นักศึกษาไทยถูกจับในอียิปต์ : สำรวจอิทธิพลไอเอสในไทย หลัง นศ.ไทยถูกจับในไคโร

ชายมุสลิม

ที่มาของภาพ, Getty Images

รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี ชี้อย่าตื่นตระหนกปมนักศึกษาไทยถูกจับในอียิปต์ ด้านนักวิชาการด้านความขัดแย้งชายแดนใต้ ระบุไอเอสไม่มีความเชื่อมโยงในระดับขบวนการในไทย

เฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการจับกุมนักศึกษาไทยในอียิปต์ว่านายชัยณรงค์ กีรติยุตวงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้เข้าพบนาย Hazem El Tahry รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ เพื่อหาทางให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาไทยที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอียิปต์จับกุมไปตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. โดยทางสถานทูตฯ ได้ขอใช้สิทธิเข้าเยี่ยมนักศึกษาไทยคนดังกล่าว และแสดงความห่วงใยต่อการจับกุมและได้ขอให้นักศึกษาไทยได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติที่เหมาะสมตามแนวปฏิบัติสากล

บีบีซีไทยได้สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีนี้ถึงทางสถานทูต แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

"อย่าเพิ่งตื่นตระหนก"

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และรองเลขานุการจุฬาราชมนตรี ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า นักศึกษาคนดังกล่าวเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ในกรุงไคโร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ทุนนักศึกษาไทยมาเป็นสิบปีแล้ว สำหรับกรณีนี้เห็นว่า "อย่าเพิ่งตื่นตระหนก" เหตุการณ์จับกุมนักศึกษาและควรรอรายละเอียดจากทางสถานทูตไทยว่าเกิดอะไรขึ้น

รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี กล่าวอีกว่า นักศึกษาคนดังกล่าวเพิ่งเดินทางไปเรียนเป็นปีแรกและกำลังอยู่ในช่วงเรียนปรับพื้นฐานภาษาอาหรับ จึงอาจยังสื่อสารไม่ได้คล่องแคล่วเท่าที่ควร จึงเป็นไปได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร นอกจากนี้การเมืองของอียิปต์กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต จึงทำให้รัฐบาลอาจตรวจตราบุคคลต่างชาติอย่างเข้มข้น

กลุ่มผู้ประท้วงในแคชเมียร์ถือธงกลุ่มไอเอส

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มผู้ประท้วงในแคชเมียร์ถือธงกลุ่มไอเอส

ส่วนความเชื่อมโยงของกลุ่มไอเอสกับกลุ่มเคลื่อนไหวในไทย นายซากีย์กล่าวว่ากลุ่มไอเอสมีความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่บ้าง เช่น พื้นที่มาราวีทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ และบางส่วนของอินโดนีเซีย ส่วนความเชื่อมโยงกับทางชายแดนใต้ของไทย ยังไม่มีการยืนยันว่ามีความสัมพันธ์ในระดับเครือข่ายที่มีลักษณะการสั่งการในเชิงขบวนการ

"อาจเป็นผู้สนับสนุนที่มีความรู้สึกร่วม เป็นความรู้สึกลักษณะสงสารหรือเอาใจช่วยมุสลิมจำนวนหนึ่งที่คิดว่าการมีรัฐอิสลามเป็นสิ่งที่พวกเขาปรารถนา" นายซากีย์กล่าว และเสริมว่า คนที่เชื่อและเห็นด้วยกับแนวทางของไอเอส ไม่ได้ต้องการนำแนวคิดมาเผยแพร่ในชุมชน และพวกเขาก็ไม่ได้เห็นถึงรายละเอียดของความน่ากังวลเหมือนกับที่ประชาคมโลกมอง

พล.อ.ประวิตร ระบุว่า นักศึกษาเคยถูกประเทศซูดานควบคุมตัว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในวันนี้ (1 ต.ค.) ว่าหน่วยงานความมั่นคงกำลังติดตามเรื่องนี้ โดยเฉพาะกรณีกลุ่มไอเอส เท่าที่ได้รับข้อมูลยังไม่พบความเชื่อมโยงกับประเทศไทย นักศึกษาคนดังกล่าวเคยเดินทางไปที่ประเทศซูดาน และถูกทางการซูดานควบคุมตัวเช่นกัน ส่วนเหตุผลที่ย้ายมาศึกษาต่อประเทศอียิปต์ เพราะเรียนที่ซูดานไม่ได้

ขบวนการในภาคใต้ไม่ยอมรับแนวคิดสุดโต่งแบบไอเอส

ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจากสถานวิจัยความขัดแย้งและหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า กลุ่มไอเอสหรือกลุ่มก่อการร้ายสากลมีอิทธิพลต่อพื้นที่ชายแดนใต้ "น้อยมาก" การก่อเหตุในภาคใต้มีลักษณะของชาตินิยมท้องถิ่น มีส่วนของศาสนาอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ปัจจัยจากเหตุนี้เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันในแง่ระดับองค์กรอย่างขบวนการบีอาร์เอ็น พูโล ก็ไม่ยอมรับการใช้แนวคิดทางศาสนาที่สุดโต่งแบบนั้น

หญิงมุสลิม

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

ผศ.ดร.ศรีสมภพอ้างอิงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ (Peace Survey) ระหว่างเดือน ก.พ. 2559- ก.ย. 2561 กลุ่มตัวอย่าง 6,321 คน ซึ่งในชุดคำถามหนึ่งมีประเด็นทัศนะต่อวิธีการที่ไอซิส/ไอเอส ปฏิบัติต่อเชลยหรือผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกลุ่มตน ผลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 10 "ยอมรับได้ในเชิงความคิด" แต่ในทัศนะของ ผศ.ดร. ศรีสมภพ มองว่าส่วนนี้เป็นผลจากกระแสทางสังคมหรือข่าวสารที่เข้ามามากกว่าการมีอิทธิพลในเชิงปฏิบัติการที่เป็นระดับองค์กร

"ถ้าเป็นไปได้น่าจะเป็นตัวบุคคลมากกว่า ยังไม่มีเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์ในเชิงการเคลื่อนไหว" ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวกับบีบีซีไทย

เชื่อไอเอสเจาะมุสลิมในไทยยาก

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านชายแดนใต้ยังอธิบายถึงพื้นฐานแนวคิดเรื่องศาสนาในชายแดนใต้ว่าเป็นแนวคิดแบบจารีตนิยม มากกว่าแนวคิดศาสนาในเชิงก้าวหน้าสมัยใหม่ ประเมินว่าคนรุ่นใหม่มุสลิมในพื้นที่ร้อยละ 80 อยู่ในกรอบความคิดทางศาสนาแบบเดิมที่ได้รับผ่านสถาบันอิสลาม โรงเรียนปอเนาะ ผู้นำทางศาสนา

กลไกในการควบคุมทางสังคมนี้เองทำให้ป้องกันไม่ให้คนรุ่นใหม่หลุดไปอยู่ในแนวทางของกลุ่มแนวคิดสุดโต่งเฉกเช่นกลุ่มไอเอสหรือกลุ่มก่อการร้ายสากล ส่วนสำนักคิดใหม่ของศาสนาอิสลามในพื้นที่ก็ปฏิเสธความรุนแรงอยู่แล้ว

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นต่อเนื่องมากว่า 15 ปีแล้ว

"พวกเขาเชื่อผู้นำทางศาสนาแบบรุ่นเก่ามากกว่า การเปลี่ยนไปสู่กระบวนการทางโซเชียลมีเดียแบบวิธีการที่ไอเอสทำอยู่ก็แทบไม่มีหรือมีน้อยมาก"

ผศ.ดร. ศรีสมภพชี้ว่า รัฐไทยมองว่าสถาบันสอนศาสนาเป็นแหล่งบ่มเพาะฝ่ายหัวรุนแรง แต่ไม่เข้าใจว่าสถาบันศาสนาเหล่านี้ก็เป็นเกราะป้องกัน extremist (กลุ่มนิยมความรุนแรงสุดโต่ง) อีกปีกหนึ่งและมีกำลังในการต้านให้กลุ่มรุนแรงสุดโต่งจากนอกประเทศอ่อนแอลง

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. ศรีสมภพ ระบุว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าคนุร่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศหรือตะวันออกกลางจะเป็นตัวแปรหรือจะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน