ตำรวจ ปอท. แสดงหมายจับเข้าจับกุม "รุ้ง ปนัสยา"

Protest leader Panusaya "Rung" Sithijirawattanakul, who has spent eight weeks in detention on charges of insulting the country"s king, shows a three-finger salut as she leaves after she was granted bail at the Central Women"s Correctional Institute in Bangkok, Thailand, May 6, 2021.

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, 59 วันหลังถูกจับกุมคุมขัง รุ้ง-ปนัสยาได้รับอิสรภาพคืน เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564

น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" ถูกจับกุมตามหมายจับของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่บ้านพักช่วงบ่ายวันนี้ (22 ก.ย.)ในข้อหาตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

น.ส. ปนัสยาหรือ "รุ้ง" แจ้งข่าวผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ว่าเจ้าหน้าที่ ปอท. ได้แสดงหมายจับเข้าจับกุมเธอขณะที่กำลังกลับเข้าบ้านพักเพื่อเตรียมเข้าเรียนออนไลน์ในช่วงบ่าย

เธอยังได้โพสต์ภาพหมายจับที่ออกโดยพนักงานสอบสวน ปอท. ลงวันที่ 15 ก.ย. ซึ่งระบุข้อกล่าวหาฐาน "ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติดชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย"

หมายจับระบุด้วยว่าความผิดอาญานี้มีอัตราโทษจำกคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี

น.ส. ปนัสยาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากทัณฑหญิงกลางเมื่อวันที่ 6 พ.ค. หลังจากที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.

ต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานในช่วงเย็นว่า น.ส.ปนัสยาถูกแจ้งข้อกล่าวหาและถูกออกหมายจับจากการเป็นแอดมินเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและยุยงปลุกปั่นผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งศาลให้ประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไขในวงเงิน 35,000 บาท

คำบรรยายวิดีโอ, ฟังพี่สาว 'รุ้ง-ปนัสยา' เล่าเรื่องน้องคนเล็กซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ

ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินชุมนุม "ทะลุเพดาน" เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ 10 พ.ย.

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีเปิดปราศรัย "ทะลุเพดาน" เมื่อ 10 ส.ค. 2563 เอาไว้พิจารณาว่าเข้าข่ายกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ โดยนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 10 พ.ย. นี้

คดีนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดชุมนุมใหญ่ภายใน ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 2563 โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" และเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์รวม 10 ข้อ จนถูกเรียกขานว่าปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน"

ต่อมา นายณฐพร โตประยูร ได้ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ น.ส. สิริพัชระ จึงธีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ น.ส. อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ในการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน"

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, น.ส. ปนัสยาเป็นตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอ่าน 10 ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมที่ มธ. ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563

เอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่วันนี้ (22 ก.ย.) ระบุว่า ศาลได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันที่ 10 พ.ย. เวลา 15.00 น.

อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของ 3 ผู้ถูกร้องเท่านั้น ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดยให้ผู้ถูกร้องทั้งสามยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

นอกจากนี้ยังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อัยการสูงสุด, สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จ.ปทุมธานี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาต่อไป

สำหรับ 3 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เป็นผู้ขึ้นปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันฯ