ประชุมสภา : ปิยบุตร ชี้นายกฯ เป็น “โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ” ส่วน วิษณุ ย้ำ “การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล-กษัตริย์”

วิษณุ ปิยบุตร

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ศ.กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม วัย 68 ปี จบกฎหมายจาก ม.แคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐฯ ส่วน รศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล วัย 39 ปี จบกฎหมายจาก ม. ลูส ประเทศฝรั่งเศส
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

การเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ จากปมปัญหาหลักว่าด้วยการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ด้วยถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ยุติลงในเวลา 8 ชั่วโมงเศษ แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงกลางสภาราว 20 นาที แต่กลับไม่เอ่ยถึงเรื่องนี้สักคำ ทั้งที่มีคำถามเรื่องการถวายสัตย์จากฝ่ายค้านรวม 16 ข้อ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) หนึ่งในผู้อภิปรายหลักของฝ่ายค้าน ได้ซักถามข้อเท็จจริง 4 ข้อในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 สมัยสามัญ ครั้งที่ 24 ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ เพื่อพิจารณาวาระสำคัญเพียงเรื่องเดียวคือ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อ ครม.

นายปิยบุตรตั้งคำถามต่อ พล.อ. ประยุทธ์ 3 ข้อ และถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย 2 ข้อ

แม้ พล.อ. ประยุทธ์ ขอใช้สิทธิชี้แจงหลังร่วมฟังการอภิปรายนาน 6 ชั่วโมง แต่กลับเลือกพูดเฉพาะกรณีการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาโดยไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ โดยกล่าวว่า "ยังชี้แจงไม่ได้ว่ามีรายได้มาจากที่ไหน ขอให้ไปรอดูตอนจัดทำงบประมาณปี 2563 จึงจะรู้" ก่อนร่ายยาวถึงการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาลตามกฎหมาย 2 ฉบับ และบอกฝ่ายค้าน "ให้ไปเรียนรู้หน่อย แล้วค่อยมาพูด"

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

ขณะที่นายวิษณุเป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของรัฐบาลที่ตอบข้อซักถามของฝ่ายค้านในกรณีถวายสัตย์ ซึ่งเขาบอกว่านับคำถามได้ 16 ข้อ แต่ขอตอบคำถามแบบรวม ๆ

บีบีซีไทยสรุปสาระสำคัญของคำถามจากนายปิยบุตร และนำคำตอบจากนายวิษณุมาเทียบเคียงไว้ ดังนี้

- นายกฯ ได้อ่านคำถวายสัตย์จากกระดาษแข็งที่หยิบออกมาจากกระเป๋าเสื้อของตัวเอง กระดาษแข็งนี้เตรียมมาเองใช่หรือไม่, นายกฯ ได้เขียนข้อความการถวายสัตย์ใหม่ที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญลงไปใช่หรือไม่, เหตุใดจึงไม่อ่านจากกระดาษแข็งในแฟ้มสีน้ำเงินที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เตรียมมาให้ ?

นายวิษณุกล่าวยืนยันว่า ในการกล่าวคำถวายสัตย์ นายกฯ ได้ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกมาจากกระเป๋า ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเหมือนกับนายกฯ ทุกคนที่ผ่านมาในอดีต เป็นบัตรแข็งที่ สลค. ได้จัดเตรียมให้... หยิบหน้าแรกคืออ่านคำเบิกตัวซึ่งคนอื่นไม่ต้องอ่านตาม หยิบหน้าที่สองคือคำถวายสัตย์ปฏิญาณ นายกฯ อ่าน แล้ว ครม. ทุกคนก็กล่าวตามทีละท่อน ๆ จนกระทั่งจบตามที่นายกฯ กล่าว

"ผมจะไม่กราบเรียนว่าถ้อยคำที่ท่านนายกฯ อ่าน แล้วผมกล่าวตามมีว่าอย่างไร และผมก็ไม่ทราบว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังของการอ่านไปตามนั้นและแค่นั้น เป็นเพราะเหตุใด แต่ตรงนี้จะอธิบายด้วยคำกลาง ๆ รวม ๆ เพียงประโยคเดียวเท่านั้นที่ไม่อาจจะขยายความต่อไปได้อีกคือ การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์" นายวิษณุกล่าว

