หนี้ครัวเรือนไทย ปัจจัยเสี่ยงกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน

หนี้ครัวเรือน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแสดงความกังวลอย่างชัดเจนถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2562 ที่ ธปท. เพิ่งนำออกเผยแพร่สัปดาห์นี้ระบุว่าการก่อหนี้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นตามการขยายสินเชื่อทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่ง กบง. ถือว่าเป็นหนึ่งจากหลายปัจจัยที่สร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพของระบบการเงิน

ที่ประชุม กบง. เห็นว่าต้องมีการติดตามการขยายสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากขึ้น และยังเห็นว่าควรเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีกในอนาคต

"ในช่วงที่ผ่านมาครัวเรือนที่อ่อนไหวต่อปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กระทบรายได้ (income shock) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในอนาคตจึงต้องติดตามช่องทางที่ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจาก income shock ในช่วงเศรษฐกิจขาลง และเผชิญภาวะภัยแล้ง" เนื้อหาส่วนหนึ่งของรายงานการประชุมระบุ

ไทยแชมป์หนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับต้นในภูมิภาค

ก่อนหน้านี้ ธปท.เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทย (จีดีพี) ปรับสูงขึ้น จากร้อยละ 53.5 เมื่อต้นปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 78.7 ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2562 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ภาระหนี้ที่สะสมมากขึ้นทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้จำนวนมากไปผ่อนชำระหนี้ ทำให้มีเงินเหลือเพื่อยังชีพลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่รายได้เติบโตไม่ทันกับการก่อหนี้

หนี้ครัวเรือนไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ในรอบสิบปี ธปท. ระบุว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปรับตัวขึ้นจากกว่าร้อยละ 53 (ปี 2552) มาอยู่ที่ร้อยละ 78.7 เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้

ล่าสุด ในเดือนสิงหาคม สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยในรายงานแนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน ว่าปัญหาครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้และมีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นสะท้อนให้เห็นในงานวิจัยที่น่าเชื่อถือหลายชิ้น ซึ่งชี้ว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น คือ เริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย และ 1 ใน 5 ของผู้กู้ในช่วงอายุ 29 ปี กลายเป็นหนี้เสีย และยังเป็นหนี้เยอะขึ้น คือมีปริมาณหนี้สินต่อหัวสูงขึ้นกว่าในอดีต ผู้กู้โดยเฉลี่ย มีภาระหนี้รวมทุกประเภทสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท เป็น 552,499 บาท ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นหนี้นานขึ้นด้วย

บริโภคนิยมและใช้จ่ายเกินตัว

รายงานระบุว่า ความรุนแรงของปัญหาหนี้สินในระยะหลังมีผลจากพฤติกรรมของครัวเรือนซึ่งส่วนหนึ่งขาดทักษะความรู้ทางการเงินและ มีค่านิยมมองความสุขแค่ในปัจจุบันโดยไม่คำนึงถึงอนาคต กอปรกับกระแสบริโภคนิยม ความสะดวก รวดเร็วขึ้นในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่นำเสนอพร้อมกับแคมเปญโปรโมชั่นและทางเลือกผ่อนชำระ อาทิ ข้อเสนอดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือแบ่งจ่ายหลายงวด ซึ่งช่วยให้ภาระผ่อนต่อเดือนดูต่ำลง ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยและก่อหนี้ได้ง่ายขึ้น

จับจ่าย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

เครียดหนี้บัตรเครดิตถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

ข้อมูลในรายงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและตรงกับสถานะของนายเดช (นามสมมุติ) ที่แม้จะอยู่ในวัย 53 ปีแล้ว แต่ต้องอยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่ถึง 2 ปีเต็ม ๆ เดชเป็นหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดอยู่ราว 12 ใบ เริ่มคิดว่าจะขายรถยนต์ส่วนตัวที่ใช้อยู่ เพื่อมาปิดหนี้บัตรบางส่วน แต่ด้วยความไม่สะดวกในการเดินทางหากไม่มีรถ เขาจึงเลิกคิดเรื่องนี้ไป

ในวันที่เดชตรวจดูรายรับที่เขาได้รับกับรายจ่ายที่ต้องรับภาระดูแลครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน เขาจึงพบว่ารายได้ติดลบทุกเดือน เพราะเงินส่วนใหญ่ที่ได้มาจากการทำงานต้องนำไปไล่จ่ายค่าบัตรเครดิตที่ติดค้างกับสถาบันการเงินต่าง ๆ จนแทบจะหมด เดชจึงตกอยู่ในภาวะเครียดและมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

"ตอนนั้นแทบไม่ได้ทำงานเลย วัน ๆ มีแต่โทรศัพท์โทรมาทวงหนี้ ตอนนั้นอยากจะบอกกับเจ้าหน้าที่ไปว่ารู้สึกกดดันและเครียดมากจนไม่สามารถทำงานได้ อยากจะลาออก อยากจะหนีปัญหาโดยการฆ่าตัวตาย แต่ด้วยภาระทางบ้านที่ต้องดูแล ทำให้ล้มเลิกความคิดนี้ไป" เดชอธิบาย

คนไทยชีวิตประจำวัน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คลินิกแก้หนี้ช่วยได้ไหม

เจ้าหน้าที่ของคลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ธปท. และธนาคารเจ้าหนี้และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคาร จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน บอกบีบีซีไทยว่า จากการเปิดคลินิกแก้หนี้มาสองปีเศษ มีผู้ขอรับคำปรึกษาและได้รับความช่วยเหลือเพียงราว 2,000 ครอบครัว

โดยคลินิกแก้หนี้จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีหนี้เสียโดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่ไม่สามารถชำระได้ สิ่งนี้เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ผู้มีปัญหาหนี้สินจำนวนหนึ่งไม่ขอรับการช่วยเหลือ เนื่องจากไม่ต้องการมีข้อมูลปรากฏในเครดิตบูโร หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติว่าเป็นผู้ที่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน (แบล็คลิสต์)

ร้านค้าคนไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

"เงื่อนไขของเราคือว่าคนที่เป็นหนี้ต้องยอมปล่อยให้ตัวเองถูกติดแบล็คลิสต์ก่อน แล้วเราจะเข้าไปช่วยเหลือให้คุณผ่อนชำระได้นาน ๆ และชำระได้จริง เงื่อนไขแบบนี้ทำให้หลายคนถอย เพราะไม่อยากเสียเครดิต แต่ว่าถ้าคุณไม่ติดแบลคลิสต์วันนี้ อีกสองสามเดือนคุณจะติดแน่ ต้องยอมรับความจริง ต้องเอาให้ชัดว่าถ้าไม่อยากเป็นหนี้เสียก็ต้องไปหารายได้เพิ่มและไปจ่ายหนี้ให้ตรงกำหนดเองให้ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ โครงการของคลินิกแก้หนี้ก็พร้อมช่วยเหลือจัดการเรื่องนี้ร่วมกับธนาคารที่คุณติดหนี้อยู่"

มีความสุขมากขึ้น

นายเดชที่เคยคิดจะฆ่าตัวตาย ได้ขอรับความช่วยเหลือจากคลินิกแก้หนี้

คนจนเมืองกรุงเทพ

ที่มาของภาพ, Getty Images

"หลังจากที่ผลัดการชำระหนี้ไปหลายแห่ง มีเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งได้แนะนำให้รู้จักกับโครงการแก้ไขปัญหาหนี้โดยการรวมหนี้ของทุกสถาบันการเงินมาเป็นก้อนเดียวกันและชำระคืนแค่ที่เดียว จึงตัดสินใจเข้าร่วม และโครงการช่วยลดภาระได้จริง ๆ ตอนนี้ชีวิตมีความสุขขึ้นมากและสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

มาถึงวันนี้เดชเก็บบัตรเครดิตที่จำเป็นต้องใช้เอาไว้แค่หนึ่งใบ และให้ทางโครงการจัดการปัญหาหนี้ให้พร้อมกับปิดบัตรที่เหลือไปทั้งหมด โดยหลังจากผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาได้แล้วนั้น เดชบอกกับตัวเองว่าจะไม่ใช้เงินในอนาคตผ่านบัตรเครดิตอย่างเด็ดขาด

"ตอนนี้ก็ซื้อของที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น อะไรที่อยากจะได้ ถ้ายังเก็บเงินสดไม่ถึงก็จะไม่ซื้อเด็ดขาด เพราะอยากจะสร้างวินัยใหม่ให้ตัวเอง เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกไปอยู่ในจุดเดิมอีก"