200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์: 5 มรดกตกทอดที่เรามองข้าม

ภาพของคาร์ล มาร์กซ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เราอาจต้องขอบคุณชายคนนี้มากกว่าที่เราเคยคิดไว้

วันหยุดสุดสัปดาห์เป็นความใฝ่ฝันของมนุษย์เงินเดือนทุกคน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ และสิทธิอีกหลายประการ ได้มาจากการต่อสู้ของแรงงาน ที่เดินตามแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์

ในวาระครบรอบสองร้อยปีชาตกาลของคาร์ล มาร์กซ์ บีบีซีไทยขอนำเสนอ 5 เรื่องราวน่ารู้ของคาร์ล มาร์กซ์ นักคิดระดับโลก ที่ผลจากแนวคิดของเขาได้ส่งผ่านมายังคนรุ่นเราในหลายด้านแต่กลับถูกมองข้าม

เมื่อเอ่ยถึงคาร์ล มาร์กซ์ หลายคนอาจจะนึกถึงระบบคอมมิวนิสต์ ที่ปกครองอย่างเข้มงวด รัฐบาลแบบรวมศูนย์อำนาจ โลกอุดมคติที่ห่างไกลจากความเป็นจริง หรือแม้แต่การปฏิวัติโค่นล้มสังคมแบบเก่าที่นำความยากลำบากในเชิงเศรษฐกิจและสังคมมาสู่ประชาชน อย่างที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์อย่าง รัสเซีย จีน หรือคิวบา เคยเผชิญมา

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของมาร์กซ์ก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้แก่โลกไม่น้อย และก็มีหลาย ๆ อย่างที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนในศตวรรษที่ 21 โดยที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อนว่านี่คือผลพวงจากแนวคิดของนักทฤษฎีชาวเยอรมนีชื่อก้องโลก ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อ 200 ปีก่อน

1.เขาต้องการให้เด็ก ๆ ไปโรงเรียน แทนที่จะทำงาน

คาร์ล มาร์กซ์

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ทุกคนในปี 2018 ล้วนคิดเหมือนกันว่าเด็ก ๆ จำเป็นต้องไปโรงเรียน แต่ในปี 1848 เมื่อคาร์ล มาร์กซ์เขียน "คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต" หรือ ที่มีผู้แปลเป็นไทยว่า "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" นั้น เด็กในยุโรปยังต้องออกไปทำงานที่โรงงานแทนที่จะไปโรงเรียน แม้แต่ในปัจจุบัน จากข้อมูลของ International Labour Organization เมื่อปี 2016 หนึ่งใน 10 ของเด็ก ๆ ในโลกนี้ก็ยังคงต้องไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

ลินดา เหยียว ผู้เขียนหนังสือ ชื่อ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่: แนวคิดของพวกเขาช่วยเราในทุกวันนี้อย่างไร กล่าวว่า หนึ่งในสิบข้อที่หนังสือ คอมมิวนิสต์ มานิเฟสโต้ ของมาร์กซ์และเองเกลส์เรียกร้องก็คือ การจัดสรรการศึกษาฟรีให้กับเด็ก ๆ ผ่านโรงเรียนของรัฐ และเขาก็เสนอให้ยกเลิกการใช้แรงงานเด็กในโรงงานต่าง ๆ

แม้ว่ามาร์กซ์และเองเกลส์จะไม่ใช่คนแรกที่ออกมาเรียกร้องเพื่อสิทธิเด็ก แต่ก็ได้เพิ่มน้ำหนักแก่การเรียกร้องนั้นให้มากขึ้น

คำบรรยายวิดีโอ, 200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์

2. เขาต้องการให้คนทำงานอย่างพวกเรามีวันหยุดพัก และเป็นผู้ที่ตัดสินใจเองว่าจะใช้เวลาว่างนั้นไปทำอะไร

ศ. ไมค์ ซาเวจ จากลอนดอน สกูล ออฟ อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า แนวคิดของมาร์กซ์ต่อเรื่องนี้คือ "เมื่อคุณถูกบังคับให้ทำงานอย่างยาวนาน เวลาของคุณก็ไม่ใช่ของคุณอีกต่อไป และคุณก็ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของคุณอีกต่อไป"

แนวคิดที่มาร์กซ์นำเสนอก็คือ มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งนำมาสู่การขูดรีดแรงงาน และความแปลกแยก แรงงานที่ทำงานภายใต้การบีบบังคับเช่นนี้อาจจะรู้สึกว่าพวกเขาขาดออกจากความเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการพื้นฐานที่ให้ชีวิตดำเนินไป

