13 แกนนำพันธมิตรฯ ต้องชดใช้ 522 ล้าน คดีปิดสนามบิน ปี 51

กลุ่มพันธมิตรฯปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มพันธมิตรฯปิดสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551

13แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลายเป็นม็อบการเมืองกลุ่มแรกที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการชุมนุมทางการเมือง หลังศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ขยายเวลายื่นฎีกาคดีออกไปอีก

การตัดสินคดีครั้งนี้นับเป็นความคืบหน้าสำคัญทางกฎหมายกับกรณีปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551 ซึ่งพันธมิตรฯ ถูกฟ้องร้องหลายคดีด้วยกัน ในวันนี้ (21 กย.) ศาลแพ่งที่ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษกได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาในเวลา 14.45 น. พิจารณาตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ยื่นขอขยายระยะเวลาฎีกาในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และพวกรวม 13 คน แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายอมร อมรรัตนานนท์ นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง นายสำราญ รอดเพ็ชร นายศิริชัย ไม้งาม นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี ตกเป็นจำเลยร่วมกันในคดีฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย จากกรณีร่วมกันปิดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิเมื่อปี 2551 โดยต้องชดใช้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค.2551

คดีฟ้องละเมิดค่าเสียหายแกนนำพันธมิตรจากการชุมนุมปิดสนามบินไม่ใช่เพียงคดีเดียวฟ้องร้องต่อแกนนำ พธม. แต่ ยังมีคดีที่บริษัท วิทยุการบิน ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 103 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยรอยละ 7.5 ต่อปี คดีนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง

จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในผู้นำพันธมิตรฯขณะส่งมอบสนามบินคืนแก่การท่าอากาศยาน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในผู้นำพันธมิตรฯขณะส่งมอบสนามบินคืนแก่การท่าอากาศยาน

ส่วนคดีอาญาข้อหาร่วมกันก่อการร้ายฯ จากการปิดสนามบิน ที่มี พล.ต.จำลอง นายสนธิ พร้อมด้วยมวลชนรวม 96 คน ศาลอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ ซึ่งมีนัดครั้งต่อไปในวันที่ 9 มี.ค.2561 หลังการสืบพยานนัดแรกเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.2559

ย้อนเหตุบุกยึด 2 สนามบิน ปี 2551

เหตุการณ์ชุมนุมปิดสนามบินของผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551

24 พ.ย.2551 ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนขบวนเข้าปิดท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนที่จะเข้าพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรรภูมิในวันที่ 25 พ.ย.

บริษัท ท่าอากาศยานไทย ประกาศปิดบริการสนามบินสุวรรณภูมิในคืนวันที่ 25 พ.ย. โดยเปิดให้เฉพาะเครื่องบินขาเข้าเท่านั้น และปิดการขึ้นลงทุกเที่ยวบินทั้งหมดในเช้ามืดวันที่ 26 พ.ย. ผู้โดยสารตกค้างรวมประมาณ 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ สื่อต่างชาติหลายสำนักรายงาน รัฐบาลทั่วโลกออกคำเตือนประชาชนของตนเลี่ยงการเดินทางมายังประเทศไทย

ผู้โดยสารนั่งรอเที่ยวบินอยู่ที่ไบเทค ซึ่งเปิดเป็นสนามบินฉุกเฉิน หลังสุวรรณภูมิโดนปิด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้โดยสารนั่งรอเที่ยวบินอยู่ที่ไบเทค ซึ่งเปิดเป็นสนามบินฉุกเฉิน หลังสุวรรณภูมิโดนปิด

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ประเมินการสูญเสียรายได้เบื้องต้นของ ทอท.วันละประมาณ 50 ล้านบาท ไม่รวมความเสียหายด้านอื่น เช่น ความเชื่อมั่น ธุรกิจการค้า ส่งออก ท่องเที่ยว ขณะที่บริษัทการบินไทย ประเมินการสูญเสียรายได้ในวันที่สองของการปิดสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่วันละ 500 ล้านบาท ก่อนที่จะย้ายการขึ้นลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอู่ตะเภา

สำหรับความเสียหายต่อเศรษฐกิจจากการปิดสนามบิน 2 แห่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเวลานั้นว่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกรายงานเมื่อปี 2552 วิเคราะห์ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจท่องเที่ยว รวมความเสียหาย 2.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาคบริการ 1.2 แสนล้านบาทภาคขนส่ง 9 พันล้านบาท และ ภาคอุตสาหกรรม 6 พันล้านบาท