สิระ เจนจาคะ : สำรวจสิทธิพิเศษ "ผู้ทรงเกียรติ" จากกรณี ส.ส.พลังประชารัฐโวยตำรวจภูเก็ตไม่ดูแล

นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

คำบรรยายภาพ, นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ อ้างว่าเขาถูกขู่ฆ่าก่อนที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาออกเอกสารสิทธิมิชอบที่ จ.ภูเก็ต จึงต้องการให้ตำรวจมาดูแลความปลอดภัย

"ผมเป็นผู้ใหญ่ แล้วคุณมาขึ้นเสียงกับผม ไอ้น้อง...ผมมาทำงานเพื่อบ้านเมือง เกรงใจ ส.ส.บ้าง เดี๋ยวเจอกัน" ข้อความตอนหนึ่งที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พูดกับ พ.ต.ท. ประเทือง ผลมานะ รองผู้กำกับป้องกันปราบปราม สภ.กะรน จ.ภูเก็ต อย่างมีอารมณ์

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2562 ที่คอนโดมีเนียมแห่งหนึ่งใน ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งนายสิระเดินทางมาตรวจสอบหลังจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่ประเด็นที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจกลับไม่ใช่เรื่องการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบ แต่เป็นการแสดงออกของนายสิระที่ต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรุนแรงและใช้อารมณ์ เนื่องจากไม่พอใจที่ตำรวจเจ้าของพื้นที่ไม่ส่งเจ้าหน้าที่มา "ดูแล" เขาและ ส.ส.ร่วมทีมทั้ง 8 คน ขณะที่ พ.ต.ท.ประเทือง พยายามชี้แจงว่าตำรวจได้ส่งรถสายตรวจมาดูแลทันทีที่เสร็จจากการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อื่น

วันนี้ (20 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พปชร. ไปตักเตือนและทำความเข้าใจกับนายสิระว่า การดูแล ส.ส. นั้นไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของตำรวจ แต่ ส.ส. ก็สามารถขอให้ตำรวจมาดูแลความปลอดภัยได้ ถ้าคิดว่ามีอันตราย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, ทำเนียบรัฐบาล

คำบรรยายภาพ, "อย่าให้เกิดขึ้นอีก" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ใช้อารมณ์กับตำรวจ จ.ภูเก็ต

นายกฯ ย้ำด้วยว่ากรณีเช่นนี้ "อย่าให้เกิดขึ้นอีก"

"สิระ" ปะทะตำรวจภูเก็ต

คลิปเหตุการณ์ที่นายสิระต่อว่า พ.ต.ท.ประเทือง แพร่หลายในโลกออนไลน์ เหตุการณ์สรุปได้ว่า นายสิระเดินทางมาตรวจสอบคอนโดมีเนียมแห่งหนึ่ง โดย พ.ต.ท. ประเทืองได้ตามมาอำนวยความสะดวก นายสิระได้พูดเชิงออกคำสั่งให้ตำรวจสั่งระงับการก่อสร้างและการดำเนินการของอาคารชุดดังกล่าวเนื่องจากพบว่าสร้างบนที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ

พ.ต.ท. ประเทืองบอกว่าการดำเนินการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ไม่สามารถสั่งระงับหรือดำเนินคดีได้ทันที ทำให้นายสิระเริ่มแสดงอาการไม่พอใจ และหยิบยกเรื่องที่ตำรวจไม่ส่งคนมาดูแลตนและคณะ ส.ส. มาตำหนิ

"แจ้งมาแล้วว่ามี ส.ส. 8 คนจะมาเรื่องนี้ ไม่มีการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจเลย นี่พูดตรงๆ นะ ยังสงสัยอยู่ พี่ลงพื้นที่อื่น เขา (ตำรวจ) ก็มาดูแล...ทุกที่ที่เราไป ที่นี่ไม่มีเลย"

ตำรวจไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

พ.ต.ท. ประเทือง ชี้แจงว่าตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อื่นมา แต่ได้ส่งสายตรวจมาดูแลความเรียบร้อยแล้ว

"ก็เตรียมพร้อมไว้หมดแล้วหากว่ามีการประสานมา แต่ไม่ใช่ที่เราจะต้องมารอบริเวณนี้ตลอดเวลา" พ.ต.ท. ประเทืองอธิบาย

"มันต้องแบ่งกำลังมาดูสิว่านี่ ส.ส. มาปฏิบัติหน้าที่...ผมไม่ได้ขู่นะ ที่อื่นเขามาดูแล เพราะ ส.ส.มาทำงาน เขาให้เกียรติ ส.ส. ผมไม่ได้มาเที่ยว พรุ่งนี้ผมจะออกจากโรงแรมประมาณ 11 โมง จะให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง" นายสิระกล่าวด้วยท่าทีฉุนเฉียว พร้อมกับสั่งให้ทีมงานอัดคลิปวิดีโอไว้