และมาร์กซ์ยังเรียกร้องแทนแรงงานมากยิ่งไปกว่าปัจจัยพื้นฐานของชีวิต นั่นก็คือ เขาอยากให้แรงงานเป็นอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ และเป็นเจ้าของเวลาของตัวเอง

สำหรับมาร์กซ์ ความสุขในการทำงานก็คือความภูมิใจในงานที่ทำ รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สำหรับมาร์กซ์ ความสุขในการทำงานก็คือความภูมิใจในงานที่ทำ ที่รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์

"โดยหลัก ๆ มาร์กซ์จะบอกว่า เราควรมีชีวิตด้านอื่นที่ไม่ใช่การทำงาน ชีวิตที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และสามารถตัดสินใจได้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต ทุกวันนี้ความคิดนี้ได้กลายเป็นอุดมคติสำหรับคนในปัจจุบันไปแล้ว" ซาเวจกล่าว

"เขาศรัทธาในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ การปลดแอก และความตั้งใจที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ทำให้เกิดความแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ (alienation)"

3.เขาต้องการให้คุณมีความพึงพอใจในการทำงาน

มาร์กซ์เห็นว่าการทำงานของคุณควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข ทำให้เราได้สร้างตัวตนของเราเองขึ้นมาในสังคม

ค้อนกับเคียว อันเป็นสัญญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแนวคิดของมาร์กซ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ค้อนกับเคียว อันเป็นสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับแนวคิดของมาร์กซ์

นอกจากนี้เขายังคิดด้วยว่าการทำงานควรทำให้เราเห็นโอกาสที่จะได้สร้างสรรค์ และเป็นเครื่องแสดงความดีงามของเราในความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้มีปัญญา และความเก่งกาจด้านต่าง ๆ ของเรา แต่ถ้าหากว่าคุณขมขื่นในการทำงาน หรือทำงานที่ไม่ตอบสนองกับแนวคิดเรื่องความดีแห่งชีวิตของคุณ คุณจะรู้สึกขมขื่นและรู้สึกด้อยค่า รวมไปถึงแปลกแยกต่อความเป็นมนุษย์

4.เขาต้องการให้ประชาชนเป็นผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลง

หากว่าเกิดความผิดปกติขึ้นในสังคมของคุณ หากว่าคุณรู้สึกถึงความอยุติธรรม ไม่เท่าเทียม และไร้ซึ่งความชอบธรรมใด ๆ คุณควรจะต้องส่งเสียงออกมาดัง ๆ รวมตัวกัน ประท้วง และเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ในศตวรรษที่ 19 อังกฤษกำลังพัฒนาสังคมทุนนิยม ไม่มีใครใส่ใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน พวกเขาทำงานหนัก ได้ค่าแรงต่ำ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และไม่มีสิทธิมีเสียงใด ๆ ในสังคม แต่คาร์ล มาร์กซ์ เชื่อในพลังของชนชั้นแรงงานที่จะต่อสู้เปลี่ยนแปลงสถานะของตน และเขาก็กระตุ้นให้คนอื่นมองเห็นแบบเดียวกันเขา ซึ่งแนวคิดนี้ "จุดติด" อย่างรวดเร็ว

มาร์กซ์มองเห็นประชาชนว่ามีพลัง และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มาร์กซ์มองเห็นประชาชนว่ามีพลัง และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

การประท้วงที่จัดตั้งโดยพวกแรงงานก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศ ทั้งทำให้เกิดกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยกชนชั้น เพศสภาพ และการเปลี่ยนแปลงมุมมองในเชิงสังคมอย่างอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

ลิวอิส นีลเซ่น หนึ่งในผู้จัดเทศกาลมาร์กซิสม์ในลอนดอน กล่าวว่า เราต้องการปฎิวัติเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า เราประท้วงเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า และนี่แหละเป็นวิธีที่เราได้มาซึ่งการประกันสุขภาพ และชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน

มาร์กซ์มักจะถูกมองว่าเป็นนักปรัชญา แต่นีลเซนเห็นต่างออกไป "มันจะทำให้เรามองเห็นแต่ว่าเขาเขียนปรัชญาหรือทฤษฎีต่าง ๆ แต่เมื่อเรามองสิ่งที่เขาทำจริง ๆ จะเห็นว่าเขาเป็นนักเคลื่อนไหวด้วย เขาตั้งมาตรฐานสำหรับการรวมตัวของชนชั้นแรงงานสากล และเขาก็ร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อคนยากจนที่ถูกรังแก"

