เบร็กซิท : กลไกในระบบรัฐสภาของสหราชอาณาจักรมีบทบาทอย่างไรในวิกฤติเบร็กซิท

Anti-brexit protesters

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กำหนดเบร็กซิทตอนแรกเป็นวันที่ 29 มี.ค. แต่สหราชอาณาจักรขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 31 ต.ค.
  • Author, คริสตีนา เจ. ออร์กาซ
  • Role, บีบีซีแผนกภาษาสเปน

การเมืองอังกฤษที่กำลังวุ่นวายมีสาเหตุมาจากอะไร เหตุใดความพยายามที่จะพาประเทศออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยนายกรัฐมนตรีสองคนจึงโดนสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรขัดขวางครั้งแล้วครั้งเล่า

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ตัดสินใจสั่งพักการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้าเส้นตายเบร็กซิทวันที่ 31 ต.ค. แต่แล้วศาลสูงสุดก็พิพากษาชี้ขาดเมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) ว่าเขาทำผิดกฎหมาย และถือเป็นโมฆะ

เบร็กซิทเป็นปัญหาใหญ่ที่ดูยุ่งยากเข้าไปอีกเมื่อต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนของระบบการเมืองอังกฤษซึ่งต่างจากประเทศอื่นแม้เป็นระบบรัฐสภาเช่นกัน

มาดูกันว่าการเมืองอังกฤษมีกลไกการทำงานอย่างไร และสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร สภาขุนนาง รัฐบาล ศาลสูงสุด และพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่อย่างไร

House of Parliament covered by a British flag

ที่มาของภาพ, Getty Images

พึ่งกันและกัน

สมเด็จพระราชินี, สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง, สภาขุนนาง, นายกรัฐมนตรี, ผู้พิพากษา… ทั้งหมดนี้เป็นส่วนประกอบของระบบการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนประเทศอื่น

สหราชอาณาจักรปกครองโดยระบบรัฐสภาที่อิงแอบกับสถาบันกษัตริย์ นั่นหมายความว่าจะไม่มีฝ่ายใดทำงานได้โดยไม่พึ่งกันและกัน

แต่ในการเลือกตั้ง ผู้คนในสหราชอาณาจักรเลือกเพียงสมาชิกผู้แทนราษฎรเท่านั้น สมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแทนจากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 650 เขต

Boris Johnson

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ด้วยความที่ผู้ชนะคือพรรค ไม่ใช่ตัวบุคคล หากมีเหตุให้นายกรัฐมนตรีคนนั้น ๆ ต้องออกจากตำแหน่ง พรรครัฐบาลก็สามารถเสนอชื่อนายกคนต่อไปได้เลย

บัตรเลือกตั้งต่างจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีตรงที่ไม่มีชื่อหัวหน้าของแต่ละพรรค พรรคการเมืองหรือพรรคร่วม ที่ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดจะได้เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี

ด้วยความที่ผู้ชนะคือพรรค ไม่ใช่ตัวบุคคล หากมีเหตุให้นายกรัฐมนตรีคนนั้น ๆ ต้องออกจากตำแหน่ง ไม่ว่าจะเพราะป่วย ลาออก หรือลูกพรรคไม่ไว้วางใจอีกต่อไป พรรครัฐบาลก็สามารถเสนอชื่อนายกคนต่อไปได้เลยโดยไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ อย่างที่เห็นจากกรณีของบอริส จอห์นสัน หลัง เทรีซา เมย์ ลาออก

A map of parliamentary constituencies after the 2010 election, in a photo taken outside BBC New Broadcasting House in 2015
คำบรรยายภาพ, สมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแทนจากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 650 เขต

สภาผู้แทนฯ

ชื่อเต็ม ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง คือ The Honourable Commons of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland in Parliament assembled นอกจากมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแล้ว สภาผู้แทนฯ ยังมีหน้าที่อนุมติงบประมาณ และบัญญัติกฎหมาย อีกด้วย

House of Commons

ที่มาของภาพ, Getty Images

House of Commons

ที่มาของภาพ, UK Parliament

คำบรรยายภาพ, คนในสหราชอาณาจักรเลือกตั้งเพียงสมาชิกผู้แทนราษฎรเท่านั้น สมาชิกแต่ละคนเป็นตัวแทนจากเขตเลือกตั้งทั้งหมด 650 เขต

