ยื่น 3 แสนรายชื่อเสนอ สนช.ทบทวนร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, เครือข่ายพลเมืองเน็ต, แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล, สนช.

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมรณรงค์โครงการ "หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล" ตั้งแต่ปี 2558

เครือข่ายพลเมืองเน็ตและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เอไอ) ยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 300,000 รายชื่อ ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (15 ธ.ค.) เพื่อขอให้ สนช.ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข

รายชื่อดังกล่าวเป็นการรวบรวมผ่านเว็บไซต์ change ซึ่งเครือข่ายพลเมืองเน็ตและเอไอร่วมรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ผ่านทางโครงการ "หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล"

พันตำรวจเอกอุทัย กวินเดชาธร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยดูแลรักษาสงบเรียบร้อยโดยรอบอาคารรัฐสภา เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีกลุ่มมวลชนเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านการพิจารณาร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ แต่ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตและเอไอที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่รัฐสภาในวันนี้มีเพียง 7 คนเท่านั้น และนางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้รับเรื่องดังกล่าวแทนประธาน สนช.

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, เครือข่ายพลเมืองเน็ต, แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล, สนช.

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตเปิดเผยว่ายังมีผู้ร่วมลงชื่อให้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ change เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนหน้านี้ สนช.ได้บรรจุวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในวันนี้ แต่ล่าสุดได้มีการเสนอเลื่อนวาระการพิจารณาเป็นวันพรุ่งนี้แทน (16ธ.ค.) เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายอย่างเต็มที่ รวมถึงให้กรรมาธิการชี้แจงเนื้อหาที่ปรับแก้ไขให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน โดยเชื่อว่าการพิจารณาในวาระ 2-3 จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เนื่องจากเป็นการปรับแก้กฎหมายเดิม ไม่ได้เขียนหลักการขึ้นมาใหม่ และไม่ได้มีเนื้อหาปิดกั้นหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังมีเนื้อหาแตกต่าง จากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

ด้านนายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่ารายชื่อที่นำมายื่นต่อ สนช.ในวันนี้มีจำนวน 300,000 รายชื่อซึ่งรวบรวมล่าสุดเมื่อวานนี้ (14 ธ.ค.) แต่การรณรงค์ทางเว็บไซต์ change ยังดำเนินต่อไป และมีผู้ร่วมลงชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อเวลา 12:40 น.วันนี้ มีผู้ร่วมลงชื่อทั้งหมด 324,021 คน

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุว่า สนช.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์วาระที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะเป็นการพิจารณารายมาตรา จึงคาดหวังว่า สนช.จะทบทวนเนื้อหาตามที่ประชาชนเสนอประเด็นไป แต่หาก สนช.ยืนยันผ่านร่างกฎหมายนี้ ก็จะต้องติดตามต่อไป และขอให้รัฐบาลถัดไปแก้ไขเนื้อหาให้เหมาะสม

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, เครือข่ายพลเมืองเน็ต, แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล, สนช.

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้รับรายชื่อและข้อเสนอทบทวนร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตและเอไอ

เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตเสนอให้ทบทวนมีหลายประเด็น แต่มาตราที่น่ากังวลมากที่สุด ได้แก่ มาตรา 14 (1) ซึ่งใกล้เคียงกับเนื้อหาใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยที่ผ่านมามักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องหมิ่นประมาท และมาตรา 20 (3) ซึ่งนายอาทิตย์ระบุว่าอาจส่งผลกระทบมากที่สุดต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป เพราะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาความผิดที่เข้าข่ายการเผยแพร่ "ข้อมูลบิดเบือน" นอกเหนือไปจาก "ข้อมูลเท็จ" ที่ระบุไว้แต่เดิม ถือเป็นคำที่มีความหมายกว้าง อาจนำไปสู่การตีความที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น

นายอาทิตย์ยกตัวอย่างกรณีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่วิพากษ์วิจารณ์ สินค้า บริการ หรือธุรกิจต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ แม้จะเป็นการติชมโดยสุจริตก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น

ส่วนแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าหากร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ผ่านการพิจารณา อาจเปิดช่องให้เกิดการตีความและสามารถถูกนำไปบังคับใช้ในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่มุ่งเน้นคุ้มครองความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ โดยองค์กรเห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ควรถูกบรรจุในมาตรา 14, ผู้ให้บริการไม่ควรได้รับโทษเท่าผู้กระทำผิดในกรณีที่ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด และเงื่อนไขการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่กว้างเกินไปตามมาตรา 18, 19 และ 20