มีเขยฝรั่ง ใช่ตกถังข้าวสารเสมอ

  • นันท์ชนก วงษ์สมุทร์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
คำบรรยายวิดีโอ, มีเขยฝรั่ง ใช่ตกถังข้าวสารเสมอ

การแต่งงานกับชาวต่างชาติกลายเป็น "เทพนิยาย" ของหลายคนในสังคมไทย วาดฝันให้เขยต่างชาติมาช่วยทำให้ฐานะของครอบครัวดีขึ้น กระแสนี้ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจับมือกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดอบรมหลักสูตรสำหรับครอบครัวในภาคอีสาน สร้างความเข้าใจ ใหม่ว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติไม่ได้จบแบบ "หวานแหวว" เสมอไป

บ้านไม้ที่ สุเมตร สมหวัง เคยอาศัยอยู่ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านกึ่งปูนทรงไทยขนาด 4 ห้องนอน เพรียบพร้อมด้วย เครื่องปรับอากาศ น้ำอุ่น ชักโครก ไมโครเวฟ เตาอบ เครื่องซักผ้า ทีวีจอแบน และเครื่องดูดฝุ่น

สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีมากกว่าบ้านเรือนในละแวกใกล้เคียงเป็นผลพวงมาจากลูกเขยชาวสวิสอายุกว่า 60 ปี

สุเมตรนั่งอยู่ที่บ้าน

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบันสุเมตรอาศัยอยู่ในบ้านที่ลูกเขยชาวสวิตเซอร์แลนด์สร้างให้

"เขา [ลูกเขย] บอกว่าอยากให้พ่อแม่อยู่สบาย เลยสร้างบ้านให้และสนับสนุนทุกอย่าง บ้านหลังนี้ก็สร้างให้แม่ รถก็ออกเงินซื้อให้ [เมีย]" หญิงวัย 54 ปีกล่าวกับบีบีซีไทยที่บ้านของเธอ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการต่อเติมรั้วอยู่

ปัจจุบันลูกเขยของเธอส่งเงินมาให้ใช้ 10,000-20,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมกับเงินอีกจำนวนหนึ่งที่เขาให้ภรรยาอายุ 36 ปี

สุเมตรเป็นหนึ่งในชาวบ้าน อ.ภูเวียง เกือบร้อยคน ที่เข้าฟังการอบรมหลักสูตรสำหรับครอบครัวอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าเธอยังคงอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าขาย แต่การเปลี่ยนแปลงในฐานะความเป็นอยู่ของเธอและครอบครัวก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ชาวอีสานหลายครอบครัวตั้งความคาดหวังเอาไว้กับลูกสาว

"[คนอื่น] เขามองว่ามีลูกเขยฝรั่งแล้วทำไมดีจังเลย ลูกเขยมาทำบ้านให้ด้วย น่าอิจฉา" สุเมตรกล่าว

ภายในหมู่บ้านที่อำเภอภูเวียง

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ในบ้านหนองกุงธนสาร อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น มีหลายครอบครัวที่มีลูกเขยเป็นชาวต่างชาติ

ความคิดดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ รศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการแรงงานและการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ริเริ่มโครงการอบรม โดยมีจุดมุ่งหมายให้สังคมอีสาน โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ผู้หญิงเลือกที่จะแต่งงานกับชาวต่างชาติมากขึ้น มีความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับการสมรสกับชาวต่างชาติ

"เราพยายามชี้ให้เห็นว่ามันมีความลักลั่นทางวัฒนธรรม และอยากชี้ให้เห็นว่าที่ว่าการแต่งงานแบบนี้จะหลุดพ้นความจน แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้น" รศ.ดร.ดุษฎี กล่าว

หมดสมัย "บุญรอด"

แม้ว่านวนิยายและละครที่โด่งดังกว่า 30 ปีที่แล้วอย่าง "ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด" จะสะท้อนให้เห็นภาพการแต่งงานกับชาวต่างชาติว่า "ไม่มีความสุข" อีกทั้งผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติถูกเหยียดหยามว่าเป็น "ผู้หญิงไม่ดี" แต่ปัจจุบันค่านิยมของการมีสามีเป็นชาวต่างชาติกลับเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น

ประเทศไทยไม่มีการรวบรวมสถิติว่าหญิงไทยมีแนวโน้มการสมรสกับชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากเพียงใด แต่จากงานวิจัยของ รศ.ดร.ดุษฎี เมื่อปี 2554 ที่สัมภาษณ์ผู้หญิงที่แต่งงานและตั้งใจจะแต่งงานกับชาวต่างชาติ 320 คน พบว่าหนึ่งในสามของคนที่เลือกแต่งงานกับคนต่างชาติคือคนที่เคยแต่งงานกับชายไทย บางรายเป็นแม่ที่มีลูกติด มีพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดู

รศ.ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, รศ.ดร.ดุษฎี พยายามชี้ให้เห็นว่า การแต่งงานกับชาวต่างชาติไม่ได้ทำให้หลุดพ้นความยากจนเสมอไป

"พ่อแม่คาดหวังอย่างเดียวว่า เมื่อไหร่ที่เป็นฝรั่งคือมีฐานะดี … จนอาจกดดันคู่ที่เป็นไทยด้วยกันให้แยกทางกันและลูกสาวไปหาฝรั่ง" รศ.ดร.ดุษฎี กล่าว "โครงการนี้ต้องการให้พ่อแม่รู้ว่า ลูกลำบากนะอยู่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นครอบครัวจะเกื้อหนุนอย่างไรให้ยั่งยืน ไม่ได้คิดแต่ว่าทุกอย่างจะหวานแหววหมด"

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ ผู้หญิงที่สมรสกับชาวต่างชาติหรือผู้หญิงที่กำลังคบหาและจะตัดสินใจสมรส กลุ่มครอบครัวพ่อแม่ อาสาสมัคร พม. และนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสที่จะไปทำงานในต่างประเทศ

โดยหลักสูตรแบ่งเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่ สถานการณ์ความเสี่ยง, การรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อสมรสกับชาวต่างชาติ, รู้ว่าประเทศปลายทางมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม การใช้ชีวิตอย่างไร, เข้าใจการปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่กับคนต่างชาติ และการเข้าถึงแหล่งช่วยเหลือเมื่ออยู่ต่างประเทศ

บรรยากาศการอบรมภายใต้โครงการ

ที่มาของภาพ, โครงการเสริมสร้างศักยภาพสตรีฯ

คำบรรยายภาพ, ชาวบ้านเกือบ 100 คนใน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น มาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการเสริมสร้างศักยภาพสตรีและครอบครัวอีสานที่สมรสกับชาวต่างชาติ

รศ.ดร.ดุษฎี กล่าวว่า ส่วนหนึ่งของโครงการนี้คืออยากให้พ่อแม่เข้าใจค่านิยมของคนตะวันตกในเรื่องการมีครอบครัว ที่ต้องอยู่ด้วยการทำงานช่วยเหลือกัน เนื่องจากมีพ่อแม่จำนวนหนึ่งที่เที่ยวไปซื้อของฟุ่มเฟือยมากขึ้น แล้วก็หวังให้ลูกสาวเป็นคนจ่าย ทำให้ลูกกดดัน บางรายก็เครียดและมีความซึมเศร้าสูง

"วัฒนธรรมชาวเอเชียหรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมของชนบทชาวอีสานก็คล้ายๆ กัน คือ มีความกตัญญูเป็นที่ตั้ง ลูกจะต้องดูแลพ่อแม่ แต่อยากให้เข้าใจว่าลูกเมื่อแต่งงานไปก็อยู่ท่ามกลางสองวัฒนธรรม … ถ้าพ่อแม่กดดันมาก มันอาจจะทำให้ครอบครัวของลูกคลอนแคลน เพราะสามีที่เป็นคนต่างวัฒนธรรมเขาอาจจะไม่เข้าใจจุดนี้เลย" รศ.ดร.ดุษฎี กล่าว "บางทีพ่อแม่ไม่ใส่ใจอะไรเพราะมีโหมดเดียว คือ ฝรั่งคนนี้รวย เราสบาย"

เหยื่อของการค้ามนุษย์?

เทวี พรหมรินทร์ อายุ 59 ปี เป็นอีกหนึ่งในผู้ปกครองที่เข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าว โดยเธอได้ตัดสินใจเดินไปฟังการอบรมที่ศาลาประจำหมู่บ้าน หลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ "คนที่มีลูกเขยฝรั่ง" มาเข้าร่วมการอบรม

ปัจจุบันลูกสาววัย 30 ปีของเธอกำลังคบกับชายต่างชาติอายุกว่า 50 ปีที่เจอที่ประเทศมาเลเซีย โดยลูกสาวของเธอได้ไปทำงานที่ร้านอาหารที่นั่น หลังจากเลิกกับแฟนเก่าซึ่งเป็นคนไทย แม้ว่าจะคบกันได้ 2 ปีแล้ว แต่เทวีก็ยังมีความกังวลใจในความสัมพันธ์ของทั้งคู่

เทวีนั่งอยู่ที่บ้าน

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, เทวีเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่เข้าร่วมการอบรม เนื่องจากเธอเป็นกังวลลูกสาวที่มีแฟนที่มีประเทศมาเลเซีย

แม้เทวีจะมีหลานสาวสามคนที่มีแฟนเป็นคนต่างชาติ แต่พอถึงลูกสาวตัวเองก็ยังเป็นกังวล

"แม่ก็ถามลูกว่า ถ้าเขาเอาแกไปแล้ว เขาจะไม่ฆ่าแกเหรอ ถ้าไม่แน่นอนจริงๆ แม่ก็ไม่ให้ไป แม่ก็บอกลูกสาวอยู่ว่ากังวลอะไรบ้าง เช่น จะเอาไปขายไหม"

ปัจจุบันลูกสาวของเทวีกลับบ้านมาช่วยพ่อและแม่ทำนา โดยแฟนของเธอส่งเงินมาให้เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย แต่เทวีปฏิเสธว่าเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเธอ และไม่เคยกดดันให้ลูกสาวรีบแต่งงาน

ทั้งนี้ ในงานวิจัยเรื่อง "ความมั่นคงของสตรีชนบทอีสานที่สมรสกับชาวตะวันตกในไทย" (2560) ของทิพย์สุดา ปรีดาพันธุ์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า ส่วนใหญ่ที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกัน

ชีวิตหลังสมรส

สตรีอีสาน กับชาวตะวันตก

322 คน

กลุ่มตัวอย่างสาวอีสาน

  • 50% มีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ

  • 70% ฝ่ายหญิงเคยถูกกระทำรุนแรง

AFP/Getty Images

รศ.ดร.ดุษฎี กล่าวว่า แท้ที่จริงแล้ว สาเหตุที่คนไทยรู้สึกถึงความร่ำรวยของชาวต่างชาติเป็นเพราะค่าเงินที่แตกต่างกัน

"ส่วนใหญ่ที่เราเห็นในประเทศไทยคือ เมื่อเขาแต่งงานแล้ว เขาใช้ชีวิตอยู่ในชนบท ซึ่งการแต่งงานก็มีกับคนหลายกลุ่ม บางคนก็เกษียณอายุแล้ว มีเพียงเงินบำนาญเพราะฉะนั้นการนำเงินบำนาญจำนวน 20,000-30,000 บาท มาใช้ชีวิตต่อเดือนในชนบทอีสานก็ถือว่าสามารถอยู่ได้อย่างราชา เพราะฉะนั้นก็ทำให้ผู้คนมองเห็นว่าการสมรสกับชาวต่างชาติเหมือนกับจะมีชีวิตที่สะดวกสบาย มีความสุข มีเงินทอง แต่ในความเป็นจริงแล้วเงินบำนาญเหล่านี้มันไม่เพียงพอจะใช้ชีวิตในบ้านเขาเลย" รศ.ดร.ดุษฎี กล่าว

บรรยากาศการอบรมภายใต้โครงการ

ที่มาของภาพ, Khon Kaen University

คำบรรยายภาพ, รศ.ดร.ดุษฎี (ซ้าย) เข้าร่วมการอบรมชาวบ้าน อ.ภูเวียง เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ในขั้นต่อไป โครงการดังกล่าวจะพัฒนาเป็น "คลินิก" โดยเป็นแหล่งข้อมูลช่วยเหลือผู้หญิงที่สมรสกับชาวต่างชาติ หรืออาจจะเริ่มต้นคบหาดูใจ หรือพ่อแม่ที่มีลูกสมรสข้ามวัฒนธรรมไปแล้ว

ทั้งนี้ รศ.ดร.ดุษฎี คาดว่าคลินิกจะเริ่มต้นให้บริการได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยกระทรวง พม. จะพัฒนานำร่องให้อยู่ในหลายจังหวัด เพื่อป้องกันการสมรสที่อาจนำพาไปสู่การค้ามนุษย์

ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา

สุภัตร พระตลับ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านหนองกุงธนสาร มีน้องสาวที่เปิดร้านอาหารที่ซอยคาวบอยในกรุงเทพฯ ซึ่งคนในหมู่บ้านจะส่งลูกๆ ไปทำงานที่นี่ โดยสุภัตรกล่าวว่า แม้ว่าญาติของเขากว่า 10 คนที่แต่งงานกับต่างชาติจะได้ดีกันทุกคน แต่มีคนในหมู่บ้านหลายคนที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีที่มาเลเซีย

"ส่วนมากแต่งแล้วแต่งอีก ส่วนใหญ่ที่เห็นคือ คนนี้ไม่รวย เลยเอาใหม่" อดีตผู้ใหญ่บ้านวัย 70 ปี กล่าว