"เดี๋ยวนะครับ ที่ใช้คำว่า 'ให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง' คือ วันนี้ผมผิดไปแล้วเหรอครับ" พ.ต.ท. ประเทืองตั้งคำถาม โดยมีช่วงหนึ่งที่ขึ้นเสียงดัง ทำให้นายสิระไม่พอใจและพูดอย่างมีอารมณ์ว่า "เถียงใช่มั้ย อย่ามาขึ้นเสียงกับผม" จากนั้นได้บอกให้ พ.ต.ท.ประเทืองขอโทษเขา เมื่อตำรวจขอโทษแล้ว นายสิระพูดอีกว่า "นี่บทเรียนเรานะ อย่าทำกับผู้ใหญ่นะ ผมมาทำเรื่องบ้านเมือง ไม่ได้มาเที่ยว...ถ้าแค่จัดการหาคนมาดูแล ส.ส.มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ คุณเหมาะสม (จะเป็นรองผู้กำกับ) มั้ย อย่าทำอีก"

หลังจากคลิปดังกล่าวได้เผยแพร่ไป นายสิระได้ออกมาขอโทษโดยอ้างว่าเขาเพียงแค่ "พูดเสียงดัง" เท่านั้น และเหตุที่ต้องการกำลังดูและเพราะเขาถูกขู่ฆ่าก่อนลงพื้นที่

สิระ เจนจาคะ

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

คำบรรยายภาพ, "เถียงใช่มั้ย อย่ามาขึ้นเสียงกับผม" นายสิระบอกกับรองผู้กำกับ สภ.กะรน จ.ภูเก็ต

ตำรวจต้องดูแล ส.ส.แค่ไหน

"ไม่ได้มีระเบียบเรื่องการดูแล (ส.ส. ลงพื้นที่) มันเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกเวลามีบุคคลจากต่างหน่วยลงไป โดยหลักแล้วตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเท่านั้นเอง โดยต้องมีการประสานมาล่วงหน้า" พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวกับบีบีซีไทย หลังจากกรณีของนายสิระทำให้เกิดคำถามว่า ส.ส.จะได้รับการดูแลจากตำรวจหรือไม่-อย่างไร

"โดยหลักแล้วเราจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รักษาความปลอดภัยและดูแลความสงบเรียบร้อยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อน ส่วนเรื่องการอำนวยความสะดวก (บุคคลจากหน่วยงานอื่น) นั้นต้องไม่กระทบภารกิจหลัก ยกเว้นว่าเป็นขบวนที่เป็นทางการ อย่างเช่น ขบวนของนายกฯ รัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ตำรวจจะต้องดูแล" รองโฆษก ตร.กล่าว

"ที่สำคัญคือ การอำนวยความสะดวกนั้นต้องไม่กระทบกับการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่ว่าอำนวยความสะดวกแล้วต้องไปปิดกั้นการจราจร ทำให้ประชาชนเดือดร้อน แม้กระทั่งตัว ผบ.ตร. (พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา) เอง เวลาท่านไปตรวจราชการ ท่านสั่งเลยว่าห้ามปิดถนน ไม่ต้องให้ใครมาต้อนรับ เพราะท่านลงไปทำงาน"

พล.ต.ต.วัชรินทร์ บุญคง ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า เขายังไม่เคยเจอ ส.ส.ที่ขอการดูแลเป็นพิเศษในการลงพื้นที่

ตำรวจ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, รองโฆษก ตร. อธิบายว่า ตำรวจมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและการจราจรสำหรับประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ส่วนการดูแลบุคคลจากภายนอกพื้นที่ หากไม่ได้เป็นคณะทางการที่ประสานมาล่วงหน้า ก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป

"ถ้า ส.ส.ไปตรวจสอบข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ ถ้าแจ้งมา เราก็จัดเจ้าหน้าที่ไปดูแลความเรียบร้อยทั่ว ๆ ไป เช่นจัดรถสายตรวจไป ไม่ได้ต้องไปห้อมล้อมอะไรกัน" ผบก.นครราชสีมาระบุ

"ปกติ ส.ส.จะลงพื้นที่ มี 2 แบบ คือไปลงพื้นที่พบพี่น้องประชาชนเป็นการส่วนตัวกับการลงพื้นที่อย่างเป็นทางการ เช่น มาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการ ซึ่งเมื่อแจ้งมา ตำรวจในพื้นที่ก็จะประเมินว่ามีความขัดแย้ง มีคู่กรณี หรือมีโอกาสจะเผชิญหน้ากันหรือไม่ จากนั้นเราก็จะจัดกำลังดูแลให้ตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีไป" พล.ต.ต.วัชรินทร์กล่าว

สิทธิพิเศษของ ส.ส.

