โควิด-19 กับธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มุมมอง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และเส้นทางการเมืองธนาธร

Somporn

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มหาเศรษฐีนี ผู้เป็นมารดาของ ธนาธร ผู้นำคณะก้าวหน้า บอกว่า "รอดตัวไป" หลังไม่ได้รับจดหมายเปิดผนึกจากนายกรัฐมนตรีให้เสนอโครงการช่วยเหลือประชาชนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 พร้อมคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าปีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะมีโอกาสฟื้นตัว

สมพรเป็น "นายใหญ่" แห่งอาณาจักรไทยซัมมิท บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของไทย ซึ่งมีรายได้แตะ 8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2560

ความเห็นของสมพร ตามหลังการแถลงของสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อ 23 เม.ย. ที่ประกาศปรับลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์จาก 2 ล้านคัน เหลือ 1-1.4 ล้านคัน หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อถึง มิ.ย.-ก.ย. นี้ โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออกอย่างละครึ่ง

"ก็ลำบาก ๆ กันทุกภาคส่วน ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ เล็กก็ลำบากแบบเล็ก แต่เราใหญ่ก็ลำบากแบบใหญ่ ต้นทุนเราก็สูง ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ไม่เหมือนผลิตภัณฑ์อื่นที่วางขายได้ตามท้องตลาดทั่วไป แต่เราทำส่งลูกค้ารายไหนก็รายนั้น" สมพรกล่าวกับบีบีซีไทยหลังบริจาคเงินให้มูลนิธิ รพ.ราชวิถี

ไวรัสมรณะ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องหยุดเดินสายพานการผลิต ก่อนพ่นพิษต่อให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีอยู่ราว 2-3 พันแห่งทั่วประเทศต้องหยุดเดินเครื่องจักรตามทั้งนี้ ส.อ.ท. ชี้ว่า มีแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ราว 7.5 แสนคน หากวิกฤตโรคระบาดยืดเยื้อก็อาจต้องปิดกิจการ และทำให้แรงงานตกงานหลายแสนคน

"ระยะหลัง ๆ ออเดอร์ (คำสั่งซื้อสินค้า) ลดลงหรือไม่มาเลย ทางเราก็ต้องหยุด มันแย่เลยทั้งอุตสาหกรรม ล้านนึง (เป้าหมายการผลิตรถยนต์ของ ส.อ.ท.) ก็ไม่รู้จะถึงไหม แต่ก่อนเราผลิตแล้วส่งออก แต่เดี๋ยวนี้ทุกประเทศย่ำแย่ ทุกคนไม่มีกำลังซื้อ ทำแล้วจะส่งใคร แม้เขาประกอบรถ แล้วเขาจะเอาไปขายใคร นอกจากนี้แต่ละประเทศก็พยายามสร้างฐานการผลิตของตัวเองอยู่แล้ว" ประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทระบุ

คาดใช้เวลาเป็นปีกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเริ่มฟื้น

ถึงนาทีนี้ สมพรสารภาพตรง ๆ ว่า "ต้องลดค่าใช้จ่ายให้ตัวเบาลง" ควบคู่การวางแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจใหม่ในภาวะวิกฤต เช่น เมื่องานน้อย ก็ให้พนักงานสับเปลี่ยนเวลาทำงาน หรือหยุดมากขึ้นแล้วจ่ายเงินให้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

car

ที่มาของภาพ, Corbis/Getty Images

ในฐานะผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 4 ทศวรรษ สมพรถึงกับร้อง "โอ้ย..." เมื่อถูกถามถึงความหนักหนาสากรรจ์ในการประคองธุรกิจให้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เทียบกับวิกฤตโควิดปี 2562-2563 เนื่องจาก "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ลดค่าเงินบาทปี 2540 กระทบเฉพาะในประเทศ แต่รอบนี้ลำบากกันทั้งโลก จึงเทียบกันไม่ได้เลย

เมื่อขอให้จับชีพจรอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นักธุรกิจหญิงวัย 70 ปีทำนายว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าปีกว่าจะมีโอกาสฟื้นตัว

"คิดว่าไตรมาส 3 และ 4 คงยังลำบากกันทั่ว ถ้าปีหน้า เปิดบ้านเปิดเมืองได้ หมายถึงเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง ไตรมาส 1 และ 2 ก็คงยังลำบาก น่าจะใช้เวลาปี 2564 อีกปีถึงจะเริ่มฟื้นเข้าที่เข้าทาง ยังต้องระวังตัวกันไม่ต่ำกว่าปีกว่าเลยว่าอย่างนั้น" นายใหญ่ไทยซัมมิทกล่าว

รอดตัวไป จม. นายกฯ ไม่มา

สมพรมีชื่ออยู่ใน "ทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีของไทย" ตามการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ต่อเนื่องทุกปี โดยสถานะที่ดีที่สุดของเธอคืออันดับที่ 25 ในปี 2556 ขณะที่ปีล่าสุด ชื่อของเธอถูกจัดวางไว้ในอันดับที่ 28 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.2 หมื่นล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศูนย์โควิด-19 จะรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบทุกเย็นวันศุกร์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศูนย์โควิด-19 จะรายงานสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบทุกเย็นวันศุกร์

