ประท้วงฮ่องกง : ความเหมือนและต่างของการชุมนุม-ปิดสนามบินในไทย

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
  • สมิตานัน หยงสตาร์ ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย
ประท้วง

ที่มาของภาพ, NurPhoto/Getty Images

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศการชุมนุมที่ฮ่องกงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 11 แม้ฝนตกลงมเกือบตลอด แต่ประชาชนยังกองร่มปักหลักชุมนุมอย่างไม่ล่าถอยเมื่อ 18 ส.ค.

การชุมนุมในฮ่องกงที่เข้าสู่เดือนที่ 3 นับเป็นการประท้วงรัฐบาลกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่สหราชอาณาจักรส่งมอบอธิปไตยของฮ่องกงคืนให้จีนตั้งแต่ปี 2540 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่รัฐบาลฮ่องกงเตรียมผ่านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปจีน

การชุมนุมที่สนามบินจนนำไปสู่การปิดการจราจรทางอากาศอาจเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในฮ่องกง แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย การปิดสนามบินล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากมาย และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล

บีบีซีไทย คุยกับ รศ.ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และ ผศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ และ ผอ. หลักสูตรการจัดการธุรกิจสากล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเป็นมา และผลที่อาจเกิดขึ้น

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, Getty Images

1. ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

"การประท้วงในครั้งนี้เป็นเรื่องของชนชั้นทางสังคม ในรุ่นพ่อรุ่นแม่พอเรียนจบ เริ่มทำงานและสามารถเก็บเงินหาซื้อที่อยู่ได้ แต่ในคนรุ่นนี้จนลง และอสังหาริมทรัพย์ราคามันสูงขึ้นจนไม่สามารถซื้อได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรุ่นใหม่มันจนลง" รศ.ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา อธิบายถึงแก่นของปัญหาในฮ่องกง

การชุมนุมที่ผ่านมาของประเทศไทยถึงแม้จะมีเหตุผลทางด้านการเมืองเป็นหลัก แต่สิ่งที่ทำให้การชุมนุมในอดีตของประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นและมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากส่วนหนึ่งนั้นมาจากเรื่องปัญหาปากท้องและปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ

วาทกรรมเรื่อง "ไพร่" และ "อำมาตย์" ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ในการชุมนุมเมื่อปี 2553 โดยแนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำกันระหว่างชนชั้นของสังคมไทยได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อปลุกระดมกำลังของคนในกลุ่มรากหญ้าให้เข้าร่วมอุดมการณ์และยกระดับการชุมนุม

ในส่วนของฮ่องกงนั้นถึงแม้ว่าสาเหตุที่คนออกมาร่วมกันชุมนุมเกิดมาจากความไม่พอใจกับการที่รัฐบาลกลางของจีนมีความพยายามในการผ่านกฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีน แต่ลึก ๆ แล้ว รศ.ดร. วาสนา แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับบีบีซีไทยว่าความขัดแย้งของชาวฮ่องกงมีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ เพราะตั้งแต่ที่ฮ่องกงคืนสู่จีน รัฐบาลปักกิ่งใช้นโยบายที่เอาใจนักลงทุนมาก

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกอย่างของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของจีนก็คือความเหลื่อมล้ำ ปัญหาระหว่างชนชั้นกลางกับคนชั้นล่าง และคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง ในขณะที่คนรวยก็รวยขึ้นมาก มันเลยมีความรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำตรงนี้กับคุณภาพชีวิตที่แย่ลง" รศ.ดร. วาสนา กล่าว

"ในกรณีของฮ่องกงมีความเหลื่อมล้ำในสังคมแตกต่างกันเยอะมาก คนก็มองว่าเพราะไม่มีประชาธิปไตย เนื่องด้วยประชากรของฮ่องกงไม่มีสิทธิ์เลือกรัฐบาลเอง โดยการจัดตั้งรัฐบาลต้องได้รับความเห็นชอบมาจากรัฐบาลกลางในปักกิ่ง แล้วรัฐบาลก็มีนโยบายในการเข้าข้างนายทุน ดังนั้นถ้าเป็นเช่นนี้คนจนก็จนลงไปเรื่อย ๆ และคนรวยก็รวยขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำมันมากขึ้น"

2. การรับมือผู้ชุมนุม

ทุกครั้งที่มีการชุมนุมในประเทศไทย สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือการใช้กำลังเข้าสลาย ซึ่งหลายครั้งก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นมากมายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเหตุการณ์ที่น่าจะเป็นที่จดจำได้มากที่สุดคงเป็นเหตุการณ์ขอพื้นที่คืนหรือการกระชับพื้นที่จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 2,000 ราย โดยมีการพบว่ามีการใช้กระสุนจริงเพื่อใช้ในการสลายการชุมนุม

ในส่วนของฮ่องกงถึงแม้ว่าจะยังไม่มีเหตุความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่การปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมและตำรวจก็ก่อให้เกิดการบาดเจ็บไปหลายราย โดยกรณีที่เป็นข่าวใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือการทที่ผู้ชุมนุมหญิงรายหนึ่งถึงกระสุนยางยิงเข้าที่ตาและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน"

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, Getty Images

รศ.ดร. วาสนา วิเคราะห์ว่าการใช้กำลังล้อมปราบให้เกิดเหตุนองเลือดน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ทว่ารัฐบาลจีนก็จะไม่ยอมบอกว่าจะไม่มีการใช้กำลัง การขู่ว่าจะมีการใช้กำลังได้เกิดขึ้นผ่านการเผยภาพผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อปรามให้คนกลัว แต่ในทางปฏิบัติคงไม่เกิดขึ้น เพราะถ้ามีการยกระดับความรุนแรงถึงขั้นนั้นผลเสียก็จะไปตกอยู่ที่จีนเอง

"ฮ่องกงจะพังในฐานะการเป็นเมืองท่านานาชาติหรือเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินการธนาคารระดับนานาชาติ มันจะทำให้ทุกคนรู้สึกไม่ปลอดภัยในฮ่องกง มันจะทำให้ฮ่องกงไม่สามารถเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเหมือนที่ผ่านมาได้ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการ ถ้ารัฐบาลจีนมีทางเลือกอื่น เค้าจะไม่ใช้ความรุนแรง"

3. การใช้สื่อเป็นเครื่องมือ

ในปี 2556 ประเทศไทยมีการชุมนุมต่อต้าน "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย" ที่มีการพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พร้อมอนุมัติใช้ตอนตี 3 ในช่วงที่ทุกคนหลับอยู่ หลังจากนั้นมีการเริ่มการต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างหนักจนก่อให้เกิดปรากฎการณ์ "ม็อบโซเชียล" เกิดการนัดรวมตัวกันผ่านสื่อสังคมเพื่อชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ. นี้

ในส่วนของฮ่องกง รศ.ดร. วาสนา อธิบายว่าชาวฮ่องกงต่างใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนสามารถถ่ายคลิปแล้วอัพโหลดขึ้นไปให้ชาวโลกได้เห็นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นความรุนแรงในระดับที่ใช้กับที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 30 ปีก่อน หากนำมาใช้ที่ฮ่องกงจะส่งผลเสียต่อรัฐบาลจีนเป็นอย่างมาก

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, Getty Images

รศ.ดร. วาสนา กล่าวว่า เมื่อปี 2532 กรุงปักกิ่งยังไม่ใช่เมืองใหญ่เหมือนทุกวันนี้ แม้เป็นเมืองหลวงของจีน แต่ไม่ได้เป็นเมืองท่าสำคัญระดับนานาชาติเหมือนกับฮ่องกง ซึ่งตอนปี 2532 ไม่ได้มีสื่อนานาชาติอยู่เยอะเหมือนในฮ่องกง และก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการเงินการธนาคารเหมือนอย่างฮ่องกง

ผศ.ดร. ดุลยภาค ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมว่า ผู้ประท้วงในฮ่องกงใช้กลยุทธในการดึงความสนใจจากนานาชาติผ่านการชูป้ายประท้วงที่สนามบินเพื่อให้เกิดการบันทึกภาพและแชร์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ให้ประชาคมโลกนำไปสู่กระแสตีกลับจากสังคม เพราะจะทำลายเศรษฐกิจ และเม็ดเงินที่จะเข้าประเทศ

"ผมคิดว่าถ้าเป็นผู้ชุมนุมก็ต้องคิดถึงจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะจับความสนใจของนานาชาติ สนามบินก็เป็นเป้าหมาย ด้วยเป็นพื้นที่สัญลักษณ์หลายอย่าง นี่ก็เป็นความคล้ายคลึงกันอยู่แล้วสำหรับม็อบไทยในอดีต กับม็อบฮ่องกงในปัจจุบัน"

4. แกนนำการชุมนุม

การชุมนุมในไทยส่วนใหญ่ล้วนมีแกนนำ ที่คอยประสานกันกับเครือข่ายแกนนำในพื้นที่อื่นอย่างเป็นระบบ แต่ในฮ่องกงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, Getty Images

วิธีการชุมนุมที่ฮ่องกงเป็นการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำที่แน่ชัด ผลเสียของการชุมนุมแบบนี้ คือ ไม่สามารถควบคุมให้การชุมนุมไปในทิศทางเดียวกันได้ ในขณะที่ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าไม่ควรมีความรุนแรง แต่ก็มีบางส่วนที่ทำความรุนแรงโดยที่ไม่มีใครควบคุมได้ เช่น เข้าไปทำลายข้าวของในสภา หรือปิดสนามบิน

"ข้อหนึ่งที่น่าสนใจก็คือในความรุนแรงหรือความเคลื่อนไหวที่ภาคประชาชนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ที่ผ่านมาหลาย ๆ ครั้งมันก็เกิดจากการชุมนุมของภาคประชาชนที่ควบคุมไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่นการปฏิวัติทางวัฒนธรรมปี 2509 และการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า Red Guards หรือยุวชนแดงในปี 2509-2510 มันก็มีจุดเริ่มต้นจากการเกิดการจลาจลขึ้นมาแล้วก็มีการจุดติดกันขึ้นมาแบบไฟลามทุ่งโดยไม่ได้มีการจัดระเบียบหรือแบบแผนแต่อย่างใด" รศ.ดร. วาสนา อธิบาย

"การปฏิวัติถ้ามีการวางแผนกันมากเกินไป มันจะโดนจับได้ก่อนและจะไม่สำเร็จ การปฏิวัติในหลาย ๆ ครั้งที่มันสำเร็จขึ้นมาได้ก็จะเกิดจากการไม่มีแบบแผนแบบนี้ แต่ทุกคนมีอุดมการณ์บางอย่างร่วมกัน การชุมนุมประท้วงของภาคประชาชนในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ที่ผ่านมาที่มันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่สำคัญล้วนแล้วแต่มาจากการชุมนุมประท้วงที่มันไม่มีใครควบคุมได้โดยไม่มีแกนนำที่ชัดเจน ดังนั้นก็ไม่แปลกที่จะออกมาในรูปแบบนี้ ข้อเสียคือมันประเมินความเสียหายไม่ได้และไม่มีใครรู้ว่ามันจะมีความรุนแรงไปถึงขั้นไหน"

5. การปิดสนามบิน

เหตุการณ์ชุมนุมปิดสนามบินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2551 โดยเริ่มต้นจากผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนเข้าปิดท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนที่จะเข้าพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันถัดมา

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, Getty Images

ท่าอากาศยานไทย ประกาศปิดบริการสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเปิดให้เฉพาะเครื่องบินขาเข้าเท่านั้น และปิดการขึ้นลงทุกเที่ยวบินทั้งหมดในเช้ามืดวันรุ่งขึ้น ทำให้สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงาน รัฐบาลทั่วโลกออกคำเตือนประชาชนของตนเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย

รศ.ดร. วาสนา บอกว่าการเหตุการณ์ปิดสนามบินใน 2 ประเทศ มีความต่างกันมากในเรื่องผู้สนับสนุน โดยในไทย กลุ่มพันธมิตรได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ แต่ว่าที่ฮ่องกง การยึดสนามบิน เกิดขึ้นโดยไม่มีการสนับสนุนจากชนชั้นนำ ทั้งกลุ่มนักธุรกิจที่เป็นคนจีน คนฮ่องกง หรือคนปักกิ่ง ไม่มีใครแอบสนับสนุนการชุมนุมนี้เลย

ส่วน ผศ.ดร. ดุลยภาค อธิบายว่าสถานการณ์การชุมนุมของผู้ประท้วงที่ปิดสนามบินฮ่องกงนั้น มีความคล้ายคลึงกับการชุมนุมที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

ปิดสนามบิน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มพันธมิตรฯปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551

แต่สิ่งหนึ่งที่การชุมนุมในฮ่องกงต่างกับที่เคยเกิดขึ้นในไทยนั้น คือ ตำรวจฮ่องกงที่เข้าควบคุมสถานการณ์ชุมนุม ผ่านการฝึกที่หลากหลาย ด้วยฮ่องกงไม่มีกองกำลังทหาร ตำรวจจึงต้องมีสมรรถนะที่จะพิทักษ์ความมั่นคง จึงมีหน่วยที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการชุมนุม หรือการก่อการร้ายโดยเฉพาะ เป็นที่รู้จักในนาม "ชายชุดดำ"

"มันถูกทดสอบมาแล้วในช่วงปฏิวัติร่ม 2557 มีการใช้เจ้าหน้าที่แต่งตัวกลมกลืนกับม็อบ และม็อบแนวหน้าก็จะมีกลุ่มฮาร์ดคอร์ ที่มีลักษณะด่าทอ ใช้ความรุนแรง อารมณ์เกรี้ยวกราด การใช้ชายชุดดำมันก็เคยถูกทำสำเร็จ คือเขาไปแนบเนียน พอผู้ประท้วงเผลอก็เข้าจับกุม แต่เขาก็พยายามจับกุมโดยให้มีการบาดเจ็บน้อยที่สุดและไม่มีเจตนาที่จะเอาถึงชีวิต"

