10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : สำรวจชีวิต “ตัวละครเอก” ของ ศอฉ. และ นปช. ใน 5 ฉากสำคัญการเมืองไทย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยี่ยมชมวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ 13 ก.ย. 2562 โดยมีอดีตแกนนำ กปปส. รอต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยี่ยมชมวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ 13 ก.ย. 2562 โดยมีอดีตแกนนำ กปปส. รอต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ประวัติศาสตร์การชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีความหมายอย่างไร ขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย

คนการเมือง-ขุนทหารที่รับบท "ตัวละครเอก" ในบางช่วง อาจหมดความสำคัญลงในเวลาต่อมา เมื่อเปลี่ยน "ผู้กำกับ" ปรับฉากทัศน์การเมืองใหม่

สถานะ "ผู้ดี-ผู้ร้าย" อาจกลับกลายเมื่อประชาชนในฐานะ "ผู้ชม" สลับมุมมองหรือทดลองเพ่งพินิจด้วยประสบการณ์ที่ต่างออกไป

บีบีซีไทยสำรวจชีวิต "ตัวละครเอก" ของ 2 ขั้วการเมืองในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บทบาท-หลักการ-จิตวิญญาณของพวกเขาเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร หลังผ่านบททดสอบใน 5 เหตุการณ์สำคัญของการเมืองไทย

พลันที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง บุกเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา ถ.อู่ทองใน เมื่อ 7 เม.ย. 2553 จนประธานสภาต้องสั่งปิดประชุมแบบฉับพลัน บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรติสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บางส่วนต้องปีนรั้วหนีออกทางพระที่นั่งวิมานเมฆ

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยกระดับการใช้อำนาจ จากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

นปช. ชุมนุมปิดล้อมก่อนบุกเข้าไปภายในรัฐสภา 7 เม.ย. 2553 หลังทราบว่ารัฐบาลมาประชุม ครม. อยู่ที่นี่ โดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อ้างว่าตำรวจโยนแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชน และสั่งผู้ชุมนุมวิ่งเข้าไปภายในตัวอาคาร

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นปช. ชุมนุมปิดล้อมก่อนบุกเข้าไปภายในรัฐสภา 7 เม.ย. 2553 หลังทราบว่ารัฐบาลมาประชุม ครม. อยู่ที่นี่ โดยนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อ้างว่าตำรวจโยนแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชน และสั่งผู้ชุมนุมวิ่งเข้าไปภายในตัวอาคาร

ไม่มีคำประกาศ "ยุบสภาทันที" ตามที่ นปช. เรียกร้อง ตรงกันข้ามประมุขฝ่ายบริหารได้ประกาศ "ภาวะฉุกเฉิน" ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี และบางส่วนของสมุทรปราการ, ปทุมธานี, นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา

ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถูกจัดตั้งขึ้นภายในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) ถ.พหลโยธิน ใช้เป็นกองบัญชาการของฝ่ายรัฐบาล มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ ร่วมด้วยกรรมการอีก 27 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้บริหารส่วนราชการทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร

10 เม.ย. 2553 วันที่อภิสิทธิ์ "ทุกข์ที่สุดตั้งแต่เป็นนายกฯ"

3 วันหลังการประกาศใช้ "กฎหมายพิเศษ" ศอฉ. เปิด "ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่" ถ.ราชดำเนิน ก่อนจบลงด้วยเหตุนองเลือดที่สี่แยกคอกวัว วันที่นายอภิสิทธิ์บอกว่า "ทุกข์ที่สุดตั้งแต่เป็นนายกฯ"

"คืนนั้นผมร้องไห้อยู่นานมาก ในชีวิตการเมืองของผม ผมไม่เคยต้องการเห็นความสูญเสียของคนไทยไม่ว่าจะเป็นใคร แต่มาเกิดขึ้นในยุคที่ผมเป็นนายกฯ ผมทบทวนแล้วทบทวนอีก คิดตลอดเวลาต้องตัดสินใจอย่างไร... ผมรู้ว่าไม่ว่าตัดสินใจอย่างไร ชีวิตผมไม่เหมือนเดิม" นายอภิสิทธิ์เผยความรู้สึกบนเวทีปราศรัยใหญ่ของ ปชป. กลางสี่แยกราชประสงค์ เมื่อ 23 มิ.ย. 2554