รองนายกฯ ได้ยกเอกสาร 2 ชิ้นมายืนยันว่าเขาไม่ได้พูดประโยคนี้ขึ้นมาเอง

วิษณุ เครืองาม

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายกฯ บอกสื่อมวลชนว่าเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ "เป็นสิทธิที่จะไม่ตอบ" และได้ "ให้แนวทางชี้แจงไปแล้วว" แก่นายวิษณุ เครืองาม

เอกสารแรก หนังสือบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรา จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่ง กรธ. ระบุถึงมาตรา 161 ไว้ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นการยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อยืนยันและเพื่อให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณนั้น "ใครเป็นคนไว้วางใจ พระมหากษัตริย์ ไว้วางใจในตัวใคร ผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณในที่นี้ก็คือ ครม. ผมจึงเรียนว่ารัฐบาลอาจจะผิด ผมอาจจะผิด นายกฯ อาจจะผิด แต่เราเข้าใจตามที่ กรธ. ได้กำหนดไว้อย่างนั้น"

เอกสารที่สอง คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติ "เอกฉันท์" เมื่อ 11 ก.ย. 2562 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีนายกรัฐมนตรีนำ ครม. กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน โดยให้เหตุผลว่า "เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์" ซึ่งเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของ กรธ. ในประเด็นการถวายสัตย์

- หากนายกฯ ต้องนำรัฐมนตรีคนใหม่เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์อีกครั้งหนึ่ง จะนำกล่าวถวายสัตย์ด้วยข้อความอย่างไร จะอ่านตามข้อความที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 หรืออ่านแบบที่อ่านในวันที่ 16 ก.ค. 2562 ?

นายวิษณุไม่ได้ตอบคำนี้โดยตรง แต่อธิบายผ่านความแตกต่างระหว่างคำว่า "ถวายสัตย์ปฏิญาณ" กับ "ปฏิญาณตน"

  • การถวายสัตย์ปฏิญาณ ทำที่ไหนก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมี "ผู้รับการถวายสัตย์" คือพระมหากษัตริย์ และ "ผู้ถวายสัตย์" ซึ่งมีบุคคล 4 ประเภท ได้แก่ องคมนตรี, รัฐมนตรี, ผู้พิพากษา, ตุลาการ
  • การปฏิญาณตน ต้องทำในที่ประชุมสภา โดยมีผู้ปฏิญาณตน 3 ประเภท ได้แก่ ผู้สำเร็จราชการ, ส.ส., ส.ว.
นายกฯ รับพระราชดำรัส

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม นำ ครม. เข้ารับพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ ในโอกาสที่ ครม. เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พิธีนี้จัดขึ้นต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร. 10 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 27 ส.ค. 2562

"การถวายสัตย์จะกระทำหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้ ต่อผู้แทนพระองค์ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องทำต่อพระมหากษัตริย์ จึงต้องเอ่ยนามผู้พูด ข้าพเจ้านาย/นาง/นางสาว... คือมีผู้ถวายและผู้รับการถวาย ไม่เหมือน ส.ส. ส.ว. และผู้สำเร็จราชการซึ่งไม่ต้องมีผู้รับ เมื่อไม่ต้องมีผู้รับ ผมจึงอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีใครมีสิทธิจะเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น ใครจะไปอนุญาตท่านล่ะ แต่การถวายสัตย์มีผู้ถวายและมีผู้รับการถวาย ดังนั้นเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จ ก็จะจบลงด้วยการมีพระราชดำรัสตอบทุกครั้งไป" นายวิษณุกล่าว

