โควิด-19 : ระดับมลพิษในอากาศเกี่ยวข้องกับอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาหรือไม่

The buildings of downtown Los Angeles are partially obscured in the late afternoon on 5 November 2019 as seen from Pasadena, California.

ที่มาของภาพ, CLAUDIO REYES

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกชี้ ระดับมลพิษทางอากาศสูงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการหนัก

ขณะที่งานวิจัยอีกสองชิ้นที่ทำขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างระดับมลพิษทางอากาศกับอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาไว้เช่นกัน

"ประเทศไหนที่มีระดับมลพิษสูง แผนรับมือกับโรคโควิด-19 ของพวกเขาต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่ามลพิษทางอากาศจะทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นด้วย" ดร.มาเรีย ไนรา ผู้อำนวยการหน่วยงานสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก บอกกับบีบีซี

เธอบอกว่ากำลังวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย และนำข้อมูลขององค์การอนามัยโลกมาจัดทำแผนที่เมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ นำข้อมูลไปใช้ประกอบการทำแผนรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามแนวทางนี้

Medical workers load a deceased body into an ambulance at Andover Subacute and Rehabilitation Centre on 16 April 16 2020 in Andover, New Jersey, USA.

ที่มาของภาพ, Eduardo Munoz Alvarez

คำบรรยายภาพ, วิทยาลัยสาธารณสุข ที.แอช. ชาน ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด พบว่า ในที่ที่มีอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หนาแน่น อัตราการเสียชีวิตของคนจะสูงกว่า

บุคลากรทางการแพทย์เห็นพ้องกันว่ายังเร็วไปที่จะสรุปว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างระดับมลพิษอากาศที่สูงกับโรคโควิด-19 แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในบางประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงบอกว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางคนที่ป่วยด้วยโรคจากมลพิษอากาศอยู่เดิม กลายเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก

A doctor attends to patients in intensive care in the Covid-19 ward of the Maria Pia Hospital in Turin on 7 April 2020.

ที่มาของภาพ, MARCO BERTORELLO

คำบรรยายภาพ, งานวิจัยอย่างน้อยสองชิ้นชี้ว่ามลพิษอากาศเชื่อมโยงความเสี่ยงตายจากโควิด-19

การตายจากมลพิษทางอากาศ

องค์การอนามัยโลกประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคน ธนาคารโลกระบุว่า หลายประเทศที่ได้รับผลกระทบอยู่ในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ประเทศแถบตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา

องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่าประเทศลาตินอเมริกาอย่าง ชิลี เม็กซิโก และเปรู ก็มีระดับมลพิษอากาศในระดับที่อันตรายด้วย

งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเรื่องผลกระทบในระยะยาวของมลพิษทางอากาศ ชี้ว่า การเพิ่มระดับของอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในช่วงหลายปีก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของคนในพื้นที่นั้น ๆ ราว 15 เปอร์เซ็นต์

งานวิจัยนี้ศึกษาพื้นที่เกือบทั้งหมดในสหรัฐฯ ใช้ข้อมูลมลพิษทางอากาศและสำมะโนประชากรทั่วประเทศ นำมาวิเคราะห์ควบคู่กับจำนวนผู้เสียชีวิตที่เก็บข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์

วิทยาลัยสาธารณสุข ที.แอช. ชาน ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด พบว่า ในที่ที่มีอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 หนาแน่น อัตราการเสียชีวิตของคนจะสูงกว่า

Vehicles on the road amid heavy smog on 3 November 2019 in Ghaziabad, India.

ที่มาของภาพ, Hindustan Times

คำบรรยายภาพ, อินเดียเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดประเทศหนึ่ง

งานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาตรวจสอบโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ แต่ ศ.แอนเน็ตต์ ปีเตอร์ส ผู้อำนวยการสถาบันระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียน ในเยอรมนี บอกกับบีบีซีว่าการวิเคราะห์นี้มีความเป็นไปได้และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายงานการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาการปอดบวม

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซียนาในอิตาลีและมหาวิทยาลัยออร์ฮุสในเดนมาร์ก ทำการวิจัยโดยเจาะพื้นที่ทางตอนเหนือของอิตาลีโดยเฉพาะ งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ไซแอนส์ ไดเร็ก (Science Direct) ชี้ว่า ควรจัดให้ระดับมลพิษทางอากาศที่สูงทางตอนเหนือของอิตาลีเป็นปัจจัยหนึ่งของการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ตัวเลขทางการของอิตาลีชี้ว่า ถึงวันที่ 21 มี.ค. การเสียชีวิตที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในแคว้นลอมบาร์ดีและแคว้นเอมิเลีย-โรมานญา มีราว 12 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับที่อื่น ๆ ในอิตาลีที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์

A view of smog over Santiago, Chile on 9 July 2018

ที่มาของภาพ, Mario Tama

คำบรรยายภาพ, องค์การอนามัยโลกและโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่าประเทศลาตินอเมริกาอย่าง ชิลี เม็กซิโก และเปรู ก็มีระดับมลพิษอากาศในระดับที่อันตราย

อากาศในประเทศที่กำลังพัฒนา

องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ร้อยละ 90 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในที่ที่ระดับมลพิษแย่เกินกว่าขีดจำกัดที่แนะนำไว้ และส่วนใหญ่ในจำนวนนี้ก็เป็นคนในประเทศยากจน

ผู้เชี่ยวชาญทั้งในฟิลิปปินส์และอินเดียต่างก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่การเสียชีวิตของคนไข้โควิด-19 จะเชื่อมโยงกับระดับมลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่

ศ.ศรีนาธ เร็ดดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขอินเดีย มองว่า หากมลพิษทางอากาศทำลายระบบทางเดินหายใจและเยื่อปอดแล้ว ร่างกายก็จะต่อสู้กับไวรัสโคโรนาได้น้อยลง

อย่างไรก็ดี หน่วยงานสาธารณสุขอินเดียยังบอกว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปเรื่องนี้

โรคซาร์สและมลพิษทางอากาศ

เมื่อปี 2002 โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) ซึ่งเกิดจากไวรัสโคโรนาคนละสายพันธุ์กับที่ระบาดอยู่ตอนนี้ ได้แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 800 คน

งานวิจัยจากปี 2003 โดยวิทยาลัยสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (ยูซีแอลเอ) ของสหรัฐฯ พบว่า คนที่เป็นโรคซาร์สมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่าธรรมดา 2 เท่าหากอาศัยอยู่ในที่ที่ระดับมลพิษทางอากาศสูง

ระดับมลพิษทางอากาศลดลงในช่วงที่ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่ก็จะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อคลายมาตรการต่าง ๆ ในเวลาต่อมา