข้างหน้าเสถียรภาพของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นแล้วจะยั่งยืนเพียงใดแค่ไหน" โดยเฉพาะเมื่อเกิดกบฏบวรเดชในปี 2476

"เมื่อทุกอย่างเดินหน้าต่อไปไม่ได้ดั่งพระราชหฤทัย พ้นความสามารถของท่านแล้วที่ท่านจะทำอะไรได้ การที่ท่านหลีกทางให้ระบอบยังเดินได้ การที่ท่านตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ผมคิดว่านี่ก็อาจเรียกว่าเป็นอีกวีรกรรมหนึ่งของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ก็ได้ เพราะท่านทรงรับสั่งอยู่เสมอในหลายที่หลายหลักฐานว่าการที่พระมหากษัตริย์กับรัฐบาลทะเลาะกันนั้นไม่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองเลย" ศ.พิเศษ ธงทอง ระบุ

king rama vii

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รัชกาลที่ 7 เสด็จไปพำนักยังประเทศอังกฤษหลังสละราชสมบัติเมื่อ 2 มี.ค. 2477

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"

ข้อความบางส่วนในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติที่ทรงร่างและลงพระปรมาภิไธยขณะทรงพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งถูกอัญเชิญมาพูด-พิมพ์-ผลิตซ้ำในหลายโอกาส ได้กลายเป็นข้อความอันทรงพลังทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมนำมาตีความใหม่ และยังมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูพระเกียรติ และก่อให้เกิดภาพลักษณ์ใหม่-ภาพจำใหม่ในฐานะ "กษัตริย์นักประชาธิปไตย"

อย่างไรก็ตาม ศ.พิเศษ ธงทอง ให้ความเห็นว่ายังมีอีกหลายเรื่องราวที่อยู่ในพระราชหัตถเลขาฉบับนั้น "ลองกลับไปศึกษาดู เราจะพบการเปิดใจของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ในนาทีสุดท้ายที่ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย"

มองความสัมพันธ์ระหว่าง ร. 7 กับคณะราษฎร

เมื่อให้มองความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์พระองค์แรกภายใต้รัฐธรรมนูญกับคณะราษฎร ผู้เชี่ยวชาญด้านราชสำนักวัย 64 ปีระบุว่า ช่วงอายุของสมาชิกคณะราษฎรกับพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่แตกต่างกันเท่าไร จึงคิดว่าเป็นอารมณ์ที่ผสมผสานหลายอย่าง

"ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ที่สืบพระวงศ์มา 150 ปีแล้ว ความเปลี่ยนแปลงมาเกิดในช่วงเวลาของชีวิตท่าน ท่านคงรู้สึกเหมือนท่านบกพร่อง หรือท่านทำไม่ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะได้ทำ แต่ในขณะเดียวกันผมคิดว่าท่านเข้าใจนะว่าคนในวัยเดียวกับท่าน คนที่ไปเห็นบ้านเมืองอื่นที่เขามีวิถีการปกครองซึ่งท่านก็เห็นคุณเห็นประโยชน์ของสิ่งนั้นมาแล้ว ก็อยากจะเปลี่ยนแปลง มันก็เป็นเรื่องที่ผสมผสานกัน หลายคนในคณะราษฎรก็ทรงรู้จัก ทรงมักคุ้น"

เช่นเดียวกับบรรยากาศบ้านเมืองในช่วงแรก ๆ หลังปฏิวัติสยาม ซึ่ง ศ.พิเศษ ธงทองพบความพยายามสร้างความร่วมมือ สะท้อนผ่านการที่นายกฯ คนแรกคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

"ถามว่าทรงรู้จักไหม คุณหญิงมโนปกรณ์ซึ่งเป็นภรรยาของเจ้าคุณมโนฯ เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี แล้วก็ตามเสด็จไปในคราวประพาสอินโดจีนก่อนหน้านั้น 3-4 ปี มีอุบัติเหตุรถยนต์ รถคว่ำ คุณหญิงเสียชีวิต เสด็จพระราชดำเนินไปงานศพของคุณหญิง สร้างอนุสาวรีย์พระราชทานไว้ที่วัดปทุมวนาราม ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนเจรจาหารือกันอย่างไร แต่นี่คือนายกรัฐมนตรีคนแรก" ศ.พิเศษ ธงทองบรรยาย

คณะราษฎรสายทหารบก

ที่มาของภาพ, กลุ่มงานพิพิธภัณฑ์และจดหมายเหตุ สำนักเลขาธิการสภาฯ

คำบรรยายภาพ, โฉมหน้าคณะราษฎรสายทหารบก 33 คน โดยมี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร (คนที่ 5 แถวกลางจากซ้ายมือ) และ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม (คนที่ 3 แถวกลางจากซ้ายมือ) ร่วมในภาพด้วย

อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธจะให้ความเห็นว่าส่วนตัวให้น้ำหนักกับข้อมูลประวัติศาสตร์ชุดใด ระหว่างฝ่ายที่เชื่อว่าการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยเป็นการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับคณะเจ้า กับฝ่ายที่เห็นคณะราษฎรเป็นปฏิปักษ์ต่อราชสำนัก ต้องจัดการลบความทรงจำทิ้งไป

"ประวัติศาสตร์แยกเป็นชิ้นอย่างนั้นไม่ได้" เขาตอบทันควันเมื่อถามว่า ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องแยกแยะว่าสิ่งไหนคือพระมหากรุณาธิคุณจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง และสิ่งไหนคือมรดกคณะราษฎรใช่หรือไม่

