รายงาน: รัฐธรรมนูญ 2560 "ต้านโกง" หรือ "ทุนขุนนาง"

ประชามติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
  • Role, ผู้สื่อข่าวอิสระ

แม้ กรธ. จะพยายามชูจุดเด่นรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี 2560 เรื่องการ "ต้านโกง" แต่หลายฝ่ายก็ได้ออกมาชี้ถึงจุดอ่อนของ กม.สูงสุดฉบับนี้

ในวันที่ 6 เม.ย. นี้ จะมีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับที่ 20 แต่เป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์" ฉบับที่ 2 เท่านั้นที่ผ่านการออกเสียงประชามติ ต่อจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 โดยได้รับเสียงเห็นชอบท่วมท้น ถึง 16.8 ล้านเสียง ต่อ 10.5 ล้านเสียง

สาเหตุที่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯนี้ ล่าช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯขอตัวร่างกลับแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในหมวดสำคัญ ตามข้อสังเกตพระราชทาน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งในส่วนของเนื้อหา และในส่วนของ กระบวนการ

มีชัย ฤชุพันธุ์

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายมีชัยพยายามชูว่า จุดแข็งของรัฐธรรมนูญฯนี้คือจะเป็นฉบับปราบโกง จากการเพิ่มอำนาจศาลและองค์กรอิสระ

ด้านเนื้อหา แม้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จะพยายามชูจุดแข็ง ว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" จากการใส่กลไกป้องกันการทุจริตเข้าไปเป็นจำนวนมาก พร้อมเพิ่มอำนาจให้กับศาลและองค์กรอิสระในการเข้ามากำกับรัฐบาล แต่ฝ่ายที่เห็นต่างก็มองว่า รัฐธรรมนูญฯนี้มีจุดอ่อนสำคัญ เรื่องโครงสร้างทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้งใบเดียว ใช้เลือก ส.ส.ทั้ง 2 ประเภท หรือ ส.ส.แบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และเกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ

รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยระบุว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้เกิด "การเลือกตั้งกำมะลอ" เพราะพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ตัวบุคคลจะสำคัญกว่านโยบาย ระบบเจ้าพ่อจะกลับมา จะมีการซื้อเสียงเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร ประชาชนจะรู้สึกว่าคะแนนเสียงของตนไม่มีความหมาย เพราะไม่สามารถเลือกพรรคที่จะมาเป็นรัฐบาลได้จริง

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร เรียกกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง" เพราะทำให้รัฐเป็นใหญ่ สวนทางกับสังคมโลก ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่มาของภาพ, LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, อดีตนายกฯอภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในคนที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯนี้ในการทำประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2559

อีกข้อท้วงติง ก็คือการกำหนดให้รัฐธรรมนูญฯนี้แก้ไขได้ยากมาก จนแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องอาศัยเสียงทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ เครือข่ายนักวิชาการนิสิตนักศึกษาและประชาชน 43 องค์กร รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯนี้ในการออกเสียงประชามติ

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการวางกลไกที่บางฝ่ายมองว่า เตรียมไว้เพื่อ "สืบทอดอำนาจ" ของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ที่เปิดช่องให้เกิด "นายกฯคนนอก" ไปจนถึงให้ ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้งทั้งหมด มีส่วนในการเลือกนายกฯร่วมกับ ส.ส. ได้ ในช่วง 5 ปีแรก ขณะที่ท่าทีของประธาน คสช.และนายกฯคนปัจจุบัน อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกอาการแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะกลับมาเป็นนายกฯคนนอก หลังการเลือกตั้งครั้งถัดไป

เหล่านี้คือประเด็นที่เป็นหัวใจในการถกเถียงกัน ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือนที่ กรธ. ใช้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แม้ กรธ.จะพยายามชูจุดเด่นอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งบางเรื่องถือเป็นเนื้อหาใหม่ เช่น การแยกหมวดว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" และ "การปฏิรูปประเทศ" การเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพในหลาย เรื่องให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการกำหนดให้ภาครัฐต้องมี "มาตรฐานทางจริยธรรม"

ไผ่ ดาวดิน

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, หลายคนที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯ เช่น นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ถูกจับกุม โดยรัฐบาลอ้างว่าทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ

ด้านกระบวนการ สิ่งที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด คือการที่รัฐบาล คสช. ไม่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้ออกมารณรงค์อย่างเท่าเทียมกัน มีการใช้อำนาจตามกฎหมาย ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. พ.ร.บ.ประชามติ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอื่น ๆ ในการสกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายเห็นต่างได้ออกมารณรงค์ให้ข้อมูลโต้แย้งเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฯนี้ กระทั่งนานาชาติที่จับตาอยู่ เช่น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ต้องออกมาเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่เห็นต่างมากกว่านี้ และยุติการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชามติ

ประเด็นที่ไล่เรียงมาข้างต้น คือข้อถกเถียงที่ลอยอยู่รัฐธรรมนูญฯฉบับที่ 20 ตั้งแต่ยังเป็นเพียงร่าง กระทั่งผ่านประชามติ และถูกประกาศใช้ น่าสนใจว่าบรรดาข้อท้วงติงจากฝ่ายต่าง ๆ จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และจุดแข็ง-จุดเด่นที่ กรธ.โฆษณาเอาไว้อย่างสวยหรู จะส่งผลต่ออนาคตของประเทศไทยมากน้อยเพียงใด

