เทสโก้ โลตัส : การเข้าซื้อกิจการของอังกฤษโดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกไทยจะนำไปสู่การผูกขาดได้หรือไม่

ห้างเทสโก้โลตัส

ที่มาของภาพ, AFP

เทสโก้ กลุ่มค้าปลีกรายใหญ่จากอังกฤษ เปิดรับซองประมูลซื้อกิจการในไทยและมาเลเซีย เมื่อ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ตระกูลค้าปลีก 3 รายใหญ่ ของไทยจะเข้าประมูล ขณะที่ยังมีข้อกังขาว่า ธุรกรรมมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทนี้จะเข้าข่ายขัดกับกฎหมายการแข่งขันการค้า เป็นอุปสรรคต่อการควบรวมกิจการค้าปลีกครั้งใหญ่นี้หรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อวัน 8 ธ.ค. ปีที่แล้ว เทสโก้ ธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ ได้ประกาศทบทวนยุทธ์ศาสตร์ทางธุรกิจในไทยและมาเลเซีย หนึ่งในนั้นคือความเป็นไปได้การขายสินทรัพย์ เนื่องจากรับมีผู้สนใจเข้ามาซื้อกิจการดังกล่าว

ในระหว่างนั้น สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างจับตาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพอที่จะเข้าร่วมการประมูลธุรกิจดังกล่าวที่บริหารร้านค้า 1,967 สาขาในไทยและอีก 74 แห่งในมาเลเซีย ซึ่งสื่อมวลชนต่างชาติต่างคาดการณ์ว่ามูลค่าอาจจะสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3 แสนล้านบาท

ปรากฏชื่อ เจ้าสัวซีพี-กลุ่มเซ็นทรัล-กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ลงชิงชัย

สำนักข่าวต่างชาติ เช่น บลูมเบิร์ก ไฟแนลเชียลไทม์ และรอยเตอร์ รวมทั้งสื่อมวลชนไทยต่างคาดการณ์เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ได้แก่

  • เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ ซีพี ของนายธนินท์ เจียรวนนท์
  • กลุ่มเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์
  • กลุ่มทีซีซี ธุรกิจใต้บังเหียนของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี

มีใครบ้างที่ยื่นซองประมูลแล้ว

จนถึงขณะนี้ มีเพียง กลุ่มธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เท่านั้นที่ออกมายอมรับว่าได้แสดงความจำนงเพื่อเข้าประมูลกิจการกิจการเทสโก้โลตัสแล้ว

เรื่องดังกล่าวได้รับการยืนยันจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในวันที่ 16 ม.ค. ของนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า บริษัทมีความสนใจที่จะซื้อกิจการของ เทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย เพื่อนำมาต่อยอดกิจการในกลุ่มค้าปลีกของบริษัทในเครือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารรายนี้ ระบุอีกว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยอย่างอื่น เช่น ขึ้นอยู่กับราคา การแข่งขัน และข้อกฏหมายต่างๆ อีกด้วย

ด้านเครือเซ็นทรัลของตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งถือเป็นครอบครัวมหาเศรษฐีที่มีสินทรัพย์รวมกว่า 6.7 แสนล้านบาท ยังไม่ไม่ขอออกความเห็นใด ๆ ต่อเรื่องดังกล่าว

ในวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา นายญนน์โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวแผนการเสนอขายหุ้นบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเข้าซื้อกิจการของเทสโก้โลตัส ประเทศไทยหรือไม่ เขาตอบว่า ขอไม่แสดงความคิดเห็นแต่กล่าวเพียงว่า

"จะมีเทสโก้หรือไม่ ก็ไม่มีผลต่อแผนงานธุรกิจตามแผนที่กำหนดไว้ และเป้าหมายทางธุรกิจ"

ส่องธุรกิจผู้ที่คาดว่าจะเป็นประมูล

เมื่อพิจารณาธุรกิจค้าปลีกภายใต้การบริหารของทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ล้วนมีศักยภาพต่อยอดทางธุรกิจได้อีกมากมายมหาศาล เช่น กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าสะดวกซื้อ "ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น" ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 11,700 สาขา ในขณะเดียวกัน ธุรกิจของเครือซีพียังเป็นเจ้าของธุรกิจค้าส่งอย่างห้างแม็คโครอีก 137 สาขา ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ราว 38%

ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบัน "ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น" ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 11,700 สาขา

สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล นั้นถือว่ามีเครือข่ายค้าปลีกครอบคลุมหลายกลุ่ม อาทิ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 32 สาขา ห้างโรบินสัน 49 สาขา ท็อปส์ 265 สาขา นอกจากนี้ยังมีเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ และร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทอีกกว่า 1,000 สาขา