"แนวคิด 'ชนชั้นแรงงานแห่งโลกต้องเป็นเอกภาพ' ของเขาทำให้ชนชั้นแรงงานมีพลังอย่างแท้จริง มรดกตกทอดที่แท้จริงของเขาก็คือ การต่อสู้เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า และไม่ว่าคนที่ประท้วงหรือรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าจะทำให้สังคมดีขึ้นจะเรียกตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสต์หรือไม่ แต่การต่อสู้ของพวกเขามาจากแนวคิดของมาร์กซ์เป็นสำคัญ" นีลเซ่นกล่าว

มาร์กซ์เตือนให้เราจับตาดูการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับธุรกิจขนาดใหญ่

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มาร์กซ์เตือนให้เราจับตาดูการร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับธุรกิจขนาดใหญ่

"ผู้หญิงได้สิทธิการออกเสียงเลือกตั้งมาอย่างไรกันเล่า?" นีลเซ่นถาม "ไม่ได้เกิดจากผู้ชายในรัฐสภารู้สึกเห็นใจพวกเธอ แต่มาจากการที่ผู้หญิงรวมตัวกันและประท้วง เราได้สิทธิหยุดพักทำงานเสาร์อาทิตย์มาได้อย่างไร ก็เพราะสหภาพแรงงานหยุดงานประท้วง สิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ที่ชนสามัญได้มาทุกวันนี้ก็เช่นกัน."

แนวคิดนี้มีพลังมากเสียจนนักการเมืองอนุรักษ์นิยมของอังกฤษคนหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ในปี 1973 ว่า "เราต้องให้การปฏิรูปแก่พวกเขา เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะให้การปฏิวัติแก่เรากลับคืนมา"

5.เขาเตือนเราให้จับตาดูรัฐ และธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งไม่ให้ไว้ใจพวกสื่อด้วย

คุณรู้สึกอย่างไรกับสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างรัฐและบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งเรื่องที่เฟซบุ๊กถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการโฆษณาทางการเมือง เรื่องเหล่านี้แหละที่มาร์กซ์และเองเกลส์พูดเอาไว้ตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 19 ศาสตราจารย์วาเลอเรีย เวจห์ ไวส์ ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านอาชญวิทยาชี้ว่าทั้งสองคนเป็นกลุ่มแรกที่ชี้ให้เห็นถึงเรื่องเหล่านี้

มาร์กซ์ยังเตือนด้วยว่าพวกสื่อจะเข้ามามีบทบาทชี้นำในสังคม

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มาร์กซ์ยังเตือนด้วยว่าพวกสื่อจะเข้ามามีบทบาทชี้นำในสังคม

"พวกเขาศึกษาความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ธนาคาร ธุรกิจขนาดใหญ่ ที่เข้าไปมีบทบาทในเรื่องการล่าอาณานิคม พวกเขาศึกษาลึกลงไปในประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 19 เพื่อศึกษาความเป็นมา" เวจห์ ไวส์กล่าว

ผลจากการศึกษาของทั้งสองคนทำให้เห็นว่าการร่วมมือกันระหว่างรัฐและธุรกิจนั้นก่อให้เกิดการผลักดันกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการครอบครองอาณานิคม

นอกจากนี้มุมมองของมาร์กซ์ต่อสื่อมวลชนนั้นยังคงทันสมัยมาจนถึงศตวรรษที่ 21 เวจห์ ไวส์ระบุว่า "มาร์กซ์เข้าใจถึงความสำคัญของสื่อมวลชน โดยเฉพาะอิทธิพลที่มีต่อความคิดเห็นของสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็คุยกันถึงเรื่องข่าวปลอม ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งมาร์กซ์ได้เคยกล่าวถึงไว้ทั้งหมดนี้แล้ว"

"เขาศึกษาบรรดาบทความหรือข่าวที่ตีพิมพ์ในยุคนั้น แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า อาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนจนถูกรายงานออกมามากมาย ในขณะที่ความผิดของพวกนักการเมือง หรือคนชั้นสูงมักจะมีการรายงานน้อยมาก" เวจห์ ไวส์กล่าว