กลุ่ม CARE ปลุก "ก้าวข้ามความกลัว" อาสาพาประเทศไทย "ออกจากห้องฉุกเฉิน" หลังเผชิญ 3 กับดักในวิกฤตโควิด-19

การเปิดตัวของกลุ่ม CARE เกิดขึ้นที่วอยซ์ สเปซ ถ.วิภาวดีรังสิต

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, การเปิดตัวของกลุ่ม CARE เกิดขึ้นที่วอยซ์ สเปซ ถ.วิภาวดีรังสิต
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

อดีตนักการเมืองสังกัดพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ซึ่งถูกยกให้เป็น "ขุนพล" นายทักษิณ ชินวัตร ร่วมเปิดตัวกลุ่ม CARE ภายใต้คำขวัญ "คิด เคลื่อน ไทย" โดยเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบออกจากหอคอยงาช้างมาดูการตกหุบเหว พบความสิ้นหวังของประชาชน เพื่อก้าวข้ามจากความกลัวไปสู่ความหวัง

ในวันที่ 84 ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของรัฐบาล มีการเปิดตัวขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่ม CARE ย่อมาจาก Creative Action for Revival & People Empowerment โดยเป็นการผสมผสานระหว่างนักการเมืองหน้าเก่ากับคนหน้าใหม่

วันเดียวกับที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกมาประกาศกับประชาชนทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่ารัฐบาลของเขากำลังจะ "ทำงานแบบวิถีใหม่" หลังการระบาด และขอให้ทุกภาคส่วนร่วม "รวมไทยสร้างชาติ"

เวทีอภิปรายเรื่อง "150 วันอันตราย : ทางเลือกทางรอด" ถูกจัดขึ้น โดยมีสมาชิกกลุ่ม CARE ร่วมเสวนา

"ความเศร้า ความกลัว ความหวัง ความเชื่อมั่น และปัญญา" คือ 5 คำสำคัญที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และสมาชิกกลุ่ม CARE ใช้อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวิกฤตโควิด-19 ก่อนชี้ว่าทุกคนอยู่ในช่วงที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นใน 150 วันข้างหน้าที่จะชี้ชะตาประเทศไทย เพราะไม่เคยมีวิกฤตครั้งไหนที่เกิดวิกฤตทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสุขภาพพร้อม ๆ กัน

"ผมเชื่อว่าประเทศไทยอยู่ในเขาวงกต ยังมึนงงไม่รู้จะไปไหนต่อไป เพราะเรารู้จักโควิดแค่ 8 เดือน เราเรียนรู้ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัด รู้จริง ไม่มีสัจธรรม" นพ.สุรพงษ์กล่าว

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้รับเชิญให้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษของ รมว.สาธารณสุข เมื่อต้องรับมือกับไวรัสมรณะโควิด-19

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้รับเชิญให้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษของ รมว.สาธารณสุข เมื่อต้องรับมือกับไวรัสมรณะโควิด-19

ความไร้สัจธรรมของโควิด-19 ถูกหมอเลี้ยบสรุปไว้ ดังนี้

  • อัตราการเสียชีวิต : ไม่เท่ากัน ของโลกอยู่ที่ 9% อิตาลีที่ 14% สิงคโปร์ 4.6% ส่วนไทยอยู่ที่ 1.8%
  • การแพร่กระจายของเชื้อ : ไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้แน่ ๆ ถ้าปิดจมูก ตา ปาก ก็จะเป็นหลักประกันป้องกันการรับเชื้อ
  • การรักษา : ไม่มีใครรู้ กำลังพิสูจน์ว่าเป็นไวรัสไปทำลายปอด หรือทำลายเซลล์ในเม็ดเลือด
  • วัคซีน : ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
  • การระบาดรอบ 2 : วันนี้ยังไม่มีประเทศไหนมีการระบาดรอบ 2 อย่างจริงจัง ในความหมายที่ว่าเป็นไวรัสที่ระบาดแล้ว รอบ 2 รุนแรงกว่ารอบแรก ซึ่งถ้าเทียบกับไข้หวัดสเปนเมื่อ 102 ปีก่อนที่มีการระบาดรอบ 2 เพราะคนติดเชื้อรุนแรงถูกเคลื่อนย้าย เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม แต่ในโควิด คนติดเชื้อรุนแรงถูกเก็บตัวไว้ในโรงพยาบาล

ประเทศไทยเลือดไหลไม่หยุด

ผู้ก่อการกลุ่ม CARE กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยสะสม 3.1 พันราย เสียชีวิต 58 ราย มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 81 ราย โดยมีเพียง 1 รายที่เป็นผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งในการรักษาต้องใช้งบประมาณราว 1 ล้านบาท/ราย รวมเป็นงบ 3 พันล้านบาท แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละเดือนที่การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ประเทศต้องสูญเสียรายได้ถึง 2.6 แสนล้านบาท ทั้งหมดนี้เพราะ "กับดัก" 3 ตัวคือ ความกลัว ความเชื่อผิด ๆ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มากำหนดให้คนต้องทำตาม

"เราต้องเลิกกลัว เลิกเชื่อความเชื่อผิด ๆ และหาทางออกใหม่ซึ่งขณะนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ วิกฤตเศรษฐกิจในอีก 150 วันข้างหน้าไม่มีใครเคยผ่านมาก่อน ถ้าทำแบบเดิม ๆ ไอนสไตน์บอกว่าถ้าเราเคยทำพลาดแล้วทำแบบเดิม อันนั้นคือความเบาปัญญา เราต้องท้าทายความเชื่อมั่น คิดใหม่ตลอดเวลา เราต้องสามารถว่องไวปราดเปรียวในการหาทางออก พร้อมรับเงื่อนไขใหม่ตลอดเวลา" นพ.สุรพงษ์ระบุ

เขายังตรวจอาการของประเทศไทยพบว่า "อยู่ในห้องฉุกเฉิน เลือดไหลไม่หยุด ต้องเติมเลือดเข้าไป" พร้อมเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบออกจากหอคอยงาช้าง "มาดูการตกหุบเหว พบความสิ้นหวังของประชาชน" เพื่อก้าวข้ามจากความกลัวไปสู่ความหวัง

ระเบิดเวลาจากหนี้ก้อนโต

ขณะที่คำว่า "150 วันอันตราย" ถูกอธิบายโดยนายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร สมาชิกกลุ่ม CARE ที่สะท้อนความกังวลใจจากมาตรการผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนกำหนดชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการ 15 ล้านคน คิดเป็นยอดหนี้ 6.6 ล้านล้านบาท โดย 1 ใน 3 ของลูกหนี้ ได้รับการพักหนี้ 6 เดือนนับจากเดือน เม.ย. หรือจะครบกำหนดในเดือน ต.ค. นี้

ศุภวุฒิ สายเชื้อ คาดหวังให้ประเทศไทยพลิกผัน ฟื้นฟู ปรับโครงสร้างให้เป็นประเทศที่สมบูรณ์ (wellness)

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ศุภวุฒิ สายเชื้อ คาดหวังให้ประเทศไทยพลิกผัน ฟื้นฟู ปรับโครงสร้างให้เป็นประเทศที่สมบูรณ์ (wellness)

"ตอนที่กลับมา ใครจะใช้หนี้คืนได้บ้างถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้น" เขาตั้งคำถาม ก่อนแจกแจงข้อมูลต่อว่า ในกลุ่มที่ขอพักหนี้ แบ่งเป็น หนี้ส่วนบุคคล 13.9 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 3.8 ล้านล้านบาท และหนี้ธุรกิจรายใหญ่และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 1.1 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 2.8 ล้านล้านบาท เฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีมีมูลหนี้อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ พ.ร.ก.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่เอสเอ็มอี มีวงเงินเพียง 5 แสนล้านบาท

"นี่คือความเป็นห่วง รู้สึกว่าเป็นระเบิดเวลา ถ้าถึงวันนั้นจะทำอย่างไร ผมเองก็ยังไม่มีคำตอบ" นายศุภวุฒิ นักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชนซึ่งเป็นที่รู้จักดีในแวดวงการเงินระหว่างประเทศ กล่าว

