ศาลสวิสสั่งปรับผู้กดไลค์ความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก

ป้ายทางเข้าบริษัทเฟซบุ๊ก

ที่มาของภาพ, AFP

ศาลในเมืองซูริกระบุว่าการกด "ไลค์" ความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กที่มีนัยหมิ่นประมาทหรือทำให้เสียชื่อเสียงเท่ากับ "เห็นด้วย" กับความคิดเห็นดังกล่าว

คดีตัวอย่างคดีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเขียนแสดงความคิดเห็นต่อจากข้อความที่นายเออร์วิน เคสเลอร์ หัวหน้ากลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์เป็นผู้โพสต์ สื่อในสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่าข้อความดังกล่าวทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าต่อต้านชาวยิวและเป็นพวกเหยียดผิว

ศาลแขวงนครซูริกกล่าวว่าเห็นได้ชัดว่าจำเลย "เห็นด้วยกับเนื้อหาที่ขาดความเหมาะสมและทำให้เนื้อหาดังกล่าวเป็นของตน" โดยการกดไลค์

หนังสือพิมพ์เลอตองในสวิตเซอร์แลนด์รายงานว่า จำเลยชายในวัย 45 ปีกดไลค์ความคิดเห็น 6 ข้อความด้วยกัน ขณะที่นายเคสเลอร์ได้ยื่นฟ้องผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกกว่า 10 คน กรณีเขียนแสดงความคิดเห็นในข้อความที่เขาโพสต์เมื่อปี 2558

หนังสือพิมพ์ทาเกสอันไซเกอร์รายงานว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการถกเถียงในกลุ่มผู้แสดงความคิดเห็นว่ากลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์กลุ่มไหนควรได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเทศกาลวีแกน

มีผู้แสดงความคิดเห็นหลายคนถูกศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่ไม่เคยมีใครถูกลงโทษฐานกดไลค์ความคิดเห็นของคนอื่น

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน นายเคสเลอร์เคยถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดตามกฎหมายต่อต้านการเหยียดผิว

ศาลแขวงนครซูริกตัดสินว่าจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าความคิดเห็นที่ตนกดไลค์นั้น มีเนื้อหาเป็นจริง และการกดไลค์ความคิดเห็น ทำให้คนจำนวนมากเห็นข้อความดังกล่าว ซึ่งเท่ากับเป็นการหยามเกียรติของนายเคสเลอร์

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จำเลยถูกปรับเป็นเงิน 4,000 ฟรังก์สวิส (ราว 140,000 บาท) และสามารถยื่นอุทธรณ์ได้

นายอเมียร์ อับเดลลาซิส ทนายความคนหนึ่งของบรรดาผู้ที่ถูกนายเคสเลอร์ฟ้องบอกว่าคำตัดสินครั้งนี้อาจส่งผลกระทบกว้างไกล แม้เป็นเพียงคำพิพากษาของศาลแขวงเท่านั้นก็ตาม

เขากล่าวว่าศาลอีกหลายแห่งในสวิตเซอร์แลนด์จะต้องแสดงท่าทีให้ชัดเจนต่อผู้ใช้สื่อสังคม และเขายังเตือนด้วยว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอาจตกอยู่ในอันตราย หากศาลต้องการลงโทษผู้ที่กด "ไลค์" บนเฟซบุ๊ก