ปชป. ให้เหตุผลในการเปิดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์ก่อนการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ว่าต้องการพูดความจริง และแก้ข้อความใส่ร้ายของ พท. ที่ว่า "นายอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน" พร้อมยืนยันว่าไม่ต้องการสุมไฟความขัดแย้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปชป. ให้เหตุผลในการเปิดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์ก่อนการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ว่าต้องการพูดความจริง และแก้ข้อความใส่ร้ายของ พท. ที่ว่า "นายอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน" พร้อมยืนยันว่าไม่ต้องการสุมไฟความขัดแย้ง

ผลจากปฏิบัติการเมื่อ 10 เม.ย. 2553 และการปรากฏตัวของ "ชายชุดดำ" ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ราย (เฉพาะบริเวณแยกคอกวัว และหน้า รร.สตรีวิทยา)

ฉายา "นายกฯ มือเปื้อนเลือด" ติดตัว-บาดใจผู้นำคนที่ 27 ตั้งแต่บัดนั้น ทำให้ชื่อนายอภิสิทธิ์ถูกมองว่ายากจะไปต่อในทางการเมือง แต่ถึงกระนั้นผู้นำคนที่ 8 ของ ปชป. ยังนำพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2 ครั้ง และต้องปราชัยทั้ง 2 หน ในปี 2554 และ 2562 ก่อนประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค และหยุดสถานะผู้แทนราษฎรไว้ที่ 27 ปี ในเวลาไม่ถึง ชม. ก่อนสภาโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะรัฐประหารปี 2557 กลับมาเป็นผู้นำประเทศสมัยที่ 2

พล.อ.อนุพงษ์ : "ถ้ามีเหตุต้องตีด้วยกระบอง ต้องไม่ตีซ้ำ"

ย้อนกลับไปเหตุการณ์ชุมนุม นปช. เมื่อ 10 ปีก่อน นายสุเทพเป็นทั้ง ผอ.ศอฉ. และหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในช่วงต้น ๆ ของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนส่งมอบภารกิจหลังให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตั้งแต่ 16 เม.ย. 2553 เมื่อจำเป็นต้องใช้ยุทธการทางทหารในการรับมือ-กำราบความเคลื่อนไหวของ นปช.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ส่งมอบตำแหน่ง ผบ.ทบ. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 30 ก.ย. 2553 ซึ่งเวลานั้นรัฐบาลยังไม่ได้ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้การชุมนุม นปช. ยุติลงแล้วก็ตาม

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ส่งมอบตำแหน่ง ผบ.ทบ. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 30 ก.ย. 2553 ซึ่งเวลานั้นรัฐบาลยังไม่ได้ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้การชุมนุม นปช. ยุติลงแล้วก็ตาม

นายสุเทพแสดงความประทับใจต่อคำพูดของ พล.อ.อนุพงษ์ ถึงขั้นจดลงสมุดบันทึกประจำตัวของเขา ดังนี้

"เราเป็นทหารของชาติ ต้องควบคุมวินัยของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เข้มงวด ควบคุมให้ได้ ฝ่าย นปช. แม้เขาจะเป็นการ์ด นปช. เราต้องปฏิบัติต่อเขาตามหลักสากล เคารพสิทธิของเขา เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา ถ้ามีเหตุต้องตีด้วยกระบอง ต้องไม่ตีซ้ำ เขาขว้างก้อนอิฐ ฝ่ายเราต้องไม่ขว้างตอบ เจ้าหน้าที่ที่ไม่สวมเครื่องแบบห้ามพกอาวุธ เราเป็นทหารของชาติ เป็นสุภาพบุรุษ ทำทุกอย่างเฉพาะที่จำเป็น..." นายสุเทพอ้างถึงคำพูดของ ผบ.ทบ. ระหว่างการประชุมกำลังพล และถ่ายทอดทุกถ้อยคำลงในหนังสือ "คำให้การพระสุเทพ ปภากโร กรณีการก่อเหตุร้ายในการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553"

สุเทพตั้งสำนักกฎหมายช่วยเหลือทางคดีแก่นายทหาร

ตลอดห้วงเวลาที่แกนนำรัฐบาลต้องร่วมคิด-ร่วมตัดสินใจ-ร่วมกินอยู่หลับนอนกับบรรดาแม่ทัพนายกองภายในค่ายทหาร ซึ่งมี พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ร.11รอ. (ยศขณะนั้น) เป็นช่วงที่ต่างฝ่ายต่างได้ "วัดใจ" กัน และพัฒนาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นระหว่างนายสุเทพ กับ "พี่น้อง 3 ป." - บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม, บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. - จึงไม่แปลกหากนายสุเทพจะออกหน้า-ออกปากปกป้องนายทหารทุกระดับที่เข้าร่วมปฏิบัติการในช่วง 69 วันของการชุมนุมคนเสื้อแดง และยังตั้งสำนักกฎหมายพัชรวิชญ์ แอดโวเคทส์ ช่วยเหลือทางคดีแก่นายทหารที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา/จำเลยในคดีต่าง ๆ

การประชุม ครม. 4 พ.ค. 2553 เกิดขึ้นภายใน ร. 11 โดยมี ครม. และกรรมการ ศอฉ. เข้าร่วมพร้อมเพรียง - นายถวิล เปลี่ยนศรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายปณิธาน วัฒนายากร, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การประชุม ครม. 4 พ.ค. 2553 เกิดขึ้นภายใน ร. 11 โดยมี ครม. และกรรมการ ศอฉ. เข้าร่วมพร้อมเพรียง - นายถวิล เปลี่ยนศรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายปณิธาน วัฒนายากร, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย

เอกสาร 155 หน้าของนายสุเทพที่ส่งถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากกรณีสลายการชุมนุม นปช. ถูกเขียนขึ้นขณะที่เขาดำรงสมณเพศเมื่อปี 2558 โดยระบุว่า "ได้พิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยสายตาของสมณะ" ก่อนยืนยันว่าไม่อาจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อดูแลความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน และเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ. อย่างเคร่งครัด สุจริตต่อหน้าที่ จริงใจต่อประชาชน เสียสละเพื่อประเทศชาติ

อดีต ผอ.ศอฉ. ซึ่งถูกคนเสื้อแดงกล่าวหาว่า "ออกคำสั่งฆ่าประชาชน" บอกว่าไม่เคยลืมภาพนายทหารที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

"ทุกวันนี้ หลังสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ข้าพเจ้ากรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น และดวงวิญญาณของวีรชนที่ได้ต่อสู้เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดินในเหตุการณ์ปี 2556-2557 ซึ่งเสียชีวิตด้วยน้ำมือของคนกลุ่มเดียวกัน" นายสุเทพระบุในหนังสือคำให้การฯ

แกนนำ นปช. 7 คน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นาน 9 เดือนหลังยุติการชุมนุม 19 พ.ค. 2553 ก่อนได้ประกันตัวเมื่อ 22 ก.พ. 2554

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, แกนนำ นปช. 7 คน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นาน 9 เดือนหลังยุติการชุมนุม 19 พ.ค. 2553 ก่อนได้ประกันตัวเมื่อ 22 ก.พ. 2554

นปช.-กปปส. สลับบท

10 ปีหลังสลายการชุมนุม นปช. นายสุเทพยังคงต่อสู้กับศัตรูหน้าเดิมที่เขาเรียกว่า "ระบอบทักษิณ" ทว่าได้พลิกไปสวมบทบาทใหม่

ปี 2556-2557 นายสุเทพนำ ส.ส.ปชป. 9 คนถอดสูท-ทิ้งสภา-กระโจนลงสู่ท้องถนนในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อต่อต้านการออก "กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง" ของสภา ก่อนยกระดับเป็นการขับไล่ "รัฐบาลน้องสาว" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีแกนนำ นปช. อย่างนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร่วมใช้อำนาจฝ่ายบริหารในฐานะ รมช.พาณิชย์

การปิดถนน-ปิดสถานที่ราชการ-ปิดเมืองที่ นปช. เคยทำในวันวาน ถูก กปปส. ทำซ้ำ พร้อมป่าวประกาศว่าเป็นมาตรการ "อารยะขัดขืน" ขณะที่แผนปฏิบัติการของ ศอฉ. ชุดนายสุเทพที่เคยใช้กับคนเสื้อแดง ก็ถูกดัดแปลงเป็นแผนรับมือ "มวลชนนกหวีด" เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อ 22 ม.ค. 2557

ปฏิบัติการสำคัญของ กปปส.ที่เกิดขึ้นในช่วงชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการ "ปิดกรุงเทพฯ" เดือน ม.ค. 2557 และ "ปิดคูหาเลือกตั้ง" เดือน ก.พ. 2557

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปฏิบัติการสำคัญของ กปปส.ที่เกิดขึ้นในช่วงชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือการ "ปิดกรุงเทพฯ" เดือน ม.ค. 2557 และ "ปิดคูหาเลือกตั้ง" เดือน ก.พ. 2557

สุดท้ายการชุมนุมของ กปปส. จบลงในวันที่ 204 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก่อรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

"คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส. เหนื่อยมามากแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพบกในการเข้ามาดูแลแทนเอง" นายสุเทพกล่าวอ้างคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่บอกกับเขาก่อนประกาศกฎอัยการศึก 20 พ.ค. 2557 และตามมาด้วยการยึดอำนาจในอีก 2 วันต่อมา

บางกอกโพสต์รายงานข่าวนี้เมื่อ 23 มิ.ย. 2557 โดยระบุว่านายสุเทพเล่าเรื่องนี้ในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ใช้ชื่อว่า "กินข้าวกับลุงกำนัน" เพื่อระดมทุนช่วยเหลือแนวร่วม กปปส. ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการชุมนุม และยังบอกด้วยว่าได้ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่หลังการชุมนุม นปช. ปี 2553 ว่าจะขุดรากถอนโคน "ระบอบทักษิณ" อย่างไร ร้อนถึงโฆษก คสช. ต้องรีบออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการพูดคุยกัน

นายอภิสิทธิ์ และพระสุเทพ ปภากโร เดินทางไปศาลอาญา เมื่อ 28 ส.ค. 2557 ในการนัดตรวจพยานหลักฐานคดีสั่งสลายการชุมนุม นปช. ความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายอภิสิทธิ์ และพระสุเทพ ปภากโร เดินทางไปศาลอาญา เมื่อ 28 ส.ค. 2557 ในการนัดตรวจพยานหลักฐานคดีสั่งสลายการชุมนุม นปช. ความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

ไม่นานหลังจากนั้น ผู้นำสูงสุดของ กปปส. เข้าอุปสมบท-อยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์นาน 378 วัน ก่อนกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง โดยประกาศตัวเป็น "กองเชียร์" พล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่ปิดบัง และยังเป็นคนการเมืองรายแรก ๆ ที่เปิดหน้าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัย

ปี 2561 นายสุเทพเมินเสียงวิจารณ์ว่า "ตระบัดสัตย์" หลังเคยบอกว่าจะไม่เล่นการเมือง แต่เขากลับเป็นโต้โผก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ก่อนส่งลงสนามเลือกตั้ง 2562 ขณะที่แกนนำ กปปส. ยังกระจายตัวอยู่ตามพรรค ได้แก่ ปชป., รปช. และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทว่าทั้งหมดได้กลับมา "รวมขั้วการเมือง" อีกครั้งในนามรัฐบาลผสม 19 พรรคภายใต้การนำของ "นายกฯ หน้าเดิม"

2 แดงฮาร์ดคอร์ "พลิกขั้ว" มายืนเคียง พล.อ.ประยุทธ์

แต่ที่ "พลิกขั้ว" แบบสุด ๆ หนีไม่พ้น 2 แกนนำระดับ "ฮาร์ดคอร์" ของ นปช. สายเหนืออย่าง พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ และสายอีสานอย่างนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่ย้ายเข้าสังกัด พปชร. พรรคเกิดใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งหัวหน้าคณะรัฐประหารกลับเข้าทำเนียบฯ อีกครั้งในฐานะนายกฯ ที่มาด้วยกลไกประชาธิปไตย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์-การจับตามองของนักการเมืองสังกัด พท. ว่า "พลังดูด" ที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสารพัดคดีความที่ติดตัว "ดาวแดง" หรือไม่อย่างไร

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (ขวา) แกนนำ นปช. ร่วมงานรำลึก 1 ปีเหตุการณ์นองเลือดที่แยกคอกวัว 10 เม.ย. โดยเขาได้ถือภาพ 2 ช่างภาพสื่อมวลชนที่เสียชีวิตในช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 คือนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ และนายฟาบิโอ โปเลงกี

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (ขวา) แกนนำ นปช. ร่วมงานรำลึก 1 ปีเหตุการณ์นองเลือดที่แยกคอกวัว 10 เม.ย. โดยเขาได้ถือภาพ 2 ช่างภาพสื่อมวลชนที่เสียชีวิตในช่วงสลายการชุมนุมปี 2553 คือนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ และนายฟาบิโอ โปเลงกี

หลังรัฐประหาร 2557 นายสุภรณ์เป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกนำตัวไป "ปรับทัศนคติ" ภายในค่ายทหารที่ไม่เปิดเผยชื่อนาน 6 วัน พอพ้นประตูค่าย เขากราบเท้ามารดา และลั่นวาจาสาบานต่อหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา ว่า "จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต"

ทว่า 4 ปีผ่านไป นายสุภรณ์ เจ้าของฉายา "แรมโบ้อีสาน" สถาปนาตัวเองเป็นแกนนำ "กลุ่มพลังโคราช" ภายใต้สังกัด พปชร. แม้เป็น "ส.ต." (สอบตก) แต่ก็ได้เก้าอี้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาปลอบใจ มีภารกิจสำคัญคือการเดินสายแจกป้าย "เรารักประเทศไทย" ให้แก่แกนนำ "แดงกลับใจ" ในภาคอีสาน เพราะเชื่อว่าจะสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติได้ และทำหน้าที่วัด-ประเมินกระแสมวลชนให้แก่ระดับนำของรัฐบาล

พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ (คนที่ยืนอยู่) ปรากฏตัวในห้องประชุมสภาเมื่อ 4 ธ.ค. 2562 เพื่อเป็นองค์ประชุม แต่ไม่ได้ขานมติ หลังเกิดเหตุองค์ประชุมล่ม 2 ครั้งซ้อนกับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ (คนที่ยืนอยู่) ปรากฏตัวในห้องประชุมสภาเมื่อ 4 ธ.ค. 2562 เพื่อเป็นองค์ประชุม แต่ไม่ได้ขานมติ หลังเกิดเหตุองค์ประชุมล่ม 2 ครั้งซ้อนกับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ที่เอ่ยคำ "ขอโทษ" ผู้สนับสนุนทุกคน หลังย้ายจาก พท. มาลงสมัครและได้เป็น ส.ส.กำแพงเพชร พปชร. ทว่าไม่อาจพ้นจาก "บ่วงกรรม" ที่ก่อไว้ในอดีตได้ กรณีร่วมกับแกนนำ นปช. รวม 12 คนบุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อปี 2552

พ.ต.ท.ไวพจน์ขาดจากสมาชิกภาพ ส.ส. เมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก 4 ปี ในคดีดังกล่าว แล้วส่งต่อเก้าอี้ผู้แทนฯ ให้บุตรชายที่กำชัยชนะในศึกเลือกตั้งซ่อมเมื่อ ก.พ. 2563

บทบาท 15 "ตัวละครเอก" ของ ศอฉ. ใน 5 ฉากการเมืองไทย

บทบาท 15 "ตัวละครเอก" ของ นปช. ใน 5 ฉากการเมืองไทย

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม ทั้งนี้ชื่อย่อพรรคมี ดังนี้ พรรคไทยรักไทย (ทรท.) พรรคพลังประชาชน (พปช.) พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)