ไวรัสโคโรนา : คนไร้บ้านในอังกฤษอยู่กันอย่างไรในภาวะปิดเมืองสู้โควิด-19

Rough sleeper

ที่มาของภาพ, Getty Images

35 ปีมาแล้วที่องค์กรการกุศล The People's Kitchen หรือแปลเป็นไทยว่า "ครัวของผู้คน" ที่เมืองนิวคาสเซิลในอังกฤษเปิดต้อนรับให้บริการคนไร้บ้านและกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

โบสถ์หลังเก่าซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงครัวแห่งนี้มีโต๊ะอาหารที่รองรับคนยากไร้ได้ 120 คน ครัวขนาดใหญ่ได้มาตรฐานที่อยู่ด้านหลังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้ยากไร้ได้อิ่มท้อง

แต่วันนี้ ที่นี่ว่างเปล่า

อาสาสมัครเปลี่ยนไปเสิร์ฟซุป แซนด์วิช เค้ก และขนม ที่ลานจอดรถ ส่วนตอนเย็น ก็จะให้คนไปรับอาหารร้อนจากรถตู้แทน

นี่คือปัญหาใหม่ที่คนไร้บ้านและองค์กรการกุศลต่าง ๆ ต้องเผชิญขณะที่ภาครัฐพยายามจะป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ครัวที่ให้บริการซุปเพื่อคนยากไร้หลายแห่ง รวมถึงที่ดำเนินการโดยโบสถ์คริสต์ ได้ปิดตัวลงแล้ว

People's Kitchen building

ที่มาของภาพ, People's Kitchen

คำบรรยายภาพ, Up to 30% of the People's Kitchen workforce, over the age of 70, have reluctantly had to stop volunteering

The People's Kitchen ประเมินว่าพวกเขามีอาสาสมัครช่วยงานน้อยลงไป 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะจำเป็นต้องขอให้อาสาสมัครที่มีอายุเกิน 70 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโควิด-19 อยู่กับบ้าน

คนไร้บ้านคนหนึ่งที่ชื่อโซฟีบอกว่า บริการขององค์กรการกุศลแห่งนี้ทำให้เธอมีชีวิตต่อไปได้

"ฉันกลัวมาก โฮสเทลจำนวนมากไม่รับคนแล้วเพราะกลัวไวรัส ฉันไม่รู้จะไปนอนไหนวันนี้ ฉันไม่มีครอบครัว อยากให้มีการจัดให้ฉันอยู่ที่ไหนก็ได้ ตึกร้างก็ได้" โซฟีกล่าว

"ถ้าโรงครัวที่นี่ปิดตัวลง ฉันไม่รู้เลยว่าจะทำยังไง"

ทีมอาสาสมัครจัดหาทิชชูเปียกให้โซฟีได้เช็ดตัวระหว่างวัน และเธอก็สามารถอาบน้ำที่นี่ได้ด้วย แต่การให้บริการด้านสถานที่ก็มีข้อจำกัดขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความที่ต้องรักษาความสะอาดมากกว่าเก่า

"ฉันซึมเศร้าอยู่แล้ว และนี่ทำให้แย่เข้าไปใหญ่ นอนไม่หลับเลยตอนนี้ หมอให้ยาช่วยเรื่องอาการซึมเศร้ามา แต่ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไงถ้าร้านขายยาปิดขึ้นมา"

The People's Kitchen volunteers

ที่มาของภาพ, People's Kitchen

คำบรรยายภาพ, The People's Kitchen ต้องออกมาให้บริการอาหารแก่คนไร้บ้านบริเวณที่จอดรถแทน

เสี่ยงมากกว่าคนอื่น

เชื่อกันว่าคนไร้บ้านมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนอื่น เนื่องจากหลายคนมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว

คัลปานา ซาบาปาตี แพทย์จากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS และนักระบาดวิทยา บอกว่าภาวะขาดสารอาหาร และการต้องทนกับสภาพอากาศภายนอกตลอดเวลา ทำให้ประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันลดลง

หลายคนมี "ความเปราะบางที่ทำให้พวกเขาแก่ตัวเร็วกว่าปกติ" ไม่ว่าจะเป็นวัณโรคหรือโรคเอดส์ การใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำลายสุขภาพ

โรเบิร์ต เจนริค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะ ชุมชน และรัฐบาลท้องถิ่น ของสหราชอาณาจักรประกาศให้มีกองทุนฉุกเฉินเบื้องต้น 3.2 ล้านปอนด์ หรือกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนำไปจัดหาที่อยู่และบริการสำหรับคนไร้บ้านที่ต้องกักตัวเอง

"ความปลอดภัยของสาธารณะและการปกป้องคนที่เปราะบางที่สุดในสังคมจากไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาลชุดนี้"

สมาคมรัฐบาลท้องถิ่น (Local Government Association) ซึ่งเป็นตัวแทนของเทศบาลต่าง ๆ ในอังกฤษและเวลส์ เห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือนี้ แต่ก็เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนความช่วยเหลือเพิ่มเติม

กลุ่มองค์กรการกุศลที่เป็นผู้บริหารโฮสเทลหลายแห่งทั่วสหราชอาณาจักรเตือนว่าสถานที่พักรวมนี้จะกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อได้

โฮสเทลคือที่พักราคาประหยัดที่แต่ละห้องมีผู้เข้าพักหลายคนนอนรวมกัน และบ่อยครั้งก็เป็นห้องน้ำและครัวที่คนใช้รวมกัน

บัลบีร์ ชัตริค ผู้อำนวยการด้านนโยบายของเซ็นเตอร์พอยต์ (Centrepoint) องค์กรการกุศลเพื่อคนไร้บ้าน ซึ่งให้เงินสนับสนุนโฮสเทลต่าง ๆ บอกว่าพวกเขามีรายรับลดลงเนื่องจากมีเงินบริจาคน้อยลงนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 เริ่มขึ้น นี่ทำให้เธอกังวลว่าจะส่งผลต่อที่พักสำหรับคนไร้บ้านเหล่านี้

Woman holding up sign

ที่มาของภาพ, Getty Images

ใช้ห้องว่างโรงแรม

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการทดลองจัดห้องพัก 300 ห้องในโรงแรมหลายแห่งในกรุงลอนดอนให้องค์กรการกุศลต่าง ๆ จัดสรรให้คนไร้บ้านเข้าพักเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส แมตต์ ดาวนี ผู้อำนวยการด้านนโยบายขององค์กรการกุศลไครซิส (Crisis) บอกว่า หากไม่ทำเช่นนี้ คนไร้บ้านจะไม่มีทางกักตัวได้

เขาบอกอีกว่าหอพักนักศึกษาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจะให้คนไร้บ้านเข้าพักได้เนื่องจากมีหลายห้องที่มีห้องน้ำในตัว

ดาวนีบอกว่า "ทางออกในฝัน" ซึ่งกำลังเกิดขึ้นจริงแล้วที่เมืองกลาสโกว์ คือให้คนไร้บ้านได้เข้าไปอยู่ในแฟลตที่ตกแต่งเรียบร้อย

เขาบอกว่า นี่ไม่เพียงทำให้พวกเขาสามารถกักตัวเองได้ แต่ยังเป็นการให้คนเหล่านี้ได้มีอยู่อาศัยจริง ๆ ชั่วคราวด้วย

ที่ The People's Kitchen ในนิวคาสเซิล อาสาสมัครพยายามจะให้บริการคนไร้บ้านต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่พวกเขาก็ยอมรับว่าหากมีคน ๆ เดียวที่มีอาการติดเชื้อไวรัสโคโรนามา บริการของพวกเขาจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

ตอนนี้ อาสาสมัครยังให้บริการด้วยรอยยิ้มพร้อมบทสนทนาต่อไป แต่ด้วยวิกฤตที่คาดกันว่าจะดำเนินต่อไปเป็นเดือน ๆ เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โรงครัวต้องปิดทำการต่อไปอีกพักใหญ่