อิหร่าน: การคว่ำบาตรใหม่ของสหรัฐฯ พุ่งเป้าไปที่ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวก่อนลงนามในคำสั่งเพิ่มการคว่ำบาตรอิหร่าน ที่ห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2019

ที่มาของภาพ, AFP

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า เขากำลังเพิ่มการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออิหร่าน รวมถึง อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของประเทศด้วย

นายทรัมป์ ระบุว่า การคว่ำบาตรเพิ่มเติมเป็นการตอบโต้การยิงโดรนของสหรัฐฯ ตก และ "อีกหลายเรื่อง"

เขา กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเขาจะ "เพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลอิหร่านอย่างต่อเนื่อง" และระบุว่า "ไม่มีวันที่อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์ได้"

ความตึงเครียดระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพิ่มขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายสตีฟ มานูชิน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ กล่าวว่า คำสั่งทางบริหารของนายทรัมป์ ให้อายัดทรัพย์สินมูลค่า "หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ" ของอิหร่าน เกิดขึ้นก่อนที่อิหร่านจะยิงโดรนของสหรัฐฯ ตกในอ่าวเปอร์เซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

การคว่ำบาตรก่อนหน้านี้ของสหรัฐฯ ส่งผลต่ออิหร่านอย่างไร

อิหร่านกำลังรับรู้ได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ลงนามกันในปี 2015

การคว่ำบาตร โดยเฉพาะในภาคพลังงาน การขนส่งสินค้าทางเรือ และภาคการเงิน ทำให้การลงทุนจากต่างชาติหดหายไปจากอิหร่าน และส่งผลต่อการส่งออกน้ำมัน

การคว่ำบาตรดังกล่าวไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ไม่สามารถค้าขายกับอิหร่านได้ แต่ยังห้ามบริษัทต่างชาติหรือประเทศต่าง ๆ ทำมาค้าขายกับอิหร่านด้วย

คำบรรยายวิดีโอ, ความตึงเครียดสหรัฐฯ-อิหร่าน: ช่องแคบฮอร์มุซ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างไร

การคว่ำบาตรนี้ จึงนำไปสู่การขาดแคลนสินค้านำเข้าและผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยวัตถุดิบจากต่างประเทศ ที่เห็นได้ชัดคือ ผ้าอ้อมทารก

ค่าเงินเรียลของอิหร่านอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าทั่วไปที่ผลิตในประเทศ อย่าง เนื้อสัตว์ และไข่ ซึ่งมีราคาปรับตัวสูงขึ้น

อิหร่านตอบโต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจนี้ ด้วยการละเมิดคำมั่นสัญญาบางข้อในข้อตกลงนิวเคลียร์ และยังกล่าวหาประเทศในยุโรปหลายประเทศว่า ไม่สามารถทำตามคำสัญญาของตัวเอง ในการปกป้องเศรษฐกิจของอิหร่านจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ

เกิดอะไรขึ้นกับโดรนของสหรัฐฯ

IRGC ระบุว่า การยิงโดรนตก เป็น "การส่งสัญญาณที่ชัดเจน" ไปยังสหรัฐฯ ว่า อย่าล้ำเส้นเข้ามาในพรมแดนของอิหร่าน

แต่เจ้าหน้าที่ทางการกองทัพสหรัฐฯ ยืนยันว่า ในขณะนั้นโดรนลำดังกล่าวอยู่ในน่านฟ้าสากล เหนือช่องแคบฮอร์มุซ

อามีร์ อาลี ฮาจิซาเดห์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ IRGC กล่าวว่า มีเครื่องบินทหารอีกลำหนึ่ง ซึ่งมีผู้โดยสาร 35 คน บินอยู่ใกล้กับโดรนลำดังกล่าว "เราจะยิงเครื่องบินลำนั้นด้วยก็ได้ แต่เราไม่ทำ" เขากล่าว