มือกฎหมายรัฐบาลซึ่งถูกสื่อมวลชนตั้งฉายา "เนติบริกร" ระบุว่า มาตรา 161 ระบุชัดเจนว่าเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ "เมื่อถวายแล้ว และมีกระแสว่าให้ไปปฏิบัติหน้าที่ ครม. รับกระแสพระราชดำรัสใส่เกล้าฯ ไม่ต้องตีความครับ แต่ถือว่านี่คือพระบรมราชานุญาต และได้ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ถ้าวันนี้ยังถวายสัตย์ไม่ครบ พอดีพอร้าย คสช. ก็ยังอยู่ มาตรา 44 ยังอยู่ รัฐบาลเก่ายังอยู่ รัฐบาลใหม่เป็นโมฆะ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น"

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า หลังจากวันที่ 16 ก.ค. รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และนายกฯ คนนี้ก็ได้สวมชุดครุยไปกล่าวถวายพระพรชัยมงคล, ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการสถาปนาพระราชอิสริยยศเจ้านายหลายองค์, เสนอกฎหมายเข้าสภาในนามรัฐบาล 2 ฉบับซี่งผ่านสภา ผ่านวุฒิสภา และทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว

- หากนายกฯ และ ครม. คนต่อ ๆ ไป มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ แล้วกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วน นายกฯ และรองนายกฯ เห็นว่าทำได้หรือไม่ ?

นายวิษณุไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง

- ในฐานะที่นายวิษณุทำงานกับรัฐบาลมา 11 ชุด ภายใต้นายกฯ 8 คน เคยเห็นนายกฯ คนใดทำแบบ พล.อ. ประยุทธ์หรือไม่ และเห็นว่าทำได้หรือไม่อย่างไรตามรัฐธรรมนูญ ?

นายวิษณุไม่ได้ตอบคำถามนี้โดยตรง แต่ไปพูดถึงการอภิปรายของ ส.ส. ฝ่ายค้านหลายคนที่วิตกว่าเมื่อไม่ถูกต้อง จะมีเหตุโมฆะตามมามากมาย "ท่านอย่าฝันร้ายเลยนะครับ เพราะจะไม่เกิดอย่างที่ท่านพูด" เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง และบอกว่าการถวายสัตย์ของ ครม. ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ซึ่งแปลว่า "แม้แต่ศาลก็ไม่อาจตรวจสอบได้ ก็ชี้ไม่ได้ว่าถูกหรือผิด และก็ไม่ชี้ด้วย สภาก็เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญครับ ศาลรัฐธรรมนูญเคยบอกไว้แล้ว"

รองนายกฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลมีหน้าที่เดียวเท่านั้นคือก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานไปด้วยกำลังใจและความมุ่งมั่นจะปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ ตามพระบรมราโชวาทและพรที่พระราชทานลงมา

ภายหลังนายวิษณุชี้แจงจบ นายปิยบุตรได้ตั้งคำถามเพิ่มอีกข้อว่า ถ้าเป็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของบุคคล 4 คณะ ต่อให้กล่าวถ้อยคำไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสรับ ก็ถือว่าเป็นการถวายสัตย์ที่ครบถ้วนแล้วใช่หรือไม่ ทว่านายวิษณุไม่ได้ตอบคำถามนี้

ปิยบุตร

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับกองหนังสือและเอกสารที่เขาเตรียมมาอภิปราย

นายปิยบุตรคือนักการเมืองคนแรกที่ออกมาเปิดประเด็นถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน โดยได้ตั้งข้อสังเกตกลางสภาเมื่อ 25 ก.ค. 2562 ในระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา วันนี้เขาประกาศว่า "พร้อมรับผิดชอบ" ในฐานะผู้เปิดประเด็นนี้ แต่ไม่แน่ใจว่า พล.อ. ประยุทธ์ กล้ารับผิดชอบในการกระทำของตัวเองหรือไม่ พร้อมยืนยันด้วยว่า "ไม่มีหนอนบ่อนไส้ในรัฐบาล" ส่งข้อมูลให้อภิปราย แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบติดตามข่าวในพระราชสำนัก โดยเฉพาะเวลามีบุคคลไปเข้าเฝ้าฯ เพราะต้องการรับทราบกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ชี้ 3 ความสำคัญของการถวายสัตย์

