ธรรมนัส : ดอกเตอร์จากฟินแลนด์นึกว่า "เป็นเรื่องล้อเล่น" หลังบีบีซีไทยถามเรื่องข้อกล่าวหา รมช. ไทย ลอกเลียนวิทยานิพนธ์

ดร. ยานนิกา นีมาน

ที่มาของภาพ, Jussi Virtanen

ดร. ยานนิกา นีมาน จากฟินแลนด์ คิดว่าข้อสงสัยเรื่องวิทยานิพนธ์ของเธอถูกลอกเลียนนั้น "เป็นเรื่องล้อเล่น" แต่เมื่อนำมาเทียบกับบทความวิชาการของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เธอยอมรับว่ามีความคล้ายคลึงกันมาก

หลังจากที่สื่อมวลชนและผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนตั้งข้อสงสัยว่า วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจได้มาโดยไม่ถูกต้องจากสถาบันการศึกษาซึ่งไม่เป็นที่รับรองนั้น บีบีซีไทยได้ตรวจสอบบทความวิชาการของ ร.อ. ธรรมนัส ซึ่งเป็นผลงานส่วนหนึ่งที่ใช้ยื่นขอจบการศึกษากับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ยูนิเวอร์ซิตี เอฟซีอี เพิ่มเติม และพบว่ามีข้อความที่ตรงกับงานวิชาการของผู้อื่นอยู่นับสิบจุด

บีบีซีไทยนำบทความวิชาการของ ร.อ.ธรรมนัส มาเปรียบเทียบกับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขาการตลาด ของ ดร. ยานนิกา นีมาน (Jannica Nyman) ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮังเกน (Hanken School of Economics ) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ พบว่า มีข้อความเหมือนกันอย่างน้อย 14 จุด โดยส่วนใหญ่เป็นการลอกผลงานทบทวนวรรณกรรม (literature review) ชนิดคำต่อคำ

บทความดังกล่าวของ ร.อ. ธรรมนัสมีชื่อว่า "รูปแบบของการพัฒนาประสิทธิภาพท้องถิ่น รวมทั้งการส่งเสริมภาพลักษณ์และอัตลักษณ์เพื่อสร้างและเพิ่มมูลค่า: กรณีศึกษาจังหวัดพะเยา" ( The Forms of the Local Performance Development and Promotion with Image and Identity in Order to Increase the Value Added and Value Creation: A Case Study of Phayao Province ) มีเนื้อหารวม 12 หน้า ได้ลงตีพิมพ์ใน "วารสารการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งยุโรป" (European Journal of Scientific Research - EJSR) เมื่อเดือนพ.ค. ปี 2014

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ร.อ. ธรรมนัส เป็นหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวข้อเดียวกับงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา

เมื่อ 23 ก.ย. ดร. ยานนิกา ได้ตอบบีบีซีไทยผ่านทางอีเมลว่า "ดิฉันนึกว่านี่เป็นเรื่องเอามาล้อกันเล่น จนกระทั่งฉันได้อ่านข่าวในซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์"

เธอยืนยันว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทด้านการตลาดที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮังเกน (Hanken School of Economics) และรู้สึกว่า เนื้อหาในส่วนของการทบทวนวรรณกรรมในบทความวิชาการของ ร.อ. ธรรมนัส "มีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก" กับเนื้อหาในวิทยานิพนธ์ของเธอ

"ฉันไม่รู้มาก่อนว่าวิทยานิพนธ์ของฉันถูกลอกเลียน" เธอเปิดเผยกับบีบีซีไทยผ่านทางอีเมล

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิชาการต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งฐานข้อมูลวารสารวิชาการนานาชาติ ไม่รับรองคุณภาพของวารสาร EJSR ทั้งยังชี้ว่าเข้าข่าย "วารสารนักล่าเหยื่อ" (predatory journal) ซึ่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อแลกกับการเผยแพร่ผลงานด้วย

บทความวิชาการ

ที่มาของภาพ, www.usfce.com

บทความของ ร.อ. ธรรมนัสระบุชื่อผู้ร่วมประพันธ์ 5 ราย ซึ่งปรากฏชื่อของ ร.อ. ธรรมนัส เป็นชื่อแรก แต่กลับมีเนื้อหาที่ตรงกับข้อความทบทวนวรรณกรรมในวิทยานิพนธ์และบทความของผู้เขียนชาวต่างประเทศหลายคน โดยส่วนใหญ่มาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "การสร้างอัตลักษณ์องค์กรที่เป็นเอกภาพในกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ถือเป็นเรื่องสำคัญหรือควรมีความสำคัญหรือไม่: มุมมองด้านการจัดการ" (Building a Coherent Corporate Identity in Startups - Is it or should it be Important?: A Managerial perspective) ของ ดร.นีมาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ตัวอย่าง 1: หน้า 3

"Overall, the coherent and positive corporate image has been proven to lead to competitive advantages (Aaker, 1996). Witt and Rode (2005) added that a strong corporate image improves customer's acceptance of a company's services or products, it makes recruiting easier as employees are drawn to the company and it reduced the cost of capital."

