ศาสนา : พระพุทธรูปอุลตร้าแมน ศิลปะกะเทาะเปลือกชาวพุทธ?

อุลตร้าแมน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ใบหน้าและเศียรพระพุทธเจ้าบนร่างกายของยอดมนุษย์อุลตร้าแมน ซูเปอร์ฮีโร่ชื่อดังจากญี่ปุ่นในท่าไม้ตายต่าง ๆ กลายเป็นผลงานภาพวาดที่สร้างการถกเถียงในสังคมออนไลน์ประเทศ "เมืองพุทธ" อยู่ในขณะนี้

ผลงานศิลปะของนักศึกษาหญิงชั้นปีที่ 4 หลักสูตรศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดแสดงในนิทรรศการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่ จ. นครราชสีมา ได้รับการตอบรับทั้งในเชิงวิจารณ์ด้วยข้อหา "ดูหมิ่นศาสนา" และสนับสนุนการแสดงออกทางศิลปะในผลงานชิ้นนี้

ความเคลื่อนไหวต่อเรื่องนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อาจารย์และเจ้าหน้าที่สำนักพุทธศาสนา จ.นครราชสีมา ได้พานักศึกษาเจ้าของผลงานเข้าไปขอขมาเจ้าคณะจังหวัด

"ต้องการสื่อให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุขได้" นี่เป็นการเปิดเผยของนักศึกษาหญิงที่กล่าวขอขมาทั้งน้ำตาว่าไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ และเป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการถกเถียงว่าด้วยเรื่อง พุทธศาสนาในพื้นที่ของศิลปะ ผศ.ดร. ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ย้อนให้ฟังว่า เมื่อปี 2550 กรณีภาพจิตรกรรม "ภิกษุสันดานกา" ก็เคยตกเป็นข่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง

พระพุทธรูป=รูปสมมติ

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บอกกับบีบีซีไทยว่าส่วนตัวแล้ว "รู้สึกเฉย ๆ" กับเรื่องนี้ และให้มุมมองว่า การที่ชาวพุทธบางส่วนออกมาแสดงออกในเชิงยอมรับไม่ได้เป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่สิ่งที่ยอมรับไม่ได้คือ การนำตัวผู้วาดภาพไปคารวะกราบขอขมาขอโทษพระ

"ในแง่หนึ่งเรื่องนี้ช่วยกะเทาะเปลือกชาวพุทธ ทำให้เห็นความอ่อนไหว ทำให้เห็นความยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธรูปชองชาวพุทธว่ารุนแรงขนาดไหน" นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญากล่าว

ข้าม Facebook โพสต์ , 1

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1

นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญา อธิบายว่า พระพุทธเจ้ามีลักษณะพื้นฐานที่เรียกว่า "มหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ" แต่ก็เป็นคำอธิบายที่เกิดขึ้นมาทีหลังการเกิดของศาสนาพุทธ โดยการกำหนดรูปแบบอิงกับตำนานของพุทธศาสนาทั้งสิ้น

"คนที่ศรัทธาในพระพุทธเจ้าจริง ๆ จะไม่กระเทือนกับเรื่องแบบนี้ เพราะถือว่าพระพุทธรูปเองก็เป็นรูปสมมติ"

รัฐกับศาสนา

สื่อหลายสำนักรายงานว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าได้กำชับไปยังสถาบันการศึกษาทุกแห่งให้ช่วยตรวจสอบผลงานนักเรียนนักศึกษาก่อนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ไม่ให้นำเสนอในลักษณะสุ่มเสี่ยง ละเมิด หรือก้าวล่วงสถาบัน พระพุทธศาสนา หรือกระทบต่อความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนความอ่อนไหวของรัฐที่มีจารีตในการอุปถัมภ์ค้ำชูศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งกลับไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เขาชวนให้พิจารณากรณีการจัดสร้างพระพุทธรูปในเชิงพุทธพาณิชย์ที่น่าจะถูกตั้งคำถามมากกว่า

"พระมหาเศรษฐีนวโกฏิที่วางขาย คนก็ไม่เห็นเดือดร้อนกันที่มี 9 หน้า 9 หัว ร้ายแรงกว่านี้เยอะ ทำให้คนมาบูชา ในแง่นี้เป็นไสยศาสตร์ด้วยซ้ำไป ละเมิดจารีตของพุทธศาสนามากกว่าด้วย"

