ประยุทธ์ : ดิอีคอนอมิสต์ วิเคราะห์ รัฐบาลใหม่ คือ “ตอนใหม่ที่ไม่เท่าเทียม” ของการเมืองไทย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, EPA

นิตยสารดิอีคอนอมิสต์ (The Economist) ฉบับวันที่ 6 มิ.ย. เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของไทย โดยให้ชื่อว่า "ตอนใหม่ที่ไม่เท่าเทียม หัวหน้าคณะรัฐประหารบิดเบือนกฎหมายเพื่อสืบทอดอำนาจ"

บทวิเคราะห์นี้ระบุว่า บรรดาสมาชิกรัฐสภาซึ่งมาจาก "การหยิบจับผสมผสานอย่างเละเทะตามสถานการณ์เฉพาะหน้า" ได้ลงมติให้พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

"ไม่มีใครสามารถปฏิเสธถึงความเหนียวแน่นมั่นคงในการยึดกุมอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ได้ กว่า 5 ปีหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศไทย และเกือบ 3 ปีหลังความพยายามผลักดันการสืบต่ออำนาจของตนเองผ่านการใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และอีกกว่า 2 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งผู้สนับสนุนของเขาเกือบพ่ายแพ้ แม้จะได้เปรียบจากกติกาที่ไม่เป็นธรรมหลายข้อก็ตาม แต่ในที่สุด รัฐสภาก็ได้ลงมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอนแล้ว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา" บทความนี้ระบุ

"หลังจากได้เป็นผู้นำสมัยที่สองไม่นานนัก พล.อ.ประยุทธ์ได้แนะนำให้ชาวไทยอ่านหนังสือ 'แอนิมอล ฟาร์ม' (สงครามกบฏของสรรพสัตว์ ) โดยที่เขาไม่ได้มีเจตนาเชิงเสียดสีเย้ยหยันแฝงอยู่แต่ประการใด อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ทำให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง มีกลิ่นอายแบบเดียวกับเรื่องราวของตัวละครหมูผู้นำรัฐประหารในนิยายดังกล่าว ซึ่งหมูตัวนี้ประกาศว่า 'สัตว์ทุกตัวต่างเท่าเทียมกัน แต่มีสัตว์บางตัวที่เท่าเทียมมากกว่าตัวอื่น ๆ' เห็นตัวอย่างได้จากรัฐสภาที่เลือกเขาเป็นผู้นำอีกสมัย ซึ่งวุฒิสมาชิกทั้ง 250 คนนั้นมาจากการคัดเลือกโดยรัฐบาลสมัยแรกของพล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น ราว1 ใน 3 ของคนเหล่านี้มีสายสัมพันธ์กับกองทัพหรือตำรวจ รวมถึงบุคคลที่เป็นกลางอย่างน้องชายของเขาด้วย"

ปกหนังสือ

ที่มาของภาพ, Typhoon Studio

"ปล้นโอกาส"

บทวิเคราะห์นี้ชี้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ตัดสินใจเปลี่ยนกฎเกณฑ์ว่าด้วยสูตรการคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ หลังการลงคะแนนเสียงผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งเท่ากับ "ปล้นโอกาส" ที่พรรคการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารจะได้มีเสียงข้างมากเหนือฝ่ายตรงข้ามเล็กน้อย แล้ว นำไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถ "สั่งได้" แทน นอกจากนี้ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญยังช่วยเหลือด้วยการออกคำสั่งตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส. กับคนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยบอกว่าขาดคุณสมบัติ ทั้งก่อนหน้านั้นก็ได้สั่งยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามไปแล้วหนึ่งพรรคด้วย

"เพื่อที่จะทำให้ชัยชนะอันคลุมเครือไม่ชัดเจนนี้ กลายเป็นเสียงข้างมากที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคพลังประชารัฐได้รวมตัวกับอีกหลายพรรคการเมือง จนเกิดเป็นกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลขนาดใหญ่ที่อุ้ยอ้ายเทอะทะถึง 19 พรรค" บทวิเคราะห์ระบุ

ราคาของความร่วมมือ

ดิอีคอนอมิสต์ ชี้ว่า ด้วยเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำ 255 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ของรัฐบาลผสม พรรคพลังประชารัฐจะต้องคอยต่อรองผลประโยชน์แบบเปิดเผย ทั้งกับ "พรรคเล็ก พรรคน้อย" และ พันธมิตรขนาดกลาง ได้แก่ 55 คนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทย และ ส.ส. อีก 51 คนของพรรคภูมิใจไทยอีกด้วย

ชวน หลีกภัย

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

"ราคาของความร่วมมือนี้แตกต่างกันออกไป พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าอยากจะร่างนโยบายเศรษฐกิจ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าคนของประชาธิปัตย์น่าจะได้นั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และคุมงานอีก 3 กระทรวงใหญ่ ซึ่งรวมถึงกระทรวงพาณิชย์อันเป็นที่หมายปองกันอย่างมากด้วย และก่อนหน้านี้ นายชวน หลีกภัย ผู้นำอาวุโสของพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรี ยังได้ครองตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว"

บทวิเคราะห์นี้ชี้ว่า การร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเคยลั่นวาจาจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. เมื่อพรรคลงมติเข้าร่วมรัฐบาล โดยมีสมาชิกพรรคที่ยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกหลายคนลาออกจากตำแหน่งและการเป็นสมาชิกพรรคเช่นกัน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ดิอีคอนอมิสต์ คาดว่า พรรคภูมิใจไทยจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม สาธารณสุข การท่องเที่ยวและกีฬา โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบอกว่า เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐนั้นง่ายดายอย่างยิ่ง เพียงแค่ออกกฎหมายให้นโยบายของพรรคถูกนำไปปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้รวมถึงการเปิดเสรีให้ปลูกกัญชาได้โดยถูกกฎหมาย หลังจากที่รัฐบาลทหารอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้เมื่อไม่นานมานี้"

"นายอนุทินบอกว่า ตัวเขานั้นเป็นวิศวกรการเมือง ไม่ใช่คนที่ยึดมั่นกับอุดมการณ์แบบตายตัว จึงคิดและทำสิ่งต่าง ๆ ที่สามารถปฏิบัติได้จริงมากกว่า"

ไม่มีเรื่องดีเกิดกับคนเห็นต่างจากประยุทธ์

บทวิเคราะห์นี้ระบุว่าคนที่ไม่ลงรอยกับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น จะเผชิญกับเรื่องอะไรก็ได้ "เว้นเสียแต่เรื่องดี ๆ" เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้รับเลือกให้ เป็นตัวแทนของพรรคฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร เข้าแข่งขันกับพล.อ.ประยุทธ์ ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี นายธนาธรนั้นได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหมู่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เขาประกาศก้องก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับชัยชนะแบบนอนมาว่า เราต้องช่วยกันทำให้รัฐสภาเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ ไม่ใช่สถานที่ที่ผู้คนเอือมระอา หมดศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/ BBC THAI

ล่าสุดพรรคอนาคตใหม่และตัวนายธนาธรเอง ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายถึง 16 ข้อหา ก่อนหน้านี้เขาถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ระหว่างมีการสอบสวนว่าเขาได้โอนหุ้นกิจการสื่อที่ถือไว้ออกไป ก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งจริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ

"ภาพลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องทางการเมืองของนายธนาธร ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าหวาดกลัว บรรดานักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวซึ่งเฝ้ารุมล้อมอยู่รอบตัวนายกรัฐมนตรี"

"มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"

ดิอีคอนอมิสต์ ระบุว่า แม้ได้รับตำแหน่งอีกครั้ง ดูเหมือนพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างต่อคำขวัญ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ได้มากนัก เขาไม่สนใจเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาในวาระที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งการแสดงวิสัยทัศน์ประชันกับคู่แข่ง แต่เขาชี้แจงโดยไร้สำเนียงแห่งการประชดเสียดสีอีกครั้งว่า ผลงานและการกระทำตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้พูดแทนตัวเขาไปทั้งหมดแล้ว

"รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอาจรักษาผลประโยชน์ของพล.อ.ประยุทธ์เอาไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามจุดประสงค์ดั้งเดิมของมัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจแก่วุฒิสภาซึ่งรัฐบาลทหารแต่งตั้งมา ให้เข้าแทรกแซงในสภาผู้แทนราษฎรได้ หากมีการงัดข้อขัดขวางกันจนร่างกฎหมายสำคัญเช่น พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบได้ภายใน 105 วัน กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ช่วยให้โอกาสแก่รัฐบาลเสียงข้างน้อยได้มากขึ้น"

คาเรน บรูกส์ นักวิเคราะห์ประจำคณะที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations ) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและให้คำปรึกษาของสหรัฐฯ บอกว่า "แม้รัฐบาลชุดใหม่ของไทยดูเป็นเรื่องน่าขบขันในกรอบคิดแบบประชาธิปไตย แต่ดิฉันคิดว่าพวกเขามีทรัพยากรเพียงพอที่จะรักษาเสียงข้างมากแบบปริ่มน้ำนี้ไปได้สักระยะหนึ่ง"