ข้อความข้างต้นเป็นการอ้างอิงผลงานวิจัยในอดีต ซึ่ง ดร. นีมาน ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงมาเองเพื่อใช้สนับสนุนความคิดในวิทยานิพนธ์ของตน โดยข้อความนี้ปรากฏอยู่ในหน้า 37 ของวิทยานิพนธ์ต้นฉบับ ที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2013

ในขณะที่บทความของ ร.อ.ธรรมนัส ตีพิมพ์ภายหลังวิทยานิพนธ์ดังกล่าวในราวหนึ่งปีต่อมา แต่กลับปรากฏข้อความข้างต้นในหน้า 3 ของบทความ ชนิดที่เหมือนกันแบบคำต่อคำ ซ้ำยังไม่มีการระบุผลงานวิจัยที่กล่าวถึงในรายการอ้างอิง (references)ตรงท้ายบทความแต่อย่างใดด้วย

วิทยานิพนธ์

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ด้านซ้ายเป็นบทความของ ร.อ. ธรรมนัส ด้านขวาเป็นวิทยานิพนธ์ของ ดร.นยูมาน

ตัวอย่าง2 : หน้า 4

"Karaosmanoglu and Melewar (2006) pointed out that the corporate identity is strategically planned expressions of the corporation that are communicated through clues given by the company's behavior and symbols."

ข้อความส่วนนี้ตรงกันแบบคำต่อคำกับเนื้อหาหน้า 21 ในวิทยานิพนธ์ของ ดร.นีมาน ที่ว่าด้วยนิยามของอัตลักษณ์องค์กรโดยอ้างอิงงานวิชาการของ Karaosmanoglu และ Melewar (2006)

ตัวอย่าง 3 : หน้า 4

"...the presence of strong corporate symbolism can be a key ingredient in successful brand development while its absence can develop a serious handicap as it makes visual differentiation problematic."

บทความของ ร.อ. ธรรมนัส ในส่วนนี้อ้างถึงงานวิจัยของ Aeker (1996) ซึ่งมีข้อความตรงกันกับวิทยานิพนธ์ของ ดร. นีมาน ในหน้า 30 เพียงแต่มีการย้ายชื่อผู้เขียนงานวิจัยที่อ้างอิงมาจากข้างหลังมาไว้ข้างหน้าเท่านั้น

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นยังพบข้อความที่ตรงกับวิทยานิพนธ์ของ ดร. นีมานในลักษณะนี้เกือบสิบจุด ทั้งยังปรากฏเนื้อหาที่ตรงกับผลงานของนักวิชาการต่างประเทศคนอื่น ๆ อีก อาทิ William S. Chang (2010), S. Saraniemi (2010), Chen Ching-Fu & Odonchimeg Myagmarsuren (2011)

ตัวอย่าง 4 : หน้า 5

"The concept of structural capital is that allows the intellectual capital to be measured and developed in an organization. Structural capital of the organization is conceived as a product process that contains elements of efficiency, transaction time, procedural innovativeness and access to information for codification into knowledge." ซึ่งตรงกับบทความวิชาการเรื่อง "The Different Proportion of IC Components and Firms' Market Performance: Evidence from Taiwan." ของ William S. Chang ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The International Journal of Business and Finance Research 4, (4): 121-134

วิทยานิพนธ์

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เปรียบเทียบข้อความในบทความของ ร.อ. ธรรมนัส (ซ้าย) กับบทความของ ดร. วิลเลียมส์ เอส. ชาง (ขวา)

โดยทั่วไปแล้วบทความวิชาการที่ตีพิมพ์เพื่อขอจบการศึกษา มักจะมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาสำคัญของวิทยานิพนธ์เป็นอย่างมาก โดยอาจจะเป็นบทหนึ่งของวิทยานิพนธ์หรือเป็นการสรุปใจความสำคัญโดยย่อ ดังนั้นการที่บทความวิชาการของ ร.อ. ธรรมนัสมีข้อความบางส่วนตรงกันกับงานวิชาการของผู้อื่น ในลักษณะที่หยิบยกมาใช้โดยไม่ได้อ้างอิงตามหลักเกณฑ์การเขียนงานวิชาการ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยต่อวิทยานิพนธ์ที่เขาใช้ยื่นขอสำเร็จการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ยูนิเวอร์ซิตี เอฟซีอี ด้วย

ร.อ. ธรรมนัส นำใบทรานสคริปต์มาโชว์ผู้สื่อข่าว หลังถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องวุฒิปริญญาเอก

ที่มาของภาพ, BBC Thai Stringer

คำบรรยายภาพ, ร.อ. ธรรมนัส นำใบทรานสคริปต์มาโชว์ผู้สื่อข่าว หลังถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องวุฒิปริญญาเอก

แค่ไหนเรียก "ลักลอก"

รศ. มานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบการลักลอกงานวิชาการ (plagiarism) ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทย ถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาว่างานวิชาการใดที่เข้าข่ายลักลอกงานของผู้อื่นว่า โดยทั่วไปมหาวิทยาลัยที่ให้ปริญญาจะใช้โปรแกรมตรวจจับการลักลอก เช่น turnitin ซึ่งสามารถบอกได้ว่างานวิชาการชิ้นนั้นมีข้อความที่ซ้ำกับงานวิชาการของคนอื่นมากน้อยแค่ไหน โดยระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาทั้งหมด หากเปอร์เซ็นต์การซ้ำกันสูงจนน่าสงสัย เช่น มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจารย์ที่ปรึกษาก็จะมาดูในรายละเอียดว่า ข้อความส่วนที่ซ้ำนั้น เป็นการยกมาทั้งย่อหน้าแบบคำต่อคำ หรือเป็นเพียงคำสามัญทั่วไปที่ใช้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีมาตรฐานสากลว่าข้อความซ้ำกันกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะเรียกว่าเป็นการลักลอกหรือขโมยงานวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังเอง

"ถ้าเป็นถ้อยคำสั้น ๆ แล้วซ้ำกัน เราไม่ถือว่าลักลอก แต่ถ้าเป็นลักษณะย่อหน้าต่อย่อหน้า ลอกทั้งเนื้อหาและถ้อยคำก็จะต้องเอามาดูกันโดยละเอียด หากเป็นงานวิชาการภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรม turnitin แต่ถ้าเป็นงานภาษาไทย จุฬาฯ ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่าอักขราวิสุทธิ์ โดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาต้องส่งไฟล์วิทยานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ให้อาจารย์ที่ปรึกษานำเข้าโปรแกรมตรวจสอบ ถ้าพบว่ามีข้อความซ้ำกัน 3-5 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นเรื่องปกติ โดยหลักวิชาการจะไม่ถือว่าเป็นการลักลอก แต่ถ้าเขยิบไปเป็น 10-20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องเข้าไปดูในรายละเอียดว่าส่วนที่เหมือนหรือซ้ำมันมีลักษณะเป็นย่อหน้าต่อย่อหน้าหรือไม่"

นักวิชาการนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบการลักลอกงานวิชาการอธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีการลักลอกงานวิชาการที่เคยเกิดขึ้นมักจะมีความชัดเจนว่าเป็นการลอกมาเป็นย่อหน้า อาจเปลี่ยนแค่คำขึ้นต้นย่อหน้าเท่านั้น ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่ก่อนที่จะสอบวิทยานิพนธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาก็อาจจะสั่งแก้ แต่ถ้าตรวจพบหลังจากรับปริญญาบัตรไปแล้ว ก็ต้องดำเนินเรื่องเพื่อเพิกถอนปริญญาบัตร

รับปริญญา

ที่มาของภาพ, Getty Images

"ความเห็นของผม ถ้าอยู่ในหลักที่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าลอกหรือไม่ลอก ต้องเข้าไปดูในเนื้อหา ถ้าปรากฏว่าเข้าไปเอามาเป็นย่อหน้าต่อย่อหน้า แม้จะเป็นเพียงแค่ 1-2 หน้า ก็ถือว่าคัดลอกผลงานทางวิชาการ เพราะหลักการของการเป็นบัณฑิตในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก งานวิจัยนั้นจะต้องมีความใหม่ ถ้าไปลอกคนอื่นมา แปลว่าไม่มีความใหม่ ปริญญาที่ได้รับก็ต้องโดนเพิกถอน" รศ. มานิตย์กล่าว

เขาให้ความเห็นด้วยว่า ยิ่งงานวิชาการนั้นได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการที่ได้มาตรฐาน การตรวจสอบยิ่งต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น เพราะเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ขณะที่วิทยานิพนธ์อาจไม่มีการตีพิมพ์เลยก็ได้

เมื่อถามว่าหากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมีลักษณะลักลอกงานของผู้อื่นจะส่งผลต่อวิทยานิพนธ์ที่ขอจบการศึกษาหรือไม่ รศ. มานิตย์อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ กล่าวคือ หากมีข้อกำหนดว่านักศึกษาจะจบปริญญาโทหรือเอกได้ ต้องเอาวิทยานิพนธ์ไปทำเป็นบทความแล้วตีพิมพ์ก็หมายความว่า หากตรวจพบว่าบทความนั้นมีการลักลอก ก็จะทำให้กระบวนการในการได้ปริญญาไม่สมบูรณ์ ก็ต้องเพิกถอนปริญญา

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย พยายามโทรศัพท์ไปหา ร.อ. ธรรมนัส ในวันที่ 16 ก.ย. หลายครั้ง เพื่อขอคำชี้แจงในเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้