ชิมช้อปใช้ : แจกเงินให้เที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ตามประสงค์รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 หรือไม่

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
การท่องเที่ยว

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศการท่องเที่ยวอันคึกครื้นที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วันนี้ (16 ส.ค.) อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังแจกเงิน คนไทย 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนล่วงหน้า คนละ 1,000 บาท เพื่อการท่องเที่ยว เช่น ซื้อสินค้าท้องถิ่น รับประทานอาหาร เข้าพักในโรงแรม และกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ข้ามจังหวัดของตัวเอง โดยมุ่งเน้นไปที่ประชาชนชาวไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

อยากได้เงิน ต้องทำอย่างไร

การจะได้มาซึ่งเงินสนับสนุนการท่องเที่ยวนั้นในโครงการ "ชิมช้อปใช้" นั้น รัฐบาลจะจ่ายให้ประชาชนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์คนละ 1,000 บาท ให้ใช้จ่ายท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่โดยพิจารณาจากบัตรประตัวประชาชน โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคน จะเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 1-22 ก.ย.นี้ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการคลังได้สั่งให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะมีการเปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อลงทะเบียนทั้งในฝั่งประชาชนและร้านค้า

หลังจากนั้นผู้ที่ลงทะเบียนไว้ก็จะได้รับการจ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้จ่ายกับการท่องเที่ยว เช่น ซื้อสินค้าท้องถิ่น รับประทานอาหาร พักโรงแรม ระหว่างเดือน ก.ย.-พ.ย.

นอกจากนี้ ยังมีเงินสนับสนุนเงินชดเชย หรือ cash rebate จำนวน 15% จากยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับค่าอาหาร และเครื่องดื่ม ซื้อสินค้าท้องถิ่นและค่าที่พักรวมกันแล้วสูงสุดได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท หรือได้รับเงินคืนสูงสุด 4,500 บาท

ผู้ประกอบการท่องเที่ยวคิดอย่างไร

บีบีซีไทยสอบถามผู้ประกอบการท่องเที่ยวตามจังหวัดต่าง ๆ ถึงความเหมาะสมของนโยบายนี้ และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

นายสถิรพงศ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต และนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว กล่าวว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางรัฐบาลได้วางแผนเอาไว้เพื่อช่วยให้เกิดการใช่จ่ายไปกับการท่องเที่ยวน่าจะเป็นประโยชน์มากต่อการท่องเที่ยวที่อยู่ในภาวะซบเซา

ท่องเที่ยว

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC THAI

"การท่องเที่ยวในเมืองรองน่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้มากกว่าเมืองหลัก เพราะ 1,000 บาท แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยกับการท่องเที่ยวตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ๆ ในแต่ละภูมิภาค" สถิรพงศ์กล่าว

"แต่ในทางกลับกัน เงิน 1,000 น่าจะใช้ท่องเที่ยวในเมืองรองได้อย่างน้อย ๆ 2 วัน 1 คืน กับที่พักที่อยู่ไม่เกินคืนละ 800 บาท ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับดี และน่าจะมีเงินเหลือสำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีกเล็กน้อย... อย่างน้อย ๆ ก็ได้ค่าเติมน้ำมันรถเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่น"

สถิรพงศ์คิดว่าตัวเงินอาจจะไม่ได้มากอะไรแต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลยเพราะการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ที่ไปท่องเที่ยวไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหนึ่ง

"กลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจะได้ประโยชน์จากงบตัวนี้น่าจะเป็นคนในเมืองใหญ่มากกว่า เพราะพวกเขาคงอยากเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองรอง แต่คนที่อยู่เมืองรองที่อยากไปเที่ยวในเมืองหลวงอาจจะรู้สึกว่าพวกเขาทำอะไรไม่ได้มากกับเงิน 1,000 บาท"

แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

นายภพพล เกษมสันต์ ณ อยุธยา นายกกิตติมศักดิ์จากสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่น ตั้งคำถามว่า เงินเที่ยว 1,000 บาท "จะกระจายถึงกลุ่มรากหญ้าได้จริงหรือ"

แหล่งท่องเที่ยว

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

"ท้ายที่สุดแล้ว เงินที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวก็จะลงไปที่โรงแรม ร้านอาหาร หรือร้านขายของฝากใหญ่ ๆ ไปเสียหมด แล้วสรุปว่าคนที่จะได้ประโยชน์จากงบกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจริง ๆ เสียทั้งหมด"

ภพพล ชี้ให้เห็นว่านอกจากการใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวผ่านการจองห้องพัก หรือการซื้อของ การท่องเที่ยวแบบวิถีชาวบ้าน และการซื้อของฝากจากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ก็ถือว่าเป็นโครงการที่น่าสนับสนุนให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน และวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

"การอัดฉีดตัวเงินเพื่อการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องดี แต่รัฐบาลควรเล็งให้ถูกเป้ามากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นคนในกลุ่มรากหญ้าจะไม่ได้อะไรเลย" ภพพล กล่าว

ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

นอกจากนี้ ทางด้านนายกิตติ ทิศสกุล ประธานที่ปรึกษาสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือเห็นด้วยว่าการให้เงินคนไปเที่ยวอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะคนที่ต้องการรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจริง ๆ คือคนในกลุ่มรากหญ้า

ประชุม ครม.

