ไฟใต้ : บีอาร์เอ็น ร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพ กับ “ก้าวสำคัญ” ของการแก้ปัญหาชายแดนใต้

ที่มาของภาพ, Khairul Azam Sahmad
สามปีหลังเสียงเรียกร้องของกองกำลังหลักที่ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลไทยเปิดเจรจาตรงกับบีอาร์เอ็นเพื่อดับไฟใต้ ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะเกิดความสงบชั่วคราวในช่วงเริ่มต้นของการเจรจา
การพบปะกันครั้งแรกระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้ กับผู้แทนของบีอาร์เอ็น หรือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ซึ่งเป็นกองกำลังหลักที่ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี 2547 มีขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา วันเดียวกับการเยือน จ.นราธิวาส ของคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม เป็นการเปิดเจรจาตรงของรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นเพื่อดับไฟใต้

ที่มาของภาพ, Jonathan Head
ฝ่ายไทยประกอบด้วย คือ ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยมี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะ โดยพบกับคณะผู้แทนบีอาร์เอ็น ที่มีนายอนัส อับดุลเราะห์มาน (Anas Abdulrahman) เป็นหัวหน้าคณะ
การหารือครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการอำนวยการของ ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาเลเซียวัยเกือบ 80 ปี ผู้ได้รับการแต่งตั้งจาก ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เมื่อ ส.ค. 2561 ให้เข้ามามีบทบาทนำสันติสุขมาสู่ชายแดนมาเลเซีย-ไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images
หลังการหารือ กองเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงในเอกสารต่อสื่อมวลชนว่า บรรยากาศของการหารือเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ และทั้งสองฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการร่วมมือกันต่อไป
"คณะพูดคุยฯ ตระหนักดีว่าการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนนั้น ต้องเกิดจากการพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างโดยใช้แนวทางสันติวิธี โดยรับฟังความคิดเห็นและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน"
ฝ่ายบีอาร์เอ็น ได้ออกเอกสารแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษและมลายู ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการหารือครั้งนี้ว่า ได้ "บรรลุถึงข้อเห็นพ้องหลายเรื่องเพื่อใช้เป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันในกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพในอนาคต"
ในแถลงการณ์อธิบายว่า "ข้อเห็นพ้องหลายเรื่อง" ได้แก่
- การพูดคุยสันติภาพระหว่างบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทยเป็นผลของข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดยอยู่บนเนื้อหาของกรอบความร่วมมือและข้ออ้างอิง (ToR) ที่ได้ตกลงกันก่อนหน้า
- ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความสำคัญต่อกรอบความร่วมมือและข้ออ้างอิง (ToR) เพื่อเป็นกติกาพื้นฐานของการเจรจาอย่างเป็นทางการ
- ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และการพูดคุยมีขึ้นโดยมีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศเข้าร่วม

ที่มาของภาพ, BBC
ย้อนรอยความพยายามพูดคุยสันติภาพ
2547 -- เหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค. 2547 ถูกมองว่าเป็น "จุดเริ่มต้น" ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
ผ่านมา 16 ปี ไฟใต้ยังไม่ดับ แม้รัฐบาล 8 ชุดของนายกรัฐมนตรี 6 คน ตั้งแต่ ทักษิณ ชินวัตร ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทุ่มงบดับไฟใต้ไปกว่า 3.13 แสนล้านบาทก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจระงับเหตุร้ายรายวันที่เกิดขึ้นกว่า 2 หมื่นครั้ง หรือคิดเป็นวันละอย่างน้อย 3 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้สังเวยชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7,074 ราย
2558 -- รัฐบาลไทยทุกยุค พยายามเปิดการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ จนนำไปสู่การเปิดตัว มารา ปาตานี องค์กรร่มของฝ่ายขบวนการปลดแอกเอกราชปาตานี (Majlis Syura Patani: MARA Patani) โดยมีมาเลเซียเป็นผู้จัดการและสนับสนุน ให้เกิดการพบปะและการแถลงข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อ ส.ค. 2558
2561 -- การพูดคุยผ่านไปหลายครั้ง เปลี่ยนหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย หลายครั้ง แต่ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่ง มี.ค. 2561 สุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะของมารา ปาตานี ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ตั้งคำถามเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของฝ่ายรัฐไทยกลับไปยังผู้นำสูงสุดของรัฐบาล คสช. ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น และหวังว่า "รัชกาลที่ 10 นี้ทรงมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ถ้ารัฐบาลเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ นอกจากรัชกาลที่ 10 พระองค์เดียวที่จะแก้ปัญหาให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด"
2560 -- ก่อนหน้านี้ เมื่อ เม.ย. 2560 ขบวนการบีอาร์เอ็น ประกาศไม่มีส่วนร่วมในกลุ่มมาราปาตานี ที่กำลังพูดคุยหาแนวทางสันติภาพกับทางการไทย แต่ต้องการเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลไทยโดยมีประชาคมโลกร่วมสังเกตการณ์

ที่มาของภาพ, Getty Images
นายอับดุล การิม คาลิด ผู้แทน บีอาร์เอ็น ให้สัมภาษณ์กับ บีบีซีแผนกภาษาอินโดนีเซียว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นมีความประสงค์ที่จะเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยโดยตรง และมีสักขีพยาน เป็นผู้แทนจากนานาประเทศร่วมสังเกตการณ์ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาสันติภาพที่รัฐบาล มาเลเซียเป็นผู้ประสานงานให้ทางการไทยได้เจรจากับกลุ่มมาราปาตานี ที่รวมผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วย เนื่องจากบีอาร์เอ็น ไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับ และมองว่าการดำเนินการไม่มีความเท่าเทียม
2562 -- ฝ่ายไทยบ่ายเบี่ยงข้อเสนอของบีอาร์เอ็นหลายครั้ง จนกระทั่ง เมื่อ พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.วัลลภ ผู้รับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนล่าสุด หลังเกษียณจากตำแหน่ง เลขา สมช. เลือกเวทีสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ เอฟซีซีที เปิดตัวให้สื่อมวลชนไทย-เทศ นักการทูต และผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รู้จัก และเปิดเผยว่า เป็นไปได้ที่จะเชิญบีอาร์เอ็นมาเป็นแกนนำในการเจรจา
เจรจาหลังฉาก
นักวิเคราะห์อิสระด้านความมั่นคงมองว่า การกลับมาเจรจากับบีอาร์เอ็นอีกครั้งหลังจากที่ยกเลิกไปหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกรัฐประหารเมื่อ พ.ค. 2557 เป็นผลจากการติดต่อทางลับระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น คู่ขนานไปกับกระบวนการเจรจากับมารา ปาตานี ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

ที่มาของภาพ, Getty Images
"เราเสียเวลาไปหลายปีแล้วกับความพยายามหาคู่เจรจาที่ถูกฝาถูกตัว ความสำเร็จเบื้องต้นนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ" รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง ให้ความเห็นกับบีบีซีไทย
เธอระบุว่า มีสัญญาณเริ่มต้นที่ดีที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้สังเกตการณ์นานาชาติในกระบวนการพูดคุยครั้งแรก ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่บีอาร์เอ็นเรียกร้องให้มีตลอดการเจรจา แต่รัฐบาลไทยเห็นว่าเป็น "เรื่องละเอียดอ่อนมาก"
ความสงบชั่วคราวขณะช่วงฮันนีมูน ?
รศ. ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า การเปิดการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นครั้งนี้นับเป็น "ก้าวสำคัญ" ที่รัฐบาลไทยพยายามหามาหลายปี และหวังว่า ความรุนแรงจะสงบชั่วคราวในช่วงต้นของการเจรจาราว 1-2 เดือนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่คู่เจรจาต้องพยายามดำเนินการในสิ่งที่หารือกันไว้
"ความรุนแรงจะลดลงโดยธรรมชาติในช่วง 1-2 เดือนแรก...เว้นแต่จะมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามา เช่น ขบวนการผิดกฎหมาย หรือ การเมืองท้องถิ่น"

ที่มาของภาพ, Getty Images
ความจริงใจของรัฐไทย กับ เอกภาพของบีอาร์เอ็น
นักวิเคราะห์อิสระมองว่า ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพขึ้นอยู่กับความจริงใจของรัฐบาลไทย และเอกภาพของขบวนการต่อต้านรัฐไทย
รุ่งรวี บอกว่า หากวัดความจริงใจของรัฐบาลไปที่จำนวนงบประมาณที่จัดไว้ เราจะพบว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเจรจาสันติภาพ งบประมาณที่จัดให้น้อยมากเมื่อเทียบกับงบประมาณด้านปฏิบัติการต่อต้านเหตุร้าย เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการข่าว และการสร้างอุดมการณ์ใหม่
"การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นครั้งแรกในวันเดียวกับที่นายกฯ ลุงตู่ไปเยือนนราธิวาส จังหวะช่างพอดิบพอดีเสียนี่กระไร จะดีเพียงใดหากนายกฯ จะเป็นผู้ประกาศความสำเร็จในการนำบีอาร์เอ็นมาเข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพได้สำเร็จ แต่ท่านนายกฯ ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด ปรากฏการณ์นี้อาจจะบ่งบอกว่า นโยบายเรื่องการพูดคุยอยู่ในใจของท่านผู้นำมากน้อยเพียงใด การพูดคุยสันติภาพคงไม่อาจสำเร็จได้ หากปราศจากเจตจำนงทางการเมืองของผู้นำ" รุ่งรวี เขียนทางเพจเฟซบุ๊กของเธอ
ในส่วนของผู้ก่อความไม่สงบ ตัวแทนที่เข้าร่วมเจรจากับรัฐไทยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถสั่งการให้กลุ่มผู้ปฏิบัติการในพื้นที่เชื่อฟัง
"ความขัดแย้ง เห็นต่างในหมู่กลุ่มนักรบติดอาวุธเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องอุปสรรคใหญ่ของการเห็นสันติภาพที่ถาวร"