โคโรนา : เกิดอะไรขึ้นบ้างในรอบ 2 สัปดาห์หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในไทย

เทอร์โมสแกน

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ,

กรมควบคุมโรคตั้งอุปกรณ์คัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงไวรัสโคโรนาระบาดในจีน โดยดำเนินการที่ 5 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และเชียงราย

บีบีซีไทยสรุปเหตุการณ์ในรอบ 2 สัปดาห์หลังจากกระทรวงสาธารณสุขแถลงยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกในไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2563

จำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้ต้องสงสัยที่พบในไทยมีกี่คน

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยรายแรกเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2563 เป็นหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี ที่เดินทางมาจากนครอู่ฮั่นเข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 8 ม.ค. นอกจากจะเป็นผู้ป่วยรายแรกที่พบในไทยแล้ว เธอยังเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ตรวจพบนอกประเทศจีน

นับจากวันที่ 13 ม.ค.เป็นต้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อที่พบในไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 8 คน โดยแถลงการณ์ล่าสุดของ สธ. ระบุว่าทั้งหมดเป็น "ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจากต่างประเทศ" และ "ยังไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย"

ล่าสุดวันนี้ (28 ม.ค.) นพ.สุขุม สุขพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงยืนยันว่าพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 6 ราย ทั้งหมดเป็นชาวจีนที่เดินทางเข้ามาไทยช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมผู้ติดเชื้อที่พบในไทยทั้งหมด 14 ราย

นักท่องเที่ยว

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

คนจีนเดินทางมาประเทศไทยปีละประมาณ 10 ล้านคน

รัฐบาลไทยทำอะไรบ้าง

เดิมทีมีเพียง สธ.ที่ดูแลเรื่องนี้เป็นหลัก แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 8 คน พร้อมกับที่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน (ทางการจีนแถลงเมื่อ 27 ม.ค. ว่ามีผู้ติดเชื้อกว่า 2,700 คนและผู้เสียชีวิต 80 คน) จึงเริ่มมีการบูรณาการหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดเป็นการประชุมร่วม 3 กระทรวงอย่างเร่งด่วนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้แทนกระทรวงคมนาคมเข้าประชุม

แถลงข่าว

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

คำบรรยายภาพ,

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข แถลงผลการประชุมมาตรการรับมือไวรัสโคโรนา ระหว่าง 3 กระทรวง--สาธารณสุข คมนาคม และการท่องเที่ยวฯ

ขณะที่กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รับหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาลจีน รวมทั้งเตรียมแผนการอพยพคนไทยจากจีนกลับบ้าน

ที่สนามบินสุวรรณภูมิมีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนเพื่อวัดอุณหภูมิผู้โดยสารของเที่ยวบินเป้าหมายที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่กักกันโรคคอยตรวจสอบผู้โดยสารที่เปลี่ยนเครื่องจากจีน

หลายคนมองว่ารัฐบาลตอบสนองต่อสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดค่อนข้างล่าช้า ทั้งยังถูกมองว่าห่วงรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนมากกว่าห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ส่งผลให้แฮชแท็ก #รัฐบาลเฮงซวย พุ่งขึ้นอันดับต้น ๆ ของเทรนด์ทวิตเตอร์ในไทยในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

การตอบโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐเรื่องการคัดกรองผู้โดยสารจากจีนด้วยท่าทีค่อนข้างฉุนเฉียวของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ยิ่งทำให้รัฐบาล "โดนหนัก" กว่าเดิม โดยวันที่ 25 ม.ค.เขาโพสต์เฟซบุ๊กว่า "ก็วันนี้เขายกเลิกไฟล์ทจากอู่ฮั่นแล้ว สนามบินจะตั้งเครื่องตรวจคนไข้ ที่ GATE ของไฟล์ทนี้หาสวรรค์วิมานทำไมล่ะคร้าบ คิดนิดนึงก่อนว่ากล่าวกัน"

ทั้งนี้ สายการบินที่มีเที่ยวบินตรงจากนครอู่ฮั่นมาสู่สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินภูเก็ตได้ยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.

ข้าม Facebook โพสต์ , 1

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1

ไม่ว่าจะเป็นเพราะแฮชแท็กนี้หรือไม่ก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมจึงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนช่วงเช้าวานนี้ (27 ม.ค.) ด้วยอารมณ์ไม่ค่อยดีนัก โดยบอกว่ารัฐบาลของเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่เคยหยุดทำงาน และเตรียมความพร้อมไว้นานนับเดือนแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องแถลงทุกเรื่องว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง

ช่วงเย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจชี้แจงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาและการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการเตรียมเครื่องบินไปรับคนไทยในจีนทันทีที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

คำบรรยายภาพ,

การแถลงผ่านทีวีพูลของนายกฯ มีขึ้น 14 วัน หลังจาก สธ.ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อในไทยรายแรกเมื่อ 13 ม.ค.