แนะ "คุณลุง" แก้ รธน. เพื่อลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เป็นหนึ่งเดียวบนเวทีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม CARE ซึ่งเขาออกตัวว่า "ไม่ได้หวังจะเปลี่ยนโลก แต่ถือคติว่าใครทำอะไรดี ก็รับใช้โดยไม่เลือกว่าพรรคไหนกลุ่มใด" และยังบอกด้วยว่าตัวเขาเป็นพวกเสรีนิยมใหม่ คือเชื่อว่าประเทศจะไปได้ดีหากมีการจำกัดบทบาทของรัฐ ทว่าพอเกิดวิกฤต ได้ทำให้รัฐขยายตัวอย่างมโหฬาร

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ประธานภัทรคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยไป -9% และไม่ใช่แค่ปีเดียวด้วย ก่อนเปิด 4 ข้อเสนอเพื่อสร้างโอกาสสำหรับประเทศไทย

บรรยง พงษ์พานิช เล่าว่าได้ทำโพลในหมู่คนใกล้ชิดว่า "อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ" หรือ "หยุดเชื้อเพื่อกู" ปรากฏว่าส่วนใหญ่ตอบอย่างหลัง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, บรรยง พงษ์พานิช เล่าว่าได้ทำโพลในหมู่คนใกล้ชิดว่า "อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ" หรือ "หยุดเชื้อเพื่อกู" ปรากฏว่าส่วนใหญ่ตอบอย่างหลัง
  • แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อลดยอดหนี้สาธารณะของรัฐ เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ารัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 56 แห่ง บางส่วนบริหารและปฏิบัติการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนรั่วไหลจำนวนมาก
  • กระจายทรัพยากร ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ด้วยการจัดสรรงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 1 แสนล้านบาท จากวงเงิน 4 แสนล้านบาท ไปให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ
  • ตั้งกองทุนส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมตรวจสอบรัฐ โดยจัดสรรงบประมาณ 0.4% ของก้อน 4 แสนล้านบาท ตรวจสอบการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพราะการใช้หน่วยงานรัฐตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  • แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งวิกฤตจะช่วยกระตุ้นให้เกิดเรื่องพวกนี้ได้ ทั้งนี้ถ้าหยิบดัชนี 3 อย่างคือ ดัชนีความมั่งคั่งที่วัดโดยจีดีพีต่อหัวต่อปี, ดัชนีความโปร่งใส่ และดัชนีความเป็นประชาธิปไตย จะพบว่า 20 ประเทศแรกในโลกซ้ำกันหมด สะท้อนว่าประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยมาก โกงน้อย ประเทศนั้นก็มั่งคั่งยั่งยืน

"ไหน ๆ เป็นวีรบุรุษปราบโควิดได้ ก็มอบประชาธิปไตยที่แท้จริงแก่ประชาชน... สำหรับคุณลุงทั้งหลาย นี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะลงจากหลังเสืออย่างสง่างาม จะได้ไม่ซ้ำรอยวินสตัน เชอร์ชิลล์ (อดีตนายกฯ อังกฤษ) ที่พาประเทศชนะสงครามอย่างยิ่งใหญ่ จากนั้นก็แพ้การเลือกตั้งอย่างยับเยิน" นายบรรยงกล่าว

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้เสนอตัวชิงผู้ว่า กทม. กับ ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ร่วมสังเกตการณ์ โดยที่ชัชชาติบอกว่ามาให้กำลังใจดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งเป็นเพื่อนของเขา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้เสนอตัวชิงผู้ว่า กทม. กับ ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ร่วมสังเกตการณ์ โดยที่ชัชชาติบอกว่ามาให้กำลังใจดวงฤทธิ์ บุนนาค ซึ่งเป็นเพื่อนของเขา

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ สมาชิกกลุ่ม CARE เห็นว่า ความปกติใหม่ หรือ New Normal ไม่มีอยู่ แต่คิดว่ามีความสมดุลใหม่ หรือ New Equilibrium หน้าที่ของรัฐคือทำอย่างไรให้มีความสมดุลใหม่ โดยรัฐต้องเลิกพูดว่าต้องรอโควิดหมดก่อน ถึงจะเดินหน้าไปได้ "มันจะไม่มีโลกแบบนั้น แต่ต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ"

เขายังคาดหวังจะเห็นนโยบายของรัฐที่ไปกระตุ้นห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็ง ส่งเสริมธุรกิจขนาดจิ๋ว (micro enterprise) ให้แข็งแรง และเปิดโอกาสให้เด็กมีอิสระในการคิด พูด และแสดงออก ไม่ใช่ใช้คำว่า "แหกคอก ผิด ลามปาม" กดคนยุคใหม่เอาไว้ นี่จะทำให้ธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นได้

แคร์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, คำประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่ม CARE ถูกอ่านโดยคำ ผกา เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า "ไม่มีครั้งใดที่โลกจะเรียกร้องประชากรของมันมากเท่ากับวันนี้ วันที่โลกทั้งใบต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบที่ลึกร้าวยาวนาน อัตคัตสาหัส แผ่ขยายเป็นวงกว้างกว่าทุกครั้งที่มนุษยชาติเคยเผชิญ และซ้ำร้ายยังเกิดในห้วงเวลาที่ประเทศไทยตกต่ำอ่อนแอในแทบทุกมิติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์"

ปฏิเสธเปิดตัวไวรับข่าว "เปลี่ยนแปลงใหญ่การเมือง"

กลุ่ม CARE ไม่ใช่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองกลุ่มแรกที่ใช้วิกฤตโควิด-19 เป็นจุดเปิดตัว เพราะก่อนหน้านี้เมื่อ 21 มี.ค. อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่แปรสภาพเป็นคณะก้าวหน้า หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค ก็เปิดตัวด้วยการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่า "ล้มละลายทางการเมือง" จากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะ

คำถามที่เกิดขึ้นคือทำอย่างไรให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะไม่กลายเป็นเพียง "กลุ่มอีเวนท์" ที่จุดกระแสในสังคม-ยึดพาดหัวข่าวหรือแฮชแท็กทวิตเตอร์-จากไป

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ผู้ก่อการกลุ่ม CARE กล่าวกับบีบีซีไทยว่า CARE เป็นการรวมตัวของกลุ่มแนวคิดและนักปฏิบัติการที่ต้องการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาของประเทศเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหยิบไปใช้ ส่วนจะไปได้แค่ไหนขอให้รอติดตามดู เพราะคนที่มารวมตัวกันล้วนแต่เป็นคนที่มีความมุ่งมาดปรารถนาทั้งสิ้น

"เราเน้นการหาทางออกให้ประเทศ ทางออกนี้เน้นสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่เป็นการสานฝัน" หมอมิ้งประกาศ

การเปิดตัวคณะก้าวหน้าเมื่อ 21 มี.ค. ต้องปรับรูปแบบเป็นการชี้แจงผ่านแฟนเพจของกลุ่ม หลังมีการแพร่ระบาดโควิด-19

ที่มาของภาพ, กองโฆษก คณะก้าวหน้า

คำบรรยายภาพ, การเปิดตัวคณะก้าวหน้าเมื่อ 21 มี.ค. ต้องปรับรูปแบบเป็นการชี้แจงผ่านแฟนเพจของกลุ่ม หลังมีการแพร่ระบาดโควิด-19

ทว่าสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นแน่ ๆ ตามคำยืนยันของ 2 หมอ นพ.พรหมินทร์-นพ.สุรพงษ์ คือการพัฒนากลุ่ม CARE ให้เป็นพรรคการเมือง ทว่าพวกเขาไม่ได้รังเกียจการเมือง เพราะมองว่าการเชื่อมต่อกับรัฐบาลและรัฐสภามีความจำเป็น

"หากสมาชิกในกลุ่มสนใจการเมือง เขาก็อาจไปเล่นการเมือง ไปตั้งพรรคการเมือง โดยที่กลุ่ม CARE จะยังคงอยู่เพื่อผลักดันให้วาระต่าง ๆ เดินหน้า เราต้องล็อบบี้ทั้งในทางลับและทางแจ้ง ต้องพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง พร้อม ๆ กับเปิดเวทีสาธารณะเพื่อบอกกล่าวกับสังคม" นพ.สุรพงษ์กล่าว

ส่วนเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ดังระงมอยู่ในหลายพรรคการเมืองว่าด้วยสัญญาณ "เปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมือง" คือเหตุผลสำคัญที่กลุ่ม CARE ต้องเปิดตัวไวรับกระแสข่าวนี้หรือไม่นั้น นพ.สุรพงษ์ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวเลย แต่กังวลเรื่อง "150 วันอันตราย" เพราะถ้าปล่อยไว้นาน ต้นทุนก็จะยิ่งสูง จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่รอไม่ได้

รับเคยมีประวัติศาสตร์-ความสัมพันธ์กับทักษิณ แต่ไม่เกี่ยวกับ CARE

การเกิดขึ้นของกลุ่ม CARE ทำให้สารพัดคำถามพุ่งเข้าใส่พรรคเพื่อไทย (พท.) เนื่องจาก 4 ผู้ก่อการหลักเคยเป็นอดีต "ขุนพล" คู่คิด-ข้างกายของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาก่อน ร้อนถึงแกนนำ พท. ต้องออกมาแถลงเมื่อ 10 มิ.ย. เพื่อสยบข่าวลือเรื่อง "พรรคแตก" และชี้ชวนให้สังคมเห็นว่าตัวกำหนดเกมคือปัจจัยภายนอก หาใช่ปัจจัยภายในไม่

"เป็นความจำเป็นจากรัฐธรรมนูญและกติกาที่บิดเบี้ยว" คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พท. ชี้แจง

เช่นเดียวกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้า พท. ที่บอกว่า "เมื่อรัฐบาลกำลังเพลี่ยงพล้ำก็ต้องเตรียมตัว"

ขณะที่ผู้ก่อการกลุ่ม CARE ก็ปฏิเสธข่าวความแตกแยกหลายครั้ง โดยระบุว่าพวกเขาไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับ พท. นานแล้ว และขอให้สื่อยุติมุมมองการเมืองแบบเดิม ๆ

ทักษิณ ชินวัตร ประกาศ "เว้นวรรคการเมือง" เมื่อ 4 เม.ย. 2549 โดยมีบรรดา ครม. ร่วมให้กำลังใจ

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ทักษิณ ชินวัตร ประกาศ "เว้นวรรคการเมือง" เมื่อ 4 เม.ย. 2549 โดยมีบรรดา ครม. ร่วมให้กำลังใจ

ส่วนสายตาของคนนอกที่มองว่า "4 สหาย" ถือเป็น "คนในบ้าน" ของอดีตนายกฯ แบบครบทุกสายนั้น หมอเลี้ยบอธิบายว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและ พท. มา 12 ปีแล้ว และไม่เคยคิดว่าต้องกลับมาการเมืองอีกเพราะทุกวันนี้ก็มีความสุขดีกับบทบาทพิธีกรรายการทางวอยซ์ ทีวี ถ้าไม่มีวิกฤตโควิด-19 ก็คงใช้ชีวิตอย่างที่เป็นมา

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า พท. และผู้ก่อการกลุ่ม CARE อีกคน กล่าวย้ำว่า ไม่ปฏิเสธประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ครั้งเก่าที่มีกับอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะเคยร่วมงาน เป็นเพื่อน น้อง และผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน แต่การทำงานในนามกลุ่ม CARE ไม่เกี่ยวอะไรกับนายทักษิณ

สมาชิกเริ่มต้นแจงทำไมต้อง CARE

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมและสรุปวรรคทองจากคำแถลงเปิดตัวของกลุ่ม CARE วันที่ 17 มิ.ย. 2563