ทรู-ดีแทค : วิเคราะห์ประเด็นที่ต้องจับตา ถ้าดีลแสนล้าน ทรู-ดีแทค เป็นจริง

ธนินท์ เจียรวนนท์

ที่มาของภาพ, Wiwat Pandhawuttiyanon

คำบรรยายภาพ, ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

หลังจากเป็นข่าวลือมานานนับปี ประเด็น "ทรูซื้อดีแทค" กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าบริษัท เทเลนอร์ ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) ยอมรับว่ากำลังมีการเจรจากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด เกี่ยวกับการรวมกิจการจริง

เหตุที่ความเคลื่อนไหวของทรูและดีแทคซึ่งเป็นบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่อันดับที่ 2 และ 3 ของประเทศเป็นที่จับตาอย่างมาก เพราะหากการซื้อกิจการเกิดขึ้นจริง ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของไทยที่เดิมมีอยู่ 3 เจ้า คือ เอไอเอส ทรู และดีแทค จะลดเหลือแค่ 2 เจ้า เมื่อการแข่งขันลดลงคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

แถลงการณ์ของเทเลนอร์ที่สำนักข่าวรอยเตอร์นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ระบุว่า "การเจรจายังไม่สิ้นสุด และไม่มีความแน่นอนว่าการเจรจานี้จะนำไปสู่ข้อตกลงใด ๆ ในขั้นสุดท้าย"

เทเลนอร์ซึ่งมีกระแสข่าวมาเป็นระยะว่าจะถอนการลงทุนจากประเทศไทยระบุด้วยว่า บริษัทฯ จะไม่ให้ความเห็นเพิ่มเติมใด ๆ อีกในชั้นนี้

วันเดียวกันนั้นเอง ดีแทคและทรูต่างก็ทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อ "ชี้แจงข่าวที่ปรากฏในสื่อ" โดยมีเนื้อหาคล้ายกันคือไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธข่าวหรือการคาดการณ์ที่สื่อมวลชนรายงาน และบอกเพียงว่าถ้ามีข้อมูลใด ๆ ที่บริษัทจะต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ตามข้อบังคับ ก็จะแจ้งให้ทราบต่อไป

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับทรู-ดีแทคและ "ดีลแห่งปี"

รอยเตอร์รายงานว่าถ้าทรูกับดีแทครวมกิจการกันจริงก็จะกลายเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในไทย แซงหน้าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในบรรดาบริษัทโทรคมนาคม 3 รายของไทยขณะนี้

ถ้าได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแล บริษัทที่เกิดจากการรวมกิจการของทรูและดีแทคจะมีส่วนแบ่งการตลาดราว 52% มากกว่าเอไอเอสซึ่งมีอยู่ราว 44% รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากนักวิเคราะห์ของธนาคารดานส์เกในเดนมาร์ค

ขณะที่สื่อด้านเศรษฐกิจหลายสำนักรายงานว่า ปัจจุบันทรูมีผู้ใช้งานกว่า 32 ล้านเลขหมาย ส่วนดีแทคมีผู้ใช้งานกว่า 19.3 ล้านเลขหมาย ในด้านผลประกอบการ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ทรูมีรายได้ 103,177 ล้านบาท ส่วนดีแทคมีรายได้ 59,855 ล้านบาท

หากรวมกิจการกันก็จะทำให้ทรู-ดีแทคมีผู้ใช้งานรวมกันราว 51.3 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าเจ้าตลาดอย่างเอไอเอสซึ่งมีผู้ใช้งานอยู่ 43.7 ล้านเลขหมาย และจะมีรายได้รวมกันถึงกว่า 163,032 ล้านบาท

เทเลนอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

รอยเตอร์รายงานด้วยว่าดีลระหว่างทรูกับดีแทค ถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นการรวมกิจการระหว่างเทเลนอร์กับบริษัทมือถือในภูมิภาคนี้เป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี หลังจากที่เทเลนอร์ควบรวมกิจการกับบริษัทเอเชียตา (Axiata) บริษัทโทรคมนาคมของมาเลเซียเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และกลายเป็นผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคมของมาเลเซียทันที

นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจและแวดวงโทรคมนาคมต่างพยายามหาความชัดเจนในเรื่องนี้ เว็บไซต์ลงทุนแมน ซึ่งเป็นสื่อด้านธุรกิจและการลงทุนวิเคราะห์ว่าข้อความในจดหมายที่ผู้บริหารของทรูและดีแทคส่งถึงตลาดหลักทรัพย์นั้นคล้ายกันมากอย่างน่าสงสัย อีกทั้งยังส่งในวันเดียวกัน

ข้อความในจดหมายของดีแทคเขียนว่า "ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้รับการชี้แจงจากบริษัทฯ ตามที่กำหนดตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ต่อไป" ส่วนทรูระบุว่า "หากมีข้อชี้แจงใด ๆ ที่บริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทฯ จะแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป"

