วิ่งเปลี่ยนชีวิต จากชายอ้วนมากโรคสู่นักวิ่งมาราธอนแถวหน้าของไทย

คำบรรยายวิดีโอ, วิ่งเปลี่ยนชีวิต จากชายอ้วนมากโรคสู่นักวิ่งมาราธอนแถวหน้าของไทย
  • Author, สุชีรา มาไกวร์
  • Role, ผู้สื่อข่าววิดีโอ บีบีซีไทย

สัญญาณเตือนจากร่างกายเมื่อ 7 ปีก่อนเป็นแรงกระตุ้นให้ชายคนหนึ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนชีวิตตัวเองอย่างจริงจัง จากชายร่างท้วมน้ำหนักตัวเกิน กลายเป็นนักวิ่งมาราธอนสมัครเล่นที่กวาดเหรียญจากรายการวิ่งระดับโลกมาแล้ว 5 เหรียญ

นฤพนธ์ ประธานทิพย์ หรือที่คนในวงการวิ่งเมืองไทยรู้จักกันในชื่อ "พี่นะ" เล่าให้บีบีซีไทยฟังถึงจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญเมื่อ 7 ปีก่อนว่า ตอนนั้นเขาอายุ 40 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 100 กิโลกรัม มีปัญหาสุขภาพมากมาย แต่ไม่คิดทำอะไรเพื่อรักษาสุขภาพร่างกาย จนกระทั่งวันหนึ่งเขาล้มในห้องน้ำศีรษะฟาดโถส้วมและสลบไป มารู้สึกตัวอีกทีบนเตียงของโรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้น

นฤพนธ์ ประธานทิพย์

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นฤพนธ์เริ่มวิ่งมาแล้วราว 6 ปี น้ำหนักตัวลดลงเกือบครึ่ง

"ผมโชคดีที่ล้มไปแล้วไม่เสียชีวิต แล้วเราก็มองว่าเราขอโอกาสสักครั้งให้เราลุกขึ้นมาวิ่งให้ได้ บางคนไม่โชคดีเหมือนผม เลยคิดว่าจะไม่ปล่อยโอกาสให้เสียไป คือต้องออกกำลังกาย" นฤพนธ์กล่าว

สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย การวิ่งไม่ง่ายอย่างที่คิด นฤพนธ์เล่าว่าเขาไม่เคยเล่นกีฬาเลยตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยทำงาน เขาเลือกวิ่งเพราะเห็นว่าการวิ่งมีพื้นฐานมาจากการเดิน

"วิ่งที่สวนรถไฟวันแรกวิ่งได้แค่ 400 เมตร แล้วก็ทรุดลงไป แล้วก็ร้องไห้เดินกลับมาขึ้นรถ แต่บอกกับตัวเองว่าต้องไปใหม่ ไม่ยอมแพ้ ต้องไปใหม่ ได้เท่าไหร่ก็ช่างมัน" นฤพนธ์บอกว่าการเริ่มออกกำลังกายต้องให้เวลาร่างกายได้พัฒนา ที่สำคัญที่สุดคือต้องอดทนผ่านช่วงแรกไปให้ได้

ท้อแต่ไม่ถอย

"เวลาร่างกายเราเหนื่อยมาก ๆ มันท้อ เป้าหมายที่เคยใหญ่มันจะเล็กลงเรื่อย ๆ" นฤพนธ์เล่าถึงอดีตและให้ข้อคิดว่าความรู้สึกท้อเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องประสบ ฉะนั้นต้องมีความมุ่งมั่นเต็มที่ ต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อให้มีกำลังใจทำต่อได้ สำหรับตัวเขาเองเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการมีสุขภาพดีเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่กับครอบครัวให้ได้นานที่สุด