ในฐานะอดีต รศ.ดร. ด้านกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปิยบุตรได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการถวายสัตย์ไว้หลายประการ

หนึ่ง เป็นเงื่อนไขบังคับก่อนเข้ารับหน้าที่

สอง เป็นการยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการถวายสัตย์ปฏิญาณขององค์กรตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้ถ้อยคำเหมือนกันโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" ซึ่งการกำหนดให้มีถ้อยคำสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2492 จากนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็เขียนล้อมาแบบเดียวกัน

นายปิยบุตรยังหยิบยกเอกสารประกอบการร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 มาเล่าให้สภาฟังว่า เคยมีผู้ถามว่าทำไมต้องกำหนดถ้อยคำถวายสัตย์ ซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว 2 คนอธิบายไว้ดังนี้

  • พระยาอรรรถการีย์นิพนธ์ ระบุว่า ต้องการให้สม่ำเสมอสอดคล้องต้องกัน ไม่ใช่คนนี้พูดอย่าง อีกคนพูดอีกอย่าง
  • หลวงประกอบนิติสาร ระบุว่า หากไม่เขียนให้ชัดเจน เดี๋ยวคำถวายสัตย์จะเปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้เป็นสมาชิกสภาส่วนมาก ไม่สม่ำเสมอ ไม่เหมือนกัน ซึ่งรัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐก็ได้บัญญัติให้มีการถวายสัตย์เช่นเดียวกัน อีกทั้งเพื่อให้ผู้ถวายสัตย์ได้รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะให้คำสัตย์ว่าอย่างไรและมีปัญญาจะทำตามได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ เห็นว่าคำปฏิญาณฝ่าฝืนจิตใจก็อย่ามาเป็น

"ครม. จะได้รู้ล่วงหน้าว่าจะกล่าวคำถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ว่าอะไร ถ้ารู้ว่าชีวิตนี้เคารพรัฐธรรมนูญไม่ได้ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ อีกไม่กี่เดือนจะฉีกรัฐธรรมนูญ ละเมิดรัฐธรรมนูญอีก คนนั้นก็อย่ามาเป็นรัฐมนตรี จะได้ไม่ต้องถวายสัตย์" นายปิยบุตรกล่าว

สาม เป็นการให้คำสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญไทยเกือบทุกฉบับ ส่วนใหญ่อยู่ในมาตรา 3 เขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา ครม. และศาล ซึ่งนายปิยบุตรชี้ว่าเป็น "ศิลปะในการเขียนรัฐธรรมนูญของไทยที่แยบคายที่สุด" คือหลอมรวมเอาสิ่งสำคัญที่สุดคือพระมหากษัตริย์กับประชาชนเข้ามาไว้ด้วยกัน โดยให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน และประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และกลายเป็นอัตลักษณ์รัฐธรรมนูญไทย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ขุด 5 คลิปถวายสัตย์ "ประยุทธ์ 1" เทียบ "ประยุทธ์ 2" พบนายกฯ อ่านเป๊ะทุกครั้ง

นายปิยบุตรยังไปสืบค้นคลิปวิดีโอข่าวในพระราชสำนัก ในโอกาสที่ พล.อ. ประยุทธ์ นำ ครม. ในรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์รวม 5 ครั้ง พบว่า นายกฯ นำกล่าวถวายสัตย์ครบถ้วน 4 ครั้งแรก โดยกล่าวตามถ้อยคำในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และครั้งที่ 5 กล่าวตามถ้อยคำในรัฐธรรมนูญปี 2560 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าใน 5 ครั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้อ่านถ้อยคำถวายสัตย์จาก "บัตรแข็งที่เสียบไว้ในแฟ้มสีน้ำเงินซึ่งสำนักเลขาธิการ ครม. จัดเตรียมไว้ให้" แต่ในการนำ ครม. "ประยุทธ์ 2" เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อ 16 ก.ค. 2562 ซึ่งกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วน นายกฯ ไม่ได้ใช้เอกสารบัตรแข็งของ สลค. แต่ปรากฏภาพว่าหยิบกระดาษจากกระเป๋าด้านข้างเสื้อขึ้นมาอ่าน

