กลุ่มผู้ใช้แรงงานถูกปิดกั้นการชุมนุม เพราะต้องการ "เลือกตั้งปีนี้"

ผ้าโพกศีรษะที่มีข้อความ "เลือกตั้งปีนี้" ของกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.)

ที่มาของภาพ, เพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่

คำบรรยายภาพ, ผ้าโพกศีรษะที่มีข้อความ "เลือกตั้งปีนี้" ของกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.)

การชุมนุมของสหภาพแรงงานในหลายพื้นที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสกัด เนื่องจากข้อเรียกร้องบางส่วนมีเนื้อหาพาดพิงการเมือง

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสกัดกั้นการชุมนุมของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) เนื่องจากหนึ่งในข้อเรียกร้องของ กสรก. คือ ให้มีการส่งเสริมประชาธิปไตย และจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ โดยผู้ร่วมขบวนสวมผ้าโพกศีรษะมีข้อความว่า "เลือกตั้งปีนี้" แต่ตำรวจ ให้นำป้ายผ้าออก หรือลดลงเป็นผ้าผูกคอเพื่อไม่ให้เห็นข้อความดังกล่าว

"ในตอนแรกก่อนเคลื่อนขบวนทางกลุ่มผู้จัดได้มีการทำไวนิลข้อเรียกร้องมาเพื่อติดด้านข้างรถตอนเคลื่อนขบวน แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ป้ายผ้าคาดหัวจึงนำมาใช้ที่หน้าศาลากลางก่อน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกยึด แล้วจึงจะเดินเข้าไปภายในศาลากลางเพื่อยื่นหนังสือแต่เจ้าหน้าที่สกัดไม่ให้นำรถเครื่องเสียงเข้าและให้นำผ้าที่เขียนข้อความ 'เลือกตั้งปีนี้' เก็บไว้ ไม่ต้องแสดงออกมา จึงจะอนุญาตให้เข้าไปยื่นหนังสือได้" ผู้ร่วมการชุมนุมรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามบอกบีบีซีไทย

บรรยากาศขณะที่เจ้าหน้าเข้าเจรจาสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.)

ที่มาของภาพ, เพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยใหม่

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศขณะที่เจ้าหน้าเข้าเจรจาสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงาน ย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.)

นอกจากเหตุความวุ่นวายดังกล่าวแล้ว ในโลกออนไลน์ยังมีการแชร์ข้อความและภาพที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจและยึดป้ายของเครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเตรียมไว้เดินขบวนในวันกรรมการสากล บริเวณย่านมหาชัย จ.สมุทรสาคร 1 ใน 2 ป้ายที่ถูกยึดไปมีข้อความว่า "แรงงานข้ามชาติไม่ใช่ตู้ ATM"

ภาพที่ถูกแชร์ใน Social media

ที่มาของภาพ, @TLHR2014/Twitter

คืนอำนาจประชาชน เรียกร้องเลือกตั้ง

ประเด็นการเลือกตั้งดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องเด่นของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในปีนี้ โดยในแถลงการณ์ของสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ระบุถึงข้อเรียกร้องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คืนอำนาจแก่ประชาชน และเลือกตั้งภายในปีนี้ รวมทั้งยกเลิกมาตรา 44 และคำสั่งคสช. ทุกฉบับ

เว็บไซต์ประชาไท เผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวโดยสาระสำคัญ ประกอบด้วยการเรียกร้องอำนาจประชาธิปไตยทางการเมืองจาก คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดย เลือกตั้งปีนี้ เพื่อสืบสานการต่อสู้ของกรรมกร ให้ยกเลิกมาตรา 44 และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ ณ วันนี้ ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในเขตพื้นที่ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ และยกเลิกการขยายอายุรับบำนาญชราภาพ

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวเนื่องทางเศรษฐกิจในแถลงการณ์ของกลุ่มดังกล่าวยังเรียกร้องให้ รัฐบาลต้องจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า มีค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม กำหนดค่าจ้างแรกเข้าและโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการ รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี และต้องมีปฏิรูปการศึกษา รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการและการเลี้ยงดูบุตร และจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม

ควบคุมตัว 4 แกนนำกลุ่มสหภาพแรงงานฯ -สมัชชาคนจน

ตัวแทนจากสมัชชาคนจนบอกกับบีบีซีไทยว่า เมื่อเวลา 10.25 น. แกนนำทั้ง 4 คนประกอบด้วย นายนฤพล มีเหมือน นายชาญชัย ธูปมงคล นายบุญยืน สุขใหม่ และนายณตฤณ ฉอ้อนศรี มารายงานตัวที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เพื่อเซ็นชื่อรับหนังสือ "ห้ามชุมนุม" และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า การชุมนุมของสหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย หน้าสถานทูตสหรัฐฯ ถูกเจ้าหน้าที่สกัด โดยตำรวจอ้างว่า สถานทูตเป็นสถานที่ห้ามชุมนุม หากเดินขบวนไปจะดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมือง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพยายามให้สหภาพเลิกการชุมนุม แม้ผู้ชุมนุมระบุว่า ได้ขออนุญาตชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

บรรยากาศการชุมนุมของสหภาพแรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ณ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ถนนวิทยุเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, เพจสมัชชาคนจน

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศการชุมนุมของสหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ณ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ถนนวิทยุเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่กลุ่มสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทยและสมัชชาคนจน ประมาณ 60 คนได้เดินขบวนไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเพื่อยื่นหนังสือต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อให้สอบสวนกรณีที่สมาชิกสหภาพแรงงาน เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ถูกนายจ้างไม่เป็นธรรมและไม่เป็นไปตามสัตยาบันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังคงเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา