นายกฯ เปิดแล้ว ยิ่งลักษณ์อยู่ดูไบ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, Getty Images

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทราบจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ไปอยู่ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

"จบหรือยัง ก็ขยายเข้าไปสิ ขยายไปให้บ้านเมืองมันระส่ำระส่ายไป แล้วใครขยายแล้วมันวุ่นวาย ประณามไอ้คนที่มันขยายให้เขานั่นล่ะ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พร้อมปฏิเสธว่าไม่มี "สายลับ" ไปตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด

การออกมาเปิดเผยที่อยู่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยระบุไว้ ก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รอลงอาญา วานนี้ (27 ก.ย.) โดยก่อนหน้านั้น 1 วัน พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่ารู้แหล่งกบดานของอดีตนายกฯ แล้ว แต่ "หลังวันที่ 27 ก.ย. ผมถึงจะบอกว่าอยู่ไหน"

สำหรับคำพิพากษาที่ออกมา พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า "ไม่รู้สึกอะไร" เพราะไม่ใช่เรื่องของตน เป็นเรื่องของศาล ส่วนตัวรู้สึกเหมือนทุกคดี มันคือการตัดสินของศาล เราใช้กฎหมายอำนวยความเท่าเทียมให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ประชาชน นักการเมือง

กลุ่มผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปลุ้นคำพิพากษาคีดจำนำข้าว วันที่ 27 ก.ย.

ส่วนการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาดำเนินคดีในไทย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ทำต่อ คดีทั่วไปก็เป็นแบบนี้ "เมื่อใดก็ตามที่มีการตัดสินคดี มีการออกหมายจับ เจอตัวก็ต้องจับมา ถ้าอยู่ต่างประเทศต้องขอตัวกลับมา ถ้าเขาให้ก็ได้กลับ ถ้าไม่ให้ก็ไม่ได้กลับ จะไปยากตรงไหน เรื่องก็มีแค่นี้ เป็นขั้นตอนของตำรวจที่ต้องดำเนินการต่อไป ที่ต้องประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ และองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรืออินเตอร์โพล ก็ให้เวลาเขาทำงาน"

พร้อมกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศเตรียมพิจารณาเพิกถอนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของอดีตนายกฯ ด้วย

บ้านยิ่งลักษณ์

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจ และเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เข้าตรวจค้นบ้านพักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในซอยโยธินพัฒนา 3 วันนี้ (แฟ้มภาพ)

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า ทางดูไบได้แจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศว่า "จะขอความร่วมมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง" ส่วนจะเชื่อใจได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรระบุสั้น ๆ ว่า ไม่รู้

พล.อ.ประวิตร ระบุด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ "อยู่ที่ดูไบ ก็ดีแล้ว"

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานในวันนี้ (28 ก.ย.) อ้างแหล่งข่าวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางออกจากยูเออีไปตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ประกาศใช้ กม. ใหม่ หากยิ่งลักษณ์จะอุทธรณ์ต้องมาศาล

วันเดียวกัน (28 ก.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีเนื้อหารวม 70 มาตรา

พ.ร.ป.ฉบับใหม่

ที่มาของภาพ, ราชกิจจานุเบกษา

ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บอกว่า หากจำเลยจะอุทธรณ์คดี ต้องเดินทางมาแสดงตัวที่ศาล มิฉะนั้นศาลจะไม่รับอุทธรณ์ อีกทั้งคดียังไม่มีอายุความ

"แม้อนาคต น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาก็ต้องรับโทษจำคุก 5 ปี อีกทั้งจะทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เพราะเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกพิพากษาลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช." นายมีชัยกล่าว

ขณะที่ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ขอพูดถึงกรณีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

ส่วนสาระสำคัญอื่นๆ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง มีดังนี้

การตั้งองค์คณะผู้พิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เดิม : กำหนดให้มีผู้พิพากษาอาวุโสไม่เกิน 3 คน จากองค์คณะ 9 คน

ใหม่ : ไม่กำหนด

จำนวนองค์คณะ

เดิม : หากองค์คณะผู้พิพากษาท่านใดท่านหนึ่งป่วย ต้องเลื่อนการพิจารณาคดี

ใหม่ : กรณีมีเหตุสุดวิสัย หรือจำเป็นชั่วคราว ให้องค์คณะที่เหลือพิจารณาต่อไปได้ โดยไม่ต้องเลื่อนการพิจารณาคดี แต่องค์คณะผู้พิพากษาต้องมีไม่ต่ำกว่า 7

การกำหนดวิธีพิจารณาคดีให้ชัดเจนขึ้น ภายใต้ระบบไต่สวน

เดิม : ศาลสามารถเรียกสืบค้นข้อเท็จจริงได้ แม้คู่ความไม่ยกเรื่องขึ้นมา ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดประธานศาลฎีกา

ใหม่ : กำหนดให้ไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานเพิ่มได้ เพื่อค้นหาความจริง ไม่ว่าความจริงนั้นจะเป็นคุณหรือโทษต่อโจทก์และจำเลย

การพิจารณาคดีในศาล

เดิม : การยื่นฟ้อง ไม่จำเป็นต้องมีตัวจำเลยมาศาล แต่ในวันพิจารณาคดี วันที่ศาลอ่านคำอธิบายฟ้อง จำเลยต้องมาศาลอย่างน้อย 1 ครั้งเพื่อให้จำเลยฟังแล้วบอกว่าจะต่อสู้หรือปฏิเสธ แต่ที่ผ่านมา เวลาจำเลยหนี การนับอายุความก็ยังนับไปเรื่อยๆ ทำให้อายุความคดีอาญาสะดุดลง

ใหม่ : เมื่อมีการยื่นฟ้องคดีอาญาไม่ว่าจะมีตัวจำเลยหรือไม่มีตัว ให้หยุดนับอายุความ ณ วันยื่นฟ้อง