โควิด-19: ศบค. เตรียมเสนอ ครม. ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึงสิ้นเดือน ก.ย.

วัดอุณหภูมิเด็ก

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 30 ก.ย. เนื่องจากกฎหมายปกติไม่เพียงพอที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเกือบสามเดือนแล้วก็ตาม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่าที่ประชุม ศบค.วันนี้ (21 ส.ค.) เห็นควรเสนอให้ ครม. พิจารณาขยายเวลาในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรอีกหนึ่งเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.- 30 ก.ย.

"กฎหมายและระบบต่าง ๆ ที่เราจะต้องพัฒนาขึ้นเพื่อจัดการ (ควบคุมระบาด) ยังใช้ไม่ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะการจัดทำระบบติดตามตัวและการกักตัว ต้องมีการบูรณาการกันทั้งประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องให้มีการขยายระยะเวลา (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อในประเทศมาแล้วเกือบ 90 วัน ผู้ป่วยที่พบทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสู่ระบบกักกันตัวของรัฐ โดยล่าสุดวันนี้ ศบค. แถลงว่าพบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากสิงคโปร์ และพักอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้

ข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. ไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,390 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 113 ราย และมีผู้เสียชีวิต58 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่คงที่มาตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.

โฆษก ศบค. กล่าวต่อว่าเนื่องจากขณะนี้ ศบค. ได้อนุญาตผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมแทบทั้งหมดแล้วเช่น การเปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาเต็มรูปแบบ อนุญาตให้มีการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชม และอนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะให้บริการเต็มความจุมาตรฐาน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปได้อย่างเหมาะสม

"การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้ทำให้ชีวิตประจำวันของประชาชนเปลี่ยนไปแต่อย่างใด" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ยังได้อ้างถึงรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่ากลุ่มคนอายุ 20-40 ปี เป็นตัวการที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชากรที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่โรคประจำตัว และผู้ที่อยู่ในพื้นที่เปราะบาง

โฆษก ศบค. ย้ำว่าคน "วัยเรียนและวัยทำงาน" ที่มีกิจกรรมสังคมและอาจมีเชื้ออยู่ในตัวต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนนั้น นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่โครงการพัฒนาวัคซีนที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ในขั้นก่อนการทดลองในมนุษย์ ในขณะที่ในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี รัสเซีย และอังกฤษ กำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 คือ การทดลองในมนุษย์ ไทยจึงมีการเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีนใน 3 รูป แบบ คือ การเตรียมการผลิตโดยรับเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ สั่งซื้อหรือจองจากผู้ผลิต และสนับสนุนการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19. ติดเชื้อ: 4,026 เสียชีวิต: 60 หายแล้ว: 3,822.  .

ความคืบหน้าหญิงไทยต้องสงสัยติดเชื้อ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ในวันนี้ (21ส.ค.) ถึงกรณีที่ รพ.รามาธิบดีพบหญิงไทย 2 รายที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังจากพ้นระยะกักกันโรคในสถานที่ที่รัฐจัดให้ โดยปลัด สธ. ยืนยันอีกครั้งว่ารายแรกเป็นเพียงการพบ "ซากเชื้อ" ส่วนรายที่ 2 ยังต้องรอการผลการตรวจสอบซ้ำ แต่เชื่อมั่นว่าหญิงคนดังกล่าวไม่ได้ติดเชื้อหลังจากออกจากสถานกักกันโรคของรัฐ

Student on face shield

ที่มาของภาพ, Reuters

หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่าหากผลการตรวจพบว่าหญิงรายนี้ติดเชื้อหลังจากครบกำหนดกักกันโรคจริง จะนับเป็นการพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศครั้งแรกในรอบเกือบ 3 เดือน ซึ่งผู้อำนวยการ รพ.ระบุว่าโอกาสที่จะเป็นการติดเชื้อในประเทศ "น้อยมาก"

ปลัด สธ. กล่าวว่าจากข้อมูลที่มีในตอนนี้พบว่าคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย มีโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนแล้วหาย ซึ่งเมื่อหายแล้วบางคนยังพบซากเชื้ออยู่ ดังนั้นมาตรการกักกันและตรวจเชื้อเพื่อลดการแพร่กระจายจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ

line

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้วกี่ครั้ง

นับตั้งไทยต้องออกมาตรการรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐนำมาใช้ในการป้องกัน และควบคุมโรค โดย ศบค. และรัฐบาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงาน และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานมากกว่า พ.ร.บ. ควบคุมโรคติดต่อ

เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 พ.ร.ก.ฉุกเฉินถูกประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค. และมีการต่ออายุมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง หาก ครม.เห็นชอบตามที่ ศบค. เสนอให้ต่ออายุไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. จะเป็นการต่ออายุครั้งที่ 5

  • ประกาศครั้งแรก: 26 มี.ค. - 30 เม.ย.
  • ต่ออายุครั้งที่ 1: 1 พ.ค. - 31 พ.ค.
  • ต่ออายุครั้งที่ 2: 1 มิ.ย. - 30 มิ.ย.
  • ต่ออายุครั้งที่ 3: 1 ก.ค. - 31 ก.ค.
  • ต่ออายุครั้งที่ 4: 1 ส.ค. - 31 ส.ค.