ไวรัสโคโรนา : กทม. และ ปริมณฑลยกระดับควบคุมโรคระบาด สั่งปิดสถานประกอบการเพิ่มอีก 19 ประเภทนาน 3 สัปดาห์

Covid-19

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมอีก 19 ประเภท เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ สถานรับเลี้ยงเด็ก-ผู้สูงอายุ และร้านเสริมสวย จากเดิมที่ประกาศปิดไปแล้วจำนวนหนึ่งเมื่อวันที่ 17 มี.ค.

วันนี้ (21 มี.ค.) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ปิดสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากอีก 19 ประเภท เพิ่มเติมจากประกาศ กทม.ที่ให้ปิดสถานประกอบการ 6 ประเภทเมื่อวันที่ 17 มี.ค. รวมสถานประกอบการที่จะต้องปิดให้บริการชั่วคราว 25 ประเภท

ภายหลังคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพฯ มีมติดังกล่าว ผู้ว่า กทม. ได้ลงนามในประกาศ กทม. เรื่อง สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว (ฉบับที่ 2) ซึ่งระบุว่า "กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางสำคัญทางเศรษฐกิจ การคมนาคมและการท่องเที่ยว และมีความหนาแน่นของประชากรสูง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว การควบคุมโรคอย่างทันเวลาและจำกัดการชุมนุมของประชาชนเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้าง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง"

รวมสถานประกอบการ 25 ประเภท ที่คณะกรรมการควบคุมโรคระบาดกรุงเทพฯ มีมติสั่งปิดไปจนถึงวันที่ 12 เม.ย. ดังนี้

มติ 17 มี.ค. 2563 สั่งปิดสถานประกอบการ 6 ประเภท

  • สนามมวย
  • สถานบริการ
  • กิจการอาบ อบ นวด
  • สถานที่อาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร
  • กิจการโรงมหรสพ
  • สถานที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่ปิด
ห้างสรรพสินค้า

ที่มาของภาพ, AFP

มติ 21 มี.ค. 2563 สั่งปิดสถานประกอบการ 19 ประเภท

  • สปา นวดเพื่อสุขภาพ
  • สถานบริการควบคุมน้ำหนัก
  • สปาอาบน้ำ ตัดขนสัตว์
  • ลานสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรด
  • กิจการเสริมสวย และคลินิกเสริมความงาม
  • สวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม
  • กิจการบริการคอมพิวเตอร์
  • สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
  • สระว่ายน้ำ
  • กิจการสักผิว
  • กิจการบริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน
  • บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
  • สนามพระ
  • สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
  • สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ
  • ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
  • ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต
  • สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง
  • สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอบรมวิชาชีพทั่วกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กทม. ยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในที่มีคนหนาแน่น และไม่ต้องกักตุนสินค้าเพราะร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังเปิดตามปกติ ร้านอาหารก็เช่นกัน แต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นการซื้อกลับบ้าน

เวลาประมาณ 13.20 น. พล.ต.อ.อัศวินได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการดังกล่าว พร้อมกับให้ความมั่นใจว่า กทม.จะควบคุมการระบาดครั้งนี้อย่างเต็มที่

ข้าม Facebook โพสต์

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์

5 จังหวัดปริมณฑล ตาม กทม.

ต่อมาในช่วงเย็นของวันนี้ เพจเฟซบุ๊ก "กระทรวงมหาดไทย PR" โพสต์ข้อความระบุว่า "ผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร"

บีบีซีไทยได้เห็นเอกสารประกาศของจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนครปฐม แล้ว โดยทั้งหมดมีคำสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ เหมือนกรุงเทพฯ อาทิ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า(ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยาและสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีพ) ตลาด ร้านอาหาร สนามกีฬา เป็นต้น