พาราควอต : ฟังเสียงเกษตรกร เอ็นจีโอ ธุรกิจเกษตร ต่อข้อเสนอยกเลิกสารเคมีอันตรายในไทย

พาราควอต

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

คำบรรยายภาพ, เกษตรกรไทยใช้พาราควอตกำจัดวัชพืชในไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา
  • Author, ธันยพร บัวทอง
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิดในไทย ยืดเยื้อมากว่าหนึ่งปี ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ในเวลาเดียวกันนี้กว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกและจำกัดการใช้ไปแล้ว

สารเคมีทั้งสามชนิดได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 22 สิงหาคม มีข้อสรุปให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมารวบรวมข้อมูลวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิดใหม่ หลังจากคณะกรรมการ ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและสังคม และภาคประชาชน เสนอให้ทบทวนการตัดสินใจของคณะกรรมการวัถตุอันตราย ที่มีมติไม่ห้ามใช้ สารเคมีอันตรายดังกล่าว

นั่นเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของการผลักดันให้ยกเลิกสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่เกิดขึ้นในไทย หลังจากคณะลูกขุนสหรัฐฯ ตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้ เจ้าของผลิตภัณฑ์ปราบศัตรูพืชจ่ายค่าเสียหาย 9,500 ล้านบาท แก่ชายที่อ้างว่าเป็นมะเร็งจากการใช้ไกลโฟเซตมาเป็นเวลานาน

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่ยกเลิกแต่ให้จำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลด้านสุขภาพไม่เพียงพอ ซึ่งเหตุผลสนับสนุนจากฝ่ายที่หนุนและต้านต่ออันตรายของสารทั้งสามชนิด ยังถูกนำมาหักล้างกัน

"ข้ออ้างหนึ่งที่ผู้ที่พิจารณายกเลิกหรือไม่ยกเลิกสารพิษอันตรายใช้ (อ้าง) ไม่ใช่การพูดเรื่องความเสี่ยงของสารเคมี แต่เป็นการบอกว่าเกษตรกร เป็นผู้บกพร่องเอง" นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี

ชีวิตเกษตรกรไทย ความเสี่ยงสารพิษจากระบบการผลิต

อำนวย ผลสวัสดิ์ อายุ 43 ปี ชาว อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เลิกรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าตามไร่อ้อย หรือที่เรียกกันในแวดวงการทำไร่สวนว่า "มือปืน" เมื่อปีที่แล้ว หลังจากทำเป็นอาชีพเสริมมาเป็นเวลา 20 ปี เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเขาล้มป่วยด้วยโรคเม็ดเลือดแตกตัวง่าย

อำนวยรับจ้างฉีดทั้งสารเคมีไกลโคเซต และพาราควอต ตามไร่อ้อย ครั้งละ 6-10 ไร่ โดยได้รับค่าจ้างไร่ละ 350 บาท เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า ในการฉีดแต่ละครั้งเขาผสมสารเคมีในอัตราส่วนที่มากกว่าที่ระบุในฉลาก เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถกำจัดหญ้าได้อย่างเบ็ดเสร็จในครั้งเดียว

พาราควอต

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

อดีตมือปืนรับจ้างพ่นยาฆ่าหญ้ารายนี้อ้างกับบีบีซีไทยว่า แพทย์ระบุว่าสาเหตุของโรคอาจเกิดจากสารเคมีที่เขาใช้เป็นเวลานาน

"พวกผมใช้ (ในปริมาณ) กระป๋องปลากระป๋องครั้งหนึ่งกระป๋องครึ่ง แต่ถ้าเอาตามฉลากเขาให้ใช้ครึ่งกระป๋อง ไม่งั้นเอาไม่อยู่ เพราะหญ้ามันพัฒนาทุกปี" อำนวยกล่าว "เราไปฉีดพ่นไปรับจ้าง มันจะไม่ค่อยตาย ถ้าหญ้าไม่ตายเราจะกลับไปซ้ำอีก มันไม่คุ้ม เราฉีดครั้งเดียวต้องเอาให้อยู่"

เกษตรกรและผู้รับจ้างฉีด ดูเหมือนเป็นกลุ่มที่มีทางเลือกไม่มาก พวกเขาต้องคลุกคลีกับสารเคมีอันตราย ยิ่งต้องการได้ผลผลิตสูงสุด ปริมาณสารเคมีที่จะกำจัดศัตรูของพืชไร่ก็ยิ่งถูกใช้มากขึ้น

"กลัวครับอันตรายพวกนี้ แต่เพื่อครอบครัว ยังไงเราก็ต้องทำ" อำนวยกล่าวกับบีบีซีไทย

ภาคประชาชนเตรียมฟ้องศาลปกครอง

ภาคประชาสังคม โดยเครือข่ายเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และมูลนิธิชีววิถี วิจารณ์รายงานการพิจารณา ควบคุมวัตถุอันตรายฯ ว่า "ไม่อาจยอมรับได้หลายเรื่อง" เนื่องจากมีการเลือกข้อมูลที่สนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อ

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้ซ่อนข้อมูลผลกระทบ ไม่นำงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เข้ามาบรรจุไว้ในบทสรุปผู้บริหาร ได้แก่ งานวิจัยการตกค้างสารเคมีในหญิงตั้งครรภ์และทารก การตกค้างของสารเคมีในพื้นที่เกษตรที่ จ.หนองบัวลำภู และ จ.น่าน ซึ่งวิฑูรย์มองว่า เป็นส่วนสำคัญต่อการพิจารณา นอกจากนี้ยังมีลักษณะ "โยนบาป" ให้เกษตรกรว่ามีการฉีดพ่นสารเคมีผิดวิธี

ทางเครือข่ายฯ ยังเตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง กรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงมติขัดกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข โดยชี้ว่าเป็นมติที่ไม่ปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

"คนที่จะตายก่อนคือเกษตรกร เป็นเกษตรกรรายย่อยรวมทั้งแรงงานรับจ้างในพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างอ้อย ยาง ปาล์ม ที่มีการจ้างคนอื่นฉีด กลุ่มนี้มีความเสี่ยงก่อนกลุ่มอื่น" นายวิฑูรย์ กล่าวกับบีบีซีไทย

ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงแนวคิดของการยกเลิกใช้สารพาราควอตว่าอาจตั้งกรอบเวลาอย่างน้อยสองปี เพื่อให้เกษตรกรปรับตัว ทั้งนี้อาจใช้วิธีที่ปราศจากสารเคมีอย่าง การใช้รถแทร็กเตอร์ติดจอบหมุน หรือสารเคมีตัวอื่น ส่วนรูปแบบที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐอาจตั้งกองทุนสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกร โดยนำมาตรการทางภาษีมาบังคับใช้เก็บกับผู้นำเข้าสารเคมีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย

"ควรเก็บภาษีกลุ่มนี้้ แล้วนำเงินมาอุดหนุนให้เกษตรกรที่มีการปรับตัวเลิกใช้พาราควอต" วิฑูรย์ กล่าวกับบีบีซีไทย

หนองบัวลำภู พาราควอต และโรคแบคทีเรียกินเนื้อ

ธงสีแดงตามไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ตลอดสองข้างทางของถนนละแวกชุมชนในเขต ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นสัญลักษณ์เพื่อแจ้งเตือนให้คนในชุมชนและผู้ที่สัญจรไปมารู้ว่า พื้นที่เกษตรบริเวณนั้นมีการใช้สารเคมี

นี่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญสุขภาพของ ต.นาดี ที่ชุมชนตกลงร่วมกัน ภายหลังงานวิจัยท้องถิ่นพบว่า ต.นาดี มีปริมาณการใช้สารเคมีในปีการผลิต 2560 ถึง 32,706 ลิตร ในพื้นที่เกษตร 17,703 ไร่ โดยสารเคมีที่ใช้กว่าครึ่งคือ ยาฆ่าหญ้าพาราควอต

หนองบัว

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

คำบรรยายภาพ, ธรรมนูญสุขภาพตำบลนาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้ออกข้อห้ามไม่ให้ฉีดพ่นสารเคมีใกล้ชุมชน วัด โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก แหล่งน้ำประปาในะระยะ 300 เมตร พื้นที่ใดฉีดพ่นต้องติดธงแดงเตือน

ชูชาติ จุทาพุฒ เกษตรกรวัย 57 ปี ต.นาดี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู สูญเสียขาข้างขวาจากโรคแบคทีเรียกินเนื้อมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว

ชูชาติซึ่งมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน เล่าอาการเริ่มต้นว่าเป็นเพียงบาดแผลเล็ก ๆ บนข้อเท้า ขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟจากการถูกแมลงกัด และอาการเป็นผื่นแดงที่เท้าและขา หลังจากลงไปย่ำพื้นดินในนาข้าวละแวกชุมชน ก่อนลุกลามจนแพทย์ต้องตัดขารักษาชีวิต

เขาบอกว่าเคยใช้พาราควอตในการทำไร่มันสำปะหลังและอ้อย เช่นเดียวกับเกษตรกรในพื้นที่ที่นิยมใช้ แม้จะรู้ถึงพิษภัย แต่ชูชาติยอมรับว่าไม่ได้ป้องกันอย่างมิดชิด การออกไปฉีดยาทุกครั้งเขาสวมใส่เพียงรองเท้าแตะ นั่นทำให้เขาเชื่อว่า เหตุที่ทำให้เขาต้องสูญเสียขามาจากสารเคมีที่ตกค้างในดินที่เท้าเคยสัมผัส

ชูชาติ จุทาพุฒ

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

ปี 2560 จ.หนองบัวลำภู เกิดการระบาดของโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า พบผู้ป่วยทั้งจังหวัด 254 คน เฉพาะใน อ.สุวรรณคูหา พบผู้ป่วย 32 คน นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รอง ผอ.โรงพยาบาลจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุของโรคนี้มาจากเชื้อแบคทีเรียในดินและน้ำ ที่เข้ามาทาง บาดแผล ส่วนสาเหตุจากสารเคมีนั้นเป็นเพียงการตั้งสมมติฐาน

แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ถึงขั้นตัดอวัยวะหรือเสียชีวิต เป็นผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เป็นโรคเบาหวาน หรือใช้ยาที่มีสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ซึ่งเกิดจากการกินยาชุด

"ขึ้นอยู่กับว่ามาช้ามาเร็ว ถ้ามาเร็วอาจจะแค่ผ่าตัดเอาเนื้อเน่าส่วนที่เน่าออก แล้วให้ยาปฏิชีวนะ อาการก็จะดีขึ้น" นพ. ไพฑูรย์กล่าว

ม นเรศวร

ที่มาของภาพ, สกว.

คำบรรยายภาพ, นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อเดือน ธ.ค.2560

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่ตรวจสอบการปนเปื้อนของพาราควอตในสิ่งแวดล้อมใน จ.หนองบัวลำภู พบการปนเปื้อนพาราควอตในดิน ตะกอนดิน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน สูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศในตัวอย่างตั้งแต่ 1.2-10,000 เท่า

งานวิจัยพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจว่า ช่วงเวลาที่พบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าและเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมากในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. เป็นช่วงที่เกษตรกรใช้สารเคมีมากที่สุด

"ถ้าแบนจริง ๆ ไม่มีอะไรทดแทน"

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการใช้พาราควอต เขาให้ความเห็นว่างานวิจัยต่าง ๆ ที่ออกมาระบุถึงพิษของพาราควอตยังมีวิธีการวิจัยที่ไม่เพียงพอต่อการชี้ว่าพาราควอตตกค้างในผลิตผลที่ผู้บริโภคบริโภคโดยตรง

"ข้าว พืชผักสวนครัว ไม่ใช้พาราควอต มีแต่ในฉพาะอ้อย ยาง ซึ่งเป็นอาหารแปรรูป"

พาราควอต

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong/BBCThai

คำบรรยายภาพ, พาราควอตมีฤทธิ์เผาไหม้ ผู้รับจ้างฉีดพ่นพาราควอต บอกกับบีบีซีไทยว่า เมื่อฉีดแล้วเห็นผลทันตา ราวครึ่งชั่วโมงวัชพืชก็เริ่มแห้งเหี่ยว

สุกรรณ์ซึ่งเป็นเกษตรกรมากว่า 30 ปี และปัจจุบันยังใช้สารพาราควอตอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า พาราควอตยังเป็นสารเคมีที่จำเป็นสำหรับเกษตรกร เพราะเป็นสารเคมีตัวเดียวที่ไม่ดูดซึมลงราก อย่างไรก็ตาม เขาเห็นด้วยกับการจำกัดการใช้ และเห็นว่าหากเปลี่ยนไปใช้สารเคมีอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายกันอย่างกลูโฟซิเนต จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเนื่องจากแพงกว่าพาราควอต 5 เท่า และต้องใช้ปริมาณมากกว่าจึงจะกำราบวัชพืชได้