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Royal Thai Government

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะกลับมาเป็นนายกฯคนนอก ภายหลังการเลือกตั้งที่น่าจะมีขึ้นในปี 2561

จุดแข็ง จุดอ่อน รัฐธรรมนูญของฉบับนี้

กรธ. และฝ่ายสนับสนุน พยายามชูว่า "จุดแข็ง" ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าเป็นฉบับปราบโกง เพราะกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำการทุจริตเข้มข้นขึ้น ไม่ให้ผู้ทุจริตต่อหน้าที่และในการเลือกตั้งเข้าสู่การเมืองได้ตลอดไป และกำหนดให้มี "มาตรฐานจริยธรรม" ใครทำผิดต้องพ้นจากตำแหน่ง พร้อมเพิ่มอำนาจของศาลและองค์กรอิสระในการเข้ามากำกับดูแลรัฐบาล

สำหรับ "จุดอ่อน" ของรัฐธรรมนูญฯฉบับนี้ ฝ่ายคัดค้านที่บางส่วนเป็นนักการเมืองและนักวิชาการ มองว่า ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ กรธ. หยิบมาให้ใช้ จะทำให้ได้รัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ แถมยังมีการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.เข้ามาเป็น "นายกฯคนนอก" ได้

แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่สุด คือการกำหนดให้ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เป็นไปอย่างยากลำบาก จนแทบเป็นไปไม่ได้เลย และยังวางบางกลไกที่ถูกมองว่าอาจเป็นการ "สืบทอดอำนาจ" ของ คสช. เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ ไปจนถึง ส.ว.ชุดแรก 250 คน ที่จะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด (ซึ่ง ส.ว.ชุดนี้ มีสิทธิ์ร่วมเลือกนายกฯได้อย่างน้อย 2 สมัย)

สุเทพ เทือกสุบรรณ

ที่มาของภาพ, NICOLAS ASFOURI/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, สุเทพ อดีตเลขาฯกปปส. ให้ฉายารัฐธรรมนูญฯใหม่ว่า เป็นฉบับที่ให้ความสำคัญกับประชาชนมากที่สุด

ฉายา ที่ ฝ่ายสนับสนุน และ ฝ่ายคัดค้าน ตั้งให้

จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง พบว่า รัฐธรรมนูญฯนี้ได้รับการตั้ง "ฉายา" มากกว่า 10 ฉายา แต่ฉายาส่วนใหญ่จะมาจากฝ่ายคัดค้าน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมักจะนำฉายาที่นายมีชัย ให้ไว้กับรัฐธรรมนูญฯนี้ ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ นั่นคือเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" ไปตอกย้ำเสียมากกว่า

ฝ่ายสนับสนุน

  • "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง" นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.
  • "รัฐธรรมนูญฉบับใบหนาด" นายศุภชัย ศรีหล้า อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
  • "รัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับประชาชนที่สุด" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.

ฝ่ายคัดค้าน

  • "รัฐธรรมนูญฉบับใส่หมวก" นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา
  • "ลิ้นหัวใจรั่ว เอาชีวิตไม่รอด" นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช.
  • "รัฐธรรมนูญฉบับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิก สปช.
  • "Thailand Only" นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ สมาชิกพรรคเพื่อไทย
  • "รัฐธรรมนูญฉบับดับเบิ้ลเซียงเมี่ยง" นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง
มาตรา 44

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, หัวหน้า คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษตาม มาตรา 44 ได้ต่อไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

อำนาจของ คสช. หลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ฉบับที่ 20 ประกาศใช้

ใน "บทเฉพาะกาล" ของรัฐธรรมนุญฯ ฉบับที่ 20 ได้คงอำนาจของ คสช. ตามรัฐธรรมนูญฯฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไว้จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ นั่นแปลว่า แม้กระทั่งในช่วงเลือกตั้ง คสช. ก็ยังสามารถใช้ "อำนาจพิเศษ" ตามมาตรา 44 ออกกฎหมายหรือจับกุมคุมขังบุคคลใดที่ตนเห็นว่ากระทำผิดกฎหมายได้

คสช.ยังจะมีอำนาจในการแต่งตั้ง "ส.ว.ชุดแรก" จำนวน 250 คน ซึ่งในนั้น 6 คน จะมาจากเหล่าทัพโดยตำแหน่ง โดย ส.ว.แต่งตั้งชุดนี้จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับ ส.ส. ในการเลือกนายกฯในช่วง 5 ปีแรก (หรือมีโอกาสได้ร่วมเลือกนายกฯ อย่างน้อย 2 คน)

นอกจากนี้ บทเฉพาะกาลยังกำหนดให้รัฐบาล คสช. เป็นผู้จัดทำกฎหมายสำคัญหลายฉบับ รวมไปถึง "ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่จะมีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อ ๆ ไปเป็นระยะเวลา 20 ปี