หนังสือ "หลังม่านการเมือง" เขียนโดยนายวิษณุ ผู้รับใช้นายกฯ มา 8 คน 11 รัฐบาล เกือบ 2 ทศวรรษ ในฐานะรองเลขาธิการ ครม., เลขาธิการ ครม. และรองนายกฯ ถูกนายปิยบุตรหยิบยกขึ้นมาอ่านเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงว่า สลค. ต้องจัดเตรียม "บัตรแข็งเสียบไว้ในแฟ้มสีน้ำเงิน" เพื่อให้นายกฯ ถืออ่านตอนถวายสัตย์

อัดเป็น "โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ-โรคไม่รับผิดชอบ"

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ยังวิจารณ์ว่า การนำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน และไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง สะท้อนให้เห็นว่านายกฯ เป็น "โรค" 2 โรค

โรคแรกคือ "โรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ" เป็นสิ่งที่ประชาชนมีสิทธิเคลือบแคลงสงสัยว่านายกฯ ไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และมองรัฐธรรมนูญเป็นเพียง "เครื่องมือในการปกครองตามระบอบที่ท่านต้องการ" ถ้าเรื่องใดอ้างแล้วได้ประโยชน์ก็อ้างรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องใดถูกตีกรอบก็ไม่อ้าง จนสื่อสังคมออนไลน์ตั้งฉายาว่า "บิดาแห่งข้อยกเว้น"

"จริงอยู่ที่ท่านเป็นนายกฯ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ก่อนหน้านี้สังคมก็รู้ว่าท่านรัฐประหารปี 2557 ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ท่านยังทำอะไรอีกหลายอย่างที่ไม่แยแสรัฐธรรมนูญ พฤติกรรมของท่านแสดงให้เห็นว่าท่านมองรัฐธรรมนูญเป็นแหล่งที่มาอำนาจของท่าน วันนี้ท่านพอใจ ท่านก็ใช้มัน ถ้าท่านไม่พอใจ เข้ามามีอำนาจไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ท่านก็ฉีก และไปออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ก็ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้"

อีกโรคคือ "โรคไม่รับผิดชอบขาดความเป็นผู้นำ" หลังประเด็นนี้ถูกเปิดเผย นายกฯ ออกมายอมรับว่าถวายสัตย์ไม่ครบจริง แต่ยังไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใด ๆ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

นายปิยบุตรหยิบยกตำราวิชา "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" เขียนโดยนายวิษณุเมื่อปี 2530 มาพูดถึง โดยนายวิษณุระบุถึง "พระราชอำนาจตามนิติโบราณราชประเพณี" ซึ่งมีอยู่ 3 ประการที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลคือ ทรงให้คำปรึกษาหารือในทางลับ พระราชทานกำลังใจ และทรงตักเตือน แต่เมื่อพระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำหรือข้อพระราชดำริอย่างไรแก่รัฐบาล เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับใส่เกล้าฯ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นผลของฝ่ายบริหารโดยตรง ขณะที่นายหยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ด้านกฎหมายผู้เป็นอาจารย์ของนายวิษณุ เคยทำบันทึกไว้ว่า ในเวลานี้ประเทศไทยยังมี ครม. ที่เอาพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจ 3 ประการไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งนำเอาพระราชดำรัสไปเผยแพร่ต่อสื่อมวลชน การทำเช่นนั้นอาจมีเจตนาดี หรือเห็นว่าเป็นการเชิดชูพระเกียรติ เป็นเกียรติที่ได้เข้าเฝ้าฯ ซึ่งไม่ถูกต้อง "คำแนะนำของพระมหากษัตริย์ต้องเป็นความลับ" และ "ถ้าจะนำไปปฏิบัติต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบของตนเอง จะอ้างพระมหากษัตริย์ไม่ได้"

