ไวรัสโคโรนา : รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สกัดโควิด-19 วันพฤหัสบดีนี้

Covid-19

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยเบื้องต้นบังคับใช้เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.

พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า จะมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โควิด-19 โดยมีนายกฯ เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบ และประชุมกันทุก 09.30 น. ทั้งนี้จะนำอำนาจตามกฎหมาย 38 ฉบับมาไว้ที่ ศอฉ. โควิด

นายกรัฐมนตรีบอกด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการออก "ข้อกำหนด" ตามอำนาจ พ.ร.ก. ฉุกเฉินต่อไป ซึ่งในระยะแรก จะมุ่งลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนการปิด-เปิดอะไร เป็นมาตรการในระยะต่อไป ขึ้นกับความร่วมมือของประชาชนด้วย เพราะไม่ได้อยากให้ใครเดือดร้อน

เขายังขอความร่วมมือจากประชาชนให้งดเดินทางกลับภูมิลำเนา และระมัดระวังการใช้สื่อสังคมออนไลน์

การยกระดับมาตรการของรัฐบาลเกิดขึ้นหลังจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 4 ราย โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพิ่งแถลงยืนยันว่ามีชายไทยเสียชีวิตอีก 3 ราย

ถึงขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยสะสม 827 ราย กลับบ้านแล้ว 57 ราย ขณะที่การพบผู้ป่วยได้กระจายไปยัง 47 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว

ทางการไทยออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเมื่อ 71 วันก่อน หรือเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 ว่าพบผู้ติดโควิดรายแรกในประเทศไทย เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนวัย 61 ปี ซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ถึงไทยเมื่อวันที่ 3 ม.ค.

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุระหว่างการแถลงข่าวว่าการปิด-เปิดอะไรยังไม่อยากทำ เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน ทว่าตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามมาตรา 9 ได้ให้อำนาจนายกฯ ออกข้อกําหนด ไว้ 6 ประเด็น ดังนี้

  • ห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ภายในระยะเวลาที่กําหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
  • ห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกัน หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
  • ห้ามการเสนอข่าว หรือข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
  • ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ
  • ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย

หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก. ฉบับนี้