ภาพในห้าง

ที่มาของภาพ, Getty Images

ส่วนกลุ่มธุรกิจของนายเจริญ ซึ่งเพิ่งเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกได้ไม่นานหลังจากคว้าสิทธิ์การบริหารห้างค้าปลีกอย่างบิ๊กซี ภายใต้การบริหารโดยบริษัท บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริหารจัดการจำนวน 1,231 สาขา แบ่งเป็นรูปแบบมินิ บิ๊กซี มากที่สุด 1,018 สาขา ตามมาด้วยรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 150 สาขา และรูปแบบมาร์เก็ต 63 สาขา

เข้าข่ายผูกขาดตลาดค้าปลีกหรือไม่

คำถามที่ตามมา คือ หากผู้ประกอบการรายใหญ่ควบรวมกิจการกันแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อโครงสร้างของธุรกิจค้าปลีกและจะทำให้เกิดภาวะการมีอำนาจเหนือตลาดหรือผูกขาดในตลาดหรือไม่

หน้าห้างบิกซี
Getty Images
ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 'บิ๊กซี'

บริหารโดยบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

  • บริหารธุรกิจค้าปลีกจำนวน1,231 สาขา

  • - แบบมินิ บิ๊กซี1,018 สาขา

  • - แบบไฮเปอร์มาร์เก็ต150 สาขา

  • - แบบมาร์เก็ต 63 สาขา

  • เครือธุรกิจของ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" มหาเศรษฐีที่มีสินทรัพย์5.17 แสนล้านบาท*

Source: บีบีซีไทยรวบรวม l *ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บ

ศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) บอกกับบีบีซีไทยว่า ในกรณีเฉพาะเทสโก้โลตัส การควบรวมกิจการดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง และจับตาการประมูลครั้งนี้อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของเทสโก้และความเป็นไปได้หากว่ามีการควบรวมกิจการจริง ๆ และรวมทั้งผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการควบรวมสำเร็จ

เมื่อถามว่า ผู้ที่จะเข้าการประมูลต้องยื่นเรื่องก่อนหรือหลังการประมูล ศ. ดร.สกนธ์บอกว่า "จริง ๆ แล้ว สามารถดำเนินการซื้อขายกันได้เลย แต่ต้องมาขออนุญาตจากคณะกรรมการฯ ว่าเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ซึ่งจะอนุมัติหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ หากไม่ได้รับการอนุมัติ ก็ไม่สามารถทำให้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นสมบูรณ์ทางกฎหมายได้"

คณะกรรมการฯ มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาตามกฎหมายราว 90 วัน อย่างไรก็ตาม หากมีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงแล้ว แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตจาก กขค. หรือในกรณีฝ่าฝืน ต้องถูกลงโทษทางปกครอง โดยกำหนดปรับสูงสุดในอัตรา 0.5% ของมูลค่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นในการควบรวมกิจการ

อะไรคือเงื่อนไขที่คณะกรรมการจะพิจารณา

ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า บอกว่า มี 3 ประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่

  • โครงสร้างธุรกิจว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ โดยมี 2 เงื่อนไขหลักคือ ยอดรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท และมีสัดส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% ถ้าเข้าเงื่อนไขเหล่านี้จะถือว่าเป็น "ผู้ที่อำนาจเหนือตลาด" หรือ กรณีที่ผู้ประกอบการ 3 รายแรก มีสัดส่วนการตลาดรวมกันเกิน 75% โดยแต่ละรายจะต้องมียอดขายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
  • การวิเคราะห์ผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงผลกระทบ ต่อการแข่งขันในภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของซัพพลายเออร์ หรือกลุ่มผู้จัดหาสินค้าและบริการ และผลกระทบต่อผู้บริโภค
  • การพิจารณาโครงสร้างโดยรวมทั้งหมด ว่าทำให้โครงสร้างตลาดโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณา

ดร. สกนธ์ ยอมรับว่า ขณะนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินว่า การควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้นเป็นการผูกขาดตลาดหรือไม่ เนื่องจากต้องมาพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมอีก เช่น ในบรรดารายชื่อที่ปรากฏเป็นข่าวมีโครงสร้างธุรกิจที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ธุรกิจของเทสโก้โลตัส ที่อยู่ในธุรกิจค้าปลีกยังมีรายละเอียดที่แยกย่อยไปอีก เช่น มีร้านค้าหลากหลายประเภท เช่น ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคานท์สโตร์ หรือ ร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น

"รายละเอียดเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อการพิจารณาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่" เขาอธิบาย

เมื่อถามถึง กรณีที่ต้องอนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการ กขค. มีมาตรการอย่างไรเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรมตาม พ.ร.บ. การแข่งขันการค้า พ.ศ. 2560 ดร.สกนธ์ กล่าวว่า ตามกฎหมาย คณะกรรมการยังมีอำนาจในการตั้งเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจได้ อาทิ การสั่งห้ามไม่ให้ไปซื้อบริษัทในธุรกิจเดียวกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้กันในต่างประเทศ