ออกหมายจับ วีระ สมความคิด หลังเผยแพร่โพลวิจารณ์รัฐบาล

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, วีระ สมความคิด, คปต., เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, บก.ปอท., พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ที่มาของภาพ, Joe Raedle/Getty Images

ศาลออกหมายจับ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) หลังเผยแพร่โพลวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลผ่านเฟซบุ๊ก เข้าข่ายกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่วนแอมเนสตี้ฯ ชี้ อินเทอร์เน็ตอาจกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชนได้ หากถูกรัฐนำมาใช้ในทางที่ผิด

ด้านนายวีระ เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว วันนี้ (12 มี.ค.) โดยตั้งคำถามว่า "จะปิดปากผม กลัวความจริงถูกเปิดเผยใช่ไหม" พร้อมเผยแพร่ข่าวซึ่งระบุว่าศาลอาญา รัชดาภิเษก อนุมัติออกหมายจับนายวีระ ในข้อหานำเข้าข้อมูลปลอม หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เข้าข่ายละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) พ.ศ.2550

สื่อไทยหลายสำนัก ทั้งเดลินิวส์ ประชาไท และมติชนออนไลน์ รายงานว่าศาลอนุมัติออกหมายจับนายวีระ สืบเนื่องจากที่เฟซบุ๊กชื่อ "วีระ สมความคิด" ได้เผยแพร่โพลสอบถามความคิดเห็น 8 ข้อ ซึ่งอ้างว่าเป็นการวัดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนจะสรุปผลจากจำนวนผู้เข้ามาตอบโพสต์ในเฟซบุ๊กดังกล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทั้งยังนำผลโพลล์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อที่เฟซบุ๊กชื่อ "Veera Somkwamkid" อีกต่อหนึ่ง

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, วีระ สมความคิด, คปต., เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, บก.ปอท., พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ที่มาของภาพ, PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายวีระ สมความคิด ซึ่งเคยเคลื่อนไหวเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกัมพูชาเมื่อปี 2557 และเป็นหนึ่งในผู้วิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

พนักงานสอบสวนของกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 บก.ปอท.) เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบ พบว่า เฟซบุ๊กทั้งสองบัญชีเป็นของนายวีระจริง และนายวีระถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพประชาชน และเลขาธิการ คปต. จึงอาจทำให้ผู้ที่เห็นข้อความหลงเชื่อได้ จนสร้างความสับสน เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี แต่การจัดทำโพลของนายวีระเป็นการจัดทำความเห็นกับกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว ผลจึงอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อขอศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา

วันเดียวกัน องค์การด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กขององค์กร โดยระบุว่าวันที่ 12 มีนาคม ถือเป็นวันต่อต้านการเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ตโลก และแอมเนสตี้เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชนได้เช่นกันหากถูกรัฐนำมาใช้ในทางที่ผิด และตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา ประชาชนใน 55 ประเทศถูกจับกุมจากการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบบนโลกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ทั่วโลก ร่วมกับ "โพรทอนเมล" ผู้ให้บริการอีเมลแบบเข้ารหัสรายใหญ่ที่สุดของโลก จึงได้แสดงจุดยืนในการปกป้องความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของสังคมสมัยใหม่ ทั้งยังอ้างถึงคำกล่าวของผู้บริหารโพรทอนเมล ซึ่งระบุว่า "การเซ็นเซอร์บนโลกออนไลน์ไม่ได้แค่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายแรงต่อความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตด้วย"