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

"แจกเงินแบบนี้ก็ไม่ต่างกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" นายกิตติ กล่าว

"แทนที่จะแจกเงินให้คนท่องเที่ยว รัฐบาลน่าจะเอางบกระตุ้นการท่องเที่ยวไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพัฒนากลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน และทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับดีให้มาใช้เงิน และได้ประสบการณ์ดี ๆ กับการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยกลับไปด้วย และจะทำให้การท่องเที่ยวนั้นยั่งยืน"

3.16 แสนล้านบาท นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ช่วงเริ่มต้นการประชุมครม.เศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังมีปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจโลก

"ในช่วงนี้ทุกคนก็ทราบดีว่าเรามีปัญหาพอสมควรในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของเรานะครับ...และสถานการณ์โลกวันนี้ก็ยังค่อนข้างที่จะยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาสงครามเศรษฐกิจกันอยู่ มีหลายบรรยากาศที่ออกมาโดยสองประเทศคือ อเมริกากับจีน" นายกฯ กล่าว

ประชุม ครม. เศรษฐกิจ
ทำเนียบรัฐบาล
3.16 แสนล้านให้ใคร?

ที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจ นัดแรกซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน อนุมัติมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศโดยใช้วงเงิน

  • 316,000 ล้านบาทโดยเป็นสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 200,000 ล้านบาท

  • ลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 2.97 ล้านคน ด้วยการจ่ายเงิน 500 บาท/ไร่

  • โครงการ “ชิมชอปใช้” ให้เงินไปเที่ยวคนละ 1,000 บาท

  • ชดเชยเงินให้ 15% จากยอดใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงสุดคนละ4,500 บาท

  • เพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ200-500 บาท/เดือน

  • มอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการฯ 2 เดือน คนละ500 บาท

Source: มติ ครม.เศรษฐกิจ 16 ส.ค. 2562

หลังการประชุม นายอุตตม สาวนายก รมว.คลัง เปิดเผยว่า ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศโดยคาดว่า จำนวนเงินรวมทั้งหมด 316,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ เป็นสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 200,000 ล้านบาท อีกประ มาณ 50,000 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณที่จัดสรรไว้ในกองทุนต่างๆ แล้ว และอีกประมาณ 50,000 ล้านบาทที่เหลือ มาจากเงินงบประมาณ โดยตั้งเป้าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 3% โดยจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งวันที่ 20 ส.ค.นี้

สำหรับมาตราที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เศรษฐกิจ มีทั้งหมด 4 มาตรการใหญ่ คือ

1. มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2652 ประกอบด้วย

  • ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบภัยแล้ง 13 จังหวัด โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ 909,040 ราย ได้รับสิทธิ์กู้เงินรายละไม่เกิน 30,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี จากปัจจุบัน 7% ต่อปี
  • ขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส.ประสบภัยแล้ง 13 จังหวัด
  • สินเชื่อใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดย ธ.ก.ส.มีวงเงินปล่อยกู้ทั้งหมด 50,000 ล้านบาท และปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปีในปีแรก ปีต่อไปคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกติของธนาคาร

2.มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกร

  • ธ.ก.ส.จะลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี โดยสนับสนุนเงิน 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ ให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,979,453 ราย
ประชุม ครม.

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

3.มาตการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

  • มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านโครงการ "ชิมชอปใช้" เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยรัฐบาลมอบให้แก่ ประชาชนผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ คนละ 1,000 บาท ให้ใช้จ่ายท่องเที่ยวในจังหวัดที่ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่
  • สนับสนุนเงินชดเชย หรือ Cash Rebate จำนวน 15% จากยอดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับค่าอาหาร และเครื่องดื่ม ซื้อสินค้าท้องถิ่นและค่าที่พัก รวมกันแล้วสูงสุดได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท หรือได้รับเงินคืนสูงสุด 4,500 บาท ผ่านระบบ g-Wallet
  • ยกเลิกการลงตรา (visa) เพื่อการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ให้เข้ามาพำนักในไทยได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน เริ่มเดือน ต.ค. 2562- ก.ย.2563 ซึ่งรัฐจะสูญรายได้ทั้งปี 12,133 ล้านบาท
  • มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้ 1.5 เท่า เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับการลงทุนในการซื้อเครื่องจักร ตั้งแต่วันที่ ครม.เห็นชอบ จนวันที่ 31 มี.ค.2563 โดยคาดว่า รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท รวม 5 ปี 5,000 ล้านบาท
รถกับข้าว

ที่มาของภาพ, BBCThai

4.มาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการพักชำระหนี้

  • เพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อเป็นการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งได้เงินช่วยเหลืออยู่แล้ว 300 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 800 บาทต่อเดือน ส่วนผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 700 บาทต่อเดือน ครอบคลุมผู้ถือบัตรทั้งหมด 14.5 ล้านคน ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย.
  • มอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการฯ คนละ 500 บาทต่อเดือนจำนวน 2 เดือน คือ ส.ค.-ก.ย.
  • เงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้รับเงินค่าเลี้ยงบุตรอีก 300 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนส.ค.-ก.ย.
  • พักชำระหนี้เงินต้นกองทุนหมู่บ้าน ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินพักชำระหนี้เงินต้นให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นระยะเวลา 1 ปี

อัตราเติบโตลดลง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2562 มีโอกาสขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมาที่ขยายตัวได้ 2.8% โดยมีสาเหตุจาก เศรษฐกิจโลกที่พบสัญญาณถดถอยตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ครม.เศรษฐกิจได้วางเป้าหมายว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% และปี 2563 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5%