โควิด-19 : ประท้วงอย่างไรให้ปลอดภัยในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

Black Lives Matter protesters in Hyde Park during a demonstration in June

ที่มาของภาพ, PA Media

แม้ปี 2020 จะเป็นปีที่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก แต่ก็เป็นปีที่มีการประท้วงเกิดขึ้นมากที่สุดปีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ การทุจริต ผลการเลือกตั้ง หรือในไทยเองที่คนออกมาเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ผู้ประท้วงในบางประเทศฝ่าฝืนกฎล็อกดาวน์ ขณะที่บางคนไม่ออกไปเคลื่อนไหวเพราะกลัวจะติดเชื้อหรือเป็นผู้ทำให้เชื้อแพร่ระบาดเสียเอง

บีบีซีคุยกับนักเคลื่อนไหวบางคนที่อธิบายว่าพวกเขาสามารถออกไปประท้วงอย่างมีความรับผิดชอบได้อย่างไร และต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง

ความปลอดภัย

มาไลกา กันกูลี นักศึกษาชาวอังกฤษวัย 20 ปี เป็นหนึ่งในผู้จัดการประท้วง Black Lives Matter ในมณฑลเอสเซ็กซ์ หลังจากการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่เสียชีวิตขณะถูกตำรวจเมืองมินนีแอโปลิสจับกุม

เธอบอกว่ารู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญจนทำให้เธอต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้การเดินขบวนเมื่อเดือน มิ.ย. ปลอดภัยมากที่สุดที่จะเป็นไปได้ด้วย

"เราย้ำกับทุกคนว่าต้องใส่ชุดป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) มา และถึงวันจริง เราก็แจกหน้ากากอนามัยเพิ่มด้วย" กันกูลี กล่าว และบอกอีกว่า ตอนเริ่มเดินขบวนเธอก็พยายามให้คนอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 6 คน และออกเดินโดยทิ้งระยะห่างกันกลุ่มละ 20 วินาทีด้วย เพื่อให้พอเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติของรัฐบาล

ฝ่ายผู้วิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่าผู้ที่ออกมาประท้วงโง่เง่าและไม่มีความรับผิดชอบที่ออกมารวมตัวกันในช่วงมีการระบาดใหญ่

Malaika Gangooly speaks at a BLM protest

ที่มาของภาพ, Malaika Gangooly

คำบรรยายภาพ, มาไลกา เป็นหนึ่งในผู้จัดการประท้วง Black Lives Matter ในมณฑลเอสเซ็กซ์

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ายิ่งคนมารวมตัวกันมากเท่าไร พวกเขาก็จะอยู่ด้วยกันนานมากขึ้นเท่านั้น และก็เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่สามารถรักษาระยะห่างระหว่างกันไว้ได้

รัฐบาลแต่ละประเทศรับมือกับเรื่องนี้ต่างกัน นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรบอกว่า คนมีสิทธิ์ที่จะไปประท้วง แต่ต้องทำ"ตามกฎการรักษาระยะห่างทางสังคม"

ในสหรัฐฯ มีการเชื้อชวนให้ผู้ประท้วงในกรุงวอชิงตันดีซี นิวยอร์ก และบอสตัน ไปเข้ารับการตรวจเชื้อ ขณะที่ในหลายประเทศเข้มงวดกว่านั้น เช่น ที่อิสราเอลห้ามการชุมนุมประท้วงเลยโดยบอกว่าเสี่ยงทำให้เชื้อแพร่ระบาด

ผู้ประท้วงจำนวนมากทั่วโลกเป็นคนหนุ่มสาว ทำให้มีแนวโน้มเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำกว่า แต่ก็กังวลกันว่าพวกเขาจะนำเชื้อไปแพร่ให้กับคนที่อายุมากและเปราะบางกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนหนุ่มสาวเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ

ซาสเกีย โพเปสคู นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา บอกว่า การชุมนุมของคนหมู่มากเพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาคนไม่รักษาระยะห่าง และตะโกนโหวกเหวก

แต่เธอบอกว่า การประท้วง Black Lives Matter ในสหรัฐฯ กลับไม่ได้ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการรักษาระยะห่าง การใช้หน้ากากอนามัย การกักตัวหลังประท้วง การตรวจเชื้อเฉพาะกลุ่ม และการสื่อสารที่ดี สามารถช่วยได้

ความกังวล

A protester wears a mask saying "racism is a pandemic" at a BLM demonstration in Birmingham, England

ที่มาของภาพ, Reuters

แต่หลายคนก็บอกกับบีบีซีว่า การตัดสินใจจัดหรือไปร่วมการประท้วงทำให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวของพวกเขากังวล

ดีชา ราวี นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกลุ่ม "Fridays For Future India" หรือวันศุกร์เพื่ออนาคตของอินเดีย บอกว่า ไปร่วมการชุมนุมแค่ครั้งเดียวหลังจากการระบาดใหญ่เริ่มขึ้น

คนใกล้ชิดบอกดีชาว่า "คิดว่ามันไม่ปลอดภัยและไม่สมเหตุสมผลที่จะไปร่วมการชุมนุมใหญ่ ๆ ที่คุณสามารถทำให้ทั้งตนเองและคนอื่นเสี่ยงอันตราย"

แต่ดีชา และเพื่อนนักเคลื่อนไหว ก็หันไปเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งพวกเขาบอกว่าช่วยเรียกเสียงสนับสนุนได้ง่ายขึ้น

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ของกลุ่มเธอถูกบล็อกไปชั่วคราวหลังนักเคลื่อนไหวร่วมกันส่งอีเมลไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมอินเดีย เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง

นอกจากนี้ พวกเธอยังเชื้อเชิญให้คนทำป้ายประท้วงติดที่บ้าน หรือตามท้องถนน เพื่อส่งสารได้โดยไม่ต้องไปร่วมการชุมนุม

People attend a protest organised by NOW! during the coronavirus outbreak

ที่มาของภาพ, Supplied

คำบรรยายภาพ, กลุ่ม NOW! ของแอนเดรียจัดการประท้วงเป็นประจำ

"ไม่มีอะไรหยุดชะงัก เรายังสู้ต่อ แค่ในรูปแบบที่ต่างจากเดิมเท่านั้น"

อย่างไรก็ดี ดีชาก็บอกว่าเธอคิดถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเคลื่อนไหวแบบตัวต่อตัว เช่น นั่งถกกันในประเด็นต่าง ๆ หรือทำโปสเตอร์ด้วยกัน

แอนเดรีย เวนซอน ผู้ก่อตั้งกลุ่ม NOW! ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจน และประชาธิปไตย หันไปทำกิจกรรมสดแบบออนไลน์แทนเพื่อคนที่ไม่สามารถออกมาจากบ้านได้

"ยิ่งเข้าหน้าหนาว ยิ่งยาก ...ช่วงหน้าร้อน คนรู้สึกผ่อนคลายกันกันมากกว่า" เวนซอน กล่าว

แต่สำหรับบางประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประท้วงจะทำอย่างไร

มาไลกา บอกว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ในสหราชอาณาจักรมีผลแน่นอนต่อการตัดสินใจร่วมการประท้วง แต่เธอก็บอกว่า "ฉันคิดว่าตราบใดที่ผู้คนระมัดระวังเท่าที่ทำได้ การส่งสาร[ในการประท้วง]เป็นเรื่องสำคัญกว่า"