สหรัฐฯ ยืนยันเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปจริง

สถานีโทรทัศน์ของทางการเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพขีปนาวุธฮวาซอง-14 ที่ยิงทดสอบวานนี้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สถานีโทรทัศน์ของทางการเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพขีปนาวุธฮวาซอง-14 ที่ยิงทดสอบวานนี้

ทางการสหรัฐฯ แถลงยืนยันว่า ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบเมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) เป็นขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ตามที่เกาหลีเหนือกล่าวอ้างจริง และขีปนาวุธนี้อาจยิงโจมตีได้ไกลถึงพื้นที่รัฐอะแลสกา

นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวทำให้เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และต่อโลกยิ่งขึ้นไปอีก โดยสหรัฐฯ ขอประณามการยิงทดสอบขีปนาวุธดังกล่าวอย่างรุนแรง และขอเตือนว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้เกาหลีเหนือติดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาด

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังกล่าวว่า ทั่วโลกควรต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อหยุดยั้งภัยคุกคามโลกในครั้งนี้ โดยชาติที่ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือทางทหารต่อเกาหลีเหนือ รวมทั้งชาติที่ไม่ปฏิบัติตามมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือของสหประชาชาติอย่างเคร่งครัดนั้น ถือว่าเป็นผู้ค้ำจุนสนับสนุนระบอบที่เป็นภัยอันตราย

ด้านนางดานา ไวท์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า เพื่อเป็นการตอบโต้การยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ กองทัพสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้จัดการซ้อมรบร่วมเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการโจมตีอย่างแม่นยำของตนแล้ว

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังยื่นขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นภายในวันนี้ (5 ก.ค.) เพื่อให้ชาติสมาชิกทั้ง 15 ชาติ ได้หารือกันในประเด็นปัญหาเกาหลีเหนือโดยด่วน

สหรัฐฯ จะป้องกันตนเองจากขีปนาวุธเกาหลีเหนือได้หรือไม่ ?

เมื่อวานนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนืออ้างว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป โดยสื่อของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุด ได้ไปกำกับการยิงทดสอบขีปนาวุธ "ฮวาซอง-14" ด้วยตนเอง โดยขีปนาวุธดังกล่าวพุ่งทะยานไปเป็นระยะทาง 933 กิโลเมตร เป็นเวลา 39 นาที และขึ้นสู่ระยะสูงสุดบนท้องฟ้าที่ 2,802 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ก่อนจะดิ่งลงมาทำลายเป้าหมายในน่านน้ำที่คาดว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น

เกาหลีเหนือยังประกาศว่า ขณะนี้ตนคือมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีขีปนาวุธที่สามารถโจมตีภูมิภาคใดของโลกก็ได้ ส่วนสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ของทางการเกาหลีเหนือ รายงานว่านายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดกล่าวว่าขีปนาวุธนี้คือของขวัญที่ขอมอบให้ชาวอเมริกันเนื่องในวันชาติสหรัฐฯ

นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ไปกำกับการยิงทดสอบขีปนาวุธ "ฮวาซอง-14" ด้วยตนเอง

ที่มาของภาพ, KCNA/REUTERS

คำบรรยายภาพ, นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ไปกำกับการยิงทดสอบขีปนาวุธ "ฮวาซอง-14" ด้วยตนเอง

นายเดวิด ไรท์ นักฟิสิกส์จากสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงกังวลต่อปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำกรุงโซลว่า หากรายงานข้อมูลต่างๆ ของขีปนาวุธดังกล่าวเป็นจริง คาดได้ว่าขีปนาวุธนี้จะมีพิสัยยิงได้ไกลสูงสุดราว 6,700 กิโลเมตร ซึ่งไม่ไกลพอที่จะโจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ หรือฮาวาย แต่สามารถยิงโจมตีพื้นที่ของรัฐอะแลสกาทั้งหมดได้

นายโจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวด้านการทูตและการทหารของบีบีซี รายงานว่า ความสำเร็จล่าสุดในการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือนั้นน่ ากังวลสำหรับสหรัฐฯ อย่างยิ่ง เพราะชี้ว่าเกาหลีเหนืออาจพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น สร้างหัวรบนิวเคลียร์ที่เล็กพอจะติดตั้งบนขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป หรือพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ให้ทนทานแรงต้านมหาศาล ขณะที่ขีปนาวุธตกกลับเข้ามาในบรรยากาศโลกเพื่อโจมตีเป้าหมายได้ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งอาจยังอยู่ในสมัยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เป็นได้

แม้สหรัฐฯ จะลงทุนไปมหาศาลเพื่อสร้างระบบดาวเทียมตรวจจับขีปนาวุธ รวมทั้งติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในและนอกประเทศหลายแห่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคงเชื่อว่าระบบเหล่านี้ไม่พร้อมต่อการป้องกันดินแดนของสหรัฐฯ และพันธมิตรได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ก็กำลังเร่งปรับปรุงระบบนี้อยู่ โดยมีการเตรียมจรวดต่อต้านขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่ทันสมัยขึ้นเอาไว้เปลี่ยนทดแทนแล้ว แต่คาดว่ายังมีจำนวนน้อยกว่าที่จะรับมือกับภัยคุกคามได้ หากเกาหลีเหนือเปิดฉากโจมตีสหรัฐฯ หรือชาติพันธมิตรด้วยขีปนาวุธขึ้นมาจริง

ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯนั้นยังคงห่างไกลจากความฝันในโครงการ "สตาร์ วอร์ส" ของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน อย่างมาก รวมทั้งการสร้างเกราะป้องกันขีปนาวุธที่แข็งแกร่งและครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์แบบในนิยายวิทยาศาสตร์ หรือในภาพยนตร์เรื่องกัปตันอเมริกานั้นยังคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป และสหรัฐฯ ยังคงไม่มีเทคโนโลยีระดับสูงพอที่จะทำเช่นนั้นได้

ส่วนระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ เท่าที่มีอยู่นั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่ายังคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องจากการทดสอบใช้งานที่ผ่านมายังคงได้ผลไม่แน่นอน และแม้แต่การจัดทดสอบโดยละเอียดในสถานการณ์จำลองที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ก็ยังนับว่าห่างไกลจากเงื่อนไขต่างๆ ของการใช้งานในสถานการณ์จริงเป็นอย่างมากอยู่ดี

ไม่นานมานี้สหรัฐฯ ลงทุนสนับสนุนให้อิสราเอลหันมาพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการทดสอบระบบเบื้องต้นชี้ว่าประสบความสำเร็จด้วยดี อย่างไรก็ตาม หากต้องเจอเข้ากับการระดมโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ ก็ยังไม่แน่ว่าระบบป้องกันขีปนาวุธที่พัฒนาใหม่นี้จะรับมือไหว