6. วิธีการแก้ปัญหา

"ผู้ชุมนุมก็มีการกระจายตัวหลายจุด สลายจุดหนึ่งก็ไปโผล่อีกจุดหนึ่ง มันไม่ได้เพิ่มปริมาณแบบเห็นชัด แล้วบางพื้นที่ก็แผ่วลงไป ส่วนหนึ่งผู้ประท้วงเองก็ไม่พอใจกลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรง เขาไม่ต้องการให้ประท้วงขนาดนั้น มีการถอนตัวออกไปก็มี ภาคธุรกิจไม่ใช่น้อยก็ได้รับผลกระทบ ตอนแรกเจ้าของธุรกิจร้านค้า ก็ส่งสัญญาณให้ลูกจ้างออกมาร่วมได้ แต่พอระยะยาวก็คงไม่ไหว แล้วยังมีกลุ่มนักธุรกิจที่โปรปักกิ่งอีก" ผศ.ดร. ดุลยภาค เห็นว่าหากการประท้วงใช้เวลายาวนาน ก็จะไม่เป็นผลดีต่อผู้ชุมนุมเอง

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, EPA

ส่วน รศ.ดร. วาสนา ได้ตั้งจุดสังเกตเอาไว้ว่า มาถึงวันนี้ ฮ่องกง ไม่ใช่เมืองที่เป็นชั้นนำในด้านเศรษฐกิจของจีนอีกต่อไป จากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแสดงให้เห็นแล้วว่าเมืองอื่น ๆ ในจีนได้แซงหน้าฮ่องกงไปมากแล้ว แต่สิ่งที่เมืองอื่น ๆ ในจีนไม่มีเหมือนฮ่องกงก็คือความเชื่อมั่นจากประชาคมโลก

"ในการที่จะเป็นเมืองท่านานาชาติหรือศูนย์กลางการเงินการธนาคาร หรือมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานในเมืองได้ เมืองนั้นต้องเป็นเมืองที่ประชาคมโลกเชื่อมั่นในระบบกฎหมาย ซึ่งฮ่องกงมีสิ่งนี้ นี่คือข้อแตกต่างของฮ่องกงกับเมืองเศรษฐกิจอื่น ๆ ของจีน ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจแซงหน้าฮ่องกงไปมากแล้ว แต่ว่าความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายไม่เหมือนกัน" รศ.ดร. วาสนา อธิบาย

"ถ้ารัฐบาลกลางจากปักกิ่งจะไม่เอาฮ่องกงแล้วก็หมายความว่าเขาจะไม่เอาเมืองท่าในระดับนี้แล้วใช่หรือไม่ เพราะฮ่องกงนั้นอยู่ในมาตรฐานเดียวกันกับเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น ลอนดอน นิวยอร์ก หรือสิงคโปร์"

ประท้วงฮ่องกง

ที่มาของภาพ, EPA

โดยหลังจากเหตุการนองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินผ่านไปแล้ว จีนได้แสดงให้ประชาคมโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็สามารถมีเศรษฐกิจที่ดีได้

"ถ้าจีนบอกว่าเราสามารถมีเศรษฐกิจที่ดีได้โดยไม่ต้องมีประชาธิปไตย เขาก็ไปทำตรงนั้นเพื่อแก้ไขปัญหา อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือคนฮ่องกงเป็นอาณานิคมของอังกฤษมา 99 ปี แต่ไม่เคยได้เลือกตั้ง ฮ่องกงเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษที่ไม่มีสิทธิแบบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ฮ่องกงได้ภายใต้การปกครองของอังกฤษคือเสรีภาพทางกฎหมาย มาตรฐานกฎหมายระดับนานาชาติที่พวกเขายอมรับได้"

"พอมีรากฐานของสิทธิเสรีภาพและกฎหมายที่รับรองตรงนี้มันก็ทำให้ทุนต่างประเทศก็เข้ามาและทำให้ฮ่องกงเฟื่องฟูในฐานะการเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งแน่นอนจีนทำสิ่งนั้นให้ปรากฎในศตวรรษที่ 21 ให้คนทั้งโลกได้เห็นแล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นที่ฮ่องกงเท่านั้นเอง ถ้าจีนจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยก็ทำให้มันเฟื่องฟูได้จริง ๆ ก็ต้องแสดงให้เห็น แล้วก็อาจจะทำได้ด้วย"