สุภัตรนั่งอยู่ที่บ้าน

ที่มาของภาพ, Panumas Sanguanwong

คำบรรยายภาพ, สุภัตรมองว่าที่ลูกสาวมีสามีเป็นชาวต่างชาติเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ

เมื่อตอนที่ พิมพ์ชญาฎา พระตลับ ลูกสาวของเขา แต่งงานกับสามีชาวเยอรมันที่เจอกันที่ร้านอาหารที่พัทยาเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา เขารู้สึกดีใจเพราะเห็นว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติแปลความได้ว่าลูกสาวมองเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากผู้ที่มีลูกไปแต่งงานกับคนต่างชาติส่วนมากมีชีวิตที่ดีขึ้น และก็ไม่ผิดหวังเพราะสามีชาวต่างชาติคนนี้ส่งเงินให้พ่อและแม่ของภรรยากว่า 10,000 บาททุกเดือน

ตัวพิมพ์ชญาฎาเองกล่าวว่า เริ่มแรกที่เธอย้ายไปอยู่ที่เยอรมนี เธอต้องปรับตัวอย่างมากในเรื่องอาหาร ภาษา และสภาพอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งนอกจากเธอจะต้องทนอยู่กับอุณหภูมิที่ติดลบสูงสุด 20 องศาแล้ว เธอยังต้องเรียนภาษาเยอรมัน เนื่องจากคนเยอรมันพูดภาษาอังกฤษน้อยมาก

เธอกล่าวว่า กับข้าวเป็นปัญหาหลักที่สำคัญเพราะอาหารแพงมาก และช่วงแรกๆ เธอกินอาหารฝรั่งไม่เป็น

"เราเป็นคนไทยชอบกินส้มตำ ปลาร้า ... เกิดมาไม่เคยทำกับข้าว พออยู่ที่เยอรมันไม่สามารถซื้อตามร้านอาหารได้เหมือนเมืองไทย เราก็ต้องทำกินเอง ก็โทรถามแม่ พอตอนหลังก็ทำตามยูทูป" หญิงวัย 31 ปี กล่าว "พอครอบครัวที่ไทยรู้ว่าได้แฟนต่างชาติจะคิดว่าฝรั่งรวยคำเดียวเลย แต่ฝรั่งที่มาเมืองไทยไม่ได้รวยทุกคน เขาเก็บเงินทั้งปีเพื่อมาเที่ยว 1 เดือนช่วงซัมเมอร์ คนไทยเห็นก็คิดว่ารวย"

พิมพ์ชญาฎาและครอบครัว

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, พิมพ์ชญาฎากับแฟนคนปัจจุบัน และลูกชายวัย 9 ขวบที่มีกับสามีชาวเยอรมันคนเก่า

แม้ว่าพิมพ์ชญาฎาจะไม่ได้ทำงาน เนื่องจากต้องเลี้ยงดูลูกชายวัย 9 ขวบที่พูดภาษาอีสาน อังกฤษ และเยอรมันได้ แต่เธอเล่าว่า ผู้หญิงไทยที่เยอรมันส่วนมากจะทำงานแล้วส่งเงินมาช่วยเหลือครอบครัวที่ประเทศไทย

ปัจจุบันเธออาศัยอยู่ที่รัฐบาวาเรียของประเทศเยอรมนีกับแฟนชาวเช็ก หลังจากสามีคนแรกเสียชีวิตเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาด้วยวัย 53 ปี หลังจากเป็นเจ้าชายนิทราอยู่ 5 ปี

พิมพ์ชญาฎาและครอบครัว

ที่มาของภาพ, PANUMAS SANGUANWONG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบันการแต่งงานระหว่างผู้หญิงอีสานกับชาวต่างชาติมีมากขึ้น

เมื่อถามว่าเธออยากกลับมาอยู่ประเทศไทยหรือไม่ พิมพ์ชญาฎายิ้มและไม่ลังเลใจที่จะตอบว่า "นี่คือความฝันของหญิงไทยเกือบทุกคน ยังไงก็ต้องกลับบ้านเรา เพราะอยู่ต่างประเทศไม่สามารถเดินไปขอยืมน้ำปลา ผงชูรสที่บ้านเพื่อน อยากกินส้มตำก็เดินไปบ้านเพื่อน" เธอกล่าว

"อยู่ต่างประเทศจะปูเสื่อนั่ง ไม่กินข้าวบนโต๊ะ เปิดหมอลำ จะทำทุกวิถีทางไม่ให้รู้สึกห่างเหินเกิน พูดภาษาอีสานกับลูก กับแฟน มันอยู่ในสายเลือด"