"เราไม่อยู่ในฐานะที่พูดได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะคนใดคนหนึ่ง มันเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยการกระทำ ด้วยปฏิกิริยาของทุกคนที่เป็นตัวละครในเรื่องนั้น"

หนึ่งในหลักฐานในภายหลังคือ พระราชหัตถเลขาถึงนายเจมส์ แบ็กซ์เตอร์ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษ และที่ปรึกษาด้านการเงินของสยาม ลงวันที่ 4 ส.ค. 2476 หรือ 7 เดือนก่อนสละราชสมบัติ โดยได้ทรงวิจารณ์คณะราษฎร เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ และยังตรัสถึงความภักดีของทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือว่า "พวกเขาจะไม่ยอมรับที่กษัตริย์จะมาบังคับบัญชาการกองทัพโดยตรงและจะไม่เชื่อฟังคำสั่งใด ๆ ที่เป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขา"

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ นิยามตัวเองว่า "เป็นคนในปัจจุบันมากกว่าอดีต"

ท้ายที่สุดในฐานะผู้ที่เห็นความสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ควรคิดอย่างไรและทำอย่างไรในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน นอกเหนือจากการแสดงความจงรักภักดี

นี่เป็นอีกคำถามที่ผู้เป็นข้าราชการมาทั้งชีวิตขอปิดปาก โดยกล่าวเพียงว่า "วันนี้พูดประวัติศาสตร์ทั้งนั้น ไม่อยากพูดถึงปัจจุบัน ปวดหัว"

Presentational grey line

องค์ต้นแบบแห่งการมีราชินีพระองค์เดียว

แนวคิดสมัยใหม่ ค่านิยม และอิทธิพลของ "คนขาว" ได้ก่อให้เกิด "ธรรมเนียมใหม่" ขึ้นในราชสำนักไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอัครมเหสีพระองค์เดียวตลอดรัชสมัยของพระองค์

"ท่านเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระองค์แรกนะถ้าจะกล่าวว่าเป็นผู้นำในเรื่องนี้ก็ได้ คือการที่มีพระราชินีเพียงแค่พระองค์เดียว เป็นความรักที่เกิดขึ้นด้วยพระองค์เอง แล้วก็ได้ทรงใช้ชีวิตคู่ ร่วมทุกข์ร่วมสุข ทั้งทุกข์และสุขนะครับตลอดพระชนม์ชีพจนกระทั่งเสด็จสวรรคต" ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว

นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ เม.ย. 2562 ตีพิมพ์บทความ "เมื่อองค์ประชาธิปกเสด็จประพาส 'โลกใหม่'" โดย ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล และ ภาพิศุทธิ์ สายจำปา ซึ่งอ้างหลักฐานที่ปรากฏในสื่อสหรัฐฯ ในระหว่าง ร. 7 เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อปี 2474

ข่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า "บัดนี้ เป็นที่ทราบในหมู่ชาวเมืองแล้วว่า 'พระองค์ไม่ได้ทรงช้างเผือก หรือทรงมีพระสนมนางในเป็นร้อยแต่อย่างใด... ทรงมีพระราชหฤทัยจงรักในสมเด็จพระบรมราชินีพระโฉมงามแต่พระองค์เดียว..."

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร. 7 เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนสหรัฐฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก จิมมี วอล์คเกอร์ ถวายการต้อนรับ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร. 7 เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนสหรัฐฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก จิมมี วอล์คเกอร์ ถวายการต้อนรับ

ศ.พิเศษ ธงทอง ชี้ว่า ในเวลานั้นสังคมไทยไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตสามีภรรยาอยู่ด้วยกัน ขณะที่สิ่งแวดล้อมในยุคสมัยนั้น กระทั่งขุนนางและชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ใช่ของแปลกที่จะมีภรรยามากกว่า 1 คน

"อาจมาจากปัจจัยเบื้องต้นที่หลายคนบอกว่าก็ท่านเรียนหนังสือเมืองนอกมา ท่านเห็นแบบอย่างชีวิต แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เห็นมากับสิ่งที่ทรงปฏิบัตินั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นการทำตามแบบนั้น ต้องเป็นความปรารถนาในพระราชหฤทัยและทรงมีความสุขในการกระทำเช่นว่านั้นด้วย" ศ.พิเศษ ธงทองระบุ

ในช่วงปลายรัชสมัยของ ร. 7 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ประกาศให้มีการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิง และวางหลักการชีวิตคู่เพียงชาย 1 หญิง 1

"การปฏิบัติพระองค์และพระจริยานุวัตรของในหลวง ร. 7 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เป็นแบบอย่าง เป็นมาตรฐานให้คนเห็นว่าชีวิตคู่ที่มีความสุขนั้นมีได้จริง" เขาบอก

ค่านิยมส่วนพระองค์ยังส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อ "ความก้าวหน้าเรื่องสิทธิสตรี" และ "ความเห็นตัวตนผู้หญิงในสังคมไทย" อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่ง ศ.พิเศษ ธงทองไล่เลียงไว้ ดังนี้

  • เด็กนักเรียนหญิงมีโอกาสเรียนหนังสือเสมอบ่าเสมอไหล่กับนักเรียนชายในทุกระดับ
  • ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวง ร. 7 ปี 2468 เป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีเป็นเนื้อเดียวส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธี และ เสด็จไปไหนคู่กันทั้ง 2 พระองค์
  • เมื่อมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้ง หญิงไทยมีสิทธิในการเลือกตั้งเท่ากับชาย และไม่เคยมีข้อถกเถียงแบบในหลายประเทศว่าผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่