เลือกตั้งมาเลเซีย 2018: แรงสะเทือนจาก "มาเลเซียน สึนามิ"ที่ส่งถึงไทย

มหาเธร์

ที่มาของภาพ, JEWEL SAMAD/AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, ชัยชนะของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปันที่นำโดยมหาเธร์จะเป็นส่งแรงสะเทือนต่อไทยอย่างไร

มหาเธร์ โมฮัมหมัด ว่าที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วัย 92 ประกาศจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติมาเลเซียให้เร็วที่สุด หลังโค่นพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจมาถึง 61 ปีในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ แรงสั่นสะเทือนนี้มิได้อยู่เพียงแค่ในประเทศเท่านั้น ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องหันมาถอดบทเรียนของมาเลเซียครั้งนี้ที่จะส่งผลถึงวิถีการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย

บีบีซีไทยนำเสนอมุมมองผู้เชี่ยวชาญว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ของมาเลเซียนั้นมีแง่คิด และจะส่งผลสะเทือนถึงไทยในแง่มุมต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

โจทย์สำหรับรัฐบาลใหม่มาเลเซีย

ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ตามธรรมเนียมการเมืองมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัดจะสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในไม่ช้านี้ จากนั้นก็มีการประกาศตัวคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลตามมาอย่างรวดเร็ว

โจทย์เร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ คือ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพที่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายพรรคร่วมรัฐบาล บาริซาน เนชันแนล จนหันไปเลือกกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน มหาเธร์ได้ประกาศในระหว่างหาเสียงว่าจะแก้ไขภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราใหม่ที่ประกาศใช้ในปี 2015 ซึ่งประชาชนเห็นว่าเป็นสาเหตุหลักหนึ่งที่ทำให้ข้าวของแพง

ความท้าทายของรัฐบาลใหม่ก็คือการออกนโยบายใหม่เพื่อดูแลกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม เนื่องจากปากาตัน ฮาราปันนั้นประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มคนในสังคมหลากหลายที่มีส่วนทำให้ได้ชัยชนะในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับบาริซาน เนชันแนล ที่มุ่งเป้าไปที่คนเชื้อสายมาเลย์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่รัฐบาลใหม่ก็ต้องระมัดระวังมิให้คนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกว่าตนเองสูญเสียสิทธิ์ที่มีแต่เดิมมาด้วย

ในส่วนของผู้แพ้ อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค นั้น ปรางค์ทิพย์เห็นว่า หมดอนาคตทางการเมืองไปโดยสิ้นเชิงแล้ว แม้ว่าเขาจะชนะการเลือกตั้งในเขตเปกัน ในรัฐปาหัง โดยนำคู่แข่งอย่างมากก็ตาม

"ชะตากรรมของนาจิบน่าจะออกมาได้สองแบบก็คือ ถูกจับกุมดำเนินคดีในกรณีคอร์รัปชั่นของกองทุนพัฒนาประเทศ 1MDB เพราะกรณี1MDB เป็นเรื่องร้ายแรงมาก หรือรัฐบาลใหม่อาจจะให้นายนาจิบออกไปจากประเทศเสีย"

มหาเธร์แถลงข่าววันที่ 10 พค. เรื่องแนวทางนโยบายของรัฐบาลใหม่

ที่มาของภาพ, Ulet Ifansasti/Getty Images

คำบรรยายภาพ, มหาเธร์แถลงข่าววันที่ 10 พค. เรื่องแนวทางนโยบายของรัฐบาลใหม่

บทเรียนจาก "มาเลเซียน สึนามิ"

อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะคนไทยเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองผ่านโดยวิธีประชาธิปไตยโดยไม่อาศัยอำนาจนอกระบบ และพัฒนาการสร้างวุฒิภาวะทางประชาธิปไตย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทย ว่า ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียในแบบ "พลิกฟ้า หงายแผ่นดิน" หรือที่สื่อท้องถิ่นอธิบายว่าเป็นผลมาจาก "มาเลเซียน สึนามิ" คือคนส่วนใหญ่ที่เคยได้ผลประโยชน์จากรัฐบาล ของนายนาจิบหันมาเลือกพันธมิตรฝ่ายค้าน เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับคนไทยที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการใช้การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เนื่องจาก มาเลเซียน สึนามิ ได้โค่นล้มบาริซาน เนชันแนลที่กุมอำนาจในรัฐสภามาตลอด 61 ปี สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการเมืองมาเลเซีย โดยไม่อาศัยอำนาจนอกระบบผ่านการทำรัฐประหาร

อดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค แถลงยอมรับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมาเลย์

ที่มาของภาพ, MOHD RASFAN/Getty Images

คำบรรยายภาพ, อดีตนายกฯ นาจิบ ราซัค แถลงยอมรับการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมาเลย์

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่นักวิชาการผู้นี้วิเคราะห์ในบริบทไทยที่แตกต่างจากในมาเลเซีย คือ ความต้องการรักษาอำนาจระหว่างกลุ่มชนชั้นต่างๆ ในไทยต่างมีความต้องการในการใช้อำนาจต่างกัน

"ถ้าเป็นคนไทยระดับกลาง ๆ ถึงล่าง เขาจะเข้าใจว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เป็นอารยะที่ให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ในขณะที่กลุ่มคนระดับบน หรือกลุ่มที่เป็นกลุ่มที่เคยมีอำนาจเดิม ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ จึงทำให้เกิดการใช้วิธีทางลัด คือ รัฐประหาร"

นักประวัติศาสตร์รายนี้ยังแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตั้งคำถามว่า "ถ้าเมืองไทย มีเลือกตั้งปีหน้า สึนามิ จะถล่มกรุงรัตนโกสินทร์ ไหม?"