กต. ขยับตัวเช่นกันด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกของ "คณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน" ช่วงบ่ายวันที่ 27 ม.ค. มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเข้าร่วมเพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลืออพยพคนไทยในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์และพื้นที่อื่น ๆ ในจีน

นักท่องเที่ยว

ที่มาของภาพ, Getty Images

ก่อนหน้าเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา มีสายการบินตรงจากอู่ฮั่นมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที ถึงกรุงเทพฯ มีผู้โดยสารขาเข้าเฉลี่ยวันละ 1,200 คน แต่หลังจากเกิดวิกฤตไวรัสโคโรนา จีนได้ยกเลิกเที่ยวบินจากนครอู่ฮั่นทั้งหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่และเชียงรายยังคงมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารจากเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับสองรองจากอู่ฮั่น

ไทยคัดกรองคนจากจีนไปแล้วเท่าไหร่

วันนี้ (28 ม.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงเมื่อเวลา 11.20 น.ว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาใหม่เพิ่มอีก 6 ราย เป็นชาวจีนทั้งหมดที่เดินทางเข้าไทยมาราว 1 สัปดาห์ รวมผู้ติดเชื้อที่พบในไทย 14 ราย

"เราเจอผลบวกไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ (ที่เป็นไข้หวัดอู่ฮั่น) ของผู้ป่วยที่เราตรวจทั้งหมด"

คำถามที่ว่าในไทยมีนักท่องเที่ยวจีนมาแค่ไหน จากข้อมูลการตรวจคัดกรองโรคที่สนามบิน 5 แห่ง (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่) ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. เป็นต้นมา มีการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง จำนวน 21,522 ราย

ต่อมาวันที่ 24-27 ม.ค. ได้มีการตรวจคัดกรองเพิ่มเที่ยวบินที่มาจากเมืองกว่างโจว และฉางชุน 29 เที่ยวบิน

จนถึงวันที่ 28 ม.ค. มีผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าระวัง 136 ราย เป็นการคัดกรองจากสนามบิน 29 ราย เข้ามาที่โรงพยาบาลอง 107 ราย ยังคงรับไว้ที่ห้องแยกโรคทั้งหมด 81 ราย และอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 55 ราย

ประเทศอื่นทำอะไรไปแล้วบ้าง และทำไมไทยไม่ระงับผู้โดยสารจากจีน

- สหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนพลเมืองของจนเองพิจารณาการเดินทางไปยังประเทศจีน และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปที่มณฑลหูเป่ย์ นอกจากนี้ยังมีแผนการอพยพพลเมืองสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่กงสุล ออกจากเมืองอู่ฮั่นในเร็ววันนี้

- ญี่ปุ่น เตรียมการอพยพพลเมืองญี่ปุ่นในอู่ฮั่น เช้าวันพุธ (29 ม.ค.) ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ โดยมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์บินไปด้วยเพื่อติดตามสุขภาพของผู้โดยสาร และจะถูกติดตามอาการของไวรัสโคโรนาภายหลังจากกลับประเทศเป็นเวลา 2 สัปดาห์

- ฟิลิปปินส์ ประกาศยุติการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival) แก่นักท่องเที่ยวจีน

- มาเลเซีย เพิ่งประกาศยุติการให้บริการขอวีซ่าทุกช่องทาง แก่ผู้ถือสัญชาติจีนที่มาจากอู่ฮั่น และมณฑลหู่เป่ย์ เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) ทั้ง ผ่านคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส แต่จะกลับมาให้บริการเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

ส่วนประเทศไทย แจ้งให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศจีน ส่วนการช่วยคนไทยในจีน กระทรวงการต่างประเทศ แถลงวานนี้ (27 ม.ค.) ว่าประเทศจีนยังไม่อนุญาตให้ประเทศใดเข้าไป แต่จะเตรียมพร้อมหากจีนอนุญาตและจำเป็น ก็พร้อมเข้าพื้นที่ นอกจากนี้ กต. ยังอ้างว่ายังไม่มีรายงานว่ามีคนไทยแจ้งความประสงค์ขอกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะยังมีคนไทยในอู่ฮั่นหลายคนที่ออกมาโพสต์ทางโซเชียลมีเดียในเรื่องนี้ต่างจากที่ทางการแถลง

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าววันนี้ ว่า อย่างน้อยอยากบอกให้ครอบครัวได้อุ่นใจว่ามีแผนรับกลับแล้วพร้อมดำเนินการได้ทันที และได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศไปช่วยคนไทยแล้ว

"วันนี้เรามีข้อมูลอยู่แล้ว พร้อมรับกลับทันที หากได้รับอนุญาตจากทางการจีน" นายกฯ ระบุ

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกหลังการแถลงที่กระทรวงสาธารณสุขว่า รัฐบาลเป็นห่วงคนไทย แต่เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก ไม่คิดมิติเดียว และที่ผ่านมาในอดีตก็ไม่เคยมีครั้งไหนที่ไทยปิดห้ามการเดินทางเข้า ประเทศเมื่อมีภาวะการระบาดของโรค

"ภาคการท่องเที่ยวโทรมาคุยว่าจะมีมาตรการอะไรที่แรงกว่านี้อีกไหม เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ เขาเจ็บกันมาก ถ้าเกิดว่าไปไกลกว่านี้ ก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากมาย" นพ.ธนรักษ์บอกกับบีบีซีไทย

ทำไมต้องมีการกั้นคนออกนอกประเทศ (Exit screening)

จากข่าวที่ปรากฏที่สนามบินภูเก็ตเกี่ยวกับสายการบินจีนปฏิเสธรับกลุ่มผู้โดยสารจีน 10 คนขึ้นเครื่องกลับประเทศ เพราะมีเด็กหญิงไข้ขึ้นสูง มีคำชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน

คนไทยในกรุงเทพ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

คนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ตามย่านรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ตื่นตัวป้องกันไวรัสด้วยการใส่หน้ากากอนามัย

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เป็นหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการบิน ที่ไม่ให้ผู้ป่วยขึ้นเครื่องบินอยู่แล้ว ตามที่ประเทศปลายทางกำหนด ขณะนี้มีเพียงประเทศจีนเท่านั้นที่ร้องขอให้ไทยดำเนินการ

"ถ้าเราเจอผู้ป่วย กัปตันก็จะไม่ยอมให้ขึ้นเครื่องอยู่แล้ว"

ไวรัสโคโรนาติดต่อทางทางระบบทางเดินอาหารหรือไม่

นพ.ธนรักษ์อธิบายว่าการแพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินอาหารเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ทางเดินหลักในการแพร่ระบาดในรอบนี้ และชี้ว่ามีโอกาสเป็นไปได้ยากมาก

การแพร่เชื้อโดยระบบทางเดินอาหาร อาจเกิดขึ้นเมื่อคนขับถ่ายออกมาจากห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ เอามือไปแตะอาหาร ถ้าพูดในลักษณะนี้ก็เรียกว่าเกิดการแพร่เชื้อผ่านทางระบบทางเดินอาหารได้ แต่ไม่ใช่ช่องทางหลักในการระบาดครั้งนี้

ส่วนในคนที่ไม่มีอาการ แพร่เชื้อโรคจากลำคอได้หรือไม่ ตอบว่ามีโอกาส หากอยู่ใกล้ชิดอย่างการพูดคุยกัน ถึงแม้ไม่ได้ไอก็สามารถแพร่ได้หากไม่ใส่หน้ากากป้องกัน

รัฐแนะนำคนไทยอย่างไรบ้าง

ปลัด สธ. บอกในวันนี้ว่า จากนี้จะมีการขยายการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์

"เรายอมรับว่าการคัดกรองนี้ถึงจะดี 100 เปอร์เซ็นต์ยังไง ก็อาจจะมี (ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา) บางส่วนที่ผ่านได้ เพราะเขาอาจจะไม่มีไข้ในระยะฟักตัวหรือกินยาลดไข้มา" นพ.สุขุมอธิบาย

คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันตัวเองอย่างการสวมใส่หน้ากากอนามัย และแนะนำให้คนไทยที่ต้องอยู่ใกล้ชิดนักท่องเที่ยวจีน อย่างผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ศูนย์การค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ตลอดจนพนักงาน คนขับรถสาธารณะให้ช่วยกันสังเกตอาการของนักท่องเที่ยวจีนที่มาใช้บริการ หากพบว่ามีอาการไข้หวัดก็อาจให้คุยและให้คำแนะนำว่าให้ไปพบแพทย์

ส่วนคนที่ทำงานในสถานที่เหล่านี้ก็ต้องดูแลตัวเองในเบื้องต้นคือมาตรการ "กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ใสหน้ากากอนามัย" โดย สธ. จะเตรียมจัดส่งหน้ากากอนามยและแอลกอฮอล์ล้างมือให้สถานที่ที่ต้องการ