โควิด-19 : รัฐบาลอาจประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม. หากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาไม่ลด ขอประเมินผลทุกวัน ชี้ฝ่าฝืนจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้แจงประชาชนผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชี้แจงประชาชนผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

รัฐบาลประกาศห้ามบุคคลใดทั่วประเทศออกนอกเคหะสถาน (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เริ่มวันที่ 3 เม.ย. จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่อยากใช้ยาแรง แต่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเช่นนี้ เพื่อลดการรวมกลุ่มของประชาชน ทั้งนี้จะมีการประเมิน "ข้อกำหนด" ที่ประกาศล่าสุดทุกวันตลอด 1 สัปดาห์

"หากตัวเลขผู้ป่วยยังเพิ่ม มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการพิจารณาประกาศเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากตัวเลขลดลง อาจจะคง หรือผ่อนคลายมาตรการ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อ 3 เม.ย.

วานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ประกาศเคอร์ฟิวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า ในการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนจะยึดหลัก "สุขภาพนำเสรีภาพ" โดยเป้าหมายสำคัญคือการจำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายบุคคล และรวมตัวของคนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งต้องออกมาตรการให้เข้มงวดสอดคล้องในสถานการณ์และคำแนะนำทางการแพทย์ ทั้งอาจมีมาตรการที่ประชาชนรู้สึกไม่ปกติบ้าง แต่ต้องปรับตัว และรับผิดสอบส่วนรวม

ภายหลังประกาศเคอร์ฟิว พล.อ.ประยุทธ์ขอประชาชน "อย่าตื่นตระหนก และไม่ต้องกักตุนสินค้า เพราะท่านยังมาซื้อข้าวของได้ตามปกติตอนกลางวัน แต่ต้องคุมเข้มเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม"

ภายใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ที่กำหนดเรื่องเคอร์ฟิวเอาไว้ นายกฯ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กำหนดโทษไว้ว่า "หากใครฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

Pm

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ประชาชนที่รอโดยสารรถไฟสถานีหัวลำโพง ร่วมติดตามการชี้แจงของนายกฯ

การยกระดับมาตรการรับมือกับโควิด-19 เกิดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" ทั้งประเทศครบ 1 สัปดาห์นับจากวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกำหนดมาตรการต่าง ๆ ไว้ใน "ข้อกำหนดชุดแรก" จำนวน 16 ข้อ มาครั้งนี้จึงเป็นการออก "ข้อกำหนดชุดที่สอง"

อย่างไรก็ตามมีบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องเดินทางและได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องอยู่ใต้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ได้แก่

  • ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
  • การธนาคาร
  • การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค
  • ผลผลิตการเกษตร
  • ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์
  • หนังสือพิมพ์
  • การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
  • การขนส่งพัสดุภัณฑ์
  • การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก
  • การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ
  • การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ
  • การเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1)
  • เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
Thai dog

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กทม. เพิ่งเริ่ม "เคอร์ฟิวร้านสะดวกซื้อ" วันที่ 2 เม.ย. เป็นวันแรก ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศเคอร์ฟิวทั้งประเทศ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดหวังว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะช่วยหน่วงยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยให้ไปไม่ถึงตัวเลข 3,500 ราย ณ สิ้นเดือน เม.ย. แต่ทว่าสถิติผู้ป่วยที่พบยังเป็นตัวเลข "หลักร้อย" ในทุก ๆ วันที่ผ่านมา

ข้อมูล ณ วันที่ 2 เม.ย. พบว่า ไทยมีผู้ป่วยสะสม 1,875 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย ขณะที่เชื้อไวรัสได้กระจายไปยัง 63 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว

ก่อนมีการประกาศเคอร์ฟิวจากรัฐบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างน้อย 4 จังหวัดได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และข้อกำหนดชุดแรกที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศห้ามประชาชนใน จ.ภูเก็ต, นนทบุรี, พิษณุโลก และแม่ฮ่องสอน ออกนอกเคหสถานในช่วงค่ำถึงช่วงรุ่งสาง โดยกำหนดช่วงเวลาแตกต่างกันไป ทั้งนี้ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ระบุไว้ว่า ในกรณีที่มีการประกาศหรือสั่ง ห้าม เตือน หรือแนะนำในลักษณะเดียวกันคือเคอร์ฟิว สำหรับจังหวัด พื้นที่ หรือสถานที่ใดโดยกำหนดเงื่อนไข/เงื่อนเวลาที่เข้มงวดเคร่งครัดกว่า ให้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นด้วย