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

ชี้จุดน่าสนใจ "วุฒิภาวะประชาชน-ระบบพรรคการเมือง"

ปรางค์ทิพย์ ซึ่งทำวิจัยอยู่ในมาเลเซีย กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งมาเลเซีย สามารถเป็นตัวอย่างให้ไทย และประเทศใดก็ได้ ในแง่การศึกษาพัฒนาการทางการเมืองและวุฒิภาวะทางการเมืองของภาคประชาชน

นักวิจัยรายนี้ระบุว่า การพัฒนาการสถาบันทางการเมืองเป็น "สิ่งที่ให้ความรู้มากที่สุด" เพราะพรรคการเมืองของมาเลเซียมีหลายพรรค เก่าแก่ เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน เช่น พรรคอัมโน (United Malays National Organisation - UMNO) สร้างฐานเสียงให้แน่นตลอด 61 ปี แต่ไม่มีการตรวจสอบ"

"แต่เรื่องนี้จบลงแล้ว ภายหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป และกลายเป็นการก้าวไปอีกครั้งหนึ่งของมาเลเซีย มีการเปิดโอกาสให้พรรคอื่น ๆ เข้ามาร่วมบริหารประเทศ" เธอกล่าว

หากย้อนกลับมาพิจารณาในบริบทของไทย ปรางค์ทิพย์บอกว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองของไทยขาดความต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองอาจจะต้องมีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ชัดเจน ในระยะยาวการจะกลายเป็นสถาบันทางการเมืองต้องทำอย่างไร

อีกประเด็นที่นักวิจัยรายนี้ย้ำว่า "วุฒิภาวะของประชาชน" ก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน ต้องรอการเปลี่ยนแปลงมาตลอด 61 ปี และดูเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะเป็นการจุดประกายความหวังแห่งความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากคะแนนเสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

"อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่า เป็นคนไทย เราควรจะมองไปว่า ทำไมชาวมาเลเชียอดทน ทำวิธีคิดวิธีมอง กลับมามองตัวเอง มองได้ไหม เราพร้อมที่จะอดทนไหม ทบทวนสิ่งที่เราคิดในอดีต โดยเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน" ปรางทิพย์กล่าว

มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ราว 7,000 คนในช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ราว 7,000 คนในช่วงเวลา 14 ปีที่ผ่านมา

กระบวนการเจรจาสันติภาพของไทยจะเป็นอย่างไร

ผศ. ดร. อับดุลรอนิง สือแต จากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แสดงความหวังว่ารัฐบาลใหม่ของมาเลเซียภายใต้การทำของมหาเธร์น่าจะแสดงบทบาทเพิ่มขึ้นในกระบวนการเจรจาสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

อาจารย์สาขาวิชาตะวันออกกลางศึกษาผู้นี้ กล่าวกับบีบีซีไทยผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า มหาเธร์เป็นผู้ที่มีบทบาทเรื่องการเจรจาสันติภาพมาก่อน โดยรับหน้าที่เป็นตัวเชื่อมการพูดคุยระหว่างตัวแทนของไทยและกลุ่มผู้ก่อการที่เกาะลังกาวีในปี 2548 หนึ่งปีหลังเกิดเหตุปล้นปืน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวมหาเธร์ก็เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน

เขากล่าวอีกว่า รัฐบาลของพันธมิตรปากาตัน ฮาราปันน่าจะเดินตามแนวทางเดิม และมีแนวโน้มมากว่าจะมีกระบวนการเชิงที่ก้าวหน้ามากกว่าของเดิม ที่นาจิบทำเอาไว้ จากเดิมที่เป็นตัวเชื่อมและอำนวยการอาจจะขยับไป ขอเป็นคนกลางในการเจรจาก็เป็นได้ เนื่องจากว่ามาเลเซียเคยทำสำเร็จในการเจรจาสันติภาพบนเกาะมินดาเนา ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และฝ่ายกองกำลังกบฏมุสลิมมาก่อนหน้านี้

กลุ่มมาราปาตานีขณะร่วมแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อกลางปี 2558

ที่มาของภาพ, Image copyrightMANAN VATSYAYANA/AFP/GETTYIMAGES

คำบรรยายภาพ, กลุ่มมาราปาตานีขณะร่วมแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อกลางปี 2558

"มาเลเซียมองจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเขตติดต่อกันว่า มีความใกล้ชิดทั้งความเป็นพี่น้อง ร่วมชาติพันธุ์ ภาษาและศาสนา ดังนั้นจึงให้การสนับสนุนกับฝ่ายก่อการในบริเวณนี้ แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป แต่เดิมอาจจะมองในมิตินี้มิติเดียว แต่ต่อมามาเลเซียหันมามองในมิติความสัมพันธ์รัฐบาลต่อรัฐบาลมากขึ้น มีผลให้มาเลเซียหันมาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจา เนื่องจากสถานการณ์ในบริเวณนี้ย่อมกระทบถึงมาเลเซียด้วย" เขากล่าว

ผศ.ดร. อับดุลรอนิงกล่าวด้วยว่า "รัฐไทยเองก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาอย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีโอกาสมากขึ้นสำหรับคนในพื้นที่จะเห็นสันติภาพที่ต้องการมานาน"

ทางด้านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดูแลทางด้านความมั่นคง ให้สัมภาษณ์แสดงความมั่นใจว่ากระบวนการเจรจาสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้แม้มาเลเซียจะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เนื่องเพราะทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันตลอดมา