เงินเฟ้อ : ข้าวของแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น เรื่องจริงหรือแค่ความรู้สึก

คำบรรยายวิดีโอ, ฟังเสียงคนกรุงฯ ของแพง ค่าครองชีพสูงขึ้นจริง หรือ ?
  • Author, วัชชิรานนท์ ทองเทพ & พริสม์ จิตเป็นธม
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยแพร่รายงานภาวะเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ของปีนี้ระบุว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.3% และยังปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ลงอีก สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอาจไม่มีความหมายมากไปกว่าสิ่งที่เจอกับตัวเองทุกวันนั่นคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกับเงินในกระเป๋าที่ลดลง

"แพงขึ้นทุกอย่างเลยค่ะ อย่างอาหาร ถ้าเกิดว่ากินแบบ 2-3 อย่าง ราคาเคยอยู่ที่ประมาณ 30 บาท 35 บาท ตอนนี้ก็จะประมาณ 50-55 บาท ที่กินทุกวัน" น.ส.สตรีรัตน์ ร่วมสุข พนักงานออฟฟิศในย่านชิดลม หนึ่งในพื้นที่ธุรกิจในกรุงเทพฯ บอกกับบีบีซีไทย

"ข้าวเหนียวหมูปิ้ง สมัยก่อนไม้ละ 5-7 บาท ตอนนี้ไม้ละ 10 บาท บางร้านก็จะเป็น 15 บาท เรารู้สึกว่ามันแพงขึ้น ปริมาณลดลง หมูปิ้ง ก็จะให้ไขมันมากขึ้น" เธออธิบาย

นอกจากพนักงานสาวในวัย 28 ปีรายนี้แล้ว พนักงานบริษัทหลายคนที่บีบีซีไทยสอบถามก็พูดไปในทิศทางเดียวกัน สะท้อนสถานการณ์ "ข้าวยากหมากแพง" ที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

ข้อมูลของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในเดือน ก.ค. เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้น 0.98% โดยสินค้ากลุ่มอาหารสด ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทผักและผลไม้ เนื้อหมู ข้าวสารเหนียวและข้าวสารเจ้า

เศรษฐกิจไม่ดี กระทบคนรายได้น้อยถึงปานกลาง

"แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% (ซึ่งเป็นค่ากลาง) ก็ตาม แต่ที่คนเกิดความรู้สึกอย่างนั้น ก็เพราะว่าเศรษฐกิจเติบโตช้าลง" รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ อธิบายให้บีบีซีไทยเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่คนจำนวนมากบ่นว่าข้าวของแพงและค่าครองชีพสูงขึ้น

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2562 ขยายตัว 2.3% โดยถือเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส และชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 2.8% นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกติดลบถึง 4.2% ส่วนการนำเข้าติดลบ 3.4%

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์รายนี้อธิบายเพิ่มเติมว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ส่งผลดีต่อกลุ่มคนรากหญ้าหรือผู้มีรายได้ระดับปานกลาง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ มักมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการซื้อหาอาหารสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า เมื่อราคาอาหารปรับเพิ่มสูงขึ้นหรือค่าครองชีพสูงขึ้น แต่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลง ย่อมทำให้พวกเขาอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้ในระดับสูง

ต้นทุนการเดินทางก็เพิ่มขึ้น

นอกจากหมวดอาหารแล้ว ข้อมูลจากกองดัชนีเศรษฐกิจการค้าระบุว่า ค่าโดยสารสาธารณะยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนีผู้บริโภคในเดือน ก.ค. เพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2561 ค่าใช้จ่ายด้านนี้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 5.91% ซึ่งมาจากการทยอยปรับราคาขึ้นของรถโดยสารขนนาดเล็ก รถสองแถว

ค่าโดยสารสาธารณะยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนีผู้บริโภคในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้น

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ค่าโดยสารสาธารณะยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนีผู้บริโภคในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้น

หากย้อนกลับไปเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปรับขึ้นราคารถเมล์ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22 เม.ย. และมีแผนจะปรับขึ้นอีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย. 2563

ขสมก. เตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารอีกครั้งปีหน้า

ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม, ขสมก.

อากาศแปรปรวน ดันราคาอาหารเพิ่ม

นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว สภาพอากาศแปรปรวนและภัยแล้งยังมีผลทำให้ราคาพืชผลการเกษตรขาดแคลน และทำให้พืชผักเน่าเสียได้ง่าย ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรขาดรายได้ ชาวนาบอกตรงกันว่าผลผลิตข้าวลดน้อยลงเพราะทำนาได้เพียงแค่ครั้งเดียวในปีนี้

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่าภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวเป็นสำคัญ โดยอาจมีความเสียหายสูงสุดประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทหรือราว 0.16% ของจีดีพี

แม่ค้าที่ตลาดคลองเตยบอกว่า ราคาข้าวสารเหนียวเขี้ยวงูใหญ่ เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จาก 630 บาทต่อถัง เป็น 675 บาทต่อถัง

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, แม่ค้าที่ตลาดคลองเตยบอกว่า ราคาข้าวสารเหนียวเขี้ยวงูใหญ่ เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จาก 630 บาทต่อถัง เป็น 675 บาทต่อถัง

เมื่อต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสาเหตุที่เงินเฟ้อเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 1% ว่าเป็นผลมาจากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผักสดราคาสูงขึ้น 20% จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในเดือน ก.ค. 2562 เทียบกับ เดือน มิ.ย. มีสินค้ากว่า 130 รายการปรับสูงขึ้น เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวสารเหนียว ส้มเขียวหวานและกล้วยน้ำว้า เป็นต้น

เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มผักสด

ที่มาของภาพ, PAris Jitpentom/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มผักสด

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยได้ไหม?

วันที่ 20 ส.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน ภายใต้งบประมาณรวม 3.16 แสนล้านบาท ซึ่งนายอุตตม สาวนายน รมว. คลัง ผู้นำเสนอมาตรการอัดฉีดดังกล่าว ระบุว่าจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% และปี 2563 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5%

ประชุม ครม. เศรษฐกิจ
ทำเนียบรัฐบาล
3.16 แสนล้านให้ใคร?

ที่ประชุม ครม. เศรษฐกิจ นัดแรกซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน อนุมัติมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศโดยใช้วงเงิน

  • 316,000 ล้านบาทโดยเป็นสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 200,000 ล้านบาท

  • ลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 2.97 ล้านคน ด้วยการจ่ายเงิน 500 บาท/ไร่

  • โครงการ “ชิมชอปใช้” ให้เงินไปเที่ยวคนละ 1,000 บาท

  • ชดเชยเงินให้ 15% จากยอดใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงสุดคนละ4,500 บาท

  • เพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคนละ200-500 บาท/เดือน

  • มอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการฯ 2 เดือน คนละ500 บาท

Source: มติ ครม.เศรษฐกิจ 16 ส.ค. 2562

หนึ่งใน 3 ด้านคือ ชุดมาตรการแก้ปัญหาค่าครองชีพนั้น รัฐบาลมีแผนเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท/เดือน เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในบัตรดังกล่าว 500 บาท/เดือน และเพิ่มเงินเลี้ยงดูบุตรผ่านบัตรนี้อีก 300 บาท/เดือน รวมทั้งพักหนี้กองทุนหมู่บ้านของ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน ในขณะเดียวกันยังกระตุ้นให้คนจับจ่ายผ่านการท่องเที่ยว โดยให้เงินแก่คนไทย 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนล่วงหน้าคนละ 1,000 บาท เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

คนกดเงินที่ตู้เอทีเอ็ม

ที่มาของภาพ, Getty Images

นอกจากนี้ การอนุมัติโครงการประกันรายได้ราคาข้าวสูงสุด 15,000 บาท/ตัน อีกด้วย

"มาตรการทั้งหมดก็ไม่ต่างจากที่รัฐบาลชุดก่อน ๆ ที่มีขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการชั่วคราว และทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งมีผลเพียงระยะสั้น ๆ และเป็นผลทางจิตวิทยาเท่านั้น" รศ.ดร. สมชาย วิเคราะห์

ในขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์รายนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า เงินที่อัดฉีดลงไปจะเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ขณะที่ยอดหนี้ภาคครัวเรือนยังมีอยู่ค่อนข้างสูง