เว็บไซต์ลงทุนแมนวิเคราะห์ว่า หากทรูซื้อดีแทคได้สำเร็จจะนับเป็น "ดีลที่ยิ่งใหญ่แห่งปี" และกลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรูก็จะเป็นเจ้าตลาดสินค้าและบริการในประเทศไทยอย่างครอบคลุม ทั้งอาหาร ค้าปลีกและโทรคมนาคม

1 ใน กสทช. ว่าอย่างไร

นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับบีบีซีไทยว่าจนถึงขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัททั้งสองเกี่ยวกับการรวมกิจการ เพียงแต่ได้รับทราบจากสื่อว่าบริษัทจะแถลงข่าวในวันที่ 22 พ.ย. ซึ่ง กสทช. จะติดตามข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร รวมถึงเรียกบริษัทที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นพ. ประวิทย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 8 ระบุว่า "การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น...จะกระทำมิได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ โดยผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเข้าไปถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่คณะกรรมการ เพื่อขออนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด"

"ถ้าเป็นบริการคนละลักษณะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นบริการในลักษณะเดียวกัน คือเป็น mobile operator (ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ) เหมือนกัน จะไปซื้อหุ้นกัน ถ้าเกินร้อยละ 10 ต้องขอความเห็นชอบจาก กสทช." นพ.ประวิทย์ระบุ

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าทรูรวมกับดีแทค

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ติดตามกระแสข่าวเรื่องเทเลนอร์มีแผนการจะถอนการลงทุนจากไทย รวมทั้งการซื้อขายกิจการของทรูและดีแทคมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเธอบอกว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในทางธุรกิจที่เทเลนอร์ต้องการออกจากตลาด

"เพราะธุรกิจนี้ต้องอาศัย scale ถ้ายิ่งขนาดใหญ่ก็จะยิ่งได้เปรียบในการแข่งขัน"

บีบีซีไทยขอให้เธอวิเคราะห์ว่าถ้าหากเกิดการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคจริง มีอะไรที่ต้องจับตาและคาดว่าจะเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจโทรคมนาคมในไทย

สฤณี อาชวานันทกุล

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สฤณี: "เราปล่อยให้กลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งมีอำนาจ มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงมาก ๆ ในแทบจะทุก ๆ ธุรกิจที่เข้าไปทำ"
  • เจ้าตลาดเปลี่ยนมือ-ผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อยลง

จากตัวเลขผู้ใช้บริการและส่วนแบ่งการตลาดของเอไอเอส ทรู และดีแทคที่ปรากฏต่อสาธารณะ เป็นที่ชัดเจนว่าถ้าทรูซื้อดีแทค บริษัทที่เกิดจากการรวมกิจการนี้จะกลายเป็นเจ้าตลาดรายใหม่และเป็นรายใหญ่อันดับ 1 แซงหน้าเอไอเอส และตลาดผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ตจะเหลือแค่ 2 เจ้า คือ เอไอเอสกับทรู-ดีแทค ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาดลดลงอย่างชัดเจน

"เมื่อก่อนเราอาจจะคาดหวังว่า 3 เจ้าจะแข่งกันออกโปรโมชัน แต่เมื่อเหลือ 2 เจ้า คู่แข่งก็น้อยลง เมื่อการแข่งขันน้อยลง แต่ละบริษัทก็อาจจะไม่ค่อยมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาคุณภาพบริการ ผู้บริโภคก็มีทางเลือกน้อยลง และต้องจำยอมอยู่กับสถานการณ์นี้" สฤณีให้ความเห็น

สฤณีมองว่าการที่ไทยมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตจำนวนน้อยราย สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐที่สั่งสมมายาวนานตั้งแต่ยุคการให้สัมปทาน มาจนถึงการออกใบอนุญาตและการประมูล

"ระบบกำกับเรื่องนี้ของเรามันมีปัญหามาตั้งแต่ยุคที่เป็นสัมปทานแล้ว...ถ้าถามถึงความพยายามของรัฐในการจูงใจให้คนมาประมูลก็ไม่ใช่ไม่มี แต่นักวิชาการเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเงื่อนไขในการประมูลมันไม่ได้จูงใจให้มีรายใหม่เข้ามาร่วม และหลายครั้งที่รัฐมีโอกาสจูงใจให้คนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ใช้โอกาสนั้นเท่าที่ควร มันก็เลยมาสู่สถานการณ์ปัจจุบันที่เรามีแค่ 3 เจ้า"

คนเดินผ่านป้ายโฆษณา 5G

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • กสทช. จะถูกจับตา

จากประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ที่ระบุว่าการเข้าซื้อหุ้นเกินร้อยละ 10 ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในธุรกิจบริการประเภทเดียวกัน จะต้องขออนุญาตจาก กสทช. สฤณีจึงเห็นว่าสังคมควรจับตาดูว่า กสทช. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร

สฤณีระบุว่ากรณีดีแทค-ทรู น่าจะเข้าข่ายต้องขออนุญาตเนื่องจากหากเป็นการซื้อกิจการก็ย่อมมีการซื้อหุ้นเกินร้อยละ 10 อย่างแน่นอน

"คำถามคือ กสทช. จะวางเกณฑ์เงื่อนไขในการพิจารณาไว้อย่างไร เช่น กสทช. จะเห็นชอบก็ต่อเมื่อบริษัททำตามเงื่อนไขเหล่านี้ ซึ่งจะต้องเป็นไปในทางที่พิทักษ์ผลประโยชน์ผู้บริโภค...กรณีนี้ค่อนข้างจะส่งผลกระทบรุนแรง เพราะจะทำให้ผู้ให้บริการเหลือแค่ 2 ราย ดังนั้น กสทช. ต้องให้ความมั่นใจว่าจะคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคยังไง" สฤณีกล่าว

  • ปัญหาที่มีอยู่เดิมยังไม่แก้ไข ปัญหาใหม่จะเพิ่มเข้ามา

สฤณีกังวลว่าการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตที่ลดลง จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่อ่อนแออยู่แต่เดิม ทั้งจากความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดให้บริษัทเหล่านี้ต้องดำเนินการ และจากเรื่อง "ความเสมอภาคทางเน็ต" (net neutrality) ซึ่งทางการไทยไม่เคยให้ความสำคัญ

เธออธิบายว่า ความเสมอภาคทางเน็ต หมายถึงหลักการที่ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายรวมถึงรัฐบาลจะต้องจัดการกับข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าไม่มีความเสมอภาคทางเน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะสามารถควบคุมความเร็ว และคุณภาพของเนื้อหาที่เราบริโภคผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อให้แพลตฟอร์มของตัวเองได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เป็นต้น

คำบรรยายวิดีโอ, เน็ต นิวทรอลิตี้ คืออะไร? ส่งผลกระทบอย่างไร?
  • ซีพีจะทรงอิทธิพลมากขึ้นกว่าเดิม

หากทรูซื้อกิจการดีแทคสำเร็จ ซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู ก็ย่อมจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในธุรกิจโทรคมนาคม นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาการดำเนินธุรกิจของซีพีกล่าว

"ทรูคือธุรกิจใหญ่ในเครือของซีพี...ตอนนี้ซีพีมีการแบ่งโครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจน คือ อะไรที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมก็อยู่ภายใต้ทรู มันจึงเป็นปัญหาโดยรวม ๆ ที่เราปล่อยให้กลุ่มธุรกิจกลุ่มหนึ่งมีอำนาจ มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงมาก ๆ ในแทบจะทุก ๆ ธุรกิจที่เข้าไปทำ" สฤณีทิ้งท้าย

มีปัญหาอะไรถ้าลดจาก 3 เหลือ 2

ดร. ภวิดา ปานะนนท์ ศาสตราจารย์แห่งสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การรวมตัวกันของ 2 ผู้เล่นใหญ่ในตลาด เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน นำเงินไปลงทุนในกิจกรรมที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาล เช่น โครงสร้าง 5G ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

แต่เธอเห็นว่าข้อเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คือ เหลือผู้เล่นหลักเพียง 2 ราย ซึ่ง 1 ใน 2 เป็นบริษัทที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในหลายธุรกิจ

"2 หรือ 3 ไม่ต่างกันมาก แต่ 1 ใน 2 นี่ครอบครองอยู่เกือบทุกตลาด การเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย จะ สกัดผู้เล่นรายอื่นออกไป คู่ค้าทางธุรกิจก็มีทางเลือกน้อยลง" ศ. ดร. ภวิดา กล่าวกับบีบีซีไทย

นอกจากนี้ ในขณะที่โลกกำลังแบ่งออกเป็น 2 ค่ายในเรื่องเทคโนโลยีคมนาคม ระหว่างค่ายจีน กับ สหรัฐฯ ผู้สอนด้านธุรกิจระหว่างประเทศมองว่า การที่ผู้ถือหุ้นรายสำคัญในบริษัทเจ้าตลาด คือบริษัทจีน จะยิ่งทำให้ไทยดูเหมือนมาเลือกยืนอยู่ข้างจีนมากขึ้น ขณะที่เทเลนอร์มีโจทย์ที่ต้องตอบผู้ถือหุ้นของตัวเองด้วย ต่อการจับมือทำธุรกิจกับบริษัทในไทยที่มีภาพลักษณ์ไม่เป็นที่น่าชื่นชมนักในหมู่คนไทยจำนวนหนึ่ง ขณะที่ซีพีกำลังลากเส้นเชื่อมต่อในสารพัดจุด จากการเป็นผู้นำในตลาดไทย จะนำไปสู่การขยายในภูมิภาคเพื่อสู้กับยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเช่น สิงเทล หรือ เวียตเทล

"ในแง่รัฐบาลไทย ถ้าดีลนี้ ได้รับอนุญาตให้เกิดขึ้น รัฐบาลไทยกำลังจะส่งสัญญาณออกไปให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจว่า การเข้ามาลงทุนในไทยไม่ง่ายเพราะกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน และก็อาจทำได้ยาก หากไม่ร่วมมือกับเจ้าตลาดเดิม"

ศ. ดร. ภวิดา ปานะนนท์

ที่มาของภาพ, ศ. ดร. ภวิดา ปานะนนท์

คำบรรยายภาพ, ศ. ดร. ภวิดา ปานะนนท์ แห่งสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์