สมาชิก "สภาห้าร้อย" ไม่อยู่ในข่ายบุคคลสำคัญหรือนักการเมืองที่จะมีรถนำขบวนได้ ตามเกณฑ์ในหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 189 ลง 2 ต.ค. 2544 ยกเว้นประธานรัฐสภาและผู้นำฝ่ายค้านในสภาที่มีสิทธิมีรถนำขบวนได้โดยปกติ เว้นแต่ ส.ส. คนนั้น ๆ จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีไป

การอ้างและใช้สิทธิพิเศษของบรรดาผู้ทรงเกียรติตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เคยกล่าว ส.ส ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ระหว่างจัดงานสัมมนา ส.ส. เมื่อ 20 มิ.ย. ให้ระมัดระวังการใช้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ทั้งเรื่องการค้างชำระค่าโดยสารเครื่องบิน หลังตรวจสอบพบว่าบริษัทแห่งหนึ่งถูก ส.ส. ค้างค่าโดยสารประมาณ 5 ล้านบาท การนำสิทธิเดินทางฟรีด้วยรถไฟและรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ไปให้คนอื่นใช้แทน รวมถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม อาทิ หนีดูงานต่างประเทศไปชอปปิ้ง, แต่งกายไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ, หรือกรณี ส.ส. รายหนึ่ง "ตกเครื่องบิน" ไปแสดงตนไม่ทันเวลาขึ้นเครื่อง จึงโทรศัพท์หาเลขาธิการสภาตอนตี 5 กว่า

"ผมได้เจอกัปตันบนเครื่องบิน บางท่านเกรงใจไม่กล้าพูด แต่บอกว่าเขาเจ็บปวดที่สั่งให้เขารอทั้งที่ผู้โดยสารเต็มลำ ต้องรอนักการเมืองที่มาไม่ทัน"

สภาผู้แทนราษฎร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เปิดสิทธิประโยชน์ ส.ส.

  • ได้รับค่าตอบแทน 113,560 บาท/เดือน แบ่งเป็น เงินเดือน 71,230 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,330 บาท
  • ได้เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 1,500 บาท/ครั้ง และได้เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการ 800 บาท/ครั้ง หากประชุมหลายชุดให้ได้รับเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้ง/วัน
  • มี "ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว" ได้ 1 คน ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 24,000 บาท
  • มี "ผู้ชำนาญการประจำตัว" ได้ 2 คน ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
  • มี "ผู้ช่วยดำเนินงาน" ได้ 5 คน ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
  • ได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แบ่งเป็น

1) ปฏิบัติภารกิจในประเทศ ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 270 บาท/วัน ได้ค่าเช่าที่พักเหมาจ่าย 1,200 บาท/วัน หรือเลือกรับ 1,400 บาท/วันกรณีพักคู่ หรือ 2,500 บาท/วันกรณีพักเดี่ยว

2) ปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 3,100 บาท/วัน หรือเลือกเบิกค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่ม 4,500 บาท/คน, ค่าซักผ้า 500 บาท/คน, ค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ด 500 บาท/คน ได้ค่ารับรองไปดูงาน 67,000 บาทกรณีไปไม่เกิน 15 วัน หรือไม่เกิน 1 แสนบาทกรณีไปเกิน 15 วัน ได้ค่าเช่าที่พัก 4,500-14,000 บาท/วัน/คน และได้ค่าเครื่องแต่งตัวไปต่างประเทศ เหมาจ่าย 9,000 บาท/คน

  • เบิกค่ายานพาหนะได้ แบ่งเป็น

1) ปฏิบัติภารกิจในต่างจังหวัด เบิกค่ารถไฟและรถประจำทางได้ของตัว ส.ส. และผู้ติดตาม 1 คน ส่วนค่าเครื่องบินให้ชั้นธุรกิจ โดยเบิกได้เฉพาะตัว ส.ส.

2) ปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ เบิกค่าพาหนะเดินทางได้เท่าที่จ่ายจริง และสามารถโดยสารเครื่องบินในระดับชั้นสูงสุด

  • ค่ารักษาพยาบาล ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอกได้ 90,000 บาท/ปี และอุบัติเหตุฉุกเฉิน 20,000 บาท/ครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยใน ได้ค่าห้อง 4,000 บาท/วัน และอื่น ๆ นอกจากนี้ยังใช้สิทธิตรวจสุขภาพประจำปีได้ 7,000 บาท
  • มีเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กให้ยืมได้ 1 เครื่องจนกว่าจะพ้นสมาชิกภาพ

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากหนังสือ "หนังสือสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556" จัดทำโดยสำนักเลขาธิการสภา