ความมั่งคั่งของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลายได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษจากสังคม เมื่อมีจดหมายเปิดผนึกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ส่งตรงถึงมหาเศรษฐีไทย 20 อันดับแรก เมื่อ 20 เม.ย. เพื่อขอให้จัดทำเอกสารเสนอความคิด และร่วมกันทำโครงการ "บรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชน" ในวิกฤตโควิด-19

ถ้ายึดตามการจัดอันดับของฟอร์บส์ มารดาของธนาธรย่อมไม่เข้าข่ายได้รับจดหมายน้อยจากนายกฯ ทว่ากลับมีชื่อเธอในโผสื่อบางสำนัก ซึ่งเธอเองก็ทราบข่าวจากสื่อ

"บางคน พรรคพวกเพื่อนฝูงยังคุยกันถามว่า เฮ้ย ถ้าจดหมายมา คุณจะทำตัวยังไง เราก็อ้าว ถ้าท่านนายกฯ เชิญมา เราก็ไปสิ ส่วนการแสดงความคิดเห็นอะไร เราก็ดูตามเหตุการณ์ สุดท้าย 2 วันนี้ ก็พยายามตามข่าวว่าเรามีจดหมายมาไหม หรือเขาเชิญมาทางเน็ต ทางสายอะไรไหม ก็พยายามบอกเลขาฯ ทุกคนให้ช่วยกันเช็ค ของเราไม่มี แล้วก็ไม่มีชื่อ ก็เลยรอดตัวไป" มหาเศรษฐีนีหมายเลข 28 กล่าวพลางหัวเราะ

น้อยใจ-โมโห ถูกโยงช่วยลูกหาเสียงเลือกตั้งซ่อม

แม้ไม่มีข่าวจดหมายเปิดผนึกของนายกฯ แต่การปรากฏตัวที่ชุมชนวัดหนามแดง ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ของมารดาธนาธร พร้อม "หอบเงินสดล้านบาท" ไปแจกจ่ายประชาชนที่กำลังกระอักกับพิษโควิด-19 ครอบครัวละ 2 พันบาท เมื่อ 16 เม.ย. ได้กลายเป็นข่าวครึกโครมในสื่อสังคมออนไลน์ ท่ามกลางกองเชียร์-กองชังที่วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

"หลังเกิดเหตุการณ์ เขาไปพูดว่าไปหาเสียง เตรียมให้ลูกหรืออะไรต่าง ๆ เราฟังแล้วก็.. คิดได้อย่างไรน่ะ เพราะที่ตรงนั้น เราไปครั้งแรกในชีวิตนะ แล้วก็พูดออกมาแบบพยายามโยงกับธนาธร" สมพรกล่าวด้วยน้ำเสียงสุดเซ็ง

"พอทราบข่าวว่ามาพูดถึงเราในทางลบ เรารู้สึกฟีลแบด (รู้สึกแย่) มาก ทีแรกก็น้อยใจและโมโหด้วย แต่ได้คุยกับผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน ก็บอกว่าไปถือสาเขาทำไม... แต่เท่าที่ชั่งน้ำหนักดู ประเมินแล้วผลตอบรับเป็นบวกมากกว่าลบ บวกเสีย 95% ส่วนอีก 5% เป็นลบ ก็อย่าไปถือสาเขา ทำใจดีกว่า"

สมพร ในฐานะประธานมูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนา เล่าว่า ได้มอบนโยบายไปว่าต้องการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่สมุทรปราการเพราะโรงงานอยู่ในจังหวัดนี้ ส่วนสถานที่แจกเงินและสิ่งของ ที่ปรึกษาซึ่งทำงานภาคราชการเป็นผู้จัดหามา โดยประสานกับผู้ใหญ่บ้านในชุมชน

"มันชื่นใจนะที่ได้ไปเห็นคนยากจนกับตา เห็นคนที่เขาขาดเงินจริง ๆ ได้ให้เขากับมือ ได้ฟังสิ่งที่เขาพูดกับหู" สมพรเผยความรู้สึก

ภาพที่ยังติดตา-ติดใจสตรีผู้มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจรายนี้ เป็นภาพหญิงวัย 40-50 ปีที่รับเงินไปจากเธอ ก่อนวกมาสะกิดข้างหลังเพื่อบอกว่าดีใจมากเลยที่ได้เงิน เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ พอได้เงินไปก็ช่วยให้เขาอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับภาพป้าอีกคนหนึ่งที่กระซิบบอกเธอว่าเหลือเงินในกระเป๋าแค่ 5 บาท

สมพร และชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ พูดคุยกับผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี

ที่มาของภาพ, Paris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สมพร และชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ พูดคุยกับผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี

เดิมสมพรตั้งใจใช้เงินของมูลนิธิไทยซัมมิทพัฒนาราว 3 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โดยมีแผนไปแจกเงินให้ประชาชน 3 ชุมชน ๆ ละ 1 ล้านบาท แต่ "ดรามาซื้อเสียง" ทำให้เธอกับพวกต้องพับแผนลงพื้นที่อีก 2 ชุมชน แล้วเปลี่ยนเป็นนำเงินล้านไปบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ที่มูลนิธิ รพ.ราชวิถี แทนในวันนี้ (24 เม.ย.)

