ทักษิณอยู่ตรงไหน ในความเคลื่อนไหวของอดีตขุนพลในนามกลุ่ม CARE

Thaksin

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, พรรคไทยรักไทยมีอายุเพียง 9 ปี เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 111 คน เมื่อ 30 พ.ค. 2550 โดยได้เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2 ครั้งและทำให้ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ 2 สมัย

การชุมนุมของอดีตนักการเมืองพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ผู้เคยเป็น "ขุนพลคู่ใจ" ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าการตั้งพรรคการเมือง "ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญ" ทว่าพวกเขาเตรียมเปิดตัวขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในเดือน มิ.ย. นี้เพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่แก่สังคมท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วิกฤตโรคระบาดตั้งแต่ต้นปีได้ลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตผู้นำ เมื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกตั้งคำถาม

ท่ามกลางความสิ้นหวังของผู้คนในสังคม อดีตแกนนำ ทรท. ได้นัดรวมกลุ่มสุมหัวคิด ณ สำนักงานแห่งหนึ่งย่าน ถ.วิภาวดีรังสิต เมื่อ 12 พ.ค. โดยตั้งต้นจากคำถามที่ว่า "เราจะปล่อยไปอย่างนี้หรือ" และ "เราจะทำอะไรได้บ้าง" ก่อนปรากฏข่าวว่าอาจมีการตั้งพรรคใหม่ โดยมีผู้ก่อการระดับอดีตรัฐมนตรีอย่างน้อย 4 คน โดย 3 คนพ่วงสถานะ "คนเดือนตุลา" และอีก 1 คนรวยทั้งทรัพย์และสายสัมพันธ์

ข่าวลับที่เล็ดลอดถึงหูสื่อ ได้เขย่าขวัญแกนนำที่อยู่โยง-ประจำการ ณ พรรคเพื่อไทย และทำให้เกิดความรู้สึก "ไม่มั่นคงในสถานภาพทางการเมือง" เมื่อ ส.ส. บางส่วนที่แสวงหา "ชีวิตที่ดีกว่า" ดอดติดต่อไปยังคณะผู้ก่อการกลุ่ม CARE ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีชื่อ ว่าจะตั้งจัดพรรคใหม่หรือไม่

ไม่ต่างจากนักเลือกตั้งไร้สังกัด ซึ่งตกที่นั่งคนนอกขบวนการต้องสาละวนอยู่กับการหาข่าว-ปล่อยข่าว จนเกิดอีกกระแสตีคู่กันมาเรื่อง "พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จ่อฟื้นชีพ" พร้อมให้-โหนชื่อ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตแกนนำ ทษช. ในฐานะหัวหอกนำตั้งพรรคใหม่

สุดท้ายผู้ถูกพาดพิงอย่างจาตุรนต์ ต้องออกมาประกาศตั้งพรรคใหม่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อ 24 พ.ค. โดยระบุว่าได้พูดคุยกันคนหลากหลายแวดวง จนมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่ออกตัวว่า "ไม่ใช่พรรคสาขาของเพื่อไทย ไม่ใช่ไทยรักษาชาติ 2"

ทษช

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ถือได้ว่าการปราศรัยใหญ่ของ ทษช. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 เป็นการปราศรัยใหญ่ใน กทม. ครั้งแรกและครั้งเดียวของพรรค ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบในอีก 7 วันต่อมา

ทักษิณ : "ลอยตัวจากการเมืองแล้ว... ผมขอให้กำลังใจมากกว่า"

ทุกความชุลมุนที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ถูกรายงานตรงไปยัง "ผู้นำพเนจร" ที่ต้องลี้ภัยในต่างแดนมากว่า 10 ปี เนื่องจากคดีอาญาหลายเรื่องที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

"มีคนโทรมาหาผม มาแจ้งให้ทราบ เป็นอดีต ส.ส.เก่า เขาคิดอยู่ เขามาบอกเพราะไม่ต้องการให้รู้สึกว่าแยกไปทำ โดยไม่ได้มาบอกกล่าว" ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า ทรท. กล่าวกับบีบีซีไทยถึงกระแสข่าวการเตรียมการจัดตั้งพรรคใหม่ของบรรดาลูกน้องเก่า

เขาออกตัวว่าไม่มีส่วนร่วมกับความเคลื่อนไหวที่ปรากฏนี้

"ไม่เกี่ยวกับผม... ผมมันลอยตัวจากการเมืองแล้ว... ผมมันคนตกงานแล้ว เป็นวัย Young Old เป็นคนแก่ที่ยังหนุ่ม.. ผมขอให้กำลังใจมากกว่า"

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

ข้อวิเคราะห์ของทักษิณ ยังเวียนวนอยู่ที่ความพยายามแก้โจทย์เก่า ออกจาก "กับดักรัฐธรรมนูญ 2560" ซึ่งทำให้พรรคที่มี ส.ส.ที่ชนะการเลือกตั้งแบบเขตมาก และตัวพรรคมีคะแนนนิยมมาก แต่ไม่สามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

"เขามีฐานทางการเมืองอยู่ เคยอยู่ในสภา แต่ตอนนี้ไม่อยู่แล้ว เขารู้สึกว่าอยากกลับเข้าไปทำงานให้ประชาชน" นายกฯ คนที่ 23 ของประเทศ ระบุ

จากยุค ทรท. ไป อนค. ถึงกลุ่ม CARE

ถึงขณะนี้มีการเปิดชื่อ 4 แกนนำหลักเป็นที่เรียบร้อย ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ภูมิธรรม เวชยชัย และ พงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ทว่ามีเพียงภูมิธรรม ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภา เท่านั้นที่ออกมาเปิดหน้าต่อสาธารณะในหลายกรรมหลายวาระ

จากจุดเริ่มต้นของ 4 ผู้ก่อการ ขยายวงเป็นการเชื้อเชิญผู้คนหลากหลายแวดวงราว 35 คนมาพูดคุย-แลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อ 26 พ.ค.

บีบีซีไทยได้รับคำยืนยันจากผู้ร่วมก่อการรายหนึ่งว่าทุกรายชื่อที่ปรากฏทางสื่อมวลชนทั้งที่ปรึกษาด้านการเงิน, สถาปนิก, สื่อมวลชน "ยังยืนยันเข้าร่วมกับกลุ่ม ไม่มีใครถอนตัว มีแต่คนติดต่อมาเพิ่มว่าจะเมื่อไรจะนัดประชุมกันอีก"

เล่ากันว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในวันนั้น ณ สำนักงานแห่งหนึ่งย่าน ถ.พระราม 9 คล้ายคลึงกับช่วงที่ ทักษิณ เตรียมการก่อตั้ง ทรท. ในปี 2541 ผสมผสานกับฉากแรก ๆ ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในระหว่างระดมพรรคพวกมาพูดคุยเรื่องการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ปลายปี 2560-2561

ประชาชนเดินทางมายื่นเอกสารร้องเรียนหลังไม่ได้รับสิทธิเงินเยียวยาที่อาคารเอนกประสงค์ กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ 5 พ.ค. 2563

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ประชาชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อทวงสิทธิรับเงินเยียวยา 5 พันบาทของรัฐบาล ที่กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ 5 พ.ค.

โจทย์การเมืองในยุคก่อตั้ง ทรท. ท่ามกลางกระแสปฏิรูปการเมือง และจังหวะก้าวของ อนค. ในภาวะที่ผู้คนบ่นและเบื่อผู้นำทหารที่ครองอำนาจมายาวนาน 5 ปี ถูกนำมาวางเทียบเคียงกัน ก่อนกลายเป็นแนวทางสร้าง "ความหวังใหม่" ให้คนไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และการเกิดขึ้นของ "คณะผู้ห่วงใยประเทศ" ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม CARE ทว่าชื่อเต็มยังไม่ตกผลึก จึงไม่ใช่ "Continue Ability Renew Efficiency" ตามที่ปรากฏในสื่อบางสำนักก่อนหน้านี้

คนในขบวนการ CARE ตั้งเป้าหมายกำหนด "ญัตติสาธารณะใหม่" หรืออาจไปถึงขั้นนำเสนอ "ผู้นำใหม่" ในอนาคต

ภูมิธรรมเปิดเผยว่า วงหารือเมื่อ 26 พ.ค. มีความเห็นร่วมกันว่า "เรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองยังไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด" ส่วนในอนาคตจะเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ เขาบ่ายเบี่ยงจะตอบคำถามนี้ แต่ยอมรับพรรคการเมืองเป็นบทบาทหลักในการแก้ปัญหา และ "อะไรก็เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองไร้ความหวัง"

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวม

เกิดอะไรขึ้นที่เพื่อไทย

สถานะล่าสุดของกลุ่ม CARE ที่ยังไม่ไปถึงขั้นเป็นพรรคการเมือง แต่ขอเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือโซเชียลมูฟเมนต์ ทำให้ตอนนี้เครือข่ายการเมืองทักษิณ มี 1 พรรค และ 1 คณะบุคคล เหมือนพรรคและพวกธนาธร ที่มีพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า

ทว่าความต่างอาจอยู่ที่ฝ่ายแรกต้องการ "ทิ้งเพื่อไทย" ไปสร้างองค์กรการเมืองใหม่ หลังเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องการชิงการนำในพรรค และการปั้นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ใต้อาณัติของคนรุ่นเก่า ขณะที่ฝ่ายหลัง "ถูกบังคับให้ทิ้งพรรค" ไปทั้งที่ใจยังถวิลหา

ในระหว่างเดินทางไปรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในศึกอภิปรายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 3 ฉบับ วันแรก (27 พ.ค.) ภูมิธรรมถูกสื่อมวลชนตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่ใช้ พท. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอทางออกให้แก่บ้านเมือง เขาตอบว่าไม่ใช่เรื่องแปลกหากนักการเมืองจะไปหารือแลกเปลี่ยนกับกลุ่มต่าง ๆ และย้ำว่าตัวเอง "ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในพรรคแล้ว จึงทำในฐานะประชาชนที่สนใจปัญหาบ้านเมือง" ถือเป็นการจงใจหยุดภาพจำว่าคนการเมืองวัย 66 ปีรายนี้เป็นผู้ร่วมทีม พท. ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า "คนเสียงดังที่สุด" ไม่ใช่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค แต่เป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค

พท.

ที่มาของภาพ, NurPhoto/Getty Images

คำบรรยายภาพ, การประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทยเมื่อ 28 ต.ค. 2561 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ยังไม่มีทีท่าจะแตกตัวออกไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ

ไม่ต่างจาก พงษ์ศักดิ์ ที่หวนคืนการเมืองอีกครั้งทั้งที่เพิ่งประกาศวางมือทางการเมืองไปเมื่อ 5 ก.ค. ปีก่อนในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 69 โดยให้เหตุผลว่าอายุเยอะแล้ว อยากหยุดพักผ่อน ทว่าสิ่งที่รับรู้เป็นการทั่วไปในหมู่ ส.ส.พท. คือ "เฮีย" กับ "เจ๊" นั้นเป็นปลาคนละน้ำ แต่เมื่อได้ "ทีมเก่า" มาสร้าง "ดรีมทีม" เขาจึงกลับมาในฐานะ "ผู้สนับสนุนหลักด้านโครงข่ายและแหล่งทุน" ของกลุ่ม CARE

บทเรียนเก่า แผนงานใหม่

บทเรียน ประสบการณ์ และนวัตกรรมการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต ถูกทบทวนอย่างจริงจัง ก่อนเป็นแนวทางขับเคลื่อนวาระของกลุ่มเบื้องต้น อาทิ

  • ไม่ทำการเมืองเก่าที่ใช้ข้อมูล "ตัดแปะจากข่าว" แต่เอา "บิ๊กดาต้า" หรือระบบประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์มาเป็นฐานข้อมูล
  • ไม่เป็น "พรรคหรือกลุ่มอีเวนต์" ที่จุดพลุ สร้างกระแสในโลกออกไลน์ สร้างเทรนด์ทางทวิตเตอร์แค่ชั่วข้ามคืนแล้วหายไป แต่ต้องการให้เกิดปฏิบัติการทางการเมืองอย่างจริงจัง
  • ตอบสนองความฝันและความหวังของคนรุ่นใหม่บางส่วนที่เห็นว่าพรรคที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันไม่ใช่ทางเลือกของพวกเขา

สำหรับญัตติสาธารณะที่กลุ่ม CARE เตรียมนำเสนอต่อสังคมอยู่ภายใต้หัวข้อ "ประเทศไทยหลังโควิด-19" ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