"ถ้าแบนจริง ๆ ไม่มีอะไรทดแทน" สุกรรณ์กล่าว "เราห่วงผู้ที่ฉีดพ่นสัมผัสทุกวัน โดยเฉพาะผู้รับจ้างฉีดสารเคมี ไม่อยากให้สุขภาพเขาเสีย คนที่ฉีดสัมผัสทุกวันมีความเสี่ยงที่จะรับเข้าไปในตัว แต่ผลผลิตปลอดภัยแน่นอน"

ธุรกิจเกษตร ชี้สารเคมียังจำเป็น

นายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้อยู่ในประเทศไทย มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในภาคเกษตร เนื่องจากวัชพืชส่งผลกระทบต่อผลผลิต การกำจัดวัชพืชด้วยการใช้แรงงานอย่างการถาง มีข้อจำกัด ต้นทุนสูง

นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตรยอมรับว่า มีเกษตรกรบางส่วนศึกษาวิธีใช้ไม่ดีพอโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่เพาะปลูกไม่ต่อเนื่อง ที่อาจมีการใช้สารเคมีไม่ถูกวิธี แต่เชื่อว่าในพื้นที่ที่เพาะปลูกต่อเนื่องไม่มีปัญหาในการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ

รูปแบบองค์ประกอบโมเลกุลของไกลโฟเซต

ที่มาของภาพ, Science Photo Library

คำบรรยายภาพ, รูปแบบองค์ประกอบโมเลกุลของไกลโฟเซต

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการเผยแพร่การศึกษาเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีที่ยังมีข้อถกเถียงถึงผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมว่า อาจสร้างความสับสนแก่เกษตรกรผู้ใช้

ส่วนคดีที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ นายปราโมทย์ ให้ความเห็นว่า เป็นเพียงการตัดสินของคณะลูกขุนและคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด

"บางประเด็นยังไม่มีข้อสรุป การนำเสนอเฉพาะบางส่วนอาจทำให้เกษตรกร ประชาชนตัดสินไปแล้วว่ามันไม่ดี" นายปราโมทย์ กล่าวกับบีบีซีไทย

การห้ามใช้พาราควอตในต่างประเทศ

ปัจจุบันมีอย่างน้อย 51 ประเทศทั่วโลกที่ ยกเลิกการใช้พาราควอต ซึ่งรวมถึงประเทศในสหภาพยุโรป ที่ยกเลิกเมื่อปี 2007

ศาลแห่งสหภาพยุโรปมีคำสั่งยกเลิกการใช้พาราควอต เนื่องจากข้อกังวลด้านสุขภาพและการประเมินความปลอดภัยในสารเคมี รวมทั้งการไม่นำรายงานผลกระทบต่อโรคพาร์กินสัน มาพิจารณา

ในเอเชีย ห้ามใช้พาราควอตแล้วใน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน คูเวต ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่จำกัดการใช้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

จีนทยอยยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2012 ด้วยเหตุผลเพื่อการปกป้องสุขภาพของประชาชน และยกเลิกการใช้และจำหน่ายสูตรน้ำเมื่อปี 2016

พาราควอต

ที่มาของภาพ, FTA watch

สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นกลุ่มประเทศที่ยังไม่ยกเลิกพาราควอต แต่จำกัดการใช้อย่างเข้มงวด

ส่วนในไทย กรมวิชาการเกษตรชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า ได้จัดทำหลักเกณฑ์การจำกัดการใช้วัตถุอันตรายเสนอไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

คกก.วัตถุอันตราย พร้อมพิจารณาข้อมูลของ คกก.ชุดใหม่

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ระบุในวันนี้ (22 ส.ค.) ว่า คณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งยกเลิก เพียงแต่เสนอข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดให้รายงานภายในเดือน ก.ย.นี้

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากคณะกรรมการชุดนี้ มีข้อมูลใหม่ออกมา ทางคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็พร้อมนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าการยกเลิกและจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด

นายสมบูรณ์ ยังกล่าวถึงมติการไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย แต่ให้มีการจำกัดการใช้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมว่ามีข้อมูลด้านสุขภาพไม่ชัดเจน ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ลงมติตามที่อนุกรรมการฯ เสนอ

ส่วนกรณีที่เครือข่ายสนับสนุนการยกเลิกวัตถุอันตราย อ้างว่า กรรมการบางรายมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทสารเคมี นายสมบูรณ์ระบุว่า หากภาคประชาชนมีหลักฐานที่ชัดเจนสามารถนำแจ้งที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย

"ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิก็ตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างที่ภาคประชาสังคมว่ามา"