วิษณุ: เลือกตั้งเร็วสุด 24 ก.พ. 62

เลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพ, 24 ก.พ. 2562 คือกำหนดวันเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ตามที่นายวิษณุ เครืองาม เปิดเผย

รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาเปิดเผยวันเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก ซึ่งเร็วที่สุดคือ 24 ก.พ. 2562 หรือช้าที่สุดคือ 5 พ.ค. 2562

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้ ภายหลังการประชุมหารือ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล คสช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และพรรคการเมือง เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี ช่วงบ่ายที่ผ่านมา มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน

นายวิษณุบอกว่า วันที่เหล่านี้เสนอโดยระดับเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. โดยกำหนดให้เป็นทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือน ซึ่งนอกจากเดือน ก.พ. และ พ.ค. ยังมีวันที่ 31 มี.ค. 2562 และ 28 เม.ย. 2562 อย่างไรก็ตามเขาย้ำว่า "นี่เป็นเพียงตุ๊กตา ขอความกรุณาอย่าไปพาดหัวข่าวว่าเอาล่ะเว้ย เลือกตั้ง 24 ก.พ." พร้อมระบุว่าผู้มีอำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งคือ กกต. ไม่ใช่รัฐบาล คสช. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบปฏิทินนี้แล้ว จึงไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสว่าการจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในเดือน ก.พ. 2562 เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

วิษณุ เครืองาม

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายวิษณุอ้างว่า ตุ๊กตาให้จัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์สิ้นเดือน เป็นข้อเสนอของ กกต. ซึ่งอ้างว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ทั้งหมดนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น นายวิษณุชี้ว่าขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ประการ ประกอบด้วย 1. ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2. การได้รับพระราชทานร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 3. การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ 4. การเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใด และ 5. ความสงบเรียบร้อยโดยทั่วไปของบ้านเมือง

"หากเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ถือว่าวางใจได้ แต่ถ้าจะเกิดเหตุใดในอนาคต ก็อาจจะกระทบต่อกำหนดเวลาของการเลือกตั้ง" นายวิษณุกล่าว

ประวิตร

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุววรณ รองนายกรัฐมนตรี (ตรงกลาง) และนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. (ขวามือ) ร่วมหารือกับพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองได้สะท้อนความกังวลใจและยื่นข้อเรียกร้องต่าง ๆ ซึ่งนายวิษณุสรุปสาระสำคัญได้ 4 ประเด็น พร้อมเสนอแนวทาง "ปลดล็อก" ปัญหา ซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนเวลาในการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้สูตร 90+90+150 (กระบวนการทูลเกล้าฯ และรอการโปรดเกล้าฯ พระราชทานกฎหมายลงมาภายใน 90 วัน, กำหนดให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ใน 90 วันหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้) ซึ่งนายวิษณุบอกว่าในช่วง 90 วันแรกที่รอกฎหมาย "จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น" ส่วนการ "ปลดล็อก" ปัญหาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นใน 90 วันช่วงที่สอง

รัฐบาลได้นำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปเมื่อ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่า 90 วันช่วงที่สอง จะอยู่ในระหว่าง 15 ก.ย.-15 ธ.ค. ทั้งนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าวตามที่รองนายกฯ ชี้แจงมีรายละเอียด ดังนี้

  • ประเด็นแรก การประชุมใหญ่ของพรรค : ให้พรรคการเมืองจัดการประชุมได้ แต่ในระหว่างนี้หากพรรคใดต้องการเรียกประชุมให้ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. เป็นรายกรณีไป ซึ่งที่ผ่านมา คสช. อนุญาตให้ตามคำขอ 40 จากทั้งหมด 60 รายการ
พรรคการเมือง

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, นายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา (ซ้ายมือ) ระบุว่าการไม่ปลดล็อกการเมือง ทำให้เกิดปัญหาแบบ "งูกินหาง" คือพรรคไม่สามารถปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ และ คสช. ก็ต้องมาแก้ไขเงื่อนเวลาที่กำหนดในคำสั่งและกฎหมายต่าง ๆ
  • ประเด็นที่สอง การจัดตั้งสาขาพรรค : จะปลดล็อกให้พรรคจัดประชุมใหญ่, ทำการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี) และคัดเลือกตั้งผู้สมัครได้โดยไม่ต้องมี "หัวหน้าสาขา" ครบทั้ง 4 ภาค
  • ประเด็นที่สาม การแบ่งเขตเลือกตั้ง : กกต. จะใช้เวลา 60 วันในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และอีก 30 วันในการทำไพรมารี ซึ่งเป็นกำหนดเท่ากับ 90 วันช่วงที่สองพอดี
  • ประเด็นที่สี่ การจัดการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี) : พล.อ.ประวิตรรับข้อเสนอในที่ประชุมพรรคการเมืองวันนี้ ไปแจ้งต่อที่ประชุม คสช. กกต. และ กรธ. โดยมี 3 แนวทางคือ เปลี่ยนการทำไพรมารีแบบรายเขตเป็นแบบรายภาค หรือให้ยกเลิกระบบไพรมารีไปเลย หรือให้เลื่อนการนำไพรมารีไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแทน

ในการ "ปลดล็อก" ปัญหาทั้ง 4 ประเด็นนี้ นายวิษณุยอมรับว่าต้องแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนจะแก้ด้วยวิธีไหนอย่างไร ยังไม่ขอเปิดเผย แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็ยังไม่ใช่การ "ปลดล็อกอย่างสิ้นเชิง" เพราะถ้าจะเป็นเช่นนั้น ต้องยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ซึ่งไม่สามารถตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร จนกว่าจะมีการประชุมครั้งที่ 2 ภายหลัง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้ ซึ่งนายกฯ เป็นประธานเอง

"ในการประชุมครั้งที่ 2 จะทราบทั้งเรื่องการปลดล็อก และทราบวันเลือกตั้ง" นายวิษณุกล่าว

พรรคการเมือง

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ตัวแทนพรรคการเมือง ถูกห้ามไม่ให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องประชุม หลังมีกฎห้ามถ่ายทอดสดเฟซบุ๊กไลฟ์ ห้ามบันทึกเสียงและภาพ

ในการประชุมวันนี้ มีผู้แทนจาก 74 พรรค รวม 199 คนเข้าร่วม โดยทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปในห้องประชุมตลอดเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการถ่ายทอดสดเฟซบุ๊กไลฟ์ และการบันทึกเสียงและภาพ มีเพียงเจ้าหน้าที่สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ที่ได้รับคำสั่งให้บันทึกวิดีโอตลอดงานเพื่อ "ใช้เป็นข้อมูลภายใน" ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาตัวแทนที่มาร่วมประชุมเป็นระดับรอง ๆ ลงไป ไม่ใช่ผู้นำสูงสุดไม่ว่าจะเป็นฝ่าย คสช. หรือพรรคการเมืองก็ตาม มีเพียงบางพรรคเท่านั้นที่หัวหน้าพรรคมาประชุมเอง นอกจากนี้ยังไร้เงาแกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ตามที่ประกาศไม่ขอเข้าร่วมประชุมครั้งนี้

4 ปีรัฐประหาร เรียกนักการเมืองร่วมประกอบพิธีกรรมในสโมสร ทบ. 3 ครั้ง

ย้อนไปเมื่อ 22 พ.ค. 2557 การประกาศยึดอำนาจก็เกิดขึ้นภายในสโมสรทหารบกแห่งนี้หลังการเจรจา 7 ฝ่ายไม่เป็นผล ต่อมาแกนนำพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองได้รับเชิญให้มาประชุมร่วมกับ คสช. ภายในสโมสรทหารบกอย่างน้อย 3 ครั้ง

  • 9 ส.ค. 2557 ร่วมรับฟังหัวหน้า คสช. ประกาศ "เส้นทางการปฏิรูปประเทศไทย"หรือ "คิ๊กออฟ" สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยไม่เปิดให้ซักถาม
  • 19 พ.ค. 2559 ร่วมประชุมชี้แจงเรื่อง "ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน" ก่อนลงประชามติ โดยหลายพรรคการเมืองได้เรียกร้องให้ คสช. ปลดล็อกทางการเมือง
  • 25 มิ.ย. 2561 ฟังความคิดเห็นต่อการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นปลดล็อกทางการเมือง ก็ยังเป็นเรื่องเดิมที่ถูกหยิบยกมาพูดกัน