ไวรัสโคโรนา : รู้ศัพท์ รู้สถานการณ์โควิด-19 ผ่านคำที่ได้ยินบ่อย ๆ ในภาวะโรคระบาด

จ.ภูเก็ต ใช้อาคารศาลากลางหลังใหม่ ตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 110 เตียง

ที่มาของภาพ, ประชาสัมพันธ์ จ.ภูเก็ต

คำบรรยายภาพ, จ.ภูเก็ต ใช้อาคารศาลากลางหลังใหม่ ตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 110 เตียง
  • Author, พริสม์ จิตเป็นธม
  • Role, ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้คำศัพท์ทางการแพทย์ที่เคยใช้กันแต่ในแวดวงคุณหมอและพยาบาลกลายเป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นเคย ซึ่งอาจเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่เกิดจากภาวะวิกฤตครั้งนี้

คำศัพท์เทคนิคหลายคำที่คณะแพทย์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขใช้ในการแถลงข่าวประจำวันตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มเข้ามาอยู่ในบทสนทนาประจำวันของผู้คนที่ต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด และยังมีอีกหลายคำที่ได้ยินบ่อย แต่บางคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงอะไรกันแน่

เมื่อมีแนวโน้มว่าคนไทยต้องสู้และอยู่กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้อีกระยะหนึ่ง บีบีซีไทยจึงรวบรวมคำศัพท์น่ารู้เกี่ยวกับโควิด-19 มาไว้พร้อมคำอธิบายและสถานการณ์ล่าสุด

1.PUI = ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค

ได้ยินกันบ่อยครั้งจากการแถลงว่า "พียูไอ" คำนี้ย่อมาจาก Patient Under Investigation หมายถึงผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งก็คือคนที่มีอาการและประวัติเสี่ยงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ โดยตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดถึงวันที่ 21 มี.ค. ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีรายงานล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไทยมี PUI ทั้งหมด 10,343 ราย

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

2.Super Spreader = ผู้ที่แพร่เชื้อออกเป็นวงกว้าง / Cluster = ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) อธิบายว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ติดเชื้อหนึ่งคนจะแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ประมาณ 2 คน แต่สำหรับ Super Spreader จะสามารถแพร่เชื้อไปได้หลายเท่า หรือมากกว่า 20 คน

สำหรับในประเทศไทย การแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง (Super Spreading) เกิดขึ้นใน Cluster หรือกลุ่มสนามมวย และ Cluster สถานบันเทิง ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทาง สธ. ยังไม่สามารถหาต้นตอผู้แพร่เชื้อได้ แต่สันนิษฐานว่าต้นตอการแพร่เชื้อในสถานบันเทิงเป็นชาวฮ่องกงที่มาเที่ยวกับกลุ่มเพื่อคนไทยกว่า 10 คน

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป คร. ชี้แจงเมื่อวันที่ 22 มี.ค. ว่า "การมุ่งหาต้นเหตุการป่วยของแต่ละคนอาจจะสำคัญน้อยแล้ว ที่สำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้คนที่กำลังป่วยหรือเพิ่งเริ่มป่วยแพร่เชื้อไปยังคนอื่น"

3.Droplets = ละอองฝอยของสารคัดหลั่ง / Airborne = ทางอากาศ

เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ในช่วงแรกจึงยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสามารถติดต่อกันได้อย่างไร ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ติดต่อกันจากการที่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพูด ซึ่งทำให้คนอื่น ๆ ในระยะไม่เกิน 1 เมตร หายใจเอาละอองฝอยของสารคัดหลั่ง (Droplets) เข้าไป

ละอองฝอยมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่จะลอยไปในอากาศได้ จึงไม่ติดต่อกันผ่านทางอากาศหรือ Airborne โดยเชื้อจะตกลงบนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ราวจับ และหากนำมือไปสัมผัส แล้วนำมาสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ซึ่งก็เสี่ยงติดเชื้อได้ จึงควรล้างมือบ่อย ๆ

4.Swab = เก็บตัวอย่างส่งตรวจ

แท้จริงแล้วการเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Specimen Collection ส่วนสาเหตุที่เรียกกันว่า "Swab" เนื่องจากเป็นการใช้ไม้ป้าย โดยวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจของโรคโควิด-19 นั้น แพทย์จะนำไม้สอดเข้าไปในจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) และไม้เก็บตัวอย่างอีกอันหนึ่งสำหรับนำไปป้ายในคอ (Throat swab)

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

5.Herd Immunity = ภูมิคุ้มกันหมู่

ภูมิคุ้มกันหมู่คือภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและรักษาหายดีจนร่างกายรับเชื้ออีกไม่ได้ หรือการฉีดวัคซีน ซึ่งเมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันโรคมีมากพอ จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ เสนอให้ปล่อยให้ประชาชนส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไปก่อนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่นักวิทยาศาสตร์วิจารณ์ว่าเป็นวิธีการที่เสี่ยงเกินไปและอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากระบบสาธารณสุขรองรับการรักษาไม่ไหว

6.Social Distancing = เว้นระยะห่างจากสังคม / Quarantine = การกักกันเพื่อสังเกตอาการเริ่มป่วย

การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ไปที่มีผู้คนแออัด หรือหากจำเป็นก็ควรเว้นระยะจากผู้อื่น 1-2 เมตร

อีกหนึ่งคำที่มาคู่กันคือ Quarantine หมายถึงการกักกันเพื่อสังเกตอาการเริ่มป่วย คำนี้จะใช้เฉพาะผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงติดโรค เช่น กลับจากต่างประเทศหรือมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วย แม้ยังไม่มีอาการแต่ควรกักกันตัวเองในระยะฟักตัวของโรคเพื่อดูอาการราว 14 วัน ป้องกันการไปแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว

สำหรับการ Quarantine มีอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ

  • Home Quarantine คือการให้ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงกักกันที่บ้าน มาตรการนี้ในไทยบังคับทั้งนักท่องเที่ยวและชาวไทยผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง กักกันตัว 14 วันที่บ้านหรือโรงแรม โดยให้ใช้แอปพลิเคชันของท่าอากาศยานไทย (AOT) ในการติดตามตัว
  • State Quarantine คือการกักกันโรคที่ศูนย์ควบคุมโรคซึ่งหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้น เช่น ศูนย์กักกันโรคที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งใช้เป็นที่กักกันโรคคนไทยที่กลับจากอู่ฮั่นและแรงงานไทยที่กลับจากเกาหลี
  • Local Quarantine คือการกักกันโรคในท้องถิ่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งศูนย์กักกันโรคในหลายจังหวัด แต่มีคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอุปกรณ์และการจัดสถานที่ เช่น ให้ผู้ถูกกักกันโรคนอนในมุ้งหรือเต็นท์ ใช้ห้องน้ำรวม ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคมากขึ้น สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งยกเลิกศูนย์เหล่านี้ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.

7.PPE = อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ Personal Protective Equipment (PPE) มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า "ชุดหมี" เนื่องจากต้องใส่คลุมทั้งตัว มี Face Shield หรือแผ่นพลาสติกป้องกันใบหน้า และหน้ากากอนามัยชนิดป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก N95 รวมไปถึงใส่ถุงมือถุงเท้าอย่างมิดชิด

แพทย์หญิงในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า ชุด PPE นี้จะใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ และการเก็บสิ่งส่งตรวจ (Swab) จำเป็นต้องทิ้งหลังจากเข้าไปเก็บตัวอย่างจากคนไข้แต่ละคน แต่เมื่อชุด PPE ขาดแคลน บุคลากรทางการแพทย์บางคนจึงไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือต้องดัดแปลงอุปกรณ์ที่หาได้มาใช้ทดแทน แม้จะป้องกันไม่ได้เต็มที่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย

กราฟิก

อย่างไรก็ตามปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงวันที่ 30 มี.ค. ระบุว่าเร่งจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ให้เพียงพอ โดยปัจจุบันมีหน้ากากอนามัยชนิด N95 คงคลังอยู่ 172,556 ชิ้นเท่านั้น แต่มีความต้องการใช้จำนวน 17,000 ชิ้นต่อวัน จึงได้สั่งซื้อจากต่างประเทศและจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) จากประเทศจีน และเตรียมดำเนินการจัดส่งชุด PPE จำนวน 2,000 ชุด ไปยังเขตสุขภาพทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มี.ค.

8.Rapid Test = ชุดตรวจเร็ว

ท่ามกลางจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนห้องปฏิบัติการในการตรวจยืนยันอาจมีไม่เพียงพอ และใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน จึงมีการพัฒนาชุดตรวจเร็วขึ้น

ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจโควิด-19 ที่ผ่านการประเมินของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว 57 แห่ง อยู่ระหว่างการประเมินและกำลังจัดตั้งอีก 40 แห่ง

ที่มาของภาพ, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจโควิด-19 ที่ผ่านการประเมินของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว 57 แห่ง อยู่ระหว่างการประเมินและกำลังจัดตั้งอีก 40 แห่ง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ว่าได้อนุมัติชุดตรวจเร็วแล้ว ทั้งหมด 6 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นชุดตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่ง (PCR) และการตรวจจากภูมิคุ้มกัน IgM/IgG

โดย IgM แปลว่าอยู่ในระยะติดเชื้อฉับพลัน และ IgG แปลว่าติดเชื้อจนเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันแล้วหรือเคยสัมผัสเชื้อมาก่อน

ทั้งหมดนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำว่าควรให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้อ่านผล ไม่ควรไปซื้อตรวจเอง เนื่องจากอาจอ่านผลคลาดเคลื่อน

9.Negative Pressure Room = ห้องความดันลบ

ห้องความดันลบคือห้องที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก เมื่อเปิดประตูห้อง อากาศภายนอกจะมีความดันอากาศสูงกว่า ส่งผลให้อากาศภายในห้องหรือเชื้อไวรัสไม่ไหลออกไปนอกห้อง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ของไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ว่าโรงพยาบาลภาครัฐในกรุงเทพฯ มีห้องความดันลบประมาณ 70 ห้อง ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีอีกจำนวนหนึ่ง

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

"ส่วนใหญ่แล้วห้องความดันลบจะใช้ในโรคที่ติดทางอากาศ (Airbrone)...แต่เมื่อเรารู้ว่าโรคนี้ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่ติดทางสัมผัส ความมั่นใจก็เลยเริ่มมากขึ้นว่าผู้ป่วยทั้งหมดไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในห้องความดันลบ" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ กล่าวในการแถลงข่าว ณ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 มี.ค.

10. Cohort Ward = หอผู้ป่วยรวมแยกโรค / Hospitel = หอผู้ป่วยเฉพาะ

เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยในระยะที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีการเตรียมหอผู้ป่วยรวมแยกโรค หรือ Cohort Ward ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือในสถานที่อื่น เช่น มหาวิทยาลัย ศาลากลางจังหวัด และโรงแรม ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

โดยมีมาตรการให้ผู้ติดเชื้อเมื่ออยู่ในโรงพยาบาลนาน 2-7 วันเพื่อเฝ้าดูอาการ หากมีอาการไม่รุนแรง สามารถย้ายผู้ติดเชื้อไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามหรือหอผู้ป่วยเฉพาะ (Hospitel) ที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้จนครบ 14 วันนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง