"ทวิตเตอร์ คือ ผนังห้องน้ำในศตวรรษที่ 21 แต่มันเป็นฝาผนังที่เข้าถึงคนได้ล้าน ๆ คน..."

  • ธันยพร บัวทอง
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ทวิตเตอร์

ที่มาของภาพ, Getty Images

เทรนด์บนทวิตเตอร์ในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ที่ปัญญาชน-นักวิชาการบางคนเรียกว่า "สิ่งที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น"

ตั้งแต่ค่ำของวันที่ 1 ต.ค. ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันที่ 2 ต.ค. แฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ ติดอันดับเทรนด์บนทวิตเตอร์ในประเทศไทย มีผู้ติดแท็กนี้กว่า 7 แสนทวีต ต่อมาช่วงบ่ายวันที่ 2 ต.ค. แฮชแท็ก #SaveTwitterTH ได้ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งแซงหน้า #ขบวนเสด็จ เนื่องจากระบบทวิตเตอร์ใช้งานไม่ได้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากในไทยเชื่อมโยงกับแฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ แต่ในเวลาต่อมาทวิตเตอร์แจ้งว่า ระบบล่มทั่วโลก ก่อนได้รับการแก้ไขและกลับมาใช้งานได้ปกติ

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าปรากฏการณ์นี้กำลังบอกว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทางการเมืองครั้งสำคัญ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อธรรมเนียมเก่า ๆ ที่ประพฤติปฏิบัติมาโดยไม่ถูกตั้งคำถาม

แฮชแท็กว่าด้วยการเมืองพุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับหนึ่งหลายเรื่อง เช่น #ขบวนเสด็จ #โตแล้วเลือกเองได้ พร้อม ๆ กับ การเติบโตขึ้นของบัญชีผู้ในทวิตเตอร์ในไทยอย่างรวดเร็ว จาก 2.7 ล้านบัญชี ในปี 2557 เป็น 4.1 ล้านบัญชี ในปี 2562

ผศ.ดร.ประจักษ์ อธิบายถึงเบื้องหลังการเติบโตที่รวดเร็วของสื่อสังคมนี้ว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับกระแสความคิดใหม่ ๆ ไม่ได้โตมากับธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบเดิม เพราะฉะนั้นถ้าเห็นเรื่องที่แปลกหูแปลกตา เขาก็จะตั้งคำถาม และคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งแรก ในการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

บทสนทนาใหม่

ผศ.ดร. ประจักษ์ ยอมรับว่า นักวิชาการอย่างเขายังต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและอ่านสัญญาณเหล่านี้ เมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน ปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่านี่เป็น "บทสนทนาแบบใหม่"

"กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดใหม่ ๆ ซึ่งอาจสะสมความนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แต่การพูดเรื่องนี้บนทวิตเตอร์ ทำให้ความคิดแต่เดิมที่คิดอยู่ในใจ หรือคุยในวงข้าวของเพื่อนสามารถแสดงออกทางสาธารณะได้ผ่านแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ที่ปิดกั้นได้ยาก"

อ.ประจักษ์เสริมว่า แม้ทวิตเตอร์ในไทยเติบโตจากกลุ่มแฟนเพลงเกาหลีติดตามศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้ พวกเขาก็สนใจการเมืองด้วย

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

จากผนังห้องน้ำสู่โลกออนไลน์

ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าวว่า ทวิตเตอร์มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น เป็นพื้นที่ที่ไม่มีต้นทุน ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของแอคเคาท์ได้มากเท่าที่ต้องการ และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน

"ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญในการคุยประเด็นเซ็นซิทีฟ เพราะทำให้คนรู้สึกปลอดภัยปิดบังตัวตนได้ ในสังคมที่ปิดกั้นสูงมีกฎหมายที่รุนแรงในการห้ามแสดงความคิด คนจะกล้าก็ต่อเมื่อคุณสามารถแสดงความคิดได้ โดยไม่เปิดเผยตัวตน"

ผศ. ดร. ประจักษ์ชี้ว่า กลไกนี้เองที่ทำงานคล้ายกับการที่มีคนเขียนตามฝาผนังห้องน้ำหรือกราฟิตี้ตามพื้นที่สาธารณะในอดีต

"ทวิตเตอร์ คือ ผนังห้องน้ำในศตวรรษที่ 21 แต่มันเป็นฝาผนังนี้เข้าถึงคนได้ล้าน ๆ คน ไม่ใช่แค่ศิลปินคนสองคนพ่นกราฟิตี้บนกำแพง"

นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวอีกว่า ลักษณะเด่นของทวิตเตอร์ คือ ทุกคนสร้างประเด็นได้ สร้างเทรนด์ได้ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนสร้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่เราคุยกับคนแปลกหน้าที่สนใจประเด็นอะไรบางอย่างร่วมกัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, ผศ.ดร.ประจักษ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โตไวเพราะถูกปิดกั้น

ในเมืองไทย ทวิตเตอร์ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีเสรีภาพมากที่สุด ยังไม่ถูกควบคุมจากรัฐมากนัก เมื่อเทียบกับสื่อหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แต่ตอนนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเห็นพลังมากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งคำถามต้องห้าม ตัวอย่างก่อนหน้านี้ก็เช่น การเรียก รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ไปพบที่สำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อประเด็นการทวีตข้อความ ก็บอกได้ว่ารัฐมีการมอนิเตอร์

"ปัจจัยการเมืองที่ส่วนแน่อย่างปฏิเสธไม่ได้ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์เยอะ โตเร็ว เป็นประเทศที่มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นสูง แล้วคนรู้สึกว่าแสดงออกไม่ได้ในช่องทางปกติ เลยมาใช้ทวิตเตอร์ในการแสดงออก"

"ยิ่งสังคมไหนปิดกั้นเยอะ ทวิตเตอร์ก็ยิ่งเติบโตสูง" ผศ.ดร. ประจักษ์ ระบุ และยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ ตุรกี อินโดนีเซีย หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ผู้คนเริ่มระบายความอึดอัดในช่องทางนี้เป็นอันดับแรก

มือถือ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ไวรัล หรือ ไฟไหม้ฟาง

ผศ. ดร. ประจักษ์ ซึ่งใช้งานทวิตเตอร์ในการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสังคมการเมืองเช่นกัน บอกว่า ความเร็วของทวิตเตอร์เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง แม้การเซ็นเซอร์จากรัฐทำได้ยาก แต่เมื่อความสนใจของคนต่อหัวข้อการคุยของคนในโลกทวิตเตอร์เปลี่ยนไป ประเด็นถกเถียงนั้นก็หายไปด้วย

แล้วการแสดงออกทางการเมืองแบบในทวิตเตอร์นำไปสู่อะไรหรือไม่นำไปสู่อะไรเลยกันแน่

"การเปลี่ยนแปลงจริง ๆ มันต้องมีการเคลื่อนไหวในโลกนอกทวิตเตอร์ด้วย หรือในโลกออฟไลน์ด้วยด้วย อย่างปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่เปลี่ยนเพราะว่าออนไลน์กับออฟไลน์ มันมาเชื่อมกันนำไปสู่การรวมตัวจัดตั้งเป็นขบวนการ เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการเปลี่ยนรัฐบาลหรือระบอบ"

เขาชี้ว่า ในไทยการเคลื่อนไหวบนโลกทวิตเตอร์ในประเด็นการเมืองและสิทธิเสรีภาพจะเป็นไปอย่างคึกคัก แม้ว่ายังไม่ได้นำไปสู่การจัดตั้งเคลื่อนไหว แต่ก็มีนัยยะสำคัญที่มีต่อชนชั้นปกครองของประเทศไทย

"ในกรณีของไทยไม่ได้หมายความไม่สำคัญ แม้พูดถึงข้อจำกัดว่ามันไม่ได้รวมตัวลงท้องถนน แต่ในกรณีของสังคมไทยสำคัญ เพราะมีการควบคุมทางความคิดสูง ชนชั้นนำไทยรักษาอำนาจไว้ผ่านการกล่อมเกลาจึงประสบความสำเร็จในการปกครองได้อย่างยาวนาน การตั้งคำถามทางความคิดเองก็เป็นการต่อสู้ทางการเมืองแล้วในตัวมันเอง"

ทวิตภพจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริง

หลายคนอาจจะรู้จักเว็บไซต์ change.org เว็บไซต์ที่เปิดให้คนทั่วไปตั้งประเด็น เปิดการรณรงค์ ให้มีการลงชื่อสนับสนุน-คัดค้าน เรื่องราวต่าง ๆ แม้จะมีคำถามว่าการเข้าชื่อจะเกิดผลเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง แต่ก็มีหลายเรื่องที่พลังแห่งจำนวนของเสียงผู้ร่วมสนับสนุนก็มีผลในการเปลี่ยนทิศทางของเรื่องนั้นได้ แล้วโลกของเสียงผู้คนในทวิตเตอร์จะทำแบบนั้นได้ไหม

"การสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมอาจเริ่มได้จากการแสดงความคิดเห็น แต่ในทวิตเตอร์มันบอกไม่ได้ว่าจะมีการ mobilization เกิดขึ้นตามมาในทุกเรื่องมั้ย" วริศรา ศรเพชร ผอ. change.org ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นกับบีบีซีไทย และเสริมว่า mobilization ในที่นี้คือการรวบรวมระดมเสียงความคิดเห็นเพื่อมีข้อเรียกร้องต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

วริศรา บอกว่า สถิติการใช้งานทวิตเตอร์ของคนไทยสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะ 2 ปี ที่ผ่านมา โตราว 30 เปอร์เซ็นต์ อัตราการโตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจทำให้เราเห็นว่า มีเรื่องต่างๆ "ระเบิด" ในทวิตเตอร์ กับอีกส่วนคนใช้เฟซบุ๊กจะอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็ก ๆ หันไปใช้ทวิตและสแนปแชท เพราะมันเป็นบทสนทนาที่ทันเวลากว่า และสั้นกระชับ ถ้าดูสัดส่วนของคนที่ใช้ทวิตเตอร์ เกือบครึ่งคืออายุ 16-24 ปี เด็กกว่าเมื่อเทียบกับเฟซบุ๊ก

ทิศทางลักษณะนี้ เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม change.org เช่นกัน ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้ใช้งานที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนในกลุ่มอายุน้อยลงมาใช้มากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะเกิดการตื่นตัวทางสังคมของคนในกลุ่มอายุนี้ เช่นเดียวกับ ตัวอย่างของผลการเลือกตั้งกลายเป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ ที่ต่างกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

"มันมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนแสดงออกถึงความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น และเครื่องมือที่มีบนโซเชียล ก็สอดคล้องกับจริตของคนวัยนั้น"

โซเชียลมูฟเมนต์

ผอ. Change.org ประจำประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงจุดที่เหมือนกันของทวิตเตอร์ หรือกระทั่งสื่อสังคมออนไลน์ชนิดอื่น กับการร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องผ่านแพลตฟอร์ม Change.org ว่า คือ การเกิดบทสนทนาเกี่ยวกับข้อถกเถียงเรื่องนั้นในสังคมที่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางสังคมได้ แต่สิ่งที่ Change.org ต่างออกไปคือ ผู้ตั้งเรื่องรณรงค์มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจน รู้ว่าจะเรียกร้องกับใคร และอยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนไป จุดนี้แพลตฟอร์มอื่น ๆ อาจจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้

"ทวิตเตอร์หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ คนสามารถบ่นไปเรื่อย ๆ และแสดงความคิดเห็น" วริศรากล่าว "การบ่น ๆ อย่างเดียว อาจไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทันที แต่ในระยะยาวการที่เรากระตุกเรื่องอะไรในสังคมมันก็จะช่วย change narrative (เปลี่ยนคำอธิบาย) ในเรื่องนั้น"

"ถ้าเราถอยออกมาดูภาพรวมการแสดงออกทั้งหมด ไม่ว่าจะพูดอะไรออกมา มันคือการค่อย ๆ กระตุกสังคมในทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว อาจไม่มีผลในทางจับต้องได้ทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่จิ้มไปกระตุกเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง" วริศรา กล่าว