เขาจึงตั้งคำถามว่า หลังกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถูกเปิดเผย แล้วนายวิษณุออกมาบอกว่า "แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมไม่ควรพูด" หมายถึงอะไร และไม่ทราบว่าเหตุใดรัฐบาลถึงจัดพิธีรับพระราชทานพระราชดำรัสที่ทำเนียบฯ แต่สังคมมีสิทธิตั้งคำถามว่า "ท่านทำผิดตามรัฐธรรมนูญแล้วไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ เลยแต่เลือกใช้วิธีนี้ นี่คือข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าท่านขาดภาวะผู้นำและไม่รับผิดชอบ"

วันนอร์

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ระบุว่า นายกฯ ได้กระทำผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงกรณีถวายสัตย์ พร้อมระบุสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อยื่นให้ ป.ป.ช. ไต่สวน เพื่อเสนอศาลฎีกาให้พิจารณาต่อไปได้

ฝ่ายค้านรุมจี้นายกฯ ลาออก

ข้อเสนอแนะจากนายปิยบุตรคือ เรียกร้องให้นายวิษณุ "กลับมาเป็นนายวิษณุคนเดิม ยุติการให้ความเห็นและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายกฯ และกลับมาเป็นปูชนียบุคคลในวงการนิติศาสตร์ ออกจากเรือแป๊ะมาอยู่ในเรือแห่งความยุติธรรม" และเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง

นายปิยบุตรไม่ใช่นักการเมืองฝ่ายค้านเพียงคนเดียวที่อภิปรายเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพราะทั้งเลขาธิการพรรคเพื่อไทย, หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, หัวหน้าพรรคประชาชาติ, หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ฯลฯ ต่างเรียกร้องในแบบเดียวกัน

เสรี-เต้

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (ซ้าย) ตั้งคำถามว่า นายกฯ "อาจคิดว่าจะทำการปฏิวัติรัฐประหารอีกก็ได้ เพราะเคยทำมาแล้ว" นี่เป็นสาเหตุที่ตัดข้อความในคำถวายสัตย์ท่อนที่ว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" ออกไปใช่หรือไม่
สุทิน คลังแสง

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายปิดท้ายว่า การถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน "เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สร้างโดย พล.อ. ประยุทธ์ และนายวิษณุ จนทำหลายคนคิดว่ามีการดึงฟ้าต่ำลงมาปกป้องตัวเอง ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม"

ส.ส. รัฐบาลดึงเวลา ยกคำสั่งศาล รธน. อ้างห้ามอภิปราย

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเช้า สภาต้องเสียเวลาไป 20 นาที เมื่อ ส.ส. สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอหารือว่าสภาไม่มีอำนาจในการพิจารณาญัตตินี้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ "เอกฉันท์" ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ชี้แจงว่า สภาได้พิจารณาเรื่องนี้โดยหารือกับฝ่ายกฎหมายและรองประธานสภา ก่อนมีมติเป็น "เอกฉันท์" ว่าญัตตินี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันทุกองค์กรก็ต่อเมื่อมี "คำวินิจฉัย" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคท้าย แต่กรณีนี้เป็น "คำสั่ง" และ "ความเห็นประกอบ" สภาจึงมีอำนาจพิจารณาญัตติต่อไปได้

การประชุมนัดส่งท้ายนี้ปิดในเวลา 18.20 น. มี ส.ส. ฝ่ายค้านได้ลุกขึ้นอภิปรายซักถาม 17 คน ส.ส. รัฐบาลอภิปรายสนับสนุนรัฐบาล 1 คน และ ครม. ลุกขึ้นชี้แจง 2 คน รวมเวลา 8 ชั่วโมงเศษ ทั้งนี้ถือว่า "ศึกซักฟอกย่อย" จบเร็วจากที่ประธานวิปฝ่ายค้านคาดการณ์ไว้ว่าจะอภิปรายไปจนถึงเวลา 24.00 น. เนื่องจากนายกฯ และรัฐมนตรีบางส่วน ต้องเข้าร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในเวลา 18.00 น. ตามที่ในหลวง ร. 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น