ลั่นในฐานะ "แม่ทัพ" ไม่ปล่อยให้ "นักรบแนวหน้า" สู้ด้วยความขาดแคลน

นอกจากการประกาศให้ประชาชน "ปิดบ้าน" หลัง 4 ทุ่ม พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค. ยังรายงานความก้าวหน้าในการทำงานด้านต่าง ๆ ให้ประชาชนรับทราบ

ที่น่าสนใจคือ การกล่าวถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ใช้คำว่า "ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน" ในการสนับสนุนหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างทันกาลและทั่วถึงทุกโรงพยาบาลในทุกพื้นที่ โดยถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ต้องมีระบบการกระจายที่มีประสิทธิภาพ ขาดแคลนไม่ได้

ทีมแพทย์ที่ รพ.สนามธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ทีมแพทย์ที่ รพ.สนามธรรมศาสตร์

"ผมจะติดตามด้วยตัวเอง เพื่อให้ทีมหมอและพยาบาลที่เปรียบเสมือน 'นักรบที่อยู่แนวหน้า' ต้องคอยต่อสู้และสกัดกั้นข้าศึกที่มองไม่เห็นด้วยความเสียสละและอดทน ผมในฐานะ 'แม่ทัพ' จะปล่อยให้กำลังหลักของเราต้องต่อสู้ภายใต้ความขาดแคลนไม่ได้อย่างเด็ดขาด และต้องมีขวัญกำลังใจที่เข้มแข็งอยู่เสมอเพื่อมีพลังเอาชนะวิกฤตครั้งนี้ให้ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นายกฯ ยืนยันด้วยว่า มียาที่จำเป็นในการรักษาอย่างเพียงพอ และมีแผนการจัดหาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ และขอให้ผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนมั่นใจได้ว่าจะมีเตียงและยาตามมาตรฐานสากลทุกประการ อีกทั้งรัฐบาลได้ถือว่าคนเหล่านี้เป็น "ผู้ป่วยฉุกเฉิน" โดยมี 3 กองทุนของรัฐพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ

ไม่ทิ้งคนไทยในต่างแดน

ส่วนคนไทยในต่างแดน พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า "จะไม่ทอดทิ้งลูกหลาน ญาติพี่น้องของเราเหล่านั้น" ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลกจะได้รับการดูแล หากต้องการกลับเมืองไทยก็จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง การกักตัว และการเฝ้าระวัง อย่างเข้มข้น

แต่กลุ่มที่ถูกเตือนคือสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งนายกฯ บอกว่า "ให้ใช้ความระมัดระวังในการสื่อสาร โดยขอให้ใช้ข้อมูลจาก ศบค. เท่านั้น" ห้ามการสื่อสารที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความเข้าใจผิด หรือบิดเบือนข้อมูล รวมถึงผู้ที่สร้างและส่งข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ ก็จะมีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เผยยังคุมการระบาดได้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ภายใต้ผลการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ทำให้สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับ "ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้คือ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน เฉลี่ยในอัตราไม่ถึง 20% ไม่สูงถึง 33% ที่เป็นระดับของประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก" แต่เป้าหมายร่วมกันก็คือการขจัดโรคภัยและเชื้อร้ายนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และทุกคนปลอดภัย

"ผมขอให้ทุกคนมั่นใจว่าผมจะทำทุกทางเพื่อที่จะนำพาประเทศของเราก้าวข้ามเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้ อย่างมีสวัสดิภาพ อย่างพร้อมเพรียงกัน ขอให้พวกเราสู้ไปด้วยกันครับ ประเทศไทยต้องชนะ" นายกฯ เอ่ยประโยคประจำตัวทิ้งท้าย

ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชม.

เมื่อ 6 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ "โทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย" จากปลัดกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ลงวันที่ 5 เม.ย. ที่มีข้อความให้ "ยกระดับปฏิบัติการ" ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา จนทำเกิดความเข้าใจผิดว่า ศบค.กำลังจะมีการประกาศห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิวเป็นเวลา 24 ชม.

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการเคอร์ฟิวจะยังคงไว้ที่ 6 ชม. แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก็อาจจะพิจารณาขยายเวลาเคอร์ฟิวให้นานกว่า 6 ชม.