สภาขุนนาง

สภาขุนนางเทียบเท่ากับสมาชิกวุฒิสภาในหลาย ๆ ประเทศ ทำงานเสริมกับสภาผู้แทนฯ

รอส เทย์เลอร์ นักวิจัยจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economic) อธิบายว่า สมาชิกสภาขุนนางส่วนใหญ่จากทั้งหมด 814 คน ได้รับการแต่งตั้งแบบตลอดชีวิตอิงจากความสามารถ หรือเป็นรางวัลจากการทำงานเพื่อรัฐ แต่ 92 จากจำนวนนั้นเป็นเรื่องของสายเลือด หมายความว่าพวกเขาได้เป็นสมาชิกเพราะว่าบรรพบุรุษเป็นขุนนาง

House of Lords

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สมาชิกสภาขุนนางส่วนใหญ่จากทั้งหมด 814 คน ได้รับการแต่งตั้งแบบตลอดชีวิตอิงจากความสามารถ หรือเป็นรางวัลจากการทำงานเพื่อรัฐ

สภาขุนนางสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้ แต่ไม่สามารถขัดขวางร่างกฎหมายที่ส่งต่อมาจากสภาผู้แทนฯได้ ตัวอย่างคือตอนที่ผ่านกฎหมายเบร็กซิทเมื่อ มี.ค. 2017

สภาขุนนางเสนอให้แก้ไขสองประเด็นด้วยกันเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของคนจากสหภาพยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรได้รับการคุ้มครอง และให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจคนสุดท้ายที่จะเห็นด้วยหรือไม่ยอมรับข้อตกลงออกจากสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ดี สภาผู้แทนฯ ปฏิเสธข้อเสนอเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และก็ยืนยันใช้ร่างกฎหมายแรก

สถาบันกษัตริย์

ประมุขของสหราชอาณาจักรคือพระมหากษัตริย์ และเป็นการสืบทอดตำแหน่งโดยสายเลือด

พระมหากษัตริย์คนปัจจุบันคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

ระบอบการปกครองของสหราชอาณาจักรเป็นแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ไม่ได้ปกครอง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการเมือง เป็นเพียงประมุขของรัฐในเชิงสัญลักษณ์ เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้เป็นผู้เลือกมา

เมื่อพรรคหนึ่งได้เสียงส่วนมากในสภาผู้แทนฯ หัวหน้าพรรคก็จะเดินทางไปยังพระราชวังบักกิงแฮมเพื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อทำงานให้สมเด็จพระราชินี

Queen Elizabeth II

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ไม่ได้ปกครอง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการเมือง

รัฐบาล

โดยธรรมเนียม คณะรัฐมนตรีมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาขุนนาง อาจจะมาจากพรรคเดียวกันก็ได้ หรือหลายพรรคหากเป็นพรรคร่วม

รัฐมนตรีแต่ละคนรับผิดชอบในแต่ละภาคส่วนไป เมื่อว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สาธารณสุข หรือความมั่นคงประเทศ เป็นต้น

ทิม เดอร์แรนต์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากสถาบันเพื่อรัฐบาล (Institute for Government) อธิบายว่า รัฐมนตรีเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการซึ่งไม่ฝักฝ่ายใดทางการเมืองและทำงานให้กับคณะรัฐมนตรีชุดใดก็ตามที่ได้รับการเลือกตั้ง

Boris Johnson

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, บอริส จอห์นสัน ประชุมกับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ก.ค.

ศาลสูงสุด

ศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรเพิ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการมาเมื่อ 10 ปีก่อน ประกอบไปด้วยผู้พิพากษาทั้งหมด 12 คน มีอำนาจในการพิพากษาประเด็นพิพาททางกฎหมายที่ใหญ่ที่สุด และเป็นระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจด่านสุดท้ายสำหรับกฎหมายและรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร

ศาลสูงจะรับพิจารณาประเด็นที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ เพื่อพิพากษาว่ากฎหมายในสหราชอาณาจักรควรถูกตีความและนำไปประยุกต์ใช้อย่างไร

ศาลสูงสุดตั้งอยู่ตรงข้ามอาคารรัฐสภา เป็นสถานที่ตั้งที่สะท้อนความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า ในขณะที่รัฐสภาเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย ศาลสูงสุดคอยตรวจสอบว่ากฎหมายนั้น ๆ มีความเที่ยงธรรมหรือไม่