นฤพนธ์ ประธานทิพย์

ที่มาของภาพ, Naruphon Prathanthip

คำบรรยายภาพ, นฤพนธ์เคยมีน้ำหนักตัวถึง 100 กิโลกรัม

นฤพนธ์บอกว่าเขาเคยรู้สึกท้อมากในวันที่พยายามวิ่งให้ได้ระยะทาง 5 กิโลเมตร แม้จะรู้สึกตัวว่าวิ่งไม่ไหวแต่ก็กัดฟันสู้ต่อ ทั้งวิ่งทั้งเดินจนครบระยะทางที่ตั้งใจ ใช้เวลาไปราว 1 ชั่วโมงเศษ เหตุการณ์วันนั้นเป็นจุดที่เขารู้สึกท้อที่สุด แต่เขาค้นพบว่าหลังจากผ่านจุดนั้นไปได้ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกแล้ว และเขาตระหนักดีว่าเขาต้องให้เวลาตัวเองในการพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ

"มาดูรูปทุกครั้งก็ไม่อยากเชื่อตัวเองว่าอ้วนถึงขนาดนั้นแล้วมาได้ขนาดนี้ มันเป็นไปได้อย่างไร ทุกวันนี้เอากางเกงที่เคยมีมาเทียบกับปัจจุบัน ยังนึกตลกตัวเอง แต่มันก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าสามารถทำได้ภายใน 1 เดือน ต้องอาศัยวินัย ความพยายาม ความอดทน 3 สิ่งนี้เป็นหลัก เวลาอากาศดีใคร ๆ ก็อยากนอนตื่นสาย ทำอย่างไรให้ลุกจากเตียงมาวิ่งให้ได้"

หนทางสู่มาราธอน

จนถึงปัจจุบัน นฤพนธ์วิ่งมาราธอนรายการหลักของโลกมาแล้ว 5 รายการ คือ โตเกียว, เบอร์ลิน, นิวยอร์ก, บอสตัน และล่าสุดคือ ลอนดอนมาราธอนเมื่อ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเขาทำเวลาได้ 3 ชั่วโมง 26 นาที 56 วินาที ตรงตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะต้องวิ่งให้ได้เวลาต่ำกว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง

ลอนดอนมาราธอน 2018

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, วันแข่งวิ่งลอนดอนมาราธอน 2018 มีอุณหภูมิสูงถึง 24.1 องศาเซลเซียส นับว่าร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
ครอบครัวประธานทิพย์

ที่มาของภาพ, Naruphon Prathanthip

คำบรรยายภาพ, ความรักครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนชีวิตของนฤพนธ์

นฤพนธ์บอกว่าเขารู้สึกดีใจที่สุดในวันที่วิ่งโตเกียวมาราธอน เนื่องจากทำเวลาวิ่งได้ดีผ่านเกณฑ์คัดเลือกสำหรับการวิ่งบอสตันมาราธอน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่สำหรับนักวิ่งมาราธอนสมัครเล่น เขาวิ่งเข้าเส้นชัยทั้งน้ำตา นึกถึงคำล้อเลียนที่เคยได้รับในอดีต "วันนั้นเข้าเส้นชัยมาร้องไห้เหมือนเด็กเลย ระหว่างเดินไปบอกกับตัวเองว่า 'ไอ้อ้วน มึงทำได้แล้วนะ' แต่ก่อนมีคนเรียกผม ตือโป๊ยก่ายมั่ง อ้วนมั่ง ไอ้หมูตอนมั่ง เรียกทุกอย่าง ผมก็ดึงคำนั้นขึ้นมาแล้วบอกตัวเองว่าเราทำได้แล้ว เราไปบอสตันได้"

เดือน ต.ค. นี้ นฤพนธ์จะวิ่งมาราธอนที่ชิคาโกในสหรัฐฯ หากทำสำเร็จเขาจะได้รับเหรียญ Six Star Finisher ซึ่งเป็นเหรียญรางวัลสำหรับผู้ที่วิ่งมาราธอนรายการหลักของโลกครบทั้ง 6 รายการ โดยเขาจะเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเหรียญรางวัลนี้