ทัศนะจากศิลปินแห่งชาติ

"อุลตร้าแมนอยู่ใกล้กับเขา เขาเห็นมา เห็นความเป็นฮีโร่ เห็นคุณงามความดีของอุลตร้าแมนที่ปกปักรักษาโลก ปราบคนร้าย นั่นคือสิ่งที่เขารู้จักมากกว่าพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป" อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2554 ซึ่งมีผลงานจิตรกรรมไทยที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนา ออกมาแสดงความเห็นกรณีนี้

ศิลปินแห่งชาติชี้ว่า นักศึกษาผู้วาดภาพใช้ตัวซูเปอร์ฮีโร่ที่มีความเก่งกล้าสามารถแทนพระพุทธเจ้า เศียรก็ยังเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อบอกถึงคุณงามความดี โดยสื่อไปถึงคนรุ่นใหม่ ไม่ได้เอาไปใส่กับตัวละครในหนังที่ชั่วร้าย

"เด็กเอาไปใส่ตัวละครที่ดีที่สุดที่ปกปักรักษาโลก เป็นคนมีศีลธรรม คุณธรรม คือความคิดง่าย ๆ ของเด็กเท่านั้นเอง อย่าไปมองว่าลบหลู่ศาสนาบ้าบอคอแตก น้ำเน่ามากเกินไป มันไม่ได้เป็นขนาดนั้น"

การแสดงออกของศิลปิน กับการยอมรับของศาสนิก

รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงทัศนะที่เปิดมุมมองสองด้านไว้ในบทความที่ชื่อว่า "พระอุลตร้าแมน" กับคำถาม ศิลปินแสดงออกได้แค่ไหน? ศาสนิกยอมรับได้เพียงใด? บนเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม ชี้ว่า มุมหนึ่งศิลปินย่อมสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสะท้อนความคิด มีสิทธิเสรีในการแปลความหมายใหม่ต่อพระพุทธรูป ทว่าอีกมุม พระพุทธรูปเป็นรูปแทนองค์พระพุทธศาสดา เป็นที่สักการบูชาของผู้คนมากมาย "มีคติความเชื่อหรือกติกาควบคุมการสรรค์สร้าง ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่งที่คิดจะแผลงเป็นแบบใดก็ได้" จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าพุทธศาสนิกชนบางส่วนจะเกิดความไม่พอใจและไม่สบายใจ นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลป์ผู้นี้ ทิ้งคำถามไว้ว่า "เมื่อเรื่องมันอ่อนไหว แล้วศิลปินจะแสดงออกได้แค่ไหน แล้วศาสนิกจะยอมรับได้เพียงใด" โดยชี้ว่าเรื่องนี้ไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูป "ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นอันแตกต่างกัน ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่ใช่ครั้งสุดท้าย การให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมถอยไม่ใช่ทางออกในระยะยาว การก่นด่าฝ่ายเห็นต่างยิ่งไม่ใช่ทางออก การที่เราจะก้าวไปพร้อม ๆ กันได้โดยตลอดนั้น น่าจะต้องเอาหัวใจของคนคิดต่างมาใส่ในหัวใจเรา"

ก่อนจะมีพระพุทธอุลตร้าแมน มี "ภิกษุสันดานกา - พระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์"

เมื่อปี 2550 ภาพวาดที่ชื่อว่า "ภิกษุสันดานกา" ผลงานของอนุพงษ์ จันทร เจ้าของรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ถูกวิจารณ์จากคณะสงฆ์และกลุ่มองค์กรชาวพุทธบางกลุ่มว่า เป็นภาพที่เสียดสีและหมิ่นเหม่ต่อการเหยียดหยามพระภิกษุและพระพุทธศาสนา และเรียกร้องให้ถอดถอนรางวัลที่มอบให้แก่ศิลปิน

ภาพเปรตห่มจีวร ปากมีลักษณะคล้ายปากของกา ศิลปินระบุในเวลานั้นว่า ต้องการสะท้อนถึงคนที่เข้ามาบวชเพื่ออาศัยผ้าเหลืองหาประโยชน์จากแรงศรัทธาของชาวบ้าน

เมื่อปี 2555 เกิดกรณีพระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์ ถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊กของแมคโดนัลด์ ประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีการระบายแต่งสีเลียนแบบแมคโดนัลด์ รายงานของเดลินิวส์ระบุว่า มีการแชร์จากชาวเกาหลี ทำให้เกิดการวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมและเรียกร้องให้แมคโดนัลด์สืบหาต้นตอของภาพดังกล่าว