โควิด-19 : ไทยเริ่มทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงแล้ว ก่อนทดสอบในคนเดือน ส.ค. นี้

การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะฉีดให้ลิง 10 ตัว และมีอยู่ 3 ตัวที่ไม่ได้รับวัคซีน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, การทดสอบวัคซีนโควิด-19 จะฉีดวัคซีน 3 เข็มให้ลิง 10 ตัว และมีอยู่ 3 ตัวที่ไม่ได้รับวัคซีน

ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทั่วโลกทะลุ 3.3 แสนคนไปแล้ว และมีผู้ป่วยสะสมกว่า 5 ล้านคน ผู้คนต่างเฝ้ารอ "ข่าวดี" เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 แม้รู้ดีว่าการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นแรมปี แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ความก้าวหน้าแม้เพียงเล็กน้อยก็สร้างความหวังให้ผู้คนได้มาก

ช่วงที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนเกิดขึ้นไม่น้อยทั้งในไทยและต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. อังกฤษเริ่มทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในมนุษย์เป็นครั้งแรกในยุโรป โดยเป็นการฉีดให้อาสาสมัคร 2 คนแรก จากผู้ที่จะเข้าร่วมการทดลองทั้งหมดกว่า 800 คน ขณะที่จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา ก็ประกาศว่าเริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์แล้วเช่นกัน

ศาสตราจารย์ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาวัคซีนหัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แสดงความ "เชื่อมั่นในระดับสูง" ว่าวัคซีนตัวนี้จะได้ใช้ผล

สำนักข่าวซินหัวรายงานวันนี้ (23 พ.ค.) โดยอ้างข้อมูลจากวารสารการแพทย์เดอะ แลนเซต (The Lancet) ที่เปิดเผยผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของจีน ในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 คน ซึ่งปรากฏผลว่าปลอดภัย ทนทาน และสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัส (SARS-COV-2) ในมนุษย์ได้ แต่ยังจำเป็นต้องทดลองเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ขณะที่ประเทศไทย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำทีมผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าการทดสอบวัคซีนโควิด-19

วัคซีนที่ใช้ทดลองเป็นเทคโนโลยีใหม่ของการวิจัยวัคซีน โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ ชนิด mRNA (เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ)

ที่ผ่านมา การทดสอบวัคซีนชนิดนี้ในหนูถูกระบุว่า "ประสบความสำเร็จในระดับดี" ผู้วิจัยจึงเริ่มการทดสอบในลิง โดยใช้ลิงแสมทั้งหมด 13 ตัว เพศเมีย อายุระหว่าง 4-6 ปี หรือเทียบได้กับคนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 กลุ่มคือ

นายสุวิทย์บอกว่า จะทดสอบวัคซีนในลิง 3 ครั้ง ซึ่งหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 จะทำให้เห็นผลการป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว ทั้งนี้ลิงถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับไวรัสได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ซึ่งการทดสอบในลิงจะดูเรื่องความปลอดภัย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนองคือสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนนำวัคซีนไปทดสอบในมนุษย์ในเดือน ส.ค. นี้

สำหรับโครงการการวิจัยวัคซีนโควิด-19 เป็นความร่วมมือของศูนย์วัคซีนจุฬาฯ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

vacine

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นายสุวิทย์ชี้ว่า ไทยอยู่ในขั้นตอนที่ไล่เลี่ยกับทั่วโลก นั่นคือ มีการทดสอบในสัตว์ มีเพียง 6-7 แบบที่เริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 แล้วคือที่จีนและสหรัฐฯ "นายกฯ ให้นโยบายมาว่าคนไทยต้องมีวัคซีนใช้ในเวลาเดียวกับประเทศชั้นนำอื่น ๆ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน"

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในไทยว่า จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนต้นแบบที่เรียกว่า "ดีเอ็นเอวัคซีน" และนำไปทดลองในหนูแล้ว

"หลังจากฉีดดีเอ็นเอวัคซีนในสัตว์ทดลองคือหนูแล้ว นำเลือดมาตรวจภูมิคุ้มกัน (antibody) ผลพบว่าหนูที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้นแบบมีภูมิคุ้มกันขึ้นค่อนข้างดี" นพ.โอภาส กล่าวและอธิบายต่อว่า ขั้นตอนต่อไปจะฉีดวัคซีนต้นแบบนี้ในสัตว์ทดลองในหลายรูปแบบ เพื่อดูภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น ประสิทธิภาพ และขนาดที่เหมาะสมของวัคซีน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่านี่เป็น "ความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ ของไทย" ซึ่งถ้าเทียบกับต่างประเทศอย่างจีนเรายังตามหลังอยู่มาก แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดเราจะสามารถพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใช้เองได้

doctor

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากความสำเร็จก้าวเล็ก ๆ นี้แล้ว ในประเทศไทยมีหน่วยงานไหน-ทำอะไรอยู่บ้างเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ดูภาพรวมเรื่องการพัฒนาและผลิตวัคซีน โดยได้ร่างแนวทางการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เสนอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทราบแล้ว ซึ่งมีแนวทางหลัก 3 ข้อคือ

1. ทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนเร็วใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ

2. ร่วมมือวิจัย รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตในประเทศ

3. วิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ

นอกจากกำหนดแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด-19 แล้ว นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ เปิดเผยว่า ได้ทำสัญญากับ "มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของจีน" ในการร่วมวิจัย ร่วมทดลองวัคซีนในคนในไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการได้รับวัคซีนมาใช้อย่างรวดเร็ว

นพ.นครไม่ได้เปิดเผยชื่อของมหาวิทยาลัยชั้นนำดังกล่าว โดยบอกเพียงว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้พัฒนาวัคซีนอยู่หลายแบบทั้ง RNA DNA หรือเชื้อตาย

นอกจากมหาวิทยาลัยในจีนแล้ว สถาบันวัคซีนยังอยู่ระหว่างเจรจาความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนกับหน่วยงานอื่น ๆ ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี เพื่อให้มีทางเลือกที่หลากหลายในการรับวัคซีน สถาบันวัคซีนแห่งชาติและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ให้ทุนนักวิจัยในประเทศเพื่อศึกษาวิจัยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วย

Woman working in a vaccine lab in Russia

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สมาคมเภสัชอุตสาหกรรมแห่งสหราชอาณาจักร คาดว่า การผลิตวัคซีนตัวใหม่ต้องใช้เงินทุนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.8 หมื่นล้านบาท

นายอนุทินกล่าวถึงการทำสัญญาความร่วมมือในการผลิตวัคซีนไว้ว่า การทำบันทึกข้อตกลงในเรื่องนี้ ไทยจะต้องไม่เสียเปรียบเรื่องการเข้าถึงวัคซีนอย่างพร้อมกันและยุติธรรมทั้งสองฝ่าย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ-บ.ไบโอเนท-เอเชีย

ระหว่างการบรรยายในประชุมวิชาการวาระพิเศษถ่ายทอดทางเพจเฟซบุ๊กของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 8 พ.ค. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เล่าถึงความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ว่า หลังจากได้ทดลองกับหนูสำเร็จแล้ว ได้เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบวัคซีนกับลิง หากได้ผลเป็นที่พอใจก็จะมีการผลิตวัคซีนต้นแบบเพื่อทดลองในคนต่อไป

นพ.เกียรติเปิดเผยว่าศูนย์วิจัยวัคซีนได้ประสานกับโรงงานผลิตวัคซีนในต่างประเทศแล้ว หากผลิตได้สำเร็จก็จะ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้ผู้ผลิตวัคซีนในไทย

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน นพ.เกียรติคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนจำนวน 10,000 โดส ด้วยต้นทุน 1,000 บาทต่อโดส ได้เร็วสุดในเดือน ส.ค. เพื่อนำไปทดลองในอาสาสมัคร และตั้งเป้าผลิต 60 ล้านโดสภายในปี 2564

โควิด

ที่มาของภาพ, Reuters

รองอธิการบดี จุฬาฯ ยอมรับว่านี่เป็น "งานยาก" และต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาล และให้ข้อมูลว่าโดยปกติแล้วการพัฒนาวัคซีนจะใช้เวลา 5 ปี แต่สำหรับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทุกประเทศได้ลดเวลาในบางขั้นตอนเพื่อให้รวดเร็วขึ้น จึงคาดว่าน่าจะมีวัคซีนที่ใช้จริงภายหนึ่งปีหรือหนึ่งปีครึ่ง

สำหรับบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่ร่วมกับจุฬาฯ ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นี้ เป็นบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจด้านการผลิตวัคซีน วิจัย-พัฒนา และจัดจำหน่ายวัคซีนในไทยและประเทศใกล้เคียง ที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของไทยในหลายโครงการ

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

คณะเภสัชศาสตร์ ได้รับทุนวิจัยจากองค์การเภสัชกรรมในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นการผลิตโดยใช้หน่วยย่อยโปรตีน (Protein Subunit)

มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิทยาศาสตร์เป็นสองหน่วยงานที่มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยมีการผลิตวัคซีนต้นแบบชนิด inactivated คือ การเพิ่มจำนวนไวรัสเพื่อนำไปฆ่าเชื้อเป็นวัคซีนเชื้อตาย จากนั้นจึงนำไปฉีดในสัตว์ทดลอง

ไวรัส

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลักการพัฒนาวัคซีน

นพ.นคร ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ อธิบายถึงการทำงานของวัคซีนโควิด-19 ว่าวัคซีนนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อคอยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เกาะจับผนังเซลล์เพื่อเข้าสู่เซลล์ทางเดินหายใจได้ เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์ไม่ได้ก็จะเสียสภาพและตายไป

สำหรับการทดลองวัคซีนในมนุษย์นั้นแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 ทดสอบความปลอดภัย ใช้ผู้ทดลอง 30-50 คน
  • ระยะที่ 2 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ใช้ผู้ทดลอง 100-150 คน เพื่อดูว่าวัคซีนที่พัฒนามานั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันไวรัสได้หรือไม่
  • ระยะที่ 3 ทดสอบผลในการป้องกันโรค ใช้ผู้ทดลอง 500 คนขึ้นไป

นพ.นครให้ความเห็นว่าการทำสัญญาร่วมทดลองวัคซีนกับต่างประเทศเป็นหนทางเข้าถึงวัคซีนที่เร็วที่สุด แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาวัคซีนต้นแบบในไทย เพื่อให้มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญและพร้อมผลิตวัคซีนได้เองในประเทศ

นพ. เกียรติ รองอธิการบดี จุฬาฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้มีวัคซีนต้นแบบที่กำลังพัฒนาอยู่ทั่วโลกกว่า 115 ชนิด ไม่นับรวมประเทศไทย โดยมีวัคซีนต้นแบบกว่า 10 ชนิดที่เข้าสู่การทดลองในมนุษย์ระยะแรกแล้ว และมีวัคซีนต้นแบบ 2 ชนิดที่ผลิตในจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 แล้ว โดยวัคซีนต้นแบบที่มีการทดลองในประเทศจีนนั้น นับว่ามีความคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากมีการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 ถึงเกือบ 1,000 คน