ชีวิตที่เปลี่ยนไป

นฤพนธ์บอกกับบีบีซีไทยว่าผลพวงจากการวิ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือทางกายภาพ ซึ่งเขามีน้ำหนักตัวลดลงถึงเกือบครึ่ง จากเคยมีขนาดเอว 45 นิ้ว ใส่เสื้อผ้าขนาด XXL เหลือเอว 29 นิ้ว ใส่เสื้อผ้าขนาด S หรือ XS สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่ว มีความคล่องตัวทางด้านกายภาพแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ส่วนด้านจิตใจ นฤพนธ์บอกว่าสุขภาพจิตดีขึ้นมาก เขาใช้การวิ่งเป็นเครื่องมือคลายเครียด โดยขบคิดปัญหาระหว่างวิ่ง มีสมาธิมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาได้ถูกจุด นอกจากนี้ เขายังหายจากโรคภัยที่เคยรุมเร้า ในอดีตเขาเคยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง และโรคไต ปัจจุบัน เขาไปโรงพยาบาลเพียงปีละ 2 ครั้งเพื่อตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไป

นฤพนธ์ ประธานทิพย์

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นฤพนธ์บอกว่าเขาประทับใจลอนดอนมาราธอนมากที่สุดจากการวิ่งรายการหลักของโลก 5 รายการที่ผ่านมา

"ความดัน ไขมันทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติถึงขั้นดีมาก ซึ่งชีวิตไม่เคยเป็นขนาดนี้ อันนี้คือสิ่งสำคัญที่สุดที่มีค่า มันทำให้เรามีแรง มีความแข็งแรงและดูแลครอบครัวได้ ผมบอกเลยว่าการวิ่งคือยาวิเศษ แต่ต้องอดทนนิดนึง มันจะผ่านจุดนี้ไปได้ยาก ทุกคนทำได้หมด แต่ต้องมีใจเข้ามาช่วยด้วย"

เส้นชัยที่แท้จริง

สำหรับนักวิ่งมาราธอนสมัครเล่น การได้เหรียญรางวัล Six Star Finisher ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับนฤพนธ์ เขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการได้แบ่งปันประสบการณ์จากการวิ่งและให้กำลังใจผู้ที่คิดอยากวิ่ง เขาบอกว่าความสุขของเขาคือการแบ่งปันเรื่องราวและชักชวนให้คนไทยหันมาออกกำลังกาย

นฤพนธ์ ประธานทิพย์

ที่มาของภาพ, ThaiRun

คำบรรยายภาพ, นฤพนธ์จะวิ่งมาราธอนที่ชิคาโกในเดือน ต.ค. นี้ นับเป็นการวิ่งระดับโลกรายการที่ 6 ของเขา

ปัจจุบัน เขาได้รับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ ไปพูดสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนชีวิตอยู่บ่อยครั้ง โดยเน้นให้ผู้คนมีกำลังใจและเห็นประโยชน์ของการออกกำลังกายมากขึ้น "ทุกวันนี้มีความสุขมาก ทุกวันนี้มีใครมาถามจะบอกเขาทั้งหมด เอาประสบการณ์ตัวเองมาบอกและให้กำลังใจตลอด คือเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง"

นฤพนธ์ ประธานทิพย์

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นฤพนธ์ พิชิตเหรียญจากงานวิ่งมาราธอนรายการหลักของโลก 2 รายการภายในเวลาห่างกันไม่ถึง 1 สัปดาห์

นฤพนธ์บอกว่าเขาวางแผนจะวิ่งไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวจริง ๆ "ส่วนตัวผมเองก็คงวิ่งมาราธอนไปเรื่อย ๆ แต่ว่าไม่เน้นรายการอะไร มีโอกาสก็ไปวิ่งแล้วก็ซ้อมเหมือนเดิม ผมเคยเห็นคุณลุงอายุ 80 กว่ายังวิ่งได้ เราก็อยากมีร่างกายแบบนั้นบ้าง" นฤพนธ์กล่าวทิ้งท้าย