ผอ.รพ.ราชวิถี : นามสกุลเดียวกับคุณอะไรนะ คุณธนาธร เป็นอะไรกันครับ

สมพร : อ๋อ หนูเป็นแม่เขาค่ะ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ นี่ลูกสาวคนโต (ชนาพรรณ) เป็นพี่สาวคนโต ธนาธรเป็นลูกคนรองค่ะ

บ่นสงสารลูกโดนสารพัดคดีหลังเล่นการเมือง

ไม่บ่อยครั้งนักที่ "ประธานคณะกรรมการครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ" จะออกโรง-ออกหน้า-ออกความเห็นในพื้นที่สื่อ สมพรให้เหตุผลว่าพยายามวางตัวค่อนข้างเงียบ เพราะไม่ต้องการโอ้อวด โดยเฉพาะเมื่อธนาธรกระโจนสู่แวดวงการเมือง ยิ่งต้องเพิ่มระยะห่างทางบทบาทกับบุตรชาย พร้อมแสดงความแปลกใจที่การไปแจกเงิน-แจกข้าวถุงของเธอกลายเป็นข่าวใหญ่

"แม้จะทำเรื่องดีก็ทำยากนะ ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะให้ชุมชนใหญ่เข้าใจ ก็เลยคิดว่าเราอยู่ของเราเงียบ ๆ ดีกว่า" สมพรตัดพ้อ

ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจ

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เรียกประชุม "คณะกรรมการครอบครัว" ประกอบด้วย ชนาพรรณ, ธนาธร, รุจิรพรรณ, สกุลธร, บดินทร์ธร หลังทราบข่าวบุตรชายจะเล่นการเมือง

ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา นับจากธนาธรเปิดตัวพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 15 มี.ค. 2561 ก่อนเผชิญกับวิกฤตยุบพรรค และตกที่นั่ง "พลเมืองชั้น 2" ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 10 ปีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สมพรปรากฏตัวใน "พื้นที่การเมือง" อย่างน้อย 4 ครั้ง

  • 27 พ.ค. 2561 นำทีมครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจไปให้กำลังใจธนาธรที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ในการประชุมใหญ่สามัญพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ครั้งแรก ซึ่งธนาธรได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค โดยสมพรได้พูดคุยกับบรรดาผู้สนับสนุน และบอกกับบีบีซีไทยว่าฝันจะเห็นธนาธรเป็น "เปาบุ้นจิ้นเมืองไทย" หรือไม่ก็ "สี จิ้นผิง เมืองไทย" กล่าวคือ ไม่โกง เข้ามาช่วยบ้านเมือง ไม่ใช่เข้ามากอบโกย
  • 5 พ.ย. 2561 ไปร่วมรณรงค์หาสมาชิกพรรคย่านเยาวราช ซึ่งเป็นการลงหาเสียงใน กทม. ครั้งแรกของธนาธรและ อนค. "เขาขอให้แม่ไปด้วย เผื่อช่วยบอกเขาได้ว่าตรงไหนเป็นตรงไหน" เนื่องจากสมพรเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมาก่อน
  • 27 ก.พ. 2562 รุดไปให้กำลังใจบุตรชายที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดา ตามที่อัยการนัดฟังคำสั่งคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยสมพรยอมรับว่า "คิดมาก แล้วก็นอนไม่หลับ เพราะเป็นห่วงลูกชาย"
  • 18 ต.ค. 2562 ขึ้นเบิกความในฐานะพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา คดีธนาธรถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ในชั้นไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ
ธนาธร และแม่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางมาให้กำลังใจบุตรชายที่สำนักงานอัยการสูงสุด ระหว่างรับฟังการสั่งคดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อ ก.พ. 2562

"ลูกไปเล่นการเมืองตรงนั้น จริง ๆ ฉันไม่ชอบอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เขามีอุดมการณ์ตรงนั้น เขาไปเล่นการเมือง เราก็ต้องปล่อยเขา เราไม่พยายามไปยุ่งเกี่ยว พยายามเคลียร์คัท (ตัดขาด) กับเขา 2 ปีที่ผ่านมา ดูจากอุดมการณ์และวัตถุประสงค์ ฉันคิดว่าธนาธรพยายามให้สิ่งดี ๆ กับสังคม... พอพยายามจะทำ โอ้โห.. คดีอะไรต่าง ๆ เข้ามาที่ตัวแกเยอะเหลือเกิน เห็นแล้วก็น่าสงสารค่ะ" สมพรกล่าวทิ้งท้าย