ธรรมนัส แจงกลางสภา ศาลออสเตรเลีย “ยกฟ้อง” คดียาเสพติดเมื่อปี 2556

ธรรมนัส

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

แม้เพิ่งขู่ฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลที่พูดถึง "อดีต" ของเขา แต่วันนี้ (11 ก.ย.) ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. เกษตรและสหกรณ์ ต้องพูดถึงอดีตของตัวอีกครั้งกลางสภา โดยเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ศาลออสเตรเลียพิพากษาเมื่อปี 2556 ให้ "ยกฟ้อง" ผู้ต้องหาคดียาเสพติด โดยที่ตัวเขาได้รับการต่อรองให้เป็น "พยาน" ไม่ใช่ผู้ต้องหา

ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พล.ต.ท. วิศณุ ม่วงแพรสี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) ได้ตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ถึงความเหมาะสมในการแต่งตั้ง ร.อ. ธรรมนัส เป็นรัฐมนตรี หลังจากสื่อออสเตรเลีย 2 ฉบับนำเสนอข่าวว่าเขาถูกพิพากษาคดียาเสพติด

พล.ต.ท. วิศณุกล่าวว่า ขอถามไปยังนายกรัฐมนตรีว่าในช่วงที่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และปรากฏชื่อ ร.อ. ธรรมนัส ดำรงตำแหน่งกระทรวงต่าง ๆ ทำให้มีผู้ทักท้วงเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งในเวลานั้น ร.อ. ธรรมนัส ออกมายืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีขนยาเสพติด 3.2 กิโลกรัม แต่โชคร้ายที่ไปอยู่ "ผิดที่ ผิดเวลา" ทว่าต่อมาเมื่อสื่อออสเตรเลียเผยแพร่รายงานข่าว "จากซาตานสู่เสนาบดี : เปิดโปงกรณีนักการเมืองต้องโทษจำคุกในคดีค้ายาเสพติด" (From sinister to minister: politician's drug trafficking jail time revealed) จึงอยากถามว่านายกรัฐมนตรีได้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างไร และเมื่อเรื่องนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ นายกฯ จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ไม่ได้เดินทางมาตอบกระทู้ถามสดนี้เอง แต่มอบหมายให้ ร.อ. ธรรมนัส เป็นผู้ตอบกระทู้ด้วยตัวเอง

ร.อ. ธรรมนัส ตอบกระทู้ดังกล่าว โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า มีเวลาอยู่ในซิดนีย์ไม่เกิน 2 ชั่วโมง เด็กตัวเล็ก ๆ จากบ้านนอกไป ตอนนั้นยังเด็กอายุเพียง 24-25 ปี "ภาษาอังกฤษยังหูไม่กระดิก ผมจะมีปัญญาอะไรไปเป็นมาเฟียใหญ่บงการคนค้ายาเสพติด" และเมื่อคนไทย 2 คนถูกจับกุม ก็มี 1 คนไปร้องให้ plea-bargaining หรือการลองตัดสินก่อน เพราะไม่มีเงินจะสู้คดี ต้องใช้ทนายอาสาของออสเตรเลีย

"ผมไม่เคยรับสารภาพว่าผมขนยา ค้ายา หรือนำเข้ายาเสพติด หากเป็นข้อเท็จจริง ไปเอามาเลยว่าผมรับสารภาพตรงไหน ผมชี้แจงมาหลายครั้งแล้ว และยังมาถามอีกว่าติดคุก 8 เดือนหรืออะไร เขาเรียกว่าการ plea-bargain... ผมไม่ได้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนไต่สวนพยานอะไรเลย ผมถูกกักขังอยู่ 8 เดือน หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ plea-bargain ผมก็ถูกส่งตัวไปทำงานที่ฟาร์ม" ร.อ. ธรรมนัส กล่าว

Plea bargain คือ กระบวนการต่อรองระหว่างอัยการโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยยอมรับผิดต่อข้อหาที่อัยการโจทก์ตั้ง เพื่อแลกกับการไม่ถูกตั้งข้อหาเพิ่ม หรือ ข้อหาที่ร้ายแรงกว่า

ธรรมนัส

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เขาขยายความว่า ในระหว่างรอการตัดสิน ต้องอยู่ในสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ ซึ่งในการต่อรอง ผู้พิพากษาท้องถิ่นบอกตนว่ามีหน้าที่เป็น "พยาน" ให้กับผู้ถูกกล่าวหาอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นฝรั่ง เมื่อครบ 4 ปี ก็ไม่เคยคิดจะกลับไทย อยากใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่นั่น แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายให้กลับก็กลับโดยไม่มีโทษติดตัวเลย

"ศาลออสเตรเลีย เสนอให้ผมอยู่จนวาระการเป็นพยานจนครบ 4 ปี นั่นคือ 4 ปีคดีจบ และคดีนี้ท้ายสุด ผู้ต้องหาที่เป็นฝรั่งยกฟ้อง ผู้ต้องหาที่ผมเป็นพยานน่ะ ลองคิดดูว่าอะไรมันเป็นอะไร" ร.อ. ธรรมนัส กล่าวและย้ำว่า ได้ชี้แจงไปหลายครั้งแล้ว หวังว่าจะไม่ต้องมาพูดเรื่องนี้อีก ซึ่งคำพิพากษาศาลออสเตรเลียออกมาในปี 2556

ทว่า รายงานสื่อออสเตรเลียอ้างคำแถลงของ ร.อ. ธรรมนัส ก่อนหน้านี้ว่า เขาถูกจับเมื่อ เม.ย. 2536 และจากเอกสารของศาล ระบุว่า เขาถูกตัดสินว่ามีความผิด ถูกจำคุก 4 ปี และได้รับการปล่อยตัวเมือ 14 เม.ย. 2540 แล้วถูกเนรเทศออกนอกประเทศทันที

ร.อ. ธรรมนัส กล่าวในสภาว่า ก่อนสื่อออสเตรเลียจะนำเสนอข่าว นายไมเคิลได้ส่งอีเมล์มาหาตน และขอคุยกับตนโดยไม่ทราบเหตุผล แต่นัยที่นายไมเคิลสอบถามคือให้พูดคุย จึงตอบว่าจะคุยเรื่องอะไรเพราะนายไมเคิลไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ และขอให้ไปดูประวัติที่เคยแถลงข่าวกับสื่อไปแล้ว

ก่อนสื่อออสเตรเลียจะนำเสนอข่าว ร.อ. ธรรมนัส กล่าวว่า นายไมเคิลได้ส่งอีเมลมาหาตน และขอคุยกับตนโดยไม่ทราบเหตุผล แต่นัยที่นายไมเคิลสอบถามคือให้พูดคุย จึงตอบว่าจะคุยเรื่องอะไรเพราะนายไมเคิลไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ และขอให้ไปดูประวัติที่เคยแถลงข่าวกับสื่อไปแล้ว

"โทษของการนำเข้า จำหน่าย ส่งออกเฮโรอีนแม้เพียงน้อยนิดก็ 10 ปีนะครับ หากเป็นเฮโรอีนตามที่เจ้าไมเคิลนำมาเสนอข่าวนี่คือจำคุกตลอดชีวิต เอาแต่มันพูด ๆ ๆ ๆ" ร.อ. ธรรมนัส กล่าว

รมช. เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า ขอตอบแทนนายกรัฐมนตรีว่า "ชีวิตผมผ่านพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติล้างมลทินมากี่ฉบับแล้ว ท่านเป็นตำรวจ (เจ้าของกระทู้ถามสด) ท่านรู้ทราบดีว่าพระราชบัญญัติล้างมลทินมีสาระสำคัญอะไรบ้าง" พร้อมย้ำว่าขออยู่กับปัจจุบัน ตั้งแต่มาเป็น รมช. เกษตรฯ นอนวันละ 3 ชม. ทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน ไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนทุกภาคซึ่งกำลังลำบากกันอยู่

"ผมไปเยี่ยมที่อุบลราชธานี ผมเห็นน้ำตาของชาวบ้านแล้ว ในฐานะที่เราเป็น ส.ส. คือตัวแทนของคนไทยทั้งชาติ ทำไมเราไม่เห็นใจเขาครับ เอาแต่เรื่องไร้สาระมาใส่กัน สาดกันเข้าไป" ร.อ. ธรรมนัส กล่าวด้วยเสียงอันดัง

เมื่อพูดถึงตรงนี้ นายวิรัตน์ สรศสิริน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า "ท่านรัฐมนตรีอย่ามาบีบน้ำตาที่นี่ แค่ตอบคำถามก็พอ ที่นี่ทุกคนก็คิดถึงพี่น้องประชาชนน้ำท่วมเช่นกัน"

รมช. เกษตรฯ บอกด้วยว่า วันนี้ถือว่าโชคดีที่ได้ใช้เวทีสภามาชี้แจงเรื่องในอดีตเมื่อเกือบ 30 ปี และจะไม่ยอมให้อดีตมาทำลายอุดมการณ์ที่ตั้งใจใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ จะทำงานเพื่อประชาชน ไม่ว่าอุปสรรคจะใหญ่ขนาดไหน จะอยู่ในสถานะใด แต่ได้ให้สัญญาและปฏิญาณกับตัวเองแล้วว่าขอทำงานเพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน ขอรักษาไว้ซึ่งเสาหลักของบ้านเมือง คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

"ผมจะไม่ยอมอยู่กับเรื่องเก่า ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนฝันร้ายสำหรับผม หลังจากวันนี้ ฝันร้ายเหล่านี้ต้องหายไปจากชีวิตผม และหากผู้ใดสงสัยประเด็นที่ผมกล่าว ท่านไปถามผมส่วนตัวได้ และต่อไปนี้ผมจะเอาจริงเอาจังในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายไม่ว่าใครก็ตามที่พาดพิงผม" ร.อ.ธรรมนัส กล่าวทิ้งท้าย

ในระหว่างที่ พล.ต.ท. วิศณุ ตั้งกระทู้ถาม เขาได้นำเอกสารข่าวของสื่อออสเตรเลียมาอ่านเกริ่นนำเข้าคำถาม ทำให้ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 2 คนลุกขึ้นมาประท้วง หนึ่งในนั้นคือ พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส. กำแพงเพชร ประท้วงนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ว่าได้ตรวจสอบเอกสารที่สมาชิกนำมาอภิปรายก่อนหรือไม่ "ไม่อย่างนั้นก็ตาย -า สิครับ พูดว่าศาลนั้นศาลนี้ ตำรวจนั้นตำรวจนั้นตำรวจนี้ ได้เอาหลักฐานขึ้นไปดูก่อนว่าเป็นศาลจริงไหม ประธานเคยไปออสเตรเลียไหม ท่านกับผมก็ ส.ส. บ้านนอกด้วยกันทั้งคู่ล่ะครับ"

ไวพจน์

ที่มาของภาพ, Thai news Pix

คำบรรยายภาพ, พ.ต.ท. ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส. กำแพงเพชร พปชร. ลุกขึ้นประท้วงช่วย ร.อ. ธรรมนัส ก่อนที่เข้าจะพ้นจากเก้าอี้ ส.ส. เมื่อมีคำพิพากษาคดีร่วมกับแกนนำ นปช. ล้มประชุมอาเซียนเมื่อปี 2552

อีกประเด็นที่ พล.ต.ท. วิศณุ ระบุสภาคือ ตัวเองเคยเป็นพนักงานสอบสวนของกองปราบปราม ในคดีอุ้มฆ่านายพูลสวัสดิ์ จิราภรณ์ หรือ "ด็อกเตอร์บอส" ผู้เชี่ยวชาญสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งมีชื่อ ร.อ. มนัส เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาร่วม ต่อมา ร.อ. ธรรมนัส ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนว่าถูกจองจำนาน 3 ปี 1 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมาสู้คดีภายนอก ก่อนที่ศาลจะยกฟ้องและอัยการไม่อุทธรณ์

เมื่อมีการฟื้นเรื่องนี้มาพูดกลางสภา ร.อ. ธรรมนัส จึงนำ "ใบคดีถึงที่สุด" ของศาลเมื่อปี 2546 มายืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง

"คดีประเทศไทย ผมไม่เคยถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดในคดีใด ๆ ทั้งนั้น" และ "เรื่องนี้คดีได้จบแล้ว ศาลให้ผมชนะคดีคือยกฟ้อง โดยไม่มีการลงโทษใด ๆ ทั้งสิ้น พนักงานอัยการก็ไม่ได้อุทธรณ์คดี" ร.อ. ธรรมนัสกล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.วิศณุ ได้ลุกขึ้นสอบถามเพิ่มเติมว่าขอสอบถามไปยังนายกฯ ว่าหากรัฐมนตรีพัวพันคดียาเสพติด ถือเป็นโทษร้ายแรงที่จำเป็นต้องปรับออกจาก ครม. หรือไม่ แต่ประธานการประชุมเห็นว่า ผู้ถามได้ใช้เวลาครบถ้วนแล้ว และรัฐมนตรีได้ตอบคำถามครบถ้วนแล้ว คงไม่ต้องตอบคำถามว่าจะต้องลาออกจากรัฐมนตรีอีกหรือไม่ ก่อนจะให้ที่ประชุมสภาพิจารณาเข